คำ ผกา : มีความอวิชชาเป็นอาภรณ์

คำ ผกา

เมื่อปรากฏคำว่า “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” ในจดหมายราชการ ทำให้ฉันงงงันไปเลยทีเดียว มองโลกในแง่ดีที่สุด การที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบพยายามออกมาชี้แจง แก้ตัว ขอโทษ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มาถึงในปัจจุบันสมัย ต่อให้เราต้องอยู่ในระบบอำนาจนิยมนี้มาสิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่มีประชาชนคนไหนรับได้กับการใช้ถ้อยคำดูถูก เหยียดหยามประชาชนแบบนี้

มองดูคำแก้ตัวก็น่าขัน ตั้งแต่ รีบ, นี่ไม่ใช่ประชุมครั้งแรก, ไม่ได้อ่านเนื้อความจดหมาย, รีบแก้ไขแล้ว เป็นประโยคว่า, ให้ประชาชนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ อันล้วนแต่ฟังไม่ขึ้นและไม่สมกับเป็นคำชี้แจงจากคนที่เป็นผู้ใหญ่เลย ยิ่งพูดยิ่งเหมือนเอาสีข้างเข้าถู เพราะไม่มีคำชี้แจงไหนให้ความกระจ่างต่อคำถามว่า “ทำไมจึงคิดว่าประชาชนโง่” จนเขียนประโยคนี้ออกมา

โง่กับรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมเหมือนกันหรือไม่?

ฉันจะลองหาความหมายของคำว่า “ความเปลี่ยนแปลงของสังคม” เสียก่อน

ในความสัมพันธ์ระหว่างราชการกับประชาชนนั้น มีความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไรบ้าง?

เพื่อนของฉันคนหนึ่งนามสกุลสั้นมาก (อยากจะเอ่ยให้นึกออก แต่คงไม่เหมาะ) นามสกุลสั้นและเขียนง่ายประมาณ “ขจี” อะไรแบบนี้ ก็เลยถามเพื่อนว่า ทำไมนามสกุลสั้น เท่จังเลย

เพื่อนบอกว่า ตอนก๋งไปอำเภอเพื่อลงทะเบียนนามสกุลในสมัยที่รัฐบาลเพิ่งออกกฎหมายให้คนทุกคนต้องมีนามสกุลนั้น ก๋งอ่าน เขียนไทยไม่ได้ นายอำเภอจึงตั้งนามสกุลให้ง่ายที่สุด จะได้เขียนได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องรู้หนังสือ

และเราคนไทยจำนวนมากที่สืบสายโลหิตมาจากสามัญชนคนยาก เมื่อสืบหาที่มาของนามสกุลก็อาจจะพบว่า ปู่ ย่า ตา ทวด ของเราคือคนไม่รู้หนังสือ นามสกุลส่วนใหญ่ก็ได้มาจากอำเภอ หรือนายอำเภอ และในหลายกรณีก็ได้นามสกุลแปลกๆ ตลกๆ มาเสียด้วย

ตั้งแต่ยุคนั้นกระมัง ที่ในสังคมไทยเรามีคนจำพวกเป็น “ข้าราชการ” ต่อมาเราเรียกว่าเป็นพวก “อำเภอ” คนเหล่านี้ คือตัวแทนของรัฐราชการจากส่วนกลาง เข้ามาทำงานในท้องถิ่น และมีปฏิสัมพันธ์กับคน “พื้นเมือง”

คนพื้นเมืองในท้องถิ่นมีตั้งแต่พระสงฆ์ หรือนักบวชของศาสนาต่างๆ ผู้นำชุมชน เช่น หมอยา หมอผี มัคนายก คนจีนที่เข้ามาทำมาค้าขาย คนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าที่ดินรายเล็ก ไปจนถึงชาวบ้านที่ยากจนกระมอมกระแมม อันน่าจะเป็นคนส่วนใหญ่

ในโครงสร้างของชุมชนอันมีชนชั้นปรากฏให้เห็นเป็นพีระมิดชัดเจนว่า ข้าราชการคือตัวแทนของความรู้ การศึกษา อำนาจ เกียรติยศ และยังเป็นผู้นำเข้าไลฟ์สไตล์ การกิน การอยู่ แบบ “สมัยใหม่” เข้ามาใน “ท้องถิ่น” หรือ “ชนบท”

