เทศมองไทย : กรณี “จินา แฮสเปล” กับ “แบล็กไซต์” ในไทย

การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เลือกที่จะเสนอชื่อ “จินา แฮสเปล” รองผู้อำนวยการซีไอเอขึ้นเป็นผู้อำนวยการซีไอเอ แทนที่ “ไมก์ ปอมปิโอ” ซึ่งถูกขยับขึ้นไปทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แทนที่ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่ “ขวางทางปืน” ของทรัมป์ จนถูกปลดพ้นตำแหน่ง ทำให้เรื่อง “แบล็กไซต์” หรือ “คุกลับ” ของซีไอเอ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งอย่างช่วยไม่ได้

และช่วยไม่ได้เช่นกันที่ เมื่อมีแบล็กไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ จินา แฮสเปล เรื่องทั้งหมดก็ต้องเชื่อมโยงมาถึงประเทศไทยเข้าจนได้

เพราะในช่วงระยะเวลานาน 30 ปีในการทำงานให้กับซีไอเอนั้น จินา แฮสเปล เคยดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าสถานี” ซีไอเอประจำประเทศไทย แถมยังเป็นช่วงเดียวกันที่ปรากฏ “คุกลับ” กับการ “ทรมาน” ที่ถือกันว่าเป็นการ “ทารุณกรรม” ขึ้นภายในคุกลับหรือแบล็กไซต์แห่งนั้น

คณะกรรมาธิการข่าวกรอง ของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เคยสอบสวนกรณีนี้อย่างเป็นทางการ สรุปเป็นรายงานหนาถึงกว่า 76,000 หน้า เผยแพร่ “บทคัดย่อ” ความยาว 528 หน้าออกมาเมื่อปลายปี 2014

 

ในขณะนั้น รายงานของวอชิงตัน โพสต์ ถึงกับระบุว่า “แบล็กไซต์” ในไทยคือแบล็กไซต์แห่งแรกของซีไอเอ ทำให้ชวนคิดมากว่า น่าจะเป็น “ต้นแบบ” ของแบล็กไซต์อีกนับ 10 แห่งในหลายประเทศทั่วโลก

วอชิงตันโพสต์ ระบุว่า อาบู ซูเบย์ดา ผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์ ที่เกิดในซาอุดีอาระเบีย ที่เชื่อกันว่ามี “บทบาทสำคัญ” ในอัลเคด้า และมีส่วน “รู้เห็น” ในการโจมตีด้วยการก่อการร้ายสำคัญๆ หลายครั้งนั้น ถูกจับได้ที่ปากีสถาน ถูกส่งตัวให้กับซีไอเอที่นั่น แต่ซีไอเอไม่อยากส่งตัวซูเบย์ดาให้อยู่ในความควบคุมของกองทัพอเมริกัน

“ในที่สุดก็ตกลงใจส่งตัวมาควบคุมไว้ที่สถานที่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งในเวลาต่อมาก็กลายเป็นแบล็กไซต์แห่งแรกขององค์การ” นี่คือข้อมูลของ วอชิงตันโพสต์เมื่อปี 2014

บางคนชี้ว่า กรณีแฮสเปล น่าจะเป็นกรณีถกเถียงกันภายในสังคมอเมริกันมากกว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพราะดูเหมือนจะโฟกัสอยู่กับประเด็นเรื่องของการ “ทารุณกรรม” คนที่ถูกควบคุมตัวแบบ “เกินไป” และถือว่าเป็นการกระทำ “ผิดกฎหมาย” ในสหรัฐอเมริกา

ผมไม่รู้ว่าในเมืองไทยมีการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำทารุณกรรมเกินเหตุของผู้ถูกควบคุมตัวที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้นั้นเหมือนในสหรัฐอเมริกาหรือเปล่า ถ้ามี การกระทำของ จินา แฮสเปล ตามที่ปรากฏในรายงานของวุฒิสภาสหรัฐ ถือเป็นการกระทำผิด เป็นการละเมิดกฎหมายของไทยหรือไม่?

ที่น่าคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ จนป่านนี้ ยังไม่มีใครรู้ชัดเจนว่า “คุกลับ” หรือ “แบล็กไซต์” ที่มีชื่อเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “ดีเทนชัน ไซต์ กรีน” ในไทยนั้นอยู่ที่ไหน?

อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของใคร?

เจ้าหน้าที่ไทยมีส่วนรู้เห็นรับผิดชอบหรือไม่

หรือทุกอย่างล้วนปกปิด ไม่มีเจ้าหน้าที่ไทย “รู้เรื่องด้วย” จริงๆ?

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเอาไว้เมื่อครั้งนั้นว่า สหรัฐอเมริกา “ไม่ได้บอกอะไรเรา” และ “เราไม่รู้ว่ามัน (แบล็กไซต์) ซ่อนอยู่ตรงไหน” และอ้างว่า เมื่อมีการส่งมอบผู้ก่อการร้ายให้กับฝ่ายอเมริกันแล้ว “เราก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ อีกต่อไป”

แต่รายงานของวอชิงตัน โพสต์ บอกไปอีกทางตรงกันข้าม

ไม่เพียงแต่บอกว่า ไทยไม่ได้ส่งมอบ อาบู ซูเบย์ดา ให้กับฝ่ายอเมริกัน แต่เป็นซีไอเอต่างหากที่นำซูเบย์ดามาควบคุมตัวในไทยเท่านั้น

วอชิงตัน โพสต์ ยังบอกด้วยว่า ทันทีที่มาถึง ซูเบย์ดาก็ก่อให้เกิด “ความตึงเครียด” ขึ้นภายในรัฐบาลไทย และระบุด้วยว่า “เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย” ซึ่งทำความตกลงในเรื่องนี้กับซีไอเอ เริ่มกำหนดเงื่อนไขใหม่ๆ เอากับซีไอเอ รวมทั้งการ “เข้าถึงข้อมูลข่าวกรองที่ไม่เกี่ยวกับการก่อการร้าย” อีกด้วย

วอชิงตัน โพสต์ รายงานต่อไปว่า “เจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งเป็นผู้ให้ความเห็นชอบตามแผนของซีไอเอ จู่ๆ ก็ถูกย้ายออกแล้วแทนที่ด้วยคนที่คัดค้านความตกลงนี้”

เจ้าหน้าที่คนใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับแผนของซีไอเอ ยื่นข้อเรียกร้องให้ “ปิด” แบล็กไซต์ภายใน 3 สัปดาห์

แบล็กไซต์ในไทย ถูกปิดจริง แต่ไม่ใช่ภายใน 3 สัปดาห์ หากแต่เป็นการปิดโดยสมัครใจของซีไอเอเอง ในเดือนกันยายนปี 2002 ราว 5-6 เดือนหลังจากเปิดใช้งาน

ดังนั้น แบล็กไซต์ในไทยจึงยังมีเงื่อนงำที่เป็นคำถามอยู่อีกมากมาย เช่นเดียวกันกับการตัดสินใจครั้งนี้ของทรัมป์

เป็นการตัดสินใจเลือก “ลูกหม้อ” ของซีไอเอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามากมายขึ้นกับองค์การสืบราชการลับแห่งนี้ หรือเป็นการเลือก “เผื่อไว้ว่า” หากสถานการณ์เอื้อ หรือจำเป็นต้องใช้งานแบล็กไซต์และ “การสอบสวนเพิ่มเติมพิเศษ” แบบที่ทรัมป์ชื่นชมนักหนา

ก็จะมีคนสนองความต้องการของทรัมป์ได้แน่นอน?