“ธรรมสังคีต” เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

จะดูเรื่องราวของพระอัศวโฆษให้ลึกลงไปอีกนอกเหนือจาก “ปรัชญามหายาน” ยังจำเป็นต้องพิจารณาจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา” ประกอบด้วย

คัมภีร์มหายานภาสยะกล่าวว่า มีพระภิกษุที่ชื่อ “อัศวโฆษ” อยู่ถึง 6 รูปด้วยกัน

รูป 1 เป็นพระอัศวโฆษผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยพุทธกาล ปรากฏชื่ออยู่ในพระสูตรภาษาสันสกฤตชื่อ “วิเศษอุณหิสราชาสูตร” ของฝ่ายมหายาน

รูป 1 เป็นพระอัศวโฆษผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยพุทธกาลเช่นกัน แต่ต่างรูปกับรูปแรก

ปรากฏชื่อของท่านอยู่ในพระสูตรภาษาสันสกฤตชื่อ “มหายานมูลธรรมสูตร” ของฝ่ายมหายาน

รูป 1 มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 1 ปรากฏใน “มณีวิสุทธิสูตร” ของฝ่ายมหายาน

รูป 1 มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 4 ปรากฏชื่ออยู่ใน “อภินิหารคุณสูตร” ของฝ่ายมหายาน

รูป 1 มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 6 ปรากฏชื่ออยู่ใน “มหายานสูตร”

รูป 1 มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 8 ปรากฏชื่ออยู่ใน “นิตยคุณสมาธิสูตร” ของฝ่ายมหายาน

พระอัศวโฆษรูปที่ 5 ซึ่งมีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 6 และปรากฏชื่อใน “มหายานสูตร” นี้เองที่นักปราชญ์ฝ่ายมหายาน อาทิ ดร.สุซูกิ เชื่อว่าเป็นผู้แต่งคัมภีร์ “มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์”

แต่ก็มีบางท่านไม่เห็นด้วยกับบทสรุปนี้

อย่าว่าแต่จะเกิดความสับสนในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเลย แม้กระทั่ง ภรัต ซิงห์ อุปัทธยายะ ผู้เรียบเรียง “นักปราชญ์พุทธ” อัน อมร โสภณวิเชฏฐวงศ์ เรียบเรียงมาเป็นภาษาไทยก็ยังยอมรับ

“เรารู้ชีวประวัติของพระอัศวโฆษอย่างกระท่อนกระแท่นเหลือเกิน”

และเมื่อเสาะค้นจากหนังสือ “มหากาพย์พุทธจริต” อันกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ถ่ายทอดเป็นพากย์ไทยจากของ “มหากวีอัศโฆษ” ในตอนคำนำก็ยังกล่าว

ในเรื่องอันเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของท่านอัศวโฆษนั้นหลักฐานที่ยังพอมีเหลืออยู่ให้เราเห็นได้ในรุ่นหลังนี้มีน้อยมาก กล่าวคือ เมื่อเก็บข้อความจากที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง นำมาปะติดปะต่อกันเข้าแล้วก็พอทราบได้แต่เพียงว่า

ท่านอัศวโฆษผู้นี้เป็นชาวเมืองสาเกต (ปัจจุบัน คือเมืองอโยธยาในรัฐอุตตรประเทศ อินเดีย)

เกิดในตระกูลพราหมณ์ จากบทรจนาของท่าน เราจะสามารถทราบได้อย่างแน่นอนว่าท่านได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดีในสรรพวิทยาการและศิลปศาสตร์นานาชนิด

ชีวประวัติของหลวงจีนเหี้ยนจังผู้เดินทางออกจากอินเดียใน พ.ศ.1188 มีข้อความหนึ่งระบุ

ท่านอัศวโฆษเป็นผู้รจนาคัมภีร์ “มหายานศรัทโธตปาท” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

หลวงจีนเหี้ยนจังคนเดียวกันนี้ยังได้เขียนชมเชยว่า “บุคคลเช่นกุมารลัพธ์ นาคารชุน เทวะ และอัศวโฆษ เปรียบเสมือนแสงสูรย์ที่ประทานความสว่างให้แก่โลกเป็นนิจนิรันดร์”

เช่นเดียวกับ หลวงจีนอี้จิง ผู้ไปสืบพระศาสนาในอินเดียเมื่อ พ.ศ.1216 กล่าวว่า

“ท่านอัศวโฆษเป็นอัครธรรมทูตของพระพุทธศาสนา บทรจนาของท่านใช้ศึกษากันอยู่ทั่วไปตามวัดวาอาราม โดยเฉพาะคัมภีร์มหากาพย์พุทธจริต ได้แพร่หลายไปทั่วชมพูทวีป”

นอกจากเป็นกวี เป็นนักโต้วาที จุดเด่น 1 คือความเป็นนักดนตรี

สามารถเอาวิชาการดนตรีประยุกต์เข้ากับบทกวีที่รจนามาใช้ในการประกาศพระศาสนา อันเท่ากับเป็นการเผยแผ่ธรรมะโดยวิธี “ธรรมสังคีต” ประชาชนที่มาชมการแสดงละครอิงธรรมะประกอบดนตรีต่างชมชอบและซาบซึ้งตรึงใจในรสพระธรรมกันถ้วนหน้า

กระทั่ง เสถียร โพธินันทะ ยังกล่าวสันนิษฐานไว้ด้วยว่า การใช้ดนตรีในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะดนตรีที่ใช้ประกอบในศาสนพิธีของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อาจได้เค้ามาจากวิธีธรรมสังคีตของพระอัศวโฆษนี้ก็เป็นได้ ซึ่งเป็นไปตามบทสรุปของหลวงจีนอี้จิงที่ว่า

“นักปราชญ์ชั้นเยี่ยม เช่น นาคารชุน เทวะ และอัศวโฆษนี้ นานๆ จึงจะมาปรากฏในโลกสักครั้ง”

เท่ากับนามของพระอัศวโฆษ นามของพระนาคารชุน วางเรียงอยู่เคียงข้างกันในฐานะเป็นปราชญ์ของฝ่ายมหายาน

เห็นได้จากหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” อันถือเป็นการบุกเบิก

และเสริมแต่งให้ได้รายละเอียดทั้งชีวิตและความคิดมากยิ่งขึ้นผ่านประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และปรัชญามหายานของเสถียร โพธินันทะ