เกษียร เตชะพีระ : ต้นกำเนิดรากหญ้าของทุนนิยมจีน (ตอนจบ)

เกษียร เตชะพีระ

ต้นกำเนิดรากหญ้าของทุนนิยมจีน (ตอนจบ)

ย้อนอ่านตอนต้น คลิก

ห้าโมงเย็นวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1978 ที่หมู่บ้านเสี่ยวกัง มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน ชาวนากลุ่มหนึ่งที่จนตรอกอดอยากปากแห้งภายใต้ระบบนารวมสังคมนิยม ค่อยๆ ทยอยแอบย่องไปรวมตัวกันที่บ้านพื้นดินหลังเล็กๆ ของเหยียนลี่หัวเพื่อนชาวนาทีละคนๆ จนรวมกันได้ทั้งสิ้น 18 คน แล้วพวกเขาก็เริ่มเปิดประชุมลับหาทางออกเพื่อปฏิวัติเศรษฐกิจล้มระบบคอมมูน

ความยากจนล้าหลังทำให้ในบ้านไม่มีเก้าอี้ให้นั่งประชุม มีแต่ม้านั่งตัวเล็กๆ ไม่กี่ตัว คนที่เหลือบ้างก็นอนขด หรือไม่ก็นั่งอยู่กับพื้นดินในบ้าน

หัวโจกต้นคิดคนสำคัญของกลุ่มได้แก่เหยียนหงชาง (http://english.cri.cn/4406/2008/12/02/1701s428915.htm)

ก่อนหน้านี้ เนื่องจากทำนารวมได้ไม่พอกิน ถึงแก่ชาวบ้านต้องออกไปขอทานหน้าหนาว เหยียนหงชางจึงตัดสินใจไปทำงานไซต์ก่อสร้างแทน ถึงปี ค.ศ.1976 เขาก็กลายเป็นเถ้าแก่รับเหมาก่อสร้าง มีลูกน้องคนงานนับร้อย ถือเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งในหมู่บ้านเสี่ยวกัง

ขณะเขากำลังวางแผนจะขยายธุรกิจออกไป หัวหน้าหมู่บ้านคนใหม่ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งก็ไปพบเขา ออกปากขอให้กลับมาช่วยพัฒนาหาทางออกให้หมู่บ้านพ้นความอดอยากปากแห้งที ขอแค่ไม่ต้องออกไปบากหน้าขอทาน ชาวบ้านก็พอใจแล้ว

เหยียนหงชางไม่ค่อยรู้เรื่องเกษตรกรรมนัก เขาจึงเที่ยวสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นก่อนในหมู่บ้าน ได้ความว่าสมัยต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ก่อนเกิดระบบนารวมนั้น หมู่บ้านเพาะปลูกได้ผลผลิตมาก ชาวบ้านมีพอกิน อีกทั้งเขายังสังเกตเห็นว่าชาวบ้านแข็งขันกระตือรือร้นเวลาหว่านไถเพาะปลูกที่ทำกินของตนเองมากกว่าเวลาทำงานในที่นารวมของคอมมูน

ดังนั้น เขาจึงเกิดความคิดว่าแทนที่จะทำนารวม ควรแบ่งแยกที่นารวมออกเป็นแปลงๆ ให้แต่ละครัวเรือนรับผิดชอบไปเพาะปลูกของตัวเองเสีย ครัวเรือนไหนปลูกผลผลิตอาหารได้มาก หลังหักส่งภาษีธัญพืชให้ส่วนรวมแล้ว ก็เก็บผลผลิตที่เหลือไว้ได้เอง พูดง่ายๆ คือ คุณเป็นเจ้าของสิ่งที่คุณเพาะปลูกขึ้นมา พร้อมทั้งยกร่างข้อเสนอนี้ขึ้นเป็นเอกสารฉบับหนึ่งเสนอต่อที่ประชุมลับ

ปรากฏว่าที่ประชุมส่วนใหญ่เอาด้วยกับข้อเสนอ แต่ก็มีบ้างที่บอกว่าไม่คิดว่ามันจะใช้การได้หรอก นี่มันอันตรายเหมือนสายไฟฟ้าแรงสูงเชียวนา

แน่ล่ะว่าสมัยนั้นชาวบ้านเสี่ยวกังยังไม่เคยเห็นสายไฟฟ้าแรงสูงอะไรหรอก เพราะแม้แต่ไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านยังไม่มีเลย แต่ก็เคยได้ยินได้ฟังมาว่าขืนไปแตะสายไฟแรงสูงเข้า ก็จะช็อตตาย

