สุรชาติ บำรุงสุข : The Bangkok Spring! ฤดูหนาวไม่ยาวนานตลอดไป

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“แม้ฤดูหนาวจะโหดร้าย แต่ฤดูใบไม้ผลิก็กำลังมา”

Steve Southerland

หากเราเปรียบเทียบการเมืองกับฤดูกาลแล้ว ฤดูใบไม้ผลิหรือ “สปริง” (spring) เป็นดังช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หรือเป็นดังช่วงเวลาของการปฏิวัติ

คำนี้ถูกนำมาใช้อย่างมากในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 จนกลายเป็น “คำศัพท์ทางการเมือง” (political terminology) ที่มีการใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

แม้โดยตัวภาษาจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ 1848 (พ.ศ.2391) ในยุโรปก็ตาม เพราะการเปลี่ยนแปลงในปีดังกล่าวถูกเรียกเปรียบเทียบเป็นครั้งแรกในทางการเมืองว่าเป็น “ฤดูใบไม้ผลิของชาติ” (The Spring of Nations) หรือเป็น “ช่วงเวลาใบไม้ผลิของประชาชน” (The Springtime of the People) และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยของโลก

สำหรับในโลกสมัยใหม่แล้ว การลุกขึ้นสู้ของชาวเชโกสโลวาเกียเพื่อเรียกร้องเสรีภาพและความต้องการปลดปล่อยประเทศออกจากการควบคุมของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ.2511 ถูกเรียกว่าเป็น “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงปราก” (The Prague Spring)

แม้การต่อสู้ครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ทำให้ภาษาทางการเมืองของคำว่า “ฤดูใบไม้ผลิ” ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง

อย่างน้อยโลกได้เห็นถึงจิตใจของการเรียกร้องเสรีภาพ และจิตวิญญาณของการกล้าต่อสู้กับรถถังและกองทหารรัสเซีย

ซึ่งในทางการทหารแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวเช็กจะสามารถเอาชนะกำลังรบที่ส่งเข้ามาเพื่อปราบปรามการลุกขึ้นต่อต้านรัสเซียในพื้นที่ที่ถูกถือว่าเป็น “เขตอิทธิพลหลัก” ของรัสเซีย

แม้การต่อสู้ที่กรุงปรากจะแพ้ และถูกปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ก็มีการใช้คำนี้เรียกขานเพื่อเป็นเกียรติแก่การลุกขึ้นสู้ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้คนในยุคร่วมสมัยแล้ว ฤดูใบไม้ผลิทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีอะไรจะสร้างผลสะเทือนได้เท่ากับ “ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ”

หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “อาหรับสปริง”

ต้องยอมรับว่าฤดูใบไม้ผลิในตะวันออกกลางชุดนี้ สร้างผลกระทบทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญทั้งกับการเมืองในภูมิภาคและการเมืองโลก

จนเป็นดังแรงบันดาลใจของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในยุคปัจจุบัน

คงต้องยอมรับว่าผลของแรงบันดาลใจเช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ด้วย…

แน่นอนว่าจากฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ หลายคนจึงฝันถึง “ฤดูใบไม้ผลิที่บางกอก” (The Bangkok Spring)

แต่สุดท้ายก็กลายเป็นฝันร้าย เพราะในเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่เพียงแต่ฤดูใบไม้ผลิไม่มาเท่านั้น หากแต่ยังเกิด “ฤดูหนาวที่กรุงเทพฯ” ด้วยการที่การเมืองไทยหันกลับไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหาร ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตยอย่างที่ฝัน

แล้วหลังจากนั้นฤดูหนาวอันยาวนานก็เกิดขึ้นในการเมืองไทย

จนดูราวกับว่าสังคมไทยต้องอยู่กับฤดูหนาวอันยาวนานเช่นนี้ตลอดไปหรือ

ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพฯ

ในการเมืองไทยสมัยใหม่นั้น หากจะเปรียบเปรยแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยได้พบกับฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง 2 ครั้งได้แก่ การต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่จบลงด้วยการโค่นล้มรัฐบาลทหารในเดือนตุลาคม 2516

และการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จบลงเช่นเดียวกันในการล้มรัฐบาลทหารในเดือนพฤษภาคม 2535…

ไม่น่าเชื่อว่า การเมืองไทยผ่านฤดูใบไม้ผลิอย่างมีนัยสำคัญมาแล้วถึง 2 ครั้ง

และแม้การเมืองไทยหลังจากความสำเร็จในการผลักดัน “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” หรือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะไม่ได้เป็นดังฤดูใบไม้ผลิโดยตรง แต่ก็ได้เห็นการผลิบานของเสรีภาพและประชาธิปไตยในการเมืองไทย จนเป็นการตอกย้ำถึงกระแสฤดูใบไม้ผลิจากปี 2535 ที่ชัดเจน

