ธุรกิจพอดีคำ : “ไดโนเสาร์”

ของเล่นชิ้นโปรด คืออะไรครับ?

ตอนสมัยเด็กๆ ผมยังจำได้แม่นเลย

ผมเป็นเด็กติดวิดีโอเกมครับ

ที่บ้านมีเครื่องเล่นเกมมากมาย

ตั้งแต่เครื่อง “แฟมีลี่” ที่ใส่เกมเป็นตลับๆ พอเปิดไม่ติด ดันๆ เป่าๆ สักหน่อย เดี๋ยวก็ได้เรื่อง

เกมบอย เกมเกียร์

ซูเปอร์แฟมิคอม เครื่องโปรที่สวมบนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม ใส่แผ่นดิสก์สี่เหลี่ยม โหลดเกมต่างๆ นานา

ก็เรียกได้วา “โต” มาได้เพราะวิดีโอเกมเลยทีเดียว

แต่มีอีกหนึ่งสิ่ง ที่ผมยังจำความได้มาจนถึงทุกวันนี้ครับ

มันเป็นสมุดเล่มยาวๆ สี่สี

ด้านในมีรูปภาพแปลก ที่ดูไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่หน้าละภาพ

และผมก็เพิ่งรู้ว่ามันก็คือต้นกำเนิดของ “เทคโนโลยี” ชนิดหนึ่ง

ที่กำลังจะ “เปลี่ยน” โลกใบนี้ไป

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เพื่อนสนิทคนหนึ่ง

ผ่านรายการ “แปดบรรทัดครึ่ง Live สาระ” ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ครับ

“บุ๊น” เป็นเพื่อนที่เรียน “วิศวะ” รุ่นเดียวกันที่จุฬาฯ

หลังจากเรียนจบทางด้าน “คอมพิวเตอร์” ก็โลดแล่นอยู่ในวงการ “ภาพยนตร์” ที่อเมริกาอยู่พักหนึ่ง

ก่อนที่จะตั้งบริษัท “บิท สตูดิโอ (BitStudio)”

บริษัทที่ผสมผสานเทคโนโลยีและศิลปะ สร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ

บริษัทของบุ๊น ทำงานให้กับองค์กรใหญ่ๆ หลายแห่ง

ไม่ว่าจะเป็น SCB SCG AIS ยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น

วันนี้ผมชวนเขามาพูดในหัวข้อของ “โลกเสมือนจริง”

หรือที่ภาษาอังกฤษในวงการจะเรียกว่า “เวอร์ช่วล เรียลลิตี้ (Virtual Reality)”

หลายท่านอาจจะเคยเห็นหลายๆ แห่งตามห้าง

มีคนขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ขยับได้ แล้วก็ใส่แว่นตาใหญ่ๆ เข้าไป

ท่องไปในโลกเสมือนจริง เช่น ขึ้นรถไฟเหาะ ตะลุยจักรวาล

สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ แบบเหมือนเราเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นๆ เลย

นี่แหละครับ “เวอร์ช่วล เรียลลิตี้” หรือที่เขาเรียกกันว่า “วีอาร์ (VR)”

บุ๊นบอกว่า โดยปกติแล้ว คนเราเห็นอะไรเป็นสามมิติได้

อย่างแรกที่สุดเพราะเรามีตา 2 ข้าง ที่เห็นภาพไม่เหมือนกัน

ให้ลองเอานิ้วมือตั้งขึ้นมาระดับสายตา

แล้วเอามือปิดตาทีละข้าง

มองจากตาขวา ก็จะเป็นนิ้วภาพหนึ่ง

มองจากตาซ้าย ก็จะเป็นนิ้วอีกภาพหนึ่ง

การที่คนเรามีสองตา แล้วเห็นภาพไม่เหมือนกัน

ทำให้สมองประมวลผลภาพที่ไม่เหมือนกัน ซ้อนกัน

เกิดเป็นภาพ “สามมิติ” ขึ้น

ทีนี้ เราจะสร้างภาพสามมิติ จากของที่เป็น “สองมิติ” ได้อย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น การไปดูภาพยนตร์ในโรงหนัง

ภาพแบนๆ ในจอแบบสองมิติ จะทำอย่างไรให้เกิดประสบการณ์แบบสามมิติ

หลายๆ ท่านอาจจะพอจำได้

ตอนเด็กๆ ถ้าเราจะเข้าโรงหนังที่ฉายอะไรที่เป็น “สามมิติ”