และการปลุกปั่นชักชวนให้เดินแนวทาง “ทุนนิยม” ด้วยการฟื้นฟู “กรรมสิทธิ์เอกชน” ในจีนสมัยสังคมนิยมจัดตอนนั้น อาจพาไปสู่ตะแลงแกงได้ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หลังอภิปรายถกเถียงกันแล้ว ในที่สุดที่ประชุมลับของชาวนาทั้ง 18 คนก็ตัดสินใจลองเอากับข้อเสนอของเหยียนหงชางดูเพราะดีกว่าต้องทนอดอยากขอทานต่อไป

จากนั้นเหยียนหงชางก็บันทึกมติที่ประชุมครั้งประวัติศาสตร์เป็นหนังสือสัญญาลงในกระดาษแผ่นหนึ่งโดยอาศัยแสงตะเกียงน้ำมัน ระบุว่าจะแบ่งที่นารวมเป็นแปลงให้แต่ละครอบครัวไปทำกินเอง และสรุปจบตบท้ายดังที่เหยียนหงชางเล่าว่า :

“เนื่องจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้สุ่มเสี่ยง ดังนั้น หากหัวหน้าหน่วยการผลิตคนใดถูกจับติดคุกเพราะเหตุนี้ สมาชิกหน่วยการผลิตคนอื่นๆ จะเข้าช่วยแบ่งเบาภาระรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกของเขาจนถึงอายุ 18 ปี”

จากนั้นทั้ง 18 สหายก็เข้าประทับตราประจำตัวและ/หรือพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นหลักฐานท้ายเอกสาร เพื่อความรอบคอบปลอดภัย เหยียนหงชางจึงม้วนพับเอกสารสัญญาลับแผ่นนั้นสอดใส่ในท่อนไม้ไผ่แล้วซ่อนไว้บนหลังคากระท่อมดินหลังหนึ่ง

ซึ่งภายหลังได้นำมาเก็บรักษาไว้เป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์

จะว่าไปแล้ว กลุ่มชาวนาก่อการลับล้มระบบนารวมทั้ง 18 คนนี้ก็คือนายทุนกลุ่มแรกสุดของจีนยุคใหม่นั่นเอง และในที่สุดระบบที่พวกเขาริเริ่มสร้างขึ้นก็ถูกทางรัฐ-พรรคยอมรับนำไปเป็นแบบอย่างและขยายไปใช้ในเกษตรกรรมชนบททั่วประเทศภายใต้ชื่อ “ระบบสัญญาความรับผิดชอบของครัวเรือน” (household contract responsibility system)

ผลเชิงปฏิบัติของระบบสัญญาดังกล่าวนี้ที่หมู่บ้านเสี่ยวกังเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ เหยียนหงชางกับพรรคพวกต่างมีแรงจูงใจให้ทำงานหนักขึ้น เพราะทุกคนรู้ว่าปลูกอะไรขึ้นมาได้ ผลผลิตก็จะตกอยู่แก่ตัวเองส่วนหนึ่ง ถ้าลื้อไม่ขยันทำงาน ลื้อก็ขาดทุนเองนั่นแหละ และดังนั้น ทุกคนจึงทำการผลิตแข่งกันอย่างลับๆ

ด้วยที่ดินผืนเดียวกัน วัวผาลไถจอบเสียมชุดเดียวกัน และคนกลุ่มเดียวกัน เปลี่ยนแค่กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ/ความสัมพันธ์ทางการผลิตไป โดยถือว่าลื้อจะเก็บรักษาบางส่วนของสิ่งที่ลื้อเพาะปลูกผลิตขึ้นได้เอาไว้เอง เพียงแค่นี้ ทุกอย่างก็พลิกกลับตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังมือ

แม้ 18 สหายจะพยายามปิดลับแค่ไหน แต่ถึงหน้าเก็บเกี่ยวปีถัดไป มันก็ปิดไม่มิด เพราะปรากฏว่าพวกเขาได้ผลผลิตมหาศาล กล่าวคือ ผลผลิตอาหารปีนั้นได้มากกว่าผลผลิตของ 5 ปีที่แล้วรวมกันด้วยซ้ำไป!

