คัมภีร์ พญานาค เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

จากหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” ระบุตอนหนึ่งถึงนาคารชุนว่า ตามตำนานกล่าวว่านาคารชุนมีอิทธิสามารถมาก เพราะฉะนั้น ประวัติของท่านผู้นี้ จึงมีเรื่องราวกล่าวในทาง “ปาฏิหาริย์”

พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีคัมภีร์ “ปรัชญาปารมิตา”

ปรัชญาปารมิตา “หนทางอันเข้าสู่ปัญญา” ซึ่งนาคารชุนเป็นผู้แสดง เป็นพระพุทธวจนะซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้รจนาและซ่อนไว้ในบาดาล มีนาคเป็นผู้พิทักษ์รักษา จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรที่มนุษย์จะสามารถเข้าใจข้อพระธรรมอันลึกซึ้งซึ่งมีอยู่นั้น

พระคัมภีร์นี้นาคารชุนได้ลงไปนำขึ้นมาจากบาดาล และเป็นหลักในลัทธิที่นาคารชุนแสดงซึ่งเรียกว่า “มาธยมิก” หรือนิกายสายกลาง

และเมื่อแปล “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” เสถียร โพธินันทะ แสดงอารัมภกถาว่า

พระวัชรปรัชญาปารมิตสูตรนี้เป็นพระสูตรชั้นหลักอันสำคัญสูตรหนึ่งของพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน พุทธมามกชนฝ่ายมหายานทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี ฯลฯ ย่อมรู้จักคุ้นเคยกับพระสูตรนี้ได้ดี

โดยเฉพาะในวงการพุทธบริษัทจีนได้จัดพระสูตรนี้เป็นปาฐะที่จะต้องสวดสาธยายในงานพิธีศราทธพรตดุจเดียวกับการสวดพระอภิธรรมของเรา

เป็นหลักธรรมสำคัญของมหายานนิกายศูนยตาวาทิ หรือ “นิกายมาธยมิกะ”

ขณะที่ “เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป” แฉลบเข้าไปยังเรื่องราวเชิงปาฏิหาริย์ของนาคารชุน แต่ เสถียร โพธินันทะ ไม่ย่อมแตะในเรื่องนี้เลย

ทั้งๆ ที่เรื่องพญานาคกับนาคารชุนได้รับการกล่าวถึงอย่างคึกคัก

หนังสือ “ชีวิตและผลงานของนักปราชญ์พุทธ” ของ อภิญญวัฒน์ โพธิสาน ได้อ้างเอกสารจากต่างประเทศให้รายละเอียดอย่างพิสดารในเรื่องนี้ว่า

พญานาคราชได้ประสบพบเห็นพฤติกรรมของนาคารชุนเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา

และด้วยจิตเมตตากรุณาจึงพาท่านไปยังวังพญานาคใต้บาดาลมหาสมุทรและได้แสดงให้เห็นภาชนะบรรจุสิ่งของล้ำค่า 7 ภาชนะในท้องพระโรง

ภาชนะทั้ง 7 นั้นเก็บรักษาพระสูตรอันล้ำลึกที่บรรจุหลักธรรมคำสอนอันแสนอัศจรรย์ต่างๆ ไว้มากมาย พญานาคราชได้เปิดภาชนะที่บรรจุคัมภีร์นั้นและได้หยิบไวปุลยสูตรทั้งหลายซึ่งเป็นพระสูตรของฝ่ายมหายานทั้งหมดมอบให้แก่นาคารชุน

ท่านได้ใช้เวลาอ่านศึกษาอยู่ 90 วัน

เมื่อได้อ่านศึกษาอย่างละเอียดก็ปรากฏว่า นาคารชุนเข้าใจแทงตลอดอย่างทะลุปุโปร่งเข้าไปในสารัตถะของพระสูตรเหล่านั้น และได้ประโยชน์อันแท้จริงจากการเข้าใจความหมายที่เป็นแบบเดียวกันของคัมภีร์ทั้งหมด

ด้วยภาวะดังนี้จึงทำให้นาคารชุนได้สมาธิ

กิเลส ตัณหาต่างๆ ในจิตท่านสงบนิ่งทำให้ท่านไม่เพียงเข้าใจทางแห่งพระพุทธเจ้าเท่านั้น หากแต่ยังกลายเป็นพระโพธิสัตว์อีกด้วย

ตอนจะกลับสู่ดินแดนมนุษย์ นาคารชุนได้หยิบเอาคัมภีร์มหายานส่วนหนึ่งที่เก็บรักษาไว้อยู่ในวังพญานาคที่เรียกชื่อว่า “ปรัชญาปารมิตาสูตร” กลับมาโดยความยินยอมของพญานาคราช และได้ใช้เวลาอ่านศึกษาคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรนั้นซ้ำอีกถึง 10 เที่ยว

และได้ใช้ความรู้ต่างๆ ที่ได้จากพระสูตรนี้ไปประกาศเผยแผ่หลักปรัชญาหรือหลักศาสนาให้กว้างไกล ใช้ในการอภิปราย โต้วาทีกับนักปรัชญาที่มิใช่เป็นพุทธต่างๆ ให้ยอมสยบ ใช้สอนลูกศิษย์มากมายนับเป็นจำนวนมิได้ และยังใช้เขียนคัมภีร์ขึ้นอีกหลายคัมภีร์ด้วย

คัมภีร์ 1 ซึ่งนาคารชุนเป็นผู้เขียนและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ “โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง (มูลมธัยมกการิกา)” ซึ่งน่ายินดีที่ปัจจุบัน โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ แห่งมูลนิธิพันดารา ได้แปลออกมาเป็นภาษาไทยอย่างยอดเยี่ยม

เป็นสดมภ์หลัก 1 เหมือนที่ เสถียร โพธินันทะ แปล “วัชระปรัชญาปารมิตาสูตร”

มีความจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจต่อชีวิตและความคิดของ “นาคารชุน” อย่างเป็นพิเศษต่อเนื่องจาก “ลัทธิของเพื่อน” มายัง “ปรัชญามหายาน”

สะท้อนการพัฒนาและเติบใหญ่ของ “มหายาน” ในสังคมไทย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อนำเอาหนังสือ “พระนาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง” ของ สุมาลี มหณรงค์ชัย มาประสานเข้า

ก็ยิ่งทำให้แก่นแท้แห่ง “มหายาน” เพิ่มความเพริศแพร้วพรรณรายขึ้น