วงค์ ตาวัน : ต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอน

วงค์ ตาวัน

เมื่อประชาชนคนไทยที่เคยมีสิทธิเสียงทางการเมือง แต่ต้องสูญเสียไปเพราะประชาธิปไตยโดนล้มคว่ำ โดยผ่านมา 4 ปีแล้ว นับจากเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนวันนี้โอกาสที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน ยังไม่มีความชัดเจน วันเลือกตั้งขยับเขยื้อนไม่ลงตัว

จึงเริ่มเกิดคำถามจากผู้คนในส่วนนี้ว่า ทำไมบ้านเมืองเราจึงต้องถดถอยขนาดนี้ และใครกันบ้างที่ควรต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการทำให้ประชาธิปไตยต้องสะดุดอย่างยาวนานหลายปี

“อำนาจการเมืองที่เคยอยู่ในมือประชาชน ต้องถูกยึดไป ด้วยฝีมือใครที่มีส่วนร่วมเป็นเครือข่าย!?”

เมื่อไม่นานมานี้มีการปะคารมกันบนเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่องนี้

เมื่อคอลัมนิสต์การเมืองสายประชาธิปไตย “ใบตองแห้ง” เรียกร้องความรับผิดชอบของผู้ที่ร่วมชัตดาวน์ล้มรัฐบาลเพื่อไทย ขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องโต้ตอบอย่างดุเดือด

โดยนายอภิสิทธิ์พยายามชี้ว่า ต้นตอปัญหาอยู่ที่พฤติกรรมของรัฐบาลเพื่อไทยเอง และการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อล้างผิดให้คนโกง จึงทำให้ประชาชนลุกฮือออกมา

มองตามนี้ ที่นายอภิสิทธิ์ยกมาอ้าง ก็ถูกต้องส่วนหนึ่ง

“แต่นายอภิสิทธิ์ไม่พูดถึงประเด็นต่อไป นั่นก็คือ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมรับแล้วว่าผิดพลาดอย่างร้ายแรง ยอมถอยกรูด ยุติร่าง พ.ร.บ. นั้น พร้อมกับตัดสินใจยุบสภา อันเป็นทางออกทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย”

ตรงนี้แหละที่ต้องถามว่า ทำไมแกนนำ กปปส. และแกนนำประชาธิปัตย์รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ที่เข้าร่วมเป่านกหวีดด้วย

“จึงไม่เลือกหนทางนี้!!”

เพื่อไทยทำผิด ก็ยอมถอย แล้วใช้ทางออกตามแนวประชาธิปไตย

แล้วทำไมนกหวีดและแกนนำประชาธิปัตย์ จึงไม่ยอมรับ กลับประกาศเดินหน้าชัตดาวน์ต่อไป

“เช่นนี้แล้วเด็กนอนดูดขวดนมยังรู้เลยว่า ตระเตรียมเอาไว้หมดแล้ว และลงเอยก็คือรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557”

นี่แหละที่ต้องคำถามตัวโตๆ ว่า ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ กับการสมคบคิดล้มล้างประชาธิปไตยในวันนั้น

ทำให้อำนาจในมือประชาชนสูญหายไปทันที

แถมยาวนานจนจะ 4 ปีเข้าไปแล้ว ถ้ามีเลือกตั้งในปี 2562 เท่ากับสูญเสียไป 5 ปี แล้วถ้าเลื่อนไปอีกเล่า

นี่แหละคือความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มหาศาลนัก

“ความสูญเสียของสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน มหาศาลยิ่งกว่าประเด็นที่ประชาธิปัตย์มักยกมาอ้างคืองบประมาณจำนำข้าวด้วยซ้ำ”

จุดที่นายอภิสิทธิ์ไม่ยอมพูดถึง ก็คือ ทำไมเมื่อพรรคเพื่อไทยรับผิดด้วยการยอมยุบสภา ทำไมจึงไม่ร่วมกันรักษาประชาธิปไตยกันเอาไว้

แถมไม่พูดย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าจะชุมนุมนกหวีดนับปี ว่าเกิดความปั่นป่วนรุนแรงในการประชุมสภาผู้แทนฯ อย่างผิดปกติชัดเจน

พอเกิด 22 พฤษภาคม 2557 ก็ต้องนึกย้อนว่าทำไมการชัตดาวน์จึงไม่ยุติทั้งที่มีการยุบสภาแล้ว

พอนึกย้อนไปกว่านั้นอีก เริ่มทบทวนเห็นภาพ ทำไมภายในห้องประชุมสภาจึงวุ่นวายนัก ก็ต้องร้องอ๋อในที่สุด!

ความจริง หลังจากยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมปีนั้น ขบวนการต่อต้านก็เริ่มก่อตัวทันที โดยที่รัฐบาลยังไม่ทันได้เริ่มทำงาน โดยหลังผ่านพ้นมหาอุทกภัยในปลายปี 2554 แล้ว เมื่อเข้าสู่ต้นปี 2555 ก็มีม็อบเสธ.อ้าย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาล ท่ามกลางความงุนงงของสังคม

แม้ว่าม็อบเสธ.อ้ายจะล่มอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีเงื่อนไขที่จะจุดชนวนให้คนออกมาร่วม

แต่ก็น่าสังเกตว่าม็อบนี้ ได้ชูประเด็นเกลียดชังนักการเมืองและการเลือกตั้ง เรียกร้องให้แช่แข็งประเทศ หรือให้มีรัฐประหารแล้วยังไม่ต้องเลือกตั้งไปยาวนานที่สุด