เช่น อาจจะเป็นบ้านแรกๆ ของหมู่บ้านที่มีทีวี ตู้เย็น ลูกหลานของพวกเขาจะถูกส่งไปเข้าโรงเรียนดีๆ ในตัวเมือง เมื่อสำเร็จการศึกษา มีตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่งงาน ก็จะกลายเป็นโมเดลความสำเร็จของครอบครัว ที่คนพื้นเมือง และคนจีนทั้งหลายมองเห็นเป็น reference ของชีวิตหรือความสำเร็จในอุดมคติ เมียๆ ของข้าราชการท้องถิ่นเหล่านี้ยังเป็นผู้นำเทรนด์ทรงผม แฟชั่น และการแต่งตัวอีกด้วย

นั่นน่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เจ็ดสิบปีที่แล้ว

แต่สังคมไทยมีการขยับตัวหลายระลอกที่ทำให้ข้าราชการสูญเสียสถานะของการเป็น “ชนชั้นปกครอง” ในท้องถิ่นไป จะชั่วจะดี หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย จะครึ่งใบ เต็มใบ จะถูกลากถอยหลังจากการรัฐประหาร แต่อย่างน้อยๆ การเลือกตั้งอันกะพร่องกะแพร่ง ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พรรคการเมืองและนักการเมือง ที่ by product ของมันทำให้เกิดสภาวะที่ต้องกระจายทรัพยากรลงสู่ท้องถิ่น ลงไปหาคนพื้นเมืองอย่างช่วยไม่ได้ แม้ว่าในการกระจายทรัพยากรนั้น อาจจะยิ่งทำให้อำนาจของข้าราชการปรากฏอย่างเด่นชัดขึ้น

แต่ในเวลาเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงเรียนอาชีวะ โรงพยาบาล โรงงาน ตลาด ถนน ฯลฯ ชนบทของไทยถูกทำให้มีความเป็นเมืองมากขึ้นในหลากหลายระดับแต่ละทศวรรษที่ผ่านไป แม้จะมีคนจนแบบทุกเข็ญที่สุดเพิ่มขึ้นอันเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก “การพัฒนา” เช่น อาจเป็นผู้สูญเสียที่ทำกิน แต่คนท้องถิ่นและลูกหลานของพวกเขาจำนวนมากก็เริ่มได้รับการศึกษา ได้เข้าถึงการสาธารณสุขแม้จะไม่ “ดีมาก”

แต่อย่างน้อย ถ้าเราเทียบภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร จำนวนแม่และเด็กที่ตายเพราะการคลอด และอายุขัยเฉลี่ยของคนในชนบทก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

ด้วยการศึกษาน้อยนิด การอ่านออกเขียนได้ สุขภาพที่ดีขึ้น การคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้น การขยายตัวของสื่อสารมวลชน การมีทีวี วิทยุ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ การเข้าถึง “เงินตรา” ได้มากกว่าโดยเปรียบเทียบ

อย่างน้อยที่สุด พลวัตที่เกิดขึ้นกับคนไทยท้องถิ่นทั้งหลายก็ทรงพลังพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายของแรงงานชนบทเข้าเมืองของทั้งหญิงและชาย และแม้แต่การนำตัวเองไปทำงานต่างประเทศ

ยิ่งเกิดพลวัตทางเศรษฐกิจ แรงงาน การกลายเป็นเมืองของชนบทมากขึ้นเท่าไหร่ ข้าราชการก็ยิ่งหมดความสำคัญในฐานะชนชั้นนำในสังคมชนบทมากขึ้นเท่านั้น ทั้งยังหมดบทบาทในฐานะของการเป็นเทรนด์เซ็นเตอร์ หรือผู้นำแฟชั่นและไลฟ์สไตล์อีกด้วย

ในเวลาเดียวกัน ลูกหลานคนพื้นเมืองที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาก็กลายมาเป็นข้าราชการเสียเองอีกเป็นจำนวนไม่น้อย

ในสภาพเช่นนี้ ทำให้มีข้าราชการ 2 แบบเกิดขึ้นในชนบท คือ

ข้าราชการที่ “รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง” บ้างเป็นลูกหลานชาวบ้าน คนท้องถิ่น ชาวนา จะทำงานดีไม่ดี ก็ไม่มีสำนึกแบบเจ้าขุนมูลนาย เห็นชาวบ้านก็เหมือนเห็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องตัวเอง

กับข้าราชการที่อาจจะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่อยากเปลี่ยน และอยากบริหารอำนาจเล็กๆ น้อยๆ ที่ตนมี เช่น เตะถ่วงงานบริการง่ายๆ ให้ล่าช้าลงบ้าน ชาวบ้านชาวช่องจะได้อดทนสักนิด ง้อสักหน่อย