แต่ฤดูใบไม้ผลิในไทยมักจะไม่ยั่งยืน ด้วยปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการตัดสินใจของชนชั้นนำหัวเก่าและผู้นำทหารสายอนุรักษนิยม

พวกเขาพร้อมที่จะทำลายฤดูใบไม้ผลิให้กลับกลายเป็นฤดูหนาวได้ไม่ยากนัก

แล้วฤดูใบไม้ผลิก็มักจะจบลงด้วยการยึดอำนาจและตามมาด้วยฤดูหนาว

ในการเมืองไทยร่วมสมัยนั้น อาจเปรียบเทียบได้ว่าสังคมไทยมีฤดูหนาวมาเยือนถึง 4 ครั้ง ได้แก่ รัฐประหารตุลาคม 2519 รัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534 รัฐประหารกันยายน 2549 รัฐประหารพฤษภาคม 2557

และแทบไม่น่าเชื่อว่าการเมืองไทยยุคปัจจุบันเรามีฤดูใบไม้ผลิเพียง 2 ครั้ง แต่มีฤดูหนาวถึง 4 ครั้ง…

ฤดูกาลทางการเมืองของไทยดูจะมีอาการผันผวนอย่างยิ่ง

หากพิจารณาจากการเดินทางของวันเวลาแล้วก็จะพบว่า หลังจากฤดูใบไม้ผลิเบ่งบานอย่างสดใสในเดือนตุลาคม 2516 อันเป็นดังช่วงเวลาของใบไม้ผลิครั้งใหญ่ของไทย แต่แล้วฤดูใบไม้ผลิครั้งนี้แม้จะยิ่งใหญ่ แต่ก็มีอายุเพียง 3 ปี

และฤดูหนาวก็ย่างเข้ามาด้วยแรงของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ในเดือนตุลาคม 2519

ฤดูใบไม้ผลิครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ จากไปอย่างโหดร้ายและรุนแรง

แม้ฤดูหนาวทำท่าจะหนาวเย็นอย่างไรก็ตาม แต่อากาศก็เริ่มเปลี่ยนแปลง

แม้ฤดูใบไม้ผลิจะยังมาไม่ถึง ความหนาวเย็นที่ทำท่าจะเป็น “ฤดูหนาวอันแสนนาน” กลับเผชิญกับการเปลี่ยนอากาศอย่างรวดเร็วในเดือนตุลาคม 2520 จนดูราวกับเป็นฤดูใบไม้ผลิแบบเล็กๆ

แม้ฤดูหนาวจะผ่านไปในปี 2520 แต่อากาศใหม่ที่มาถึงในปี 2521 กลับไม่ได้อบอุ่นมากมายนัก

แล้วสังคมไทยก็อยู่กับฤดูใบไม้ผลิแบบครึ่งๆ กลางๆ จากปีดังกล่าวจนถึงปี 2531

ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่กันแบบนั้นนานถึง 10 ปี แล้วอากาศก็เริ่มอบอุ่นขึ้นจนเสมือนกับเราจะมีฤดูใบไม้ผลิจริงๆ เสียที

และก็ไม่น่าเชื่ออีกครั้งในท่ามกลางกระแสลมอุ่นกำลังพัดแรงขึ้น กระแสลมหวนก็เริ่มพัดกลับ

แล้วฤดูหนาวก็กลับสู่การเมืองอีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2534

ฤดูหนาวครั้งนี้มาพร้อมกับ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.)

แล้วฤดูหนาวที่ทำท่าจะหนาวนานกลับต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลครั้งใหญ่ กระแสลมของฤดูใบไม้ผลิพัดแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่เราเห็น “ฤดูใบไม้ผลิที่บางกอก”

และเป็นฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 2 ในการเมืองไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกเช่นครั้งแรกในปี 2516

หลายคนดูจะมั่นใจอย่างมากว่าฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 2 นี้จะอยู่กับเราอย่างยาวนาน เพราะทั้งในโลกและในไทยต่างก็อยู่กับกระแสลมอุ่นของฤดูใบไม้ผลิไม่แตกต่างกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเปรียบกับเวทีโลกแล้ว ฤดูใบไม้ผลิครั้งแรกเกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรปในปี 2391 และในระยะเวลาเกือบ 100 ปีผ่านไป กระแสลมอุ่นก็พัดแรงอีกครั้งหลังจากฤดูหนาวอันโหดร้ายที่พัดโดยการขยายตัวของลัทธิฟาสซิสต์และลัทธินาซีในเวทีสงครามและการเมือง