สิ่งที่พนักงานโรงหนังจะแจกเราที่หน้าโรง ก็คือ

“แว่นตาสองสี แดง น้ำเงิน”

จุดประสงค์ก็เพื่อทำให้ภาพที่เราห็นจากตาซ้าย ตาขวาออกมาไม่เหมือนกันนั่นเอง

และด้วยภาพบนจอที่ออกแบบมาให้ทับซ้อนกับภาพที่เราเห็นผ่านแว่นแบบเหมาะเจาะ

จึงเกิดเป็น “ภาพสามมิติ” ขึ้น

จาก “อดีต” จนถึง “ปัจจุบัน”

แว่นตาน้ำเงินแดง ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

กลายเป็น “แว่นตาวีอาร์” ที่เหมือนแว่นใช้ดำน้ำอันใหญ่ๆ แบบที่เราเห็นทุกวันนี้

หลักการยังคงคล้ายกัน คือ ทำยังไงก็ได้ให้สายตาเห็นภาพสองภาพไม่เหมือนกันพร้อมๆ กัน

สิ่งที่เจ้า “แว่นตาวีอาร์” มีเพิ่มเติมนอกจากกระจกเลนส์ภายในแว่นแล้ว

จะต้องมี “ตัวตรวจจับ” การเคลื่อนไหวของศีรษะ

เพื่อให้รู้ว่า ตอนนี่ผู้เล่นหันซ้าย หันขวา หันขึ้น หันลง

ทำให้ภาพที่ปรากฏขึ้นบนแว่นตา เปลี่ยนไปตามทิศทางของ “ศีรษะ” ที่เคลื่อนที่

เสมือนว่าเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ

ยิ่งเราเข้าไปอยู่ในเกมต่อสู้กันจริงๆ จังๆ

เราต้องรู้แม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของเราว่าไปข้างหน้า ไปข้างหลัง เร็วช้า

เพื่อให้ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอของเรา สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของเราไปด้วย

หลายๆ ท่านอาจจะเคยเล่นเกม “โปเกมอน โก (Pokemon Go)”

เอามือถือขึ้นมา เปิดกล้อง มองโลกผ่านเลนส์มือถือ

แล้ว “ปิกะจู” ในโลกดิจิตอลก็จะโผล่ขึ้นมาให้เราได้เก็บสะสมกัน

แม้จะคล้ายคลึงกันมาก แต่เทคโนโลยีนี้ เราไม่เรียกว่า “เวอร์ช่วล เรียลลิตี้ (Virtual Reality)”

เราเรียกมันว่า “ออกเมนเต็ด เรียลลิตี้ (Augmented Reality)”

แยกง่ายๆ อะไรที่สิ่งที่เรามองไม่มี “โลกความเป็นจริง” อยู่เลย

ใส่แว่น แล้วหายเข้าไปในโลกใหม่เลย

สิ่งนั้นคือ “เวอร์ช่วล เรียลลิตี้ (Virtual Reality)”

ถ้าภาพที่เราเห็นผ่านแว่นตา หรือมือถือ มีโลกความจริงอยู่

แล้วมี “ของ” จากโลกดิจิตอลมาเสริม เหมือนกับ “โปเกมอน โก”

เราก็จะเรียกว่า “ออกเมนเต็ด เรียลลิตี้ (Augmented Reality)”

แยกง่ายๆ ประมาณนี้ก่อน ให้พอทำเนา เอาไปเล่าต่อได้

ของเล่นโปรดของผม เป็นสมุด ด้านในมีแต่ภาพแปลกๆ

มันเป็นภาพลวดลายที่จะดูซ้ำๆ กัน

แต่ถ้าคุณมองภาพเบลอ ทำให้ตาสองข้างจับภาพได้แตกต่างกัน

ภาพสามมิติจะปรากฏขึ้น

ไดโนเสาร์เอย รถยนต์ ตัวเลขเอย ต่างๆ นานา

สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เด็กๆ วัยเราเป็นอย่างมาก

พร้อมด้วยปัญหาสายตาที่ตามมานั่นเอง

หนังสือ ไดโนเสาร์ สามมิติ

จุดเริ่มต้นของ “เวอร์ช่วล เรียลลิตี้ (Virtual Reality)” เทคโนโลยีแห่งอนาคต

เข้าใจตรงกันนะ