มนัส สัตยารักษ์ : สล้าง บุนนาค

เมื่อผมกับสล้าง บุนนาค (พล.ต.อ.) เข้าไปในห้องบรรยายของหลักสูตร “สารวัตร-ผบ.กอง” พลันมีเสียงฮือฮาเจือเสียงหัวเราะของบรรดานายตำรวจนักเรียนดังขึ้นทันที

รองสล้างในขณะนั้นเป็น รอง ผกก.2 ป. ยศ พ.ต.ท. ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ในวิชา “ควบคุมฝูงชน” หรือควบคุมม็อบ (MOB)

ส่วนผมเป็น สว.รถวิทยุ ยศ พ.ต.ต. เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของรองสล้าง และเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในฐานะที่ผมมีประสบการณ์เผชิญหน้ากับ “ฝูงชน” เป็นประจำหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเสรีภาพเบ่งบาน

ผมสนใจบทความและกฎหมายแรงงาน เข้าใจความแตกต่างของความขัดแย้งทางการเมืองกับความขัดแย้งเรื่องปากท้อง

ผมเข้าใจความต้องการของผู้ประท้วงซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ที่สำคัญบทบาทของผมในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งทำให้ผมกลายเป็นตำรวจนอกคอก

รองสล้างประทับใจที่ครั้งหนึ่งแกนนำฝูงชนห้ามผู้ประท้วงหยุดด่าตำรวจ พวกเขาเห็นผมเป็น “พวกเดียวกัน” รองสล้างชอบเล่าโมเมนต์นี้ให้นายตำรวจนักเรียนฟังเสมอ

ที่นายตำรวจนักเรียนหลักสูตร สว.-ผบ.กอง พากันหัวเราะ เพราะเป็นที่ทราบกันว่าในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ภาพของรองสล้างกับผมเหมือนอยู่กันคนละขั้ว รองสล้างมีภาพของมือปราบ เสือใต้ ติดตัวมาตั้งแต่อยู่หาดใหญ่

ส่วนผมเป็นภาพของนายตำรวจตัวป่วนจากการเป็นคู่หูกับ พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ ในหลายกิจกรรม และอีกภาพผมเป็น ฤๅษี ในสายตาของ รอง ผบก.ป. (พ.ต.อ.สะอาด พุ่มไสว) ที่วิจารณ์ว่า “เอาฤๅษีไปปกครองลิง” เมื่อ ตร. มีคำสั่งย้ายผมไปเป็น สว.รถวิทยุ

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นั้น เราไปธรรมศาสตร์ในนามของตำรวจกองปราบปรามเหมือนกัน เราทำงานกันคนละมุม ด้วย “ความเชื่อ” ที่ต่างกัน เราไม่ได้มี “จุดยืน” คนละขั้วกันอย่างที่นายตำรวจนักเรียนเข้าใจ

จะเป็นสื่อมวลชนหรือสื่อโซเชียลก็แล้วแต่ เมื่อกล่าวถึงรองสล้างในเชิงลบ เขามักจะเอาภาพเลวร้ายของตำรวจมาเสริมเป็นภาพประกอบเสมอ

ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อพูดถึงบทบาทของรองสล้างในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็มักจะใช้ภาพนายตำรวจคาบบุหรี่เหนี่ยวไกยิงปืนพก คนที่เห็นภาพนี้ย่อมจะมีมโนภาพว่า ตำรวจกำลังยิงเข้าไปยังกลุ่มของนักศึกษาอย่างเหี้ยมโหด ไม่มีวินัย ไม่รู้สึกรู้สาในบาปกรรม

ผมขอเรียนให้ทราบว่า นายตำรวจผู้นั้นไม่ใช่นายตำรวจกองปราบปราม และไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือรับคำสั่งจากรองสล้างแต่อย่างใด ภาพนั้นอาจจะเป็นแค่ “การแสดง” ของนายตำรวจคนหนึ่งแล้วถูกกล้องของสื่อจับภาพไว้ก็ได้

อย่างไรก็ตาม โดยลักษณะประจำตัวของรองสล้าง ท่านไม่เคยปฏิเสธความรับผิดชอบ

ในวันนั้นผมทำหน้าที่ของตำรวจโดยมีสมศักดิ์ วงศ์พรหม (ร.ต.ท.) ผบ.หมู่ เป็นบัดดี้ ตั้งแต่เช้าจนข้ามวัน ในช่วงเวลาที่อยู่ในธรรมศาสตร์ สมศักดิ์ได้ช่วยเหลือให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งหลบหนีไปทางแม่น้ำ ส่วนผมพยายามป้องกันการเหยียบย่ำทำร้ายจากกลุ่มนวพล

บทบาทของผมกับสมศักดิ์อาจมองได้ว่าไม่สนองนโยบายผู้บังคับบัญชา แต่กลับปรากฏว่ารองสล้างไม่พูดถึงประเด็นนี้ มิหนำซ้ำกลับสนับสนุนเราทั้งสองคนตลอดมาทั้งในเรื่องส่วนตัวและส่วนราชการ

เรื่องสำนวนการสอบสวนพิจารณาทัณฑ์ของผม (กรณีเขียนหนังสือ อ.ตร.อันตราย) ที่สำนักงานเลขานุการฯ กล่าวว่า “หายไป” จนทำให้ผมไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนถึง 2 ปี ก็กลายเป็น “หาพบ” เมื่อรองสล้างไปไล่ตามเอาเรื่องจากผู้รับผิดชอบ

