นงนุช สิงหเดชะ/’บิ๊กตู่’ เต็งหนึ่งนายกฯ ‘โพลนิด้า’ สะท้อนอะไร

บทความพิเศษ นงนุช สิงหเดชะ

‘บิ๊กตู่’ เต็งหนึ่งนายกฯ

‘โพลนิด้า’ สะท้อนอะไร

โพลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อกลางเดือนมีนาคม ในหัวข้อ “อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน นับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อยและชวนให้คิด เพราะโดยรวมแล้วประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 38.64% ที่สำรวจจากทั่วประเทศ 1,250 ตัวอย่าง ตอบว่า อยากได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หรือมาเป็นอันดับ 1
การสำรวจความเห็นดังกล่าว มีการสุ่มตัวอย่างกระจายไปทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษา ทุกระดับรายได้และอาชีพ ซึ่งเมื่อจำแนกออกไปตามภูมิภาค อาชีพ รายได้ การศึกษา ก็ยังพบว่าทุกกลุ่มตัวอย่างเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นอันดับ 1 เหมือนกันหมด
หากจำแนกตามพื้นที่หรือภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ บิ๊กตู่มาอันดับ 1 ด้วยคะแนน 37.61% อันดับ 2 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) 11.11% อันดับ 3 เป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) 10.26%
ส่วนปริมณฑลและภาคกลาง อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ 42.07% อันดับ 2 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) 10.06% และนายอภิสิทธิ์ 8.84%
ถัดมาภาคเหนือ อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ 31.70% อันดับ 2 คุณหญิงสุดารัตน์ 19.64 และนายอภิสิทธิ์ 11.16% และที่น่าแปลกใจก็คือภาคอีสานเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ถึง 41.19% อันดับ 2 คุณหญิงสุดารัตน์ 16.87% อันดับ 3 นายอภิสิทธิ์ 9.43%
ภาคใต้ อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ 35.96% อันดับ 2 นายอภิสิทธิ์ 27.53% และอันดับ 3 นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 14.04%
ขณะเดียวกัน คนทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็น 18-25 ปี 26-35 ปี 36-45 ปี ไปจนถึง 60 ปีขึ้นไป พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังมาเป็นอันดับ 1

นี่เป็นโพลที่ออกมาหลังจากรัฐบาลบิ๊กตู่ ถูกสั่นคลอนด้วยปัญหาความไม่โปร่งใส จากประเด็นนาฬิการาคาแพงหลายเรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แต่หากดูจากโพลดังกล่าว (หากแม่นจริง) ก็สะท้อนได้ในระดับหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังรักษาคะแนนไว้ได้มากพอสมควร
ความน่าสนใจยังอยู่ตรงที่ว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถูกฝ่ายการเมืองโจมตีทุกวันว่าเผด็จการ จึงยังได้รับความนิยมทิ้งห่างพรรคการเมืองเก่าอย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ที่ชูธงประชาธิปไตย
อาจมีข้อถกเถียงได้ว่า โพลนิด้า อาจจะเป็นโพลอวยเอาใจบิ๊กตู่ และอาจไม่แม่นยำหรือถูกผู้ตอบแบบสอบถามหลอก แต่หากย้อนกลับไป เช่น เมื่อปี 2556 ซึ่งมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขับเคี่ยวกันระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย พบว่าสำนักโพลหลักทุกสำนักในเวลานั้นยกเว้นนิด้า ทำนายว่า พล.ต.อ.พงศพัศ จะเป็นฝ่ายชนะ
แต่ของจริงกลับปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชนะ ซึ่งเป็นไปตามโพลนิด้า และไม่ใช่เป็นการชนะแบบเฉียดฉิว หากแต่ทิ้งห่าง พล.ต.อ.พงศพัศ มากถึง 1.78 แสนคะแนน ทำให้ในเวลานั้นทุกสำนักโพลต่างหน้าแตกอ้ำอึ้งไปตามๆ กัน ก่อให้เกิดคำถามเซ็งแซ่ว่า ต่อไปจะเชื่อถือโพลได้หรือไม่
ในคราวนั้น นายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการนิด้าโพล ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าโพลสำนักอื่นน่าจะเกิดความผิดพลาดทางเทคนิค เช่น อาจไปเก็บข้อมูลตัวอย่างจากกลุ่มที่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่งมากเกินไป หรือการทำเอ็กซิตโพล (โพลหน้าคูหาหลังกาบัตร) นั้น อาจมีความผิดพลาดเพราะหากไปเก็บข้อมูลในชุมชนที่มีหัวคะแนนของผู้มีอิทธิพลอยู่ อาจทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามไม่กล้าตอบความจริงเพราะเกรงกลัวอิทธิพล
แต่ของนิด้าโพลนั้น ทำการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ตอบรู้สึกเป็นอิสระ ประกอบกับนิด้ามีการเก็บฐานข้อมูลไว้มากเป็นเวลาหลายปี เมื่อต้องการสำรวจก็สามารถเลือกฐานข้อมูลเหล่านี้มาใช้สอบถาม