ง่ายไปเดี๋ยวรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย

ช่วงที่เศรษฐกิจชนบท ภูมิภาคดีมาก และการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นเริ่มแสดงผลอย่างเป็นรูปธรรม ในทศวรรษที่ 2540 ลงมานั้น ชนบทไทยแทบไม่เหลือเค้าเดิมคนพื้นเมือง กลายเป็นพลเมืองไทยที่สำนึกแห่งความเป็นเจ้าของชุมชนทางการเมืองที่ตนเองสังกัดแจ่มชัดขึ้น สำนึกเรื่องสิทธิ การมีพลังการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ก็เข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในช่วงเวลานี้เองที่ข้าราชการค่อยลดความหมายลงไปอีกในเชิงของการเป็นสัญลักษณ์หรือเป็นตัวแทนอำนาจรัฐ แต่กลายเป็นเพียงพนักงานเดินเอกสาร หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องธุรการ มากกว่าการที่มีผลกับชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน ข้าราชการตัวจริงเป็นอย่างไรไม่รู้

แต่ในด้านภาพพจน์แล้วเป็นตัวแทนของความเชย ความล้าสมัยบางอย่าง แฟชั่นการแต่งกายของข้าราชการก็ได้ชื่อว่ามีเอกลักษณ์ที่ represent

ความเป็นราชการแบบไทยๆ เช่น การใช้ผ้าไทยมาตัดเสื้อ ตัดกระโปรงแบบที่เราเห็นข้าราชการหญิงไทยวัยกลางคนชอบใส่ ทรงผมคล้ายการตีโป่งเบาๆ ยามออกงาน สไตล์การแต่งหน้า การใส่เสื้อโปโล การใส่เสื้อซาฟารี ทรงผมข้าราชการชาย การใส่น้ำมันผม เรื่อยไปจนถึงสรรพนามที่ใช้เรียก ผู้บังคับบัญชาเรียกลูกน้อง มารยาทการยืน การนั่ง การต้อนรับขับสู้ การดูแลการเทกแคร์นาย ที่ retro ได้อีกสักห้าทศวรรษ

(ได้เห็นสิ่งนี้กับหูกับตาในโรงแรมแห่งหนึ่งที่นครพนมเมื่อสองเดือนที่ผ่าน เป็นบทสนทนาว่าด้วยลูกน้องกับนาย อันเกี่ยวกับการเตรียมของใส่บาตรให้นายยามเช้า และใครจะใส่บาตรกับนาย-ทึ่งกับกลเม็ดการหยอกล้อ ภาษา การกุมมือพูด ความเอื้อเอ็นดูของนาย การปล่อยมุข และจังหวะการหัวเราะกับมุขต่างๆ)

เห็นได้ชัดว่าในขณะที่โลกข้างนอกเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล ในโลกของราชการด้วยกันเองก็พยายามธำรงวัฒนธรรมของตนเองเอาไว้ และ practice สิ่งเหล่านั้นซ้ำๆ ราวกับว่า เชื่อว่ามันสามารถเป็นแบบอื่นๆ ได้ด้วยหรือ?

ถ้าถามว่า การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกคืออะไร

ก็คงต้องบอกว่า ประเทศที่เจริญ และเป็นประเทศ 4.0 ที่แท้จริงนั้น “ราชการ” จะต้องเล็กลง งานเอกสาร งานธุรการจะกลายเป็นงานของคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์เอไอ ความเทอะทะ อุ้ยอ้าย เชื่องช้า การอนุมัติ ออกจดหมายสาม-สี่ตลบ กับความ fetish ในงานเอกสารมากขั้นตอน จะถูกคัดกรองออก ให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

เพราะเอาเข้าจริงๆ ขั้นตอนเหล่านี้เป็นแค่ธุรกิจการบริหารอำนาจเท่านั้น

ตัดๆ ออกไปจะตกงาน ตกอำนาจ ปั่นป่วน ระบบนิเวศน์ถูกรบกวน

เลยต้องคงงานหรือขั้นตอนการทำงานหลายๆ อย่างที่ไม่จำเป็นเอาไว้

สิ่งที่ประชาชนที่หายโง่ หรือรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องทำอย่างยิ่งคือ ปฏิรูประบบราชการให้เล็กลง ลดงานเอกสารที่ไม่จำเป็น ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ลดกระบวนการในงานราชการที่สักแต่มีไว้เพื่อให้คนที่ไม่มีความหมายได้มีความหมายจากอำนาจ “ผ่าน” หรือ “อนุมัติ” เรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องเล็ก เรื่องน้อย เรื่องขี้ปะติ๋วต่างๆ

ประชาชนที่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงยังรู้อีกว่า ข้าราชการไม่ใช่อาชีพเจ้าคนนายคน แต่คือกลุ่มอาชีพที่เข้ามาทำงานในด้านต่างๆ เพื่อบริการประชาชน และคนเหล่านั้นกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

