จับตา “ขอนแก่น” กับบทบาทฮับซ่อม “รถถังจีน” และบทสรุป “Cobra Gold 2018”

จังหวัดขอนแก่นมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ “ปลุกเร้า” ให้การลงทุนจากภายนอก โดยเฉพาะจากนักลงทุนจีน เข้าไปในพื้นที่เพิ่มขึ้น คือ การเตรียมจัดสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถถัง VT-4 ที่จีนได้จัดส่งให้ไทยล็อตแรก 28 คัน มูลค่า 5,020 ล้านบาท เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2560 และล็อตที่ 2 อีก 10 คัน มูลค่า 2,030 ล้านบาท

โดยรถถัง VT-4 ทั้ง 38 คัน จะเข้าประจำการตามหน่วยทหารม้า ได้แก่ กองพันทหารม้าที่ 6 (ม.พัน.6) จ.ขอนแก่น และกองพันทหารม้าที่ 21 (ม.พัน.21) จ.ร้อยเอ็ด

ทั้งนี้ การจัดซื้อระยะที่ 3 ยังไม่ผ่านการอนุมัติ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอีก 10 คัน รวม 1,900 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทบ. ได้จัดซื้อยานเกราะล้อยาง VN-1 รวม 34 คัน 2,300 ล้านบาทด้วย

ก่อนหน้านี้ จ.ขอนแก่น เติบโตด้วยศักยภาพเดิมของตน คือการมีสภาพภูมิรัฐศาสตร์อยู่ใจกลาง “คาบสมุทรอินโดจีน” สามารถเชื่อมโยงประเทศกลุ่ม “CLMV” ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ทำให้จีนสนใจพื้นที่นี้เป็นพิเศษ มีการเข้ามาตั้งสถานกงสุล ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า เดิมทีพื้นที่ทางทหารของ จ.ขอนแก่น เป็นสถานที่ซ่อมสายพานรถถัง ซ่อมเฮลิคอปเตอร์ และการผลิตกระสุนปืนเท่านั้น แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเอาจริงเรื่องการพัฒนา “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ให้พิจารณานำศักยภาพของโรงงานอุตสาหกรรมทหารต่างๆ ที่มีขีดความสามารถ ผลงานการวิจัยและพัฒนา ที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ในภาคราชการและเพื่อการพาณิชย์ในอนาคต มากำหนดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายอีอีซีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งได้กำหนดให้เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 1 ประเภท คือ “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” ให้เป็นอุตสาหกรรมชนิดที่ 11 เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพของประเทศ ในการสร้างรายได้ ลดการพึ่งพา และประหยัดงบประมาณจากการจัดหาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ

ที่สำคัญการพัฒนา “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” จะช่วยในเรื่องการ “จ้างงาน” ในพื้นที่ และเป็นการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยี” ไปในตัว เพราะในกระบวนการจำหน่ายยุทโธปกรณ์ให้กับไทยนั้น ประเทศผู้ค้าจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงและผลิตให้ฝ่ายไทยด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อขายแล้วจบไป

โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยและจีน ก็มีแผนงานชัดเจน ที่จะต้องจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุง, โรงซ่อมยุทโธปกรณ์ โดยต้องนำอาวุธส่วนหนึ่งเข้ามาประกอบในไทย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชน สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป

ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือไทยก็ได้จัดซื้อเรือดำน้ำจีน Yuan Class S26T จำนวน 1 ลำ 13,500 ล้านบาท ที่รวมแพ็กเกจการฝึกอบรมบุคลากร ตอร์ปิโด อะไหล่ต่างๆ และจะต้องมีการสร้างโรงเก็บและโรงซ่อมบำรุงในไทยอีกด้วย

แต่ “เรือดำน้ำ” ถือเป็นยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่ยังอยู่ในชั้นความลับ จึงยากที่จะมีการถ่ายเทคโนโลยีให้เต็มๆ แบบรถหุ้มเกราะ รถถัง หรือเฮลิคอปเตอร์

น่าสังเกตว่า ในทางกลับกัน ประเทศพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐอเมริกานั้นยังไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้แก่ไทยมากนัก อาจเป็นเพราะมีการประเมินว่าตลาดอาวุธของไทยยังเล็กอยู่