นั่นแสดงว่า แนวคิดจะล้มแช่แข็งประชาธิปไตย มีตั้งแต่นั้นมาแล้ว

“ตั้งแต่ต้นปี 2555 ซึ่งดูไม่ต่างกับสโลแกน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ที่มาชูโดยม็อบนกหวีด”

ต่อมาก็น่าสนใจอีกว่า ได้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในห้องประชุมสภาผู้แทนฯ หลายหน

บรรยากาศการประชุมสภาเต็มไปด้วยความตึงเครียด ตลอดปี 2555 ต่อเนื่องถึงปี 2556 ก่อนที่เลขาธิการประชาธิปัตย์ จะแปลงร่างกลายเป็นแกนนำ กปปส. นำมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลีกษณ์ขั้นแตกหักในปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557

เรื่องวุ่นวายในห้องประชุมสภา ด้านหนึ่งเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยมีที่นั่งเป็นเสียงข้างมาอย่างท่วมท้น ทำให้ฝ่ายค้านโหวตอะไรก็พ่ายแพ้ อาจจะสร้างแรงกดดันให้กับพลพรรคของประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน มีการใช้อำนาจของประธานในที่ประชุมหลายหน เพื่อยุติการอภิปรายของฝ่ายค้าน

“แต่ก็น่าสังเกตว่า ปฏิกิริยาของ ส.ส.ฝ่ายค้าน แสดงออกอย่างรุนแรงมาก!”

เช่น โห่ฮา บุกไปยืนออกันหน้าบัลลังก์ประธานสภา

มีการขว้างปาข้าวของ ปาแฟ้มเอกสารใส่ประธาน

ความรุนแรงยังเข้มข้นขึ้น มีการทุ่มเก้าอี้กลางห้องประชุม

มีเหตุอลหม่าน บีบคอ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล กลางห้องประชุม

“ที่สำคัญ ส.ส. ของฝ่ายค้านบางคน สร้างวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” ขึ้นมาอย่างจริงจัง เน้นย้ำโหมประโคมคำนี้อย่างหนักหน่วง”

เมื่อผสานเข้ากับการแสดงออกในทางปั่นป่วนอย่างผิดปกติกลางวงประชุมหลายหน

มีนักสังเกตการณ์ทางการเมืองมองว่า ภาพเหล่านี้และถ้อยคำเผด็จการรัฐสภา

“เป็นแรงจูงใจอย่างยิ่ง ทำให้ประชาชนทั่วไปเริ่มเบื่อหน่ายระบบรัฐสภา เริ่มรับไม่ไหวกับพฤติกรรมของนักการเมือง!”

ดังนั้น เมื่อแกนนำประชาธิปัตย์จัดชุมนุมม็อบนกหวีดปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557

จนจบลงด้วยการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ทุกอย่างจึงดูต่อเนื่องสอดรับกันหมด ตั้งแต่ต้นปี 2555 ดำเนินเรื่อยมาจนถึงต้นปี 2557

พรรคประชาธิปัตย์นั้น อยู่คู่กับการเมืองไทยและระบบรัฐสภามายาวนาน ย่อมมีนักการเมืองจิตวิญญาณนักประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามอื้ออึงในวันนี้ ถึงบทบาทแกนนำพรรคบางคนกับม็อบนกหวีด ที่นำไปสู่การหยุดประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 และยังทำให้ประชาชนไทยขาดไร้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองมาจนถึงวันนี้

“เป็นคำถามว่า จะต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายของอำนาจการเมืองในมือประชาชนด้วยหรือไม่!?”

แน่นอนว่า คงไม่ได้หมายถึงทั่วทั้งพรรคประชาธิปัตย์

เพราะวันนี้ นักการเมืองสำคัญของประชาธิปัตย์หลายคน มีจุดยืนชัดเจนและแสดงบทบาทโต้แย้งกับรัฐบาลทหาร คสช. อย่างเข้มข้น

“น่าจะเป็นคำถามที่พุ่งไปยังแกนนำบางคน ที่มีบทบาทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐบาลทหาร”

ยิ่งถ้ามองปฏิบัติการในห้องประชุมสภา ตลอดปี 2555 ต่อเนื่องถึง 2557 ที่ช่างสอดรับเป็นขบวนเดียวกัน ก่อนจะเกิดการล้มประชาธิปไตย ให้รัฐบาลทหารเข้ามาปกครองแทน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แกนนำบางคนของประชาธิปัตย์ เดินหมากเดินเกมใต้ดินมาตั้งแต่นั้นแล้ว

ดังนั้น ที่นายอภิสิทธิ์ได้โต้แย้งบนเวทีเสวนาว่า ต้นตอปัญหาที่ทำให้ประชาธิปตยต้องสะดุดลง มาจากพฤติกรรมของรัฐบาลเพื่อไทยเองและการผลักดันนิรโทษกรรมล้างผิดให้คนโกงเป็นชนวนเหตุให้คนฮือออกมาต่อต้าน

“ถูกต้องเพียงบางส่วน”

โดยไม่พูดถึงการไม่เลือกหนทางเลือกตั้งใหม่หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภา เพื่อรักษาประชาธิปไตยเอาไว้

รวมไปถึงบทบาทของกลุ่มคนบางกลุ่มในประชาธิปัตย์ ที่แสดงออกรุนแรงในห้องประชุมสภาตลอดปีสองปีก่อนการรัฐประหาร

ราวกับมีการตระเตรียม มีการกระทำต่อเนื่องเป็นขบวนเดียวกันมาตลอดหลายปี!