แผนกรถวิทยุกองปราบปราม ได้รับรถยนต์สายตรวจรวมทั้งรถอารักขาใหม่เอี่ยมหลายสิบคัน เพราะรองสล้างพาผมกับรถวิทยุโบราณรุ่นหางปลา บุกไปให้ อ.ตร.พจน์ เภกะนันทน์ ลงนามถึงบ้านพัก รองสล้างเป็นปากเสียงกับพ่อค้าคนจีนที่ออกมาบอกว่า อ.ตร. ให้ไปพบที่สำนักงาน

พาผมไปทุบโต๊ะผู้ใหญ่ระดับผู้อำนวยการและระดับนายพลให้ลงนามในโครงการ เหตุที่ต้องทุบโต๊ะผมจำได้ว่าเป็นเพราะวันนั้นมีถ่ายทอดชิงแชมป์โลกมวยรุ่นยักษ์ ไม่มีใครอยากพลาด รองสล้างจึงทุบโต๊ะพร้อมกับขู่ว่าผมเป็นนักเขียนของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง

ครั้งที่รองสล้างเป็นผู้บังคับกอง สภ.อ.หาดใหญ่ ผมถามพ่อของผมในฐานะพ่อเป็นลูกบ้านว่า ผู้กองสล้างเป็นอย่างไรบ้าง พ่อตอบสั้นๆ ว่า “ดุไปหน่อย แต่ดี”

ผมไม่ต้องถามต่อ ถ้าลูกบ้านอย่างพ่อบอกว่าดีก็หมายความว่าชาวหาดใหญ่พอใจ

เท่าที่ผมได้สดับตรับฟังมา ที่ว่า “ดุไปหน่อย” นั้น อาจจะเพราะมีคดีวิสามัญ เกิดขึ้นหลายครั้งก่อนเมืองหาดใหญ่จะสงบ มีเสียงร่ำลือกันว่า “โจรฆ่าตำรวจตรงไหน สล้างจะให้ตำรวจทำวิสามัญโจรตรงนั้น”

ผมไม่แน่ใจว่าเสียงร่ำลือที่ว่านี้จะเป็นความจริงหรือเปล่า

แต่วันที่รองสล้างย้าย มีเพื่อนสล้างเหมาเครื่องบินมาส่งถึงกรุงเทพฯ และมีชาวหาดใหญ่มาส่งล้นสนามบิน

เมื่อเกิดเหตุวิสามัญ “โจ ด่านช้าง” กับพวก สื่อส่วนใหญ่มุ่งโจมตีไปที่รองสล้าง แต่มีการพูดกันว่า ในช่วงเวลานั้นท่านยังอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ คนที่ร้องว่า “เอามันออกมาทำไมวะ” เป็นคนอื่น แต่ลักษณะประจำตัวทำให้ท่านแอ่นอกรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้น

ผมทราบภายหลังว่ารองสล้างต้องขายที่ดินแปลงใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดูแลครอบครัวตำรวจที่ถูกดำเนินคดีและชดเชยค่าเสียหายแก่ครอบครัวของโจ ด่านช้าง กับพวก

ผมเขียนบทความกล่าวถึงวิสามัญฆาตกรรม ไปส่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เพื่อนในวงการสื่อกล่าวว่า “เราไม่อยากโจมตีสล้าง โจ ด่านช้าง สมควรตาย”

ตัวตนที่แท้จริงอีกด้านหนึ่งของรองสล้างคือการเป็นนักพัฒนา ต่อต้านการสร้างรถไฟฟ้าใน กทม. มาตั้งแต่เริ่มมีโครงการสายแรก รองสล้างชวนผมไปยืนบนเกาะกลางถนนแล้วชี้ให้ผมวาดมโนภาพว่า กทม. จะอัปลักษณ์อย่างไรถ้ามีรถไฟฟ้าแล่นอยู่บนหัวและการจราจรยังติดหนับเหมือนเดิม

เป็นผู้บัญชาการศึกษาท่านสร้างสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจแบบประเทศตะวันตก เป็น ผบช.ภ.1 สร้างอาคารกองบัญชาการ และศูนย์ควบคุมการจราจร ฯลฯ

ในหัวสมองมีแต่เรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและสถาบันตำรวจ

เมื่อ คสช. รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 รองสล้างถูกเรียกไปรายงานตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการ ทบ. และถูกควบคุมตัวไว้เพื่อ “ปรับทัศนคติ” 7 วัน โดยมีนายทหารคอยดูแลเรื่องอาหารการกิน แต่ยึดมือถือไว้ ไม่อนุญาตให้ติดต่อกับใคร

ผมคิดว่าทหารคงใช้ แผนภูมิ ฉบับโบราณที่โยงกันไปมาให้อดีตนายตำรวจที่มีบารมีเกี่ยวพันกับการเมือง (จนได้) ทั้งๆ ที่เกษียณอายุมาเกือบ 20 ปีแล้ว ทั้งนี้ เพียงเพื่อจะดูว่าใครจะมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

พอ คสช. ให้กลับบ้านได้ รองสล้างโทรศัพท์ถึงผม แทนที่จะเล่าเรื่องที่ถูกคุมตัว กลับคุยเรื่องทหารสร้างเรือนรับรองทันสมัยใหญ่โต ทำให้ผมเปรียบเทียบกับที่ตำรวจสร้างโรงพักและแฟลตร้าง