เมื่อพิจารณาจากตรงนี้จึงสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า คำว่า ทำให้ประชนชนหายโง่ หรือรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง นั้น คนที่คิดเช่นนี้ รู้หรือยังว่า คนที่ต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงคือตัวเองนั่นแหละ ว่า สังคมเปลี่ยนไปแล้ว โลกเปลี่ยนไปแล้ว ชาวบ้าน คนพื้นเมือง เขากลายเป็นพลเมือง เป็นประชาชน ที่รู้ว่าตนเองคือนายจ้างของข้าราชการในฐานะคนเสียภาษี และภาษีเหล่านั้นก็กลายเป็นเงินเดือนข้าราชการ

กินเงินเดือนเขา ดูถูกเขา เห็นว่าเขาโง่

เช่นนี้แหละที่เรียกว่า ไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

ส่วนวาทกรรมเก่าๆ ที่บอกว่าชาวบ้านโง่ จน เจ็บ นั้นก็ไม่จริง

ชาวบ้านไม่ได้จนเพราะโง่ แต่จนเพราะถูกสกัดดาวรุ่งมาโดยตลอด

สกัดดาวรุ่งอย่างไร

ก็โดยการที่ทำให้ชาวบ้านหรือประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา ในคุณภาพที่ดีทัดเทียมกับกลุ่มคนชั้นนำ อะไรที่สร้างขึ้นมาแล้วจะทำให้ชาวบ้านฉลาดขึ้น จะไม่ทำ เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียน ห้องสมุด มิวเซียม สนามกีฬาดีๆ ฯลฯ

ความจนของชาวบ้านก็เริ่มจากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอำนาจ คอนเน็กชั่น แหล่งเงินทุน ฯลฯ

พูดง่ายๆ ชาวบ้านถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงทรัพยากรที่จะทำให้ลืมตาอ้าปากได้ รอแต่นโยบายที่เน้นการสงเคราะห์คนจน ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ ทำให้วาทกรรมโง่ จน เจ็บ ดูสมจริงสมจัง

แต่ขนาดชาวบ้านถูกสกัดดาวรุ่งไว้ขนาดนี้ เขายังไม่โง่เลย แม้เขาจะจน!!!!

และด้วยความลุ่มๆ ดอนๆ ขนาดนี้ ชาวบ้านไทยยังดำผุดดำว่ายขึ้นมาเป็นชนขั้นกลางได้ สามารถเข้าใจเรื่องการต่อรองผลประโยชน์กับนักการเมืองได้ สามารถเล่นเกมชักเย่อต่อรองอำนาจ และหลายครั้งก็แกล้งโง่อยู่เป็นไปตามเกมที่ข้าราชการอยากเล่นได้

ชาวบ้านเขารู้นะว่าอยากเห็นเขาทำตัวแบบไหน อยากฟังเขาพูดอะไร เขาจัดให้ได้หมด แต่ในใจเขาคิดอะไร ใครเล่าจะไปแหวะอกดูได้

ในความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐราชการคงเห็นว่าประชาชนจะฉลาดเกินไป หลอกยากขึ้น ชาวบ้านไม่ใช่คนพื้นเมืองเชื่องๆ ของข้าราชการ แต่คือประชาชนที่ลุกขึ้นมาพูดถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน และเห็นคุณค่าของการเลือกตั้ง เห็นความหมายของสิทธิของเสียงตัวเอง และไม่ยอมรับวาทกรรม โง่ จน เจ็บ อีกต่อไป

เห็นดังนี้ “ราชการ” ในยุคที่กลัวตนเองจะหมดความหมายจึงไม่สบายใจ และโดยไม่รู้ตัว จึงอยากจะเปลี่ยนประชาชนให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องรอการสงเคราะห์จากรัฐ – เหมือนในอดีต

โดยพยายามทำให้ประชาชนเชื่อว่า การมีชีวิตอยู่แบบมีสิทธิมีเสียง มันเหนื่อยนะ มันเสี่ยงต่อการถูกนักการเมืองหลอกนะ ประชาธิปไตยที่รออยู่นั้นล้วนแต่ความจอมปลอมทั้งสิ้น กลับตัวกลับใจเถิด

ประโยค “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” จึงสะท้อนจิตสำนึกที่เป็นแก่นสารของรัฐราชการไทยโดยแท้

สำหรับฉัน โง่ก็เรื่องหนึ่ง แต่ภาวะ ignorance อันไม่รู้ว่าโลกเขาเปลี่ยนไปถึงไหนๆ นั้นน่าเป็นห่วงกว่ามาก

และคนที่คิดว่าตัวเองฉลาดมากมักจะมีอาภรณ์เป็นความ ignorance ประดับกาย