ฤดูหนาวครั้งใหญ่ของโลกค่อยๆ ปิดฉากลงในปี 2488 จนถือกันว่าเป็นดังจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 2 ของโลก

และหลังจากการประกาศรวมชาติของเยอรมนีและตามมาด้วยสัญลักษณ์ของการทุบกำแพงเบอร์ลินในปี 2532 แล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้จึงเป็นดังฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 3 ของโลก

ซึ่งเราจะเห็นได้ถึงช่วงใบไม้ผลิทั้งในโลกที่สามและในโลกสังคมนิยม ใบไม้ผลิเบ่งบานพร้อมกับ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ของโลกอีกครั้ง

ความผันแปรของฤดูกาล

สภาพเช่นนี้ทำให้หลายคนมั่นใจว่าฤดูใบไม้ผลิในการเมืองไทยหลังจากปี 2535 น่าจะยั่งยืนยาวนาน เพราะเป็นการผ่านฤดูหนาวพร้อมกันทั้งในโลกและในไทย

จนหลายคนเชื่อมั่นว่าการเมืองไทยจะไม่หวนกลับสู่ฤดูหนาวอีกแล้ว

และในปี 2540 การกำเนิดของรัฐธรรนูญใหม่ที่มีบทบัญญัติเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างชัดเจนจะเป็นเสมือนการตอกย้ำถึงกระแสลมของฤดูใบไม้ผลิจากปี 2535 ที่ยังคงพัดต่อเนื่องในสังคมไทย

อันทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าฤดูใบไม้ผลิจะอยู่กับเราตลอดไป แม้ว่าอาจจะมีบางคนบางกลุ่มอยากพาฤดูหนาวให้หวนกลับคืน แต่โอกาสก็ดูจะเป็นไปได้ยาก

ฤดูใบไม้ผลิของปี 2535 ดูจะมั่นคงกว่าปี 2516 อย่างน้อยเราก็เชื่อว่ากระแสลมของฤดูใบไม้ผลิในเวทีโลกจะช่วยพยุงให้ฤดูใบไม้ผลิในไทยไม่อาจเปลี่ยนไปสู่ฤดูหนาว

อีกทั้งยิ่งการเมืองหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 เดินไปข้างหน้ามากเท่าใด เราก็ดูจะยิ่งมั่นใจว่าลมแรงของฤดูหนาวคงจะพัดมาไม่ได้แล้ว

เราฝันอยู่กับความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิจนลืมคิดว่า ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยน ฤดูกาลก็อาจจะเปลี่ยนไปได้เช่นกัน

แล้วในที่สุดลมก็ทำท่าเริ่มหวนคืน ความขัดแย้งที่ทวีมากขึ้นในบริบทใหม่ของการเมืองไทย เป็นความขัดแย้งในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และยังไม่คุ้นเคยกับรูปลักษณ์ของความขัดแย้งเช่นนี้ หรือถูกย่อส่วนให้เป็นรูปแบบของ “สงครามสี” (เหลือง vs. แดง)

ในที่สุดแล้วความขัดแย้งชุดนี้ก็พัดพาฤดูหนาวให้กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้งพร้อมกับ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.)

การหวนคืนของฤดูหนาวในเดือนกันยายน 2549 เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดถึง เพราะอย่างน้อยหลายๆ คนมั่นใจว่ากระแสลมของฤดูใบไม้ผลิจากปี 2535 และพัดต่อเนื่องในปี 2540 จะยังคงความเป็น “กระแสลมหลัก” ที่จะไม่นำพาฤดูหนาวให้หวนกลับมาอีกครั้ง

แน่นอนว่าหลังจากการยึดอำนาจในปี 2549 แล้ว การเมืองไทยผันผวนอย่างต่อเนื่อง แต่ฤดูหนาวก็ไม่ยาวนาน สายลมหนาวอ่อนแรงลงและตามมาด้วยการเลือกตั้งก่อนที่ปีใหม่จะมาเยือน

แต่ผลจากความผันผวนของฤดูกาลในการเมืองไทยที่ไม่หยุดยั้ง แม้การเลือกตั้งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของฤดูหนาว แต่สายลมเย็นก็เริ่มพัด แล้วในที่สุดฤดูหนาวก็กลับมาเยือนอีกในเดือนพฤษภาคม 2557 ด้วยการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)…

