วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (13)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่ (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม ทั้งฮั่นเจาตี้กับฮั่นซวนตี้ยังคงทำศึกกับซย์งหนูไม่เปลี่ยนไปจากก่อนหน้านี้ แต่ที่ต่างออกไปคือ ทั้งสองพระองค์มิได้ใช้งบประมาณหรือทรัพยากรมากเท่าฮั่นอู่ตี้

ที่สำคัญคือ ในยุคของฮั่นซวนตี้นั้น ซย์งหนูได้แตกแยกเป็นกลุ่มเหนือกับกลุ่มใต้ และเมื่อทัพฮั่นทำศึกจนชนะกลุ่มเหนือแล้ว กลุ่มใต้ก็หันมาทำสัญญาสงบศึกกับฮั่น ความสงบของทั้งสองฝ่ายจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ความสงบครั้งนี้ทอดเวลายาวนานกว่า 40 ปี

ผลงานนี้ของฮั่นซวนตี้จึงได้รับการยกย่องอีกเช่นกัน

หลังจากสิ้นยุคของฮั่นเจาตี้และฮั่นซวนตี้ไปแล้ว การเมืองของฮั่นตะวันตกก็เข้าสู่ช่วงที่สี่ซึ่งเป็นช่วงสุดท้าย ในช่วงนี้ฮั่นมีจักรพรรดิปกครองสี่พระองค์ที่ต่างก็ไร้ความสามารถ และต่างก็ใช้ชีวิตเสพสุขด้วยการกินบุญเก่าที่จักรพรรดิองค์ก่อนหน้าทิ้งเอาไว้

จนมาถึงจักรพรรดิองค์ที่ห้าคือ หญูจื่ออิง ซึ่งทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ ค.ศ.6 ขณะมีพระชนมายุเพียงสองพรรษาปัญหาจึงเกิดขึ้นจนนำไปสู่การล่มสลายของฮั่นตะวันตกในเวลาต่อมา

 

ปัญหาที่ว่ามีที่มาจากบุคคลนามว่า หวังหมั่ง (ก.ค.ศ.45-ค.ศ.23) ซึ่งมีภูมิหลังเป็นเครือญาติกับราชวงศ์ฮั่นสายพระชนนี แต่ไร้บรรดาศักดิ์ใดๆ จึงมีฐานะเป็นเพียงสามัญชน

จากชีวิตเช่นนี้ทำให้หวังหมั่งตั้งใจใฝ่ศึกษาและวางตนเป็นสุภาพชน ผิดกับเครือญาติสกุลหวังคนอื่นๆ ที่มีบรรดาศักดิ์แล้ววางเขื่องใส่ผู้อื่น

จนครั้งหนึ่งผู้เป็นลุงของเขาซึ่งมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพใหญ่เกิดป่วยหนัก หวังหมั่งก็สู้อุตส่าห์ไปเฝ้าไข้คอยปรนนิบัติ ครั้นผู้เป็นลุงเสียชีวิตลง หวังหมั่งก็ยังไปเฝ้าดูแลหลุมศพอีกสามปี1

พฤติกรรมเช่นนี้ของหวังหมั่งจึงเป็นที่กล่าวขานกัน ชนทั้งปวงต่างยกย่องความกตัญญูของเขา และเป็นเหตุทำให้เขาได้รับตำแหน่งขุนนางต่ำศักดิ์

จากนั้นจึงได้ไต่เต้าจนมีความใกล้ชิดกับจักรพรรดิและมเหสีจนได้เป็นขุนนางสูงศักดิ์ในที่สุด

แต่กระนั้น เขาก็ยังคงปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลายไม่มีเปลี่ยน โดยใช้ชีวิตอย่างสมถะ กินอยู่อย่างประหยัด และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ญาติสนิทมิตรสหายและราษฎรที่เดือดร้อนอยู่เสมอ

ยามที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เขาก็ผลักดันให้ราชสำนักงดเว้นการเก็บภาษีจากราษฎรที่เดือดร้อน

การใช้ชีวิตและวางตนเช่นนี้ของหวังหมั่ง ยิ่งทำให้เขาได้รับการเคารพยกย่องจากชนทั้งปวงมากยิ่งขึ้น

 

