พระเจ้าอู่ทองไม่ได้ “หนี” โรคห่า แต่เป็นผู้ปราบ “โรคห่า” ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพศพลอยน้ำโดยมีทั้งอีกาและปลามากินซาก จิตรกรรมที่ศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม บางขุนเทียน กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 4 สะท้อนการระบาดของโรคห่ายุคต้นรัตนโกสินทร์

ตํานานเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาสร้างเมืองกรุงศรีอยุธยา สำนวนที่น่าจะอยู่ในสำนึก และความรับรู้ของชนชั้นนำยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มากที่สุด

มีบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารเหนือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น โปรดให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ.2350

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ตำนานเรื่องนี้ จะได้ถูกนำมาเรียบเรียงอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับที่เขียนขึ้นเมื่อรัชสมัยของพระองค์ อีกทอดหนึ่งด้วย

แต่ตำนานสำนวนที่ว่านี้อ้างเอาไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองหนี “โรคห่า” มาจาก “กัมพุชเทศ” คือ “เมืองขอม” นะครับ ไม่ได้มาจาก “เมืองอู่ทอง” จ.สุพรรณบุรี อย่างที่มักเข้าใจกันในยุคหลัง

ข้อสันนิษฐานใหม่ที่เคยแพร่หลายเป็นอย่างมากนี้ เป็นบุคคลระดับ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” อย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเสนอเอาไว้ ดังปรากฏความในหนังสือนิทานโบราณคดี ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระองค์เอง

น่าแปลกที่ว่า ข้อสันนิษฐานนี้ของกรมดำรงฯ นั้น ทรงอ้างเอาจากตำนานท้องถิ่นเรื่องหนึ่ง ที่เล่ากันอยู่แถวๆ เมืองอู่ทองนั่นแหละ

และเมื่อทรงสำรวจพบว่ามีเมืองโบราณรุ่นเก่าก่อนหน้ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในบริเวณนั้น ก็ดูเหมือนจะทรงเชื่อโดยสนิทใจว่า เป็นเมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทอง

ทั้งๆ ที่ตำนานเกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่าก็มีอยู่มาก หลายสำนวนเลยทีเดียว

ที่สำคัญก็คือทรงไม่เชื่อในสิ่งที่เคยระบุอยู่พระราชพงศาวดาร ที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่กลับเชื่อในตำนานท้องถิ่นมากกว่า ทั้งๆ ที่กัมพุชเทศ หรือเมืองขอมเองนั้นก็เก่าแก่ยิ่งกว่ากรุงศรีอยุธยาเช่นกัน?

 

นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสอย่างอาจารย์ฌอง บวสเซอลีเย่ร์ (Jean Boisselier) ได้ขุดพิสูจน์ และปฏิเสธความเป็นไปได้ในข้อสันนิษฐานดังกล่าวของกรมดำรงฯ ไปนานแล้วนะครับ (ก็นานขนาดที่ทุกวันนี้ท่านเสียชีวิตไปมากกว่ายี่สิบปีแล้ว ส่วนเด็กนักศึกษาที่ไปช่วยท่านขุดในยุคโน้นอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็กลายเป็นผู้รู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ระดับอาวุโส ควบตำแหน่งอีกหนึ่งตัวท็อปของบ้านเราเลยทีเดียว)

อ.บวสเซอลีเย่ร์ ได้อธิบายเอาไว้ว่า ผลการขุดค้นของท่านทำให้ทราบว่า เมืองอู่ทองนั้นร้างไปตั้งแต่เมื่อหลัง พ.ศ.1500

แล้วพระเจ้าอู่ทองจะเพิ่งอพยพหนีโรคห่าจากเมืองโบราณแห่งนี้ ไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 หรืออีกเฉียดๆ 400 ปีหลังจากนั้นได้อย่างไรกัน?

ไม่ว่าเมืองอู่ทองจะเคยร้างอย่างที่ อ.บวสเซอลีเย่ร์ อ้างเอาไว้หรือไม่ก็ตาม (หลักฐานใหม่ที่พบหลังจากนั้น ชวนให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะร้าง เพียงแต่ลดบทบาทและความสำคัญลง)

แต่ข้อสันนิษฐานของกรมดำรงฯ นั้นก็มีพลังมากมาก่อน จนทำให้หมู่บ้านเล็กๆ อันเป็นปริมณฑลของเมืองจระเข้สามพันอย่าง “บ้านท่าพระ” นั้น ก็ถูกทางราชการเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองอู่ทอง” ด้วยเชื่อว่าเป็นเมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทอง แถมยังโยกเอาสถานที่ราชการมาไว้จนหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้เติบใหญ่ขึ้นเป็นอย่างมากมาแล้วตั้งแต่ก่อนที่ อ.บวสเซอลีเยร์ จะเข้าไปทำการขุดค้นทางโบราณคดี