ต่อคำถามว่าในอนาคตจะมีการฝึกร่วมระหว่างไทย-จีน เหมือนกับสหรัฐ-ไทย ภายใต้ชื่อ Cobra Gold หรือไม่นั้น ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่าที่ผ่านมาเหล่าทัพต่างๆ ของไทยและจีน มีการฝึกแบบทวิภาคีอยู่แล้ว ซึ่งในเวลานี้เรียกได้ว่าเป็นช่วง “ขาขึ้น” แต่ยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับการฝึก Cobra Gold นั้น ประเทศจีนก็เข้ามาในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” และร่วมฝึกด้านบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลัก ซึ่งยังใช้กำลังพลไม่มากนักในการส่งมาฝึก ส่วนจะขยายการฝึกร่วมกันหรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณาของไทยกับสหรัฐ ในฐานะเจ้าภาพหลัก เพราะหากดูท่าทีของจีนจะพบว่าไม่ได้มีความรีบร้อนมากนักในเรื่องนี้

ฝ่ายความมั่นคงระบุอีกว่า การจัดกำลังมาฝึกร่วมกัน ยังต้องมองถึงรูปแบบการรบและระบบอาวุธที่จีนกับสหรัฐมีความแตกต่างกันด้วย

หากให้มองถึงความสัมพันธ์ทางการทหาระหว่างสหรัฐ จีน และไทย ในระยะยาว ถึง ค.ศ.2020 ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่าไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะยังมีพลวัตต่างๆ เกิดขึ้นเสมอ

แม้ในด้านเศรษฐกิจน่าจะยังคงดีอยู่ แต่ในด้านความมั่นคงและการทหารยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ การวางกำลังของฝ่ายต่างๆ ทั้งสหรัฐกับญี่ปุ่น และจีนกับรัสเซีย ซึ่งต้องจับตาดูไปถึงยุทธศาสตร์การเมืองของสหรัฐว่าจะมีการเพิ่มกำลังทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างไร

แต่การฝึก Cobra Gold นั้นถือเป็นการฝึกสำคัญ ในการเชื่อมสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับจีน โดยมีไทยเป็น “กุญแจสำคัญ” ทว่า ในการเป็น “โซ่ข้อกลาง” นี้ก็ต้องระมัดระวังตัวเองให้มาก ถ้า 2 ประเทศมหาอำนาจมีความขัดแย้งกันในอนาคต

ล่าสุดไทยกับสหรัฐได้สรุปบทเรียนการฝึก Cobra Gold 2018 เรียบร้อยแล้ว

การฝึกหนนี้ถือเป็น “Heavy Year” นำมาซึ่งการเดินทางเยือนไทยของ พล.อ.โจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐ (เทียบเท่า ผบ.สูงสุด) ที่เปิดเผยว่า ตนมาประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 นับจากการฝึก Cobra Gold 1991

โดยการมาครั้งนี้เพื่อยกระดับความสัมพันธ์กองทัพไทย-สหรัฐที่ครบรอบ 70 ปี และเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส 200 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ

ดังนั้น ในปี 2018 สหรัฐจึงส่งกำลังพลมาฝึก Cobra Gold กับไทย ถึง 6,000 นาย

นอกจากนี้ พล.ร.อ.แฮรี่ บี แฮร์ริส ผบ.กองกำลังสหรัฐ ภาคพื้นแปซิฟิก ยังได้มาเยือนไทย พร้อมเปิดเผยว่า การเยือนครั้งนี้สะท้อนความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของ 2 ชาติ หลังผู้นำกองทัพสหรัฐมาเยือนไทยมากขึ้น ทั้ง รมว.กลาโหม และ ผบ.สูงสุด

อีกทั้งในการฝึก Cobra Gold 2018 สหรัฐก็เพิ่มกำลังฝึกขึ้นอีก 2,000 นาย ถือเป็นตัวเลขความร่วมมือที่สำคัญ และเป็นรหัสการฝึกที่ยาวนานกว่า 30 ปี

ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า หากประเมินด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่าความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐจะยังไม่มีปัญหา เพราะเป็นระบบตลาดเสรีเช่นเดียวกัน

ขณะที่การพัฒนาด้าน “การทหาร-การเมือง” กับ “เศรษฐกิจ” ก็ยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน เช่นใน จ.ขอนแก่น ที่มีพื้นฐานเดิมที่ดี แต่มี “ปัจจัยเร่ง” จากการก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงรถถังจีน

ซึ่งการพัฒนาในเวลานี้ถือว่ายังไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ เพราะสหรัฐเองก็มีฐานที่มั่นอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ในฐานะหนึ่งในพื้นที่ฝึก Cobra Gold

อย่างไรก็ดี เชื่อได้ว่าสหรัฐย่อมไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์เช่นนี้แน่นอน

ส่วนไทยก็ต้องเล่นบท “อยู่เป็น” กับ “2 มหาอำนาจ” ต่อไป