มองไทยใหม่ : มาฟังเสียงออกพระวิสุทธิสุนทรกัน

ในฐานะที่เคยสอนเรื่อง จินดามณี มาได้หลายสิบปี ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่คนจะสนใจหนังสือเล่มนี้เท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี ๒๕๖๑

จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือ ตำราภาษาไทยเล่มแรกที่เหลือเป็นหลักฐานให้ศึกษา ตำราเล่มนี้ได้ใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยอยู่จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ธนิต อยู่โพธิ์ ได้สันนิษฐานไว้ใน “บันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี” โดยอ้างถึงความเห็นของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ พระโหราธิบดี แต่งหนังสือจินดามณีขึ้นเนื่องจากในขณะนั้นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งโรงเรียนสอนหนังสือเด็กไทย หากฝ่ายไทยไม่จัดการบำรุงการศึกษาก็จะเสียเปรียบฝรั่งเศส

ต่อมาตำราเล่มนี้ก็ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์ จึงมีการคัดลอกกันต่อๆ มา และผู้รู้บางท่านก็อาจจะเขียนอธิบายเพิ่มเติม จึงเป็นเหตุให้ตำราที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันมีสำนวนแตกต่างกันออกไป

ซึ่งธนิต อยู่โพธิ์ ได้จัดไว้เป็น ๔ กลุ่ม คือ

๑. จินดามณีฉบับความพ้อง คือจินดามณีที่มีใจความส่วนใหญ่ตรงกัน

๒. จินดามณีฉบับความแปลก คือจินดามณีที่มีเนื้อหาแตกต่างไปจากฉบับความพ้อง

๓. จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท คือจินดามณีซึ่งประพันธ์ขึ้นเลียนแบบจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี

๔. จินดามณีฉบับหมอบรัดเล คือหนังสือที่รวบรวมหนังสือหลายฉบับไว้ด้วยกัน เช่น จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี ประถม ก กา ประถมมาลา ปทานุกรม

จินดามณี ฉบับพิมพ์ที่เราเห็นในทุกวันนี้เป็นผลงานการรวบรวมของกรมศิลปากร และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน สุดแล้วแต่ว่าใครจะมีต้นฉบับใดอยู่

ที่ยังไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ออกมาก็ยังมีอีกมาก โดยที่ข้อความก็อาจจะผิดแผกออกไปเพราะมีการคัดลอกและปรับปรุงเพิ่มเติมต่อๆ กันมา

โดยทั่วไปเมื่อมีการสร้างละครย้อนยุค ผู้สร้างมักจะกำหนดให้ตัวละครพูดจาให้ดูผิดแผกไปจากภาษาปัจจุบัน ทั้งในด้านคำศัพท์และการออกเสียง ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าในสมัยนั้นเขาพูดกันอย่างนั้นหรือออกเสียงกันอย่างนั้นจริงหรือไม่

ใครอยากฟังเสียงพูดในสมัยพระนารายณ์บ้าง

ใน พ.ศ.๒๕๕๙ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “Chindamani and reconstruction of Thai tones in the 17th century” (Pittayawat, Pittayaporn. Chindamani and reconstruction of Thai tones in the 17th century. Diachronica 33:2 (2016), 187-219.)

บทความนี้เสนอการสืบสร้างระบบวรรณยุกต์ในภาษาไทย ซึ่งพูดเมื่อ ๓๐๐ กว่าปีที่แล้ว โดยอาศัยหลักฐานจากตำราจินดามณี ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗

ต่อมาได้มีการเสนอให้ฟังเสียงอ่านข้อความจาก บันทึกรายวันของออกพระวิสุทธิสุนทร ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผ่านเพจ (page) ของภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความว่า

ข้าพุทธเจ้าข้าขอรับล้นเกล้าล้นกระหม่อม ได้รับประทานไปอยู่เสมอมิขาดไม่ได้

ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าไปแสดงความเห็นจำนวนมาก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งสอบถามและตั้งข้อสังเกตว่า “เสียงเหมือนคนแถวชายฝั่งตะวันออก หรือพระเทศน์” และเพจดังกล่าวตอบความเห็นระบุว่า “ใช่ครับ น่าสนใจว่าทำไมถึงคล้ายแถบระยอง โดยเฉพาะอำเภอบ้านค่ายครับ” (มติชนออนไลน์ ๓ กันยายน ๒๕๕๙)

ถ้าออเจ้าสนใจก็เข้าไปฟังได้