และก็เป็นเหตุผลให้ใครหลายคนยังสับสนกับชื่อ “อู่ทอง” ของเมือง, ของราชวงศ์ และรูปแบบทางศิลปกรรมประเภทหนึ่ง มาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

แต่ไม่ว่าพระเจ้าอู่ทองจะหนีโรคห่ามาจากที่ไหนก็ตาม ตำนานเกี่ยวกับการสร้างเมืองอยุธยาของพระเจ้าอู่ทอง ก็ดูจะสัมพันธ์กับโรคห่าเป็นอย่างมากอยู่นั่นเองนะครับ

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดารอยุธยา ฉบับวันวลิต ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2182 ด้วยภาษาฮอลันดา ภาษาบ้านเกิดของ เยเรเมียส ฟาน เฟียส (Jeremias Van Vliet, หรือวันวลิต ในสำเนียงแบบไทยๆ) พ่อค้าของบริษัทอีสต์ อินเดีย ที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ในระหว่าง พ.ศ.2176-2185 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง แล้วได้จดบันทึกและเรียบเรียงประวัติศาสตร์อยุธยา จนเกิดพระราชพงศาวดารฉบับนี้เอาไว้ ซึ่งก็ได้จดเรื่องของพระเจ้าอู่ทองว่าเสด็จมาจากที่อื่น แถมยังมีกลิ่นคล้ายๆ กับเรื่องของโรคห่าเอาไว้ด้วย

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า “พระเจ้าอู่ทอง” ถูกเนรเทศมาจากเมืองจีน ขึ้นสำเภามาลงที่เมืองปัตตานี แล้วย้ายอยู่ตามเมืองท่าชายทะเลต่างๆ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช กุยบุรี (ประจวบคีรีขันธ์) เพชรบุรี บางกอก แล้วมาปราบโรคระบาด ที่มีสัญลักษณ์เป็น “น้ำลาย” ของมังกร หรือนาค จากนั้นค่อยสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมา

พระเจ้าอู่ทองในพงศาวดารฉบับนี้จึงไม่ได้ทรง “หนี” โรคห่ามาจากที่ไหน แต่เป็นผู้มา “ปราบ” ทุกข์ภัยที่เกิดจาก “โรคห่า” คือ “น้ำลายมังกร” ต่างหาก

 

“โรคห่า” เป็นคำโบราณ หมายถึงโรคที่มีคนตายเป็นจำนวนมาก หรือโรคระบาด ไม่ได้หมายถึงโรคชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ น่าสนใจว่า ปีที่พระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น ตรงกับปี พ.ศ.1893 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่มีโรคระบาดรุนแรงชนิดหนึ่งเริ่มบรรเทาลงในทวีปยุโรปอย่างพอดิบพอดี โรคระบาดที่ว่านั้นก็คือ “กาฬโรค”

มีบันทึกเก่าแก่จากโลกตะวันตกเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.1890 เรือสินค้าจากเมืองเจนัว กลับจากการเดินทางไปทะเลดำ แล้วเข้าเทียบท่าที่เมืองเมซีน่า เกาะซิซิลี

ภายในท้องเรือนอกจากจะบรรทุกไว้ด้วยสินค้าต่างๆ แล้ว ก็ยังอุดมไปด้วยหนูนับร้อยๆ ตัว พร้อมกับหมัดหนู ซึ่งเป็นพาหะตัวจริงของโรคระบาดร้ายแรงอย่าง “กาฬโรค” หรือที่ชาวยุโรปเรียกว่า “Black Death” ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ความตายสีดำ” นี้เอง

และเรือที่บรรทุกเอาเจ้า “ความตายสีดำ” มาด้วยนี่ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ลำเดียว ดังนั้น ในยุคสมัยที่ห่ากำลังลงหนักในครั้งนั้น เมื่อเรือเทียบท่าแล้วคนเรือจะต้องถูกกักตัวเอาไว้อยู่บนนั้น และห้ามไม่ให้ขึ้นฝั่งจนกว่าจะครบ 40 วัน

ซึ่งก็ทำให้คำว่า “40” ในภาษาอิตาเลียนคือ “quaranta” นั้นกลายมาเป็นรากศัพท์ของคำว่า “Quarantine” ที่แปลว่า “การกักกัน” ในภาษาอังกฤษเลยทีเดียว

ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า วิธีการกักคนเอาไว้บนเรือแบบนี้ มันจะช่วยบรรเทาการระบาดของโรคได้สักแค่ไหนเชียว?