จากภูมิหลังที่มาของหวังหมั่งดังกล่าว จึงไม่แปลกที่เขาจะเป็นความหวังในการกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นที่กำลังเสื่อมอยู่ในขณะนั้น โดยที่หามีผู้ใดเฉลียวใจแม้แต่น้อยไม่ว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่เขาแสดงออกนั้น ล้วนเป็นละครฉากใหญ่ที่เขาเล่นตบตาคนดูเท่านั้น

ด้วยว่า ก.ค.ศ.1 นั้นเอง ราชวงศ์ฮั่นได้จักรพรรดิพระนามว่า ฮั่นผิงตี้ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.1-ค.ศ.6) มาครองราชย์ด้วยวัยเพียงเก้าพรรษา ถึงตอนนี้หวังหมั่งซึ่งเป็นมหาอำมาตย์ที่มีอำนาจสูงสุดปฏิบัติต่อฮั่นผิงตี้เสมือนหุ่นเชิด

และพอถึง ค.ศ.6 หวังหมั่งก็ลอบวางยาพิษปลงพระชนม์ฮั่นผิงตี้จนสิ้นพระชนม์ จากนั้นก็เลือกกุมารน้อยวัยสองพรรษาขึ้นเป็นจักรพรรดิมีพระนามว่า หญูจื่ออิง (ครองราชย์ ค.ศ.6-9) เป็นหุ่นเชิดใหม่ของเขา

พอสามปีต่อมาเขาก็จัดฉากให้หญูจื่ออิงสละราชสมบัติแล้วให้เขาเป็นจักรพรรดิแทน จากนั้นเขาก็สถาปนาราชวงศ์ซินขึ้นมา

ฮั่นสมัยแรกจึงสิ้นสุดลงด้วยประการฉะนี้

 

จักรพรรดิตลอดสมัยนี้มีอยู่ 14 พระองค์ แต่หากรวมหวังหมั่งที่มาเป็นจักรพรรดิคั่นเอาไว้ก่อนจะถึงฮั่นสมัยหลัง (ในนามราชวงศ์ซิน) ด้วยแล้วก็จะเป็น 15 พระองค์

การเมืองจีนของฮั่นสมัยแรกจากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงระบบสัมพันธภาพทางอำนาจในเรื่องหนึ่งคือ อำนาจของจักรพรรดิที่สัมพันธ์กับกลุ่มบุคคลสามกลุ่มด้วยกัน ทั้งสามกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยเสนามาตย์ วงศานุวงศ์ และเครือญาติทางฝ่ายราชชนนีหรือมเหสีเดิม

สัมพันธภาพนี้จะหนุนให้อำนาจจักรพรรดิเข้มแข็งก็ได้หรือบั่นทอนให้อ่อนแอก็ได้ ขึ้นอยู่เงื่อนปัจจัยหลายประการ เช่น ความสามารถและพฤติกรรมของจักรพรรดิ ความซื่อสัตย์สุจริตของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นต้น

โดยหลังราชวงศ์ฮั่นไปแล้ว สัมพันธภาพนี้จะมีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์การเมืองจีนต่อไป

 

ค.การปกครองของฮั่นในสมัยแรก

ก่อนที่ราชวงศ์ฮั่นจะถือกำเนิดขึ้นนั้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่สองประการที่พึงกล่าวถึงคือ

ประการแรก ภูมิหลังของหลิวปังที่เป็นสามัญชนมาก่อน ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าหลิวปังมิใช่ผู้มีการศึกษาสูง การที่จะเข้าใจรีตของชนชั้นปกครองจึงไม่มี โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับฉินสื่อที่มีพัฒนาการมายาวนานก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ

การที่ห่างไกลจากรีตเช่นนี้ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของหลิวปังกับพลพรรคไม่มีพิธีรีตองมากำหนด การปฏิบัติต่อกันจึงเป็นเหมือนมิตรสหายมากกว่านายกับบ่าว

ในประการต่อมา หลังจากที่หลิวปังตั้งตนเป็นจักรพรรดิแล้ว ราชสำนักฮั่นมิได้มีกฎว่าขุนนางจะต้องสมาทานหลักคิดของสำนักใดอย่างตายตัว ทั้งจักรพรรดิ วงศานุวงศ์ หรือขุนนางต่างมีอิสระที่จะสมาทานหลักคิดของสำนักใดก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ราชสำนักฮั่นจึงประกอบไปด้วยบุคคลที่สมาทานหลักคิดมากกว่าหนึ่งสำนัก แต่หลักคิดใดจะถูกนำมาใช้ในการปกครองนั้นย่อมขึ้นอยู่กับผู้เป็นจักรพรรดิเป็นหลัก

