จัตวา กลิ่นสุนทร : นิทรรศการศิลปะ เชื่อมความสัมพันธ์สองแผ่นดิน (ไทย-พม่า)

ความสัมพันธ์ระหว่างสองแผ่นดินจะครบรอบ 70 ปีอีกประมาณ 3 เดือนที่จะถึง ในส่วนภาพใหญ่ของรัฐบาล 2 ประเทศจะมีพิธีการอะไร อย่างไรบ้าง ยังไม่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม

แต่ในด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบอยู่จะมีการจัด “นิทรรศการศิลปะร่วมกันระหว่างไทย-พม่า” ขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายน-14 มิถุนายน 2561 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า (Myanmar)

อันที่จริงได้รับรู้รับทราบข่าวการจัดนิทรรศการศิลปะ “ไทย-พม่า” มาตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2561 จาก “กมล ทัศนาญชลี” (ศิลปินแห่งชาติ) สาขาทัศนศิลป์ ซึ่งเดินทางจากสหรัฐอเมริกามายังเมืองไทยเพื่อทำงานศิลปะตามโครงการต่างๆ ของกระทรวงวัฒนธรรม

รวมถึงเดินทางไปยังกรุงย่างกุ้ง พร้อมด้วยท่านพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อพบปะกับท่านจักร บุญหลง เอกอัครราชทูตไทย และคุณกมลรัตน์ ภริยาเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวนี้

โดยท่านเอกอัครราชทูตไทยให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเองพร้อมประสานให้ได้พบปะกับคุณ Nang Lao Ngin ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ ของ National Museum Myanmar เพื่อร่วมกันจัดนิทรรศการศิลปะ “ไทย-พม่า” ครั้งนี้

ทางด้านพม่าจะนำเอาผลงานของศิลปินอาวุโสสูงสุดของประเทศอายุ 85 ปีลงมาจนถึง 43 ปีรวม 28 คน โดยมีผลงานนำมาแสดงให้ประชาชนได้ชมคนละ 1 ชิ้น

ฝั่งประเทศไทยจะนำเอาผลงานไปจำนวนเท่ากัน ผลงานศิลปะของศิลปิน 2 ประเทศครั้งนี้จึงมีให้ประชาชนได้ชม 56 ชิ้น

 

สําหรับผลงานของศิลปินจากประเทศไทย กมลได้นำเหล่าบรรดาศิลปินซึ่งอาวุโสสูงสุดอายุถึง 90 ปีลงมา คืออาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ตามมาด้วยอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ และ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี 3 “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ ศิลปินชั้นเยี่ยม ระดับบรมครู ซึ่งทั้ง 3 ท่านได้เสียชีวิตแล้ว

สำหรับศิลปินแห่งชาติ รุ่น 70 ปีขึ้นไปมี กมล ทัศนาญชลี, เดชา วราชุน, อิทธิพล ตั้งโฉลก, ธงชัย รักปทุม, ปรีชา เถาทอง

ส่วนรุ่น 60 ปีขึ้น คือ วิโชค มุกดามณี และ 2 ศิลปินแห่งชาติ ปี 2560 ศราวุธ ดวงจำปา (ประติมากรรม) และสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์

นิทรรศการศิลปะเชื่อมความสัมพันธ์สองแผ่นดิน กำหนดให้ประชาชนเข้าชมได้ตามวันเวลาดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

สำหรับประชาชนคนไทยหากได้เดินทางไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านช่วงนั้นสามารถไปเยี่ยมชมเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ได้

 

เขียนถึง กมล ทัศนาญชลี (ศิลปินสองซีกโลก) ว่าเขาได้อุทิศชีวิตเพื่อ “ศิลปะ” ไปเรียบร้อยนานแล้ว โดยเฉพาะเรื่อง “การเรียน การสอนศิลปะในประเทศไทย” ถึงแม้จะอยู่ในวัย 70 กว่าปี แต่ทำงานโดยไม่มีวันหยุดแม้แต่วันเดียว

บางครั้งอดประหลาดใจไม่ได้ว่าทำไมร่างกายจึงได้แข็งแกร่งขนาดนั้น

ลองนึกย้อนกลับไปถึงเรื่องการใช้ชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์จะเห็นได้ว่าเขาไม่เคยดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้ชีวิตนอกลู่นอกทาง ไม่ฟุ่มเฟือย รักษาเนื้อรักษาตัว รวมทั้งอาหารการกินก็ดูแลอย่างดี รักษาสุขภาพอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

กมลเดินทางจากลอสแองเจลิส สหรัฐ (Los Angeles-Usa) ถึงกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนมกราคม แล้วตรงไปทำกิจกรรมเรื่องศิลปะที่จังหวัดกระบี่ทันที ร่วมดำเนินงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปี 2561” (Yong Artists Talent 4.0) เป็นโครงการที่เขาเพาะเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่ไว้ตามเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรม มีการทำกิจกรรมต่างๆ และ Art Workshop

คัดเลือก “ยุวศิลปิน” จากจำนวน 300 คนให้เหลือ 70 คน และตัดออกเหลือเพียง 12 คนเพื่อพาเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาให้ศึกษาดูงาน เปิดโลกกว้างสร้างงานศิลปะ ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม

เช่นเดียวกันกับโครงการนำพา “คณะครูศิลป์” ไปต่อยอดเพิ่มพูนศักยภาพ วิสัยทัศน์ เพื่อจะได้กลับมาเผยแพร่สอนสั่งนักเรียน นักศึกษาศิลปะในประเทศของเรา

 

ขณะเดียวกัน พร้อมรอต้อนรับคณะศิลปินจากโครงการแลกเปลี่ยน “ไทย-สหรัฐ” เดินทางมาจากสหรัฐ มาสมทบกับศิลปินจากยุโรปและเอเชีย รวมแล้วไม่น้อยกว่า 60 คน โดยกมลเป็นแม่งานดำเนินการ มีกระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างสรรค์งานในวงการศิลปะร่วมสมัย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ

ศิลปินต่างชาติเหล่านี้นอกจากจะมาทำ Art Workshop ยังนำผลงานมาเปิดนิทรรศการร่วมกับศิลปินแห่งชาติของไทย ตามโครงการแลกเปลี่ยน “International Art Exchange Show Thai-Usa 2018” ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ซึ่งผ่านไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561

รายงานไปแล้วว่าในนิทรรศการครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกมลเป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้นำเอาผลงานอมตะของศิลปินแห่งชาติซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว คือ ท่านอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ และ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี รวมทั้งผลงานวาดเส้น (Drawing) ของท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย “ฐาปนันดรศิลปิน” อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 20) ร่วมแสดงด้วย

ท่านที่มีจิตวิญญาณด้านศิลปะ รัก สนใจงานศิลปะ ประชาชนทั่วไป ครูบาอาจารย์ นักศึกษาศิลปะ คง (อาจ) ได้ไปศึกษาชื่นชมกันแล้วระหว่างวันที่ 16-26 กุมภาพันธ์ 2561

กมลเป็นผู้ริเริ่มเชื้อเชิญศิลปินแห่งชาติทั้งหลายช่วยกันดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมให้เผยแพร่ขจรขจายบรรลุเป้าหมาย เขาได้เป็นมัคคุเทศก์ให้กับเหล่าศิลปินแลกเปลี่ยนต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวดูงานยังจังหวัดกระบี่ สงขลา สมุทรสงคราม

 

เกือบ 2 เดือนในเมืองไทย (16 มกราคม-7 มีนาคม) กระทั่งเดินทางกลับสหรัฐวันที่ 7 มีนาคม มีโอกาสได้พบกันยังแกลเลอรี่ส่วนตัวของเขา ซึ่งน่าจะเรียกว่า “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ในซอยราษฎร์ร่วมเจริญ (กรุงธนบุรี 1) เขตคลองสาน เพียงไม่กี่นาที นอกจากนั้นเป็นการเดินสายทำกิจกรรมเพื่องานศิลปะของกระทรวงวัฒนธรรมทั้งสิ้น

ท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม คุณพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และคณะศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) เดินทางถึงนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ (Los Angeles, California USA) ตามคำเชิญในโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินนานาชาติวันที่ 23 มีนาคม เพื่อนำผลงานไปแสดง ณ L.A Artcore หอศิลป์เมือง Los Angeles ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-6 มษายน 2561

กมลได้บินกลับไปเตรียมงานทุกสิ่งอย่าง พร้อมรอต้อนรับคณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และที่ต้องเขียนถึงเขาบ่อยครั้งเพราะดูเหมือนจะเป็นศิลปินแห่งชาติคนเดียวที่ทำงานเชื่อมประสานระหว่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน รวมทั้งโครงการอื่นๆ อีกมากมายมาเฉียด 20 ปี ตั้งแต่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2540

 

ศิลปินแห่งชาติทุกวันนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมากมายถึงความเหมาะสม ผลงานถึงขั้นหรือไม่? รวมทั้งมีการวิ่งเต้นเส้นสายพวกพ้องช่วยกันผลักดัน เพราะนอกจากจะได้รับเกียรติยศสูงแล้วยังมีเงินเดือนมีสวัสดิการต่างๆ มากพอสมควร และดูเหมือนว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะต้องเค้นหยิบเอามาให้ได้ครบทุกสาขาในทุกๆ ปี ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย เพราะถ้าหากว่ายังไม่ถึงขั้นในรอบปีนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

เนื่องจากศิลปินแห่งชาติบางสาขาบางท่านหลังประกาศชื่อออกมาแล้ว ถ้าเรานำไปเทียบเคียงกับคนธรรมดาทั่วไปในสาขาเดียวกัน ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรแตกต่างบางทีจะเหมาะควรเหนือชั้นกว่าด้วยซ้ำ เรียกว่าทุกคนสามารถเป็นศิลปินแห่งชาติได้ทั้งสิ้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เมื่อมีการจัดตั้ง “โครงการศิลปินแห่งชาติ” (National Artists) เป็นต้นมาเป็นเวลา 30 กว่าปี ถ้าหากศิลปินแห่งชาติไม่พากันเสียชีวิตไปเกือบทุกปี ป่านนี้จะต้องเดินชนกันทุกวันอย่างแน่นอน

ฝากผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการทั้งหลายสาขาต่างๆ ช่วยเฟ้นคัดกรองเพื่อหาคุณภาพแบบเนื้อๆ เน้นๆ หน่อย

“ศิลปินแห่งชาติ” จะได้ดูดีมีความหมาย น่าศรัทธาเชื่อถือ และศักดิ์สิทธิ์มากกว่านี้