สําหรับในครั้งนี้ หากโพลนิด้าแม่นจริงเหมือนตอนทำโพลผู้ว่าฯ กทม. ก็เท่ากับสะท้อนว่าคนยังต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไป ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะหวาดผวาพรรคการเมืองเก่า เกรงว่าเข้ามาแล้วจะสร้างปัญหาแบบเดิม โดยในโพลนี้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 62% ตอบว่าอยากเลือกพรรคใหม่เพราะเบื่อพรรคเก่า
นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะประชาชนต้องการให้มีการสานต่อนโยบายและโครงการต่างๆ โดยไม่สะดุด
เมื่อผสมความต้องการอยากเลือกพรรคใหม่ กับต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อไป ก็น่าจะหมายความว่าประชาชนน่าจะเลือกพรรคใหม่ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่าประชาชนจะเลือก “พรรคใหม่” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบิ๊กตู่เป็นนายกฯ หรือไม่
หรือจะกลายเป็นว่าอยากได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ดันไปเลือกพรรคเก่า
แต่ถ้าหากดูจากคะแนนโพลรายภาคที่ออกมา ก็น่าจะอนุมานได้ว่า ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ อาจเสียคะแนนไปให้กับพรรคใหม่มาก ซึ่งยังไม่รู้ว่าพรรคใด

ความต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไปอีก 1 สมัย ยังอาจบอกได้อีกว่า ประชาชนไม่สนใจเรื่องเผด็จการหรือประชาธิปไตย (แม้จะมีนักการเมืองกรอกหูเรื่องประชาธิปไตย) แต่สนใจความต่อเนื่องทางการเมืองเพื่อให้การพัฒนาประเทศทำได้ไม่ขาดตอน เป็นไปได้หรือไม่ว่าโมเดลของจีนคือแรงบันดาลใจ
โมเดลของจีน ซึ่งมีลักษณะไฮบริดคือระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่ใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของค่ายประชาธิปไตย ข้อดีคือภายใต้การปกครองแบบนี้ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศ ไม่เปลี่ยนผู้นำบ่อยกลางคัน และเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านก็เป็นไปอย่างราบรื่น สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด
จีนมีความรุดหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในระดับน่าทึ่ง แม้แต่ระบบการศึกษาก็ก้าวหน้า มหาวิทยาลัยหลายแห่งติดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลก เช่น จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 2018 ของนิตยสารไทม์ส ของสหรัฐ ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยปักกิ่งและชิงหวา ติดอันดับ 27 และ 30 ของโลก ดีกว่ามหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีกบางแห่งของสหรัฐ (และแน่นอนทิ้งไทยไปไม่เห็นฝุ่น) มีนักศึกษาต่างชาติไปเรียนที่จีนกว่า 4 แสนคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากเกาหลีใต้และอเมริกา
เมื่อสัปดาห์ก่อน พรรคคอมมิวนิสต์จีน เห็นชอบให้สี จิ้น ผิง นั่งประธานาธิบดีต่ออีกสมัยและมีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้สี จิ้น ผิง ดำรงตำแหน่งไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีวาระ เพราะอยากให้สานต่อนโยบายพัฒนาประเทศต่อไปอีกระยะ ซึ่งบางคนก็ประเมินว่า สี จิ้น ผิง คงอยู่ต่อไปอย่างน้อย 3 สมัยหรือ 15 ปี หรือครึ่งทางของแผนพัฒนาประเทศ 30 ปี
ซึ่งแน่นอนว่าถูกนักวิจารณ์กระแสหลักจากโลกตะวันตกชี้ว่าจะทำให้จีนเป็นเผด็จการมากขึ้น แต่ก็มีนักวิจารณ์ตะวันตกบางคนมีมุมมองที่ต่างไป โดยบอกว่ามีวิธีอื่นที่จะมองเรื่องนี้ “มันคือความสามารถของจีนในการทำสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วง” ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศในยุโรปอิจฉา
แปลให้ตรงตัวก็คือความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพทางการเมืองคือหนึ่งในหัวใจหลักที่ทำให้จีนพัฒนาทุกอย่างได้รวดเร็ว ในขณะที่ประเทศประชาธิปไตยในยุโรปติดหล่มอยู่กับปัญหาขัดแย้งทางการเมือง เช่น เยอรมนี แม้จะเลือกตั้งแล้วก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะไม่ลงรอยกัน ต้องใช้เวลากว่า 5 เดือนจึงมีรัฐบาล เช่นเดียวกับอิตาลี
ประชาธิปไตยเองก็มีราคาต้องจ่าย ราคานั้นคือการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ แม้บางคนจะเถียงว่าการขัดแย้งคือความสวยงามก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วความขัดแย้งก็ทำให้เราติดหล่ม ไปไม่ถึงไหน