แต่ในท้ายที่สุดกาฬโรคก็หายไปจากยุโรป หลังจากที่เล่นงานดินแดนแห่งนี้เอาเสียจนสะบักสะบอมไปเมื่อปี พ.ศ.1893

 

แต่อันที่จริงแล้วรายงานเก่าแก่ที่สุดของห่าลงโลกมนุษย์ในครั้งโน้น ไม่ได้เริ่มที่เกาะซิซิลี หรือแม้กระทั่งทะเลดำเป็นที่แรกหรอกนะครับ เพราะมันระบาดไปทั่วทั้งโลกเก่า (คือไม่นับทวีปอเมริกา กับออสเตรเลีย) มาแล้วให้เพียบ โดยที่แรกที่มีรายงานอยู่ในมณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน จนมีผู้เสียชีวิตไปถึง 9 ใน 10 ส่วน ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.1874 หรือเป็นเวลานับ 16 ปีก่อนที่โรคร้ายที่ว่าจะแพร่ระบาดเข้าไปในยุโรปแล้ว

จีนในยุคโน้น กำลังถูกพวกมองโกลปกครองในนามของจักรวรรดิหยวน ที่ก็เป็นยุคสมัยแห่งสงคราม และพอเจอเหตุการณ์ห่าลงแบบนี้ พวกทหารมองโกลก็ไม่คิดจะช่วยชาวจีนฮั่นเท่าไหร่นัก (ที่จริงก็คงไม่รู้จะช่วยยังไงเหมือนกันแหละ) เลยปิดเมืองให้ตายกันอยู่เฉพาะในนั้นกันเอง

แต่พวกมองโกลไม่ได้ปล่อยให้คนพวกนี้ตายไปเปล่าๆ เปลี้ยๆ เพราะทัพมองโกลยังเอาศพคนตายพวกนี้มาใช้เป็นอาวุธชีวภาพ

คือพอเวลาไปรบเมืองไหนแล้ว ไม่รู้จะตีเมืองเข้าไปยังไง ก็เอาศพพวกนี้โยนข้ามกำแพงเข้าไปในเมืองเหมือนเป็นผีห่านี่เอง (ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เวลานั้น Black Death ระบาดไปทั่วโลก ทั้งในเส้นทางการค้าทางทะเลอย่างในกรณีของท่าเรือที่เมืองเมสซินา และทางบกตามเส้นทางเดินทัพของพวกมองโกล)

การระบาดของกาฬโรค จึงมีผู้คนล้มตายอย่างกว้างขวางทั่วภูมิภาคและทั่วโลก อันเกิดจากหมัดที่เกาะติดตัวหนู ซึ่งเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อกาฬโรค และอยู่ในเรือบรรทุกสินค้า จอดแวะ รับส่งสิ่งของตามเมืองต่างๆ ใกล้ทะเล

 

หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า บริเวณอยุธยาก็เป็นทั้งเมืองท่า ซึ่งก็ย่อมจะเป็นชุมชนเมืองหนาแน่น มาตั้งแต่ก่อนที่พระราชพงศาวดารอยุธยาจะจดบันทึกเอาไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 แน่

ดังนั้น เมื่อพื้นที่แออัด โดยเฉพาะของคนชั้นสูงถูกกาฬโรคคุกคามผู้คนล้มตายก่ายกอง ซึ่งถือเป็นอุบาทว์ (น่าสังเกตด้วยว่า ในพงศาวดารฉบับวันวลิตบอกว่าศูนย์กลางที่มังกรแพร่เชื้อพิษร้าย ก็เกิดจากบ่อน้ำในบริเวณพื้นที่แออัดอย่าง “ตะแลงแกง” ซึ่งเป็นจุดตัดของถนนหน้าวัง และถนนหลังวัง โดยถือเป็นย่านใจกลางเมือง) และก็คงต้องแก้ไขด้วยพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผสมกลมกลืนระหว่างศาสนาผีกับศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ ก็จึงอาจจะเป็นที่มาของพิธีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.1893 ซึ่งเป็นปีที่โรคห่า คือกาฬโรคได้บรรเทาลงนี่แหละครับ

บางทีพระเจ้าอู่ทองอาจจะไม่ได้หนีโรคห่ามาจากที่ไหนก็ได้ บ้านเมืองต่างๆ ที่พระองค์จากมา หรือเดินทางผ่าน ในตำนานสำนวนต่างๆ คงจะเป็นเส้นทางแพร่กระจายของโรค และพระองค์คงจะเป็นผู้ที่ทรงปราบภัยจากโรคร้ายนี้ได้ จนเกิดการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ อย่างที่มีร่องรอยอยู่ในพงศาวดาร ฉบับวันวลิต นั่นเอง