ไม่น่าเชื่อว่าในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี การเมืองไทยต้องพบกับฤดูหนาวถึง 2 ครั้ง จนหลายคนที่ฝันถึงการมาของฤดูใบไม้ผลิอดรู้สึกหดหู่ใจอย่างช่วยไม่ได้

และขณะเดียวกันก็อดอิจฉากับฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับในตอนปลายปี 2554 ที่ตูนิเซียและต้นปี 2555 ที่อียิปต์ไม่ได้

ทั้งที่ในความเป็นจริง ใบไม้ผลิในโลกอาหรับมีความซับซ้อน และความสำเร็จที่เห็นในช่วงต้นก็เริ่มคลี่คลาย

กลางปี 2556 กองทัพก็โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลง และในเดือนพฤษภาคม 2557 นายพลผู้นำการรัฐประหารก็ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

เป็นเดือนเดียวกับการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ฤดูหนาวเริ่มกลับมาเยือนการเมืองอียิปต์และไทยพร้อมๆ กัน

ฤดูหนาวของ คสช.

ว่าที่จริงแล้ว ฤดูหนาวที่กรุงเทพฯ ไม่เคยยาวนาน แตกต่างจากในหลายประเทศ ฤดูหนาวในปี 2534 จบลงด้วยการมาของ “บางกอกสปริง” ในเดือนพฤษภาคม 2535 แม้จะมีฤดูหนาวในปี 2549 แต่ปลายปี 2550 ลมหนาวก็เริ่มอ่อนแรง

แต่สำหรับฤดูหนาวในปี 2557 กลับมีทิศทางแห่งฤดูกาลที่แตกต่างออกไป จนแทบจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเมืองไทยร่วมสมัยที่เราอยู่กับฤดูหนาวเกือบจะ 4 ปีแล้ว

และรัฐบาลทหาร คสช. ก็ดูจะยังเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะสามารถคงฤดูหนาวไว้ได้โดยจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล…

จริงหรือว่าฤดูกาลของการเมืองไทยจะต้องอยู่ในการควบคุมของผู้นำทหารตลอดไป

ผู้นำทหารอยู่ในอำนาจจนเกิดเป็นความเชื่อในหมู่พวกเขาและเครือข่ายทางการเมืองของบรรดาผู้สนับสนุนรัฐประหารว่า รัฐบาลทหารคือ “เทพผู้ควบคุมอากาศ” ในการเมืองไทย

และในการควบคุมเช่นนี้ ฤดูหนาวจึงเป็นความปรารถนาสูงสุด เพราะเป็นฤดูกาลของความไร้เสรีภาพและประชาธิปไตย ที่จะเป็นโอกาสให้กองทัพเป็นผู้ควบคุมการเมือง

แต่ฤดูหนาวที่ยาวนานหลังปี 2557 ครั้งนี้ ในอีกด้านหนึ่งก็เริ่มกลายเป็น “ฤดูหนาวของ คสช.” ไปด้วย ใช่ว่าจะเป็นฤดูหนาวของการเมืองไทยเพียงด้านเดียว

รัฐบาลทหารไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป การปรองดอง การขจัดคอร์รัปชั่น และที่การพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งเมื่อยิ่งต้องเผชิญกับปัญหา “สนิมเกิดแต่เนื้อใน” จากปัญหาต่างๆ เช่นกรณีนาฬิกาด้วยแล้ว ความหนาวในการเมืองไทยก็เริ่มผันแปรเป็น “ฤดูหนาวสำหรับรัฐบาลทหาร” ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับการขาดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลรัฐประหาร การใช้อำนาจเข้าจับกุมผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวาง และความพยายามที่จะอยู่ในอำนาจให้นานขึ้นด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากคำสัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว อากาศก็ดูจะหนาวเย็นมากขึ้นสำหรับรัฐบาลทหาร และปีใหม่ 2561 ก็เริ่มเป็นสัญญาณว่าผู้นำรัฐบาลทหารที่เชื่อว่าพวกเขาคือ “ผู้ควบคุมฤดูกาล” ของการเมืองไทย ก็เริ่มถูกท้าทายมากขึ้น ทหารจะเป็น “ผู้คุมฤดูหนาว” ได้ตลอดไปจริงหรือ

ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังบ่งบอกว่าเราจะไม่อยู่ในฤดูหนาวตลอดไป แม้ฤดูใบไม้ผลิอาจจะมาช้า แต่ฤดูใบไม้ผลิที่บางกอกก็กำลังมา และสายลมหนาวแม้จะยังพัดอยู่ แต่ก็อ่อนแรงลงแล้ว!