ข้อสังเกตสองประการนี้มีผลทำให้ฮั่นสมัยแรกจำต้องยึดเอาหลักคิดของสำนักใดสำนักหนึ่งมาใช้ อย่างน้อยก็เพื่อให้ชีวิตทางการปกครองเป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย

โดยปัญหาแรกสุดที่นำไปสู่ความคิดที่ว่านี้มาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างหลิวปังกับผู้ใต้บังคับบัญชา

ที่หลังจากที่หลิวปังตั้งตนเป็นจักรพรรดิใหม่ๆ และต้องพบปะสนทนากับเหล่าเสนามาตย์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการนั้น ปรากฏว่า เสนามาตย์มักปฏิบัติต่อจักรพรรดิเหมือนเมื่อครั้งคบหาเป็นมิตรร่วมรบกันใหม่ๆ

บางครั้งก็เจรจากับจักรพรรดิด้วยอาการที่เมามาย หรือเรียกขานชื่อเล่นของจักรพรรดิเหมือนจักรพรรดิเป็นเพื่อนสนิท

ปัญหานี้ทำให้ฮั่นเกาตี้ทรงวิตกและคิดหาทางออก

 

จนมีขุนนางผู้หนึ่งนามว่า ซูซุนทง ซึ่งสมาทานหลักคิดสำนักหญู และเป็นอาจารย์ที่จัดเจนในด้านรีต (หลี่) ของสำนักนี้เป็นที่ยิ่ง ได้เสนอตัวเพื่อแก้ปัญหาที่ว่าให้แก่ฮั่นเกาตี้

เมื่อทรงอนุญาตแล้วซูซุนทงก็นำปัญหานี้ไปแก้อย่างจริงจัง และกว่าซูซุนทงพร้อมที่จะถวายผลงานต่อฮั่นเกาตี้เวลาก็ผ่านไปหลายเดือน

โดยในวันที่แสดงผลงานในท้องพระโรงในขณะที่ทุกอย่างมีความพร้อมแล้วนั้น ซูซุนทงได้เปล่งเสียงเรียกให้บรรดาเสนามาตย์มาเข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์ของฮั่นเกาตี้

ครั้นสิ้นเสียงบรรดาเสนามาตย์ก็เข้ามาในท้องพระโรงด้วยกิริยาท่าทางตามรีตของสำนักหญู ทุกอย่างแลดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสุขุมคัมภีรภาพ

จากนั้นทั้งหมดก็คุกเข่าลงกับพื้นแล้วเปล่งเสียงโดยพร้อมเพรียงกันว่า

“ทรงพระเจริญหมื่นปี หมื่นหมื่นปี”

ฮั่นเกาตี้เห็นเช่นนั้นก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก และตรัสว่า

“วันนี้ข้าพเจ้าได้ลิ้มรสเดชานุภาพอันสูงส่งแห่งการเป็นจักรพรรดิแล้ว”

แม้จะเป็นเช่นนี้ก็ตาม แต่การใช้หลักคิดของสำนักใดสำนักหนึ่งอย่างเป็นทางการก็ยังมิได้เกิดขึ้น

———————————————————————————————————————-
(1) การเฝ้าหลุมศพบุพการีของผู้ที่เป็นบุตรหลานถือเป็นประเพณีจีนที่มีมาแต่โบราณ เหตุผลสำคัญของประเพณีนี้คือ ความกตัญญู ตามหลักคำสอนของลัทธิขงจื่อ การเฝ้าหลุมศพนี้มีนัยว่าอยู่เป็นเพื่อนบุพการี ดังนั้น ผู้ที่ไปเฝ้าจึงมักสร้างที่พักอย่างง่ายให้พอหลบแดดหลบฝนและอาศัยหลับนอนไปได้สามปีที่เฝ้านั้น โดยตลอดสามปีดังกล่าวก็ต้องแต่งกายไว้ทุกข์ด้วย ปัจจุบันประเพณีนี้ไม่อาจเห็นได้อีกแล้ว ด้วยสังคมเปลี่ยนไปมากจนไม่สะดวกที่จะทำเช่นนั้น แต่ที่มิได้ขาดตอนก็คือ การไปไหว้หลุมศพพร้อมเครื่องเซ่นอย่างน้อยปีละครั้ง ที่ส่วนใหญ่มักเป็นช่วงเทศกาลชิงหมิง (เช็งเม้ง)