ดังนั้น ไม่เพียงแต่ชาวบ้านเสี่ยวกังได้กินอิ่มนุ่งอุ่นและกินแซบนุ่งงาม แต่ยังมีธัญพืชส่งให้ส่วนรวมและชำระหนี้ของหมู่บ้านที่ติดค้างมาหลายปีหมดสิ้นด้วย

ข่าวปาฏิหาริย์ความสำเร็จของเกษตรกรรมในระบบสัญญานี้ร่ำลือขึ้นไปถึงเบื้องบน หะแรกหน่วยเหนือของรัฐ-พรรคในท้องถิ่นระแวงสงสัยถึงแก่จับตัวเหยียนหงชางไปสอบสวนขู่เข็ญคุกคามว่าจะลงโทษอย่างหนักที่ละเมิดหลักการรวมหมู่สังคมนิยม บังอาจเดินแนวทาง “ทุนนิยม”

เคราะห์ดีที่เลขาธิการพรรคระดับเหนือขึ้นไปเห็นชอบถูกใจกับวิธีจัดการเกษตรแบบใหม่นี้และเคยออกปากชมเหยียนไว้ เหยียนจึงโทร.ไปขอความช่วยเหลือจากที่สอบสวน ผลคือเรื่องร้ายกลายเป็นดี เขาถูกปล่อยตัว

ไม่ช้า เรื่องก็ขึ้นไปถึงหูเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยนั้นและนักปฏิบัตินิยมเจ้าของคำขวัญ “แมวดำแมวขาวไม่ว่า ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน”

เติ้งประทับใจระบบสัญญาของชาวนาเสี่ยวกังมากที่ช่วยแก้ปัญหาผลิตภาพตกต่ำขาดแคลนเรื้อรังของภาคเกษตรได้

แต่แทนที่จะเอะอะมะเทิ่งแจกเหรียญประกาศเกียรติคุณให้เหยียนหงชางกับพวก เขาเรียกนักเขียนสองคนเข้าพบ และบอกให้ช่วยเขียนยกย่องโปรโมตระบบสัญญาดังกล่าวให้เกษตรกรทั้งหลายที

ในไม่ช้าระบบสัญญาความรับผิดชอบของครัวเรือนก็ถูกนำไปเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรชนบททั่วประเทศ และส่งผลดีให้เห็นทันตาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

– อัตราการเติบโตของภาคเกษตรในจีดีพีของประเทศจีน เพิ่มจากแค่ 2.7%/ปี ก่อนปฏิรูป (ค.ศ.1970-1978) พุ่งพรวดขึ้นเป็น 7.1%/ปี หลังปฏิรูปในระบบสัญญา (ค.ศ.1979-1984)

– สัดส่วนแรงงานภาคเกษตรของจีนลดลงตามลำดับจาก 81% (ค.ศ.1970) เหลือแค่ 50% (ค.ศ.2000)

– รายได้ต่อหัวของประชากรชนบทสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเฉลี่ยคนละ 200 กว่าหยวน/ปี (ค.ศ.1978) เป็น 900 กว่าหยวน/ปี (ค.ศ.1997)

– ขณะที่จำนวนคนยากจนในชนบทลดลงตามลำดับ จากกว่า 250 ล้านคน (ค.ศ.1978) เหลือ 50 ล้านคน (ค.ศ.1997)

ทว่า แม้เศรษฐกิจชนบทจะดีขึ้น ถึงแก่เถ้าแก่เหยียนหงชางเปิดกิจการโรงงานหลายแห่งขึ้นมาในหมู่บ้านเสี่ยวกัง แต่ส่วนใหญ่ก็ล้มเหลวปิดตัวลง เหลือไม่กี่แห่งที่บัดนี้เขาให้บุตรชายรับสืบทอดกิจการต่อ

เหยียนหงชางบ่นว่าปัญหาสำคัญเกิดจากรัฐบาลท้องถิ่นขาดจิตสำนึกที่จะรับใช้บริการประชาชน

อีกทั้งมีอำนาจตัดสินใจจำกัด ทำให้หลายเรื่องล่าช้าดำเนินการแก้ไขไม่ได้

คงเพราะเสียงบ่นดังๆ อย่างนี้เองที่หน่วยงานปกครองท้องถิ่นมักกีดกันบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง ไม่อำนวยความสะดวกให้นักข่าวภายนอกได้เข้าพบสัมภาษณ์เหยียนหงชางในระยะหลังมานี้ (https://www.npr.org/templates/transcript/transcript.php?storyId=145360447)

หลังฝ่าด่านปฏิรูปเศรษฐกิจมาได้ ที่ทุนนิยมรากหญ้าจีนกำลังเผชิญหน้าอยู่จึงเป็นการปฏิรูปการเมืองต่อระบบรัฐ-พรรคอำนาจนิยม-ที่ คสช. กระเหี้ยนกระหือรือจะไปเลียนแบบมา-สืบต่อไปนั่นเอง