ม.44 โละสภาการศึกษา นรต. เขย่ารั้วสามพราน เปลี่ยนตัวว่าที่ ผบช.นรต.?!

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์

เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสถาบันศึกษาหลักของเหล่าตำรวจ “โรงเรียนนายร้อยตำรวจ” เริ่มต้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือดาบในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โละสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

13980651241398075455l
พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์

“คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 54/2559 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตํารวจและการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ ความว่า โดยที่สมควรปรับปรุงการบริหารงานของโรงเรียนนายร้อยตํารวจให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับนโยบาย และแนวทางในการปฏิรูปตํารวจ ประกอบกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตํารวจ ในปัจจุบันใกล้จะครบวาระสี่ปีและพ้นจากตําแหน่ง จึงสมควรดําเนินการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดินและการปฏิรูป อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

“ให้นายกสภาการศึกษา และกรรมการสภาการศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของโรงเรียนนายร้อยตํารวจ ตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภาการศึกษาและกรรมการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิของ โรงเรียนนายร้อยตํารวจ ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 และประกาศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง

“ให้คณะกรรมการสภาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตํารวจคณะใหม่ ประกอบด้วย นายศุภชัย ยาวะประภาษ เป็น นายกสภาการศึกษา นายไผทชิต เอกจริยกร นายจักราทิตย์ ธนาคม นายมณเฑียร เจริญผล พ.ต.ท.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ นายกมล รอดคล้าย เป็น กรรมการสภาการศึกษาทรงคุณวุฒิ

“นอกจากนี้ ให้สภาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตํารวจพิจารณาแนวทางการพัฒนากิจการของโรงเรียนนายร้อยตํารวจ และการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตํารวจ พ.ศ.2551 เพื่อเตรียมการปฏิรูปตํารวจแล้วเสนอนายกรัฐมนตรีภายในสามเดือน”

ความบางส่วนจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 54/2559

ผิวเผินเป็นเพียงคำสั่งเปลี่ยนคณะบุคคลในสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปรับภาพลักษณ์จากสภาฯ ตำรวจ เป็นสภาวิชาการ

ทั้งนี้ สภาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เกิดขึ้น ตามพระราชบัญญัติ โรงเรียนนายร้อยตํารวจ พ.ศ.2551 มี บทบาทสภาการฯ อย่างหนึ่ง คือสรรหา ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่งตั้ง เสนอโปรดเกล้าฯ ที่มาของนายกสภาฯ ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ที่มาตามข้อบังคับของโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่ล่าสุดในปี 2554 ระบุว่า นายกสภาฯ มาจากการสรรหา จากกรรมการสรรหาที่มีผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นประธาน

นับแต่ปี 2551 สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มี ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 25 เป็นนายกสภาฯ คนแรก วาระ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2554

จากนั้น พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 23 ดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ ตั้งแต่ธันวาคม 2554 อยู่ 2 วาระ จนกระทั่งวันที่ 9 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ปัจจุบัน นายศุภชัย ยาวะประภาษ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นนายกสภาฯ มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นอุปนายกสภาฯ โดยตำแหน่ง

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 54/2559 คล้ายสำนวน เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

13751468971375146981l
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย

เพราะทันทีที่คำสั่งนี้ออกมาเกิดการเปลี่ยนแปลงกระทบหลายเรื่องหลายปม โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล ก่อนหน้านี้เมื่อสภาการศึกษาฯ ชุด พล.ต.อ.ชิดชัย กำลังครบวาระ คณะกรรมการสรรหานายกสภาฯ และกรรมการชุดใหม่ มีมติสรรหากรรมการสภาฯ ชุดใหม่ไว้แล้ว มีมติเสนอให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีต ผบ.ตร. นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 29 เป็นนายกสภาฯ

ทว่า พล.ต.อ.อดุลย์ มีภารกิจมากเกินกว่าจะทำหน้าที่ในตำแหน่ง บอร์ดสรรหาจึงเลือก ศ.ดร.วรเดช จันทศร อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 27 เป็นนายกสภาฯ

ในกรรมการมีชื่อ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ การดำเนินการตั้งกรรมการชุดใหม่อยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย

แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ว่าที่กรรมการชุดใหม่ มีอันต้องถูกเบรกไปตาม มาตรา 44

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ประชุมสภาฯ จัดให้ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น ผบช.นรต. แสดงวิสัยทัศน์ ครั้งนั้นผู้มีคุณสมบัติ 3 คน 1. คือ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นรต.34 ดีกรีดอกเตอร์ 2. พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นรต.38 อดีตผู้เคยถูกเลือกเป็น ผบช.นรต.

ในปี 2556 แต่ถูกตีตกด้วยคุณสมบัติการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ครั้งนั้นพลาดเก้าอี้อย่างน่าเสียดาย ครั้งนี้แม้นั่งเก้าอี้ติดยศ พล.ต.ท. อยู่แล้ว ก็มุ่งมั่นชิงนั่งเก้าอี้ครูใหญ่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อีกครั้ง และ 3. พล.ต.ต.มโนช ตันตระเธียร รอง ผบช.นรต. นรต.38

โดยกรรมการสภาฯ พิจารณาเลือก พล.ต.ต.อดุลย์ เฉือนชนะ พล.ต.ท.ปิยะ ครองตำแหน่งว่าที่ ผบช.นรต. มีประกาศสภาฯ แพร่ต่อสาธารณชนเรียบร้อย

แต่ทันทีที่มีกรรมการชุดใหม่ ตามมาตรา 44 การประชุมสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เกิดขึ้น 2 นัด ในช่วง 5 วัน ครั้งแรกวันที่ 15 กันยายน ครั้งที่ 2 วันที่ 20 กันยายน ด้วยกระบวนการภายใน สภาการศึกษามีมติเห็นว่า พล.ต.ต.อดุลย์ ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งและอ้างตามหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณา 2 แคนดิเดตที่พลาดหวังในการสรรหาโดยสภาฯ ชุดเดิม

แล้วมติสภาการศึกษาฯ เป็นไปตามที่เหล่าสีกากีวิพากษ์ คาดการณ์

พล.ต.ท.ปิยะ คือผู้ถูกเลือก

เป็นกระบวนของการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล คีย์แมนสำคัญใน “รั้วสามพราน” สถาบันหลักอันศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าตำรวจ เลือดสามพราน ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เบ็ดเสร็จ เด็ดยอด นับแต่วันที่ 9 กันยายน จนถึงวันที่ 20 กันยายน นับแต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช.

เป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องจับตาผลกระทบ จับตาคลื่นหลายระลอกที่จักตามมา !?