ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ/Norman

ใส่บ่าแบกหาม

พรพิมล ลิ่มเจริญ

Norman

เธอจ๊ะ
Norman เป็นหนังแนว political drama ระหว่างอเมริกันและอิสราเอล
Norman มาจากชื่อเต็มๆ ว่า Norman : The Moderate Rise and Tragic Fall of a New York Fixer, Richard Gere แสดงเป็น Norman Oppenheimer คนนี้นี่แหละ
นอร์แมนเป็นชายสูงวัยแล้ว ช่างพูดช่างคุย มีอัธยาศัยใจคอดี เปิดเรื่องมาเห็นแกเอาแต่โทรศัพท์ และพบปะผูกมิตรกับคนไปทั่ว ดูไม่รู้ว่าแกมีอาชีพการงานอะไร เห็นแต่สิ่งที่แกพยายามทำคือ พาคนมาเจอกัน ให้รู้จักกัน แล้วเขาจะคุยกันเรื่องใดก็สุดแล้วแต่ แต่ก็เป็น “เรื่อง” ใหญ่ๆ โตๆ เป็นเรื่องระหว่างประเทศเสียทั้งนั้น
But as I always say, when dealing with
global interests, we shouldn’t be
playing backgammon, where you roll your dice
and hope for the best.
We should be playing chess.
แต่อย่างที่บอก เวลาเป็นเรื่องผลประโยชน์ของโลก
เราต้องไม่เล่นเกมแบล็กแกมมอน
ที่ทอยลูกเต๋าแล้วก็หวังให้มันออกมาดีที่สุด
เราควรเล่นหมากรุก
นอร์แมนเอ่ยถึงงานที่ทำอยู่อ้อมๆ
George Bernard Shaw once said,
“Some people see the way things are
and ask, ‘why?”
I see how things should be
and ask, why not?’
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ กล่าวไว้ว่า
บางคนเห็นสิ่งที่มันเป็นอยู่แล้วถามว่าทำไม
แต่ผมเห็นสิ่งเหล่านั้นแล้วว่า ทำไมจะไม่ได้เล่า
มีคำคมของจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักประพันธ์ชาวไอริช เจ้าของรางวัลโนเบลมาสนับสนุนตนเอง

พี่นอร์แมนนี้ แกเป็นคนมั่นใจตนเองมาก
แกมีนามบัตรนะ เวลาพบเจอใครแกก็แจก Oppenheimer Strategies พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
แกติดต่อได้หมดนะ แม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็ตาม แกก็หาเรื่องไปรู้จักมักจี่กับเขาจนได้
อย่าง Mr.Eshel ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและแรงงานด้วย มาทำธุระที่นิวยอร์ก พี่นอร์แมนก็อยากให้ไปรู้จัก Mr.Taub เศรษฐีผู้มีอิทธิพลในนิวยอร์ก แกก็เข้าไปตีซี้ แอบเดินตามไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็พาเข้าไปร้านเครื่องแต่งกายชายชั้นสูงมากๆ หมายถึงแพงมากๆ
นอร์แมนแนะนำคุณอีเชลกับคนขายเสียใหญ่โต จนคุณอีเชลเกิดอาการขวยถึงกับต้องออกตัว
No, no, no. I’m the deputy minister of trade and labor.
My boss, the minister, is deputy to the prime minister.
เปล่าๆ ผมเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและแรงงาน
เจ้านายผมสิรัฐมนตรี ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี
บอกความจริงเขาไป
But there are three other deputies,
just to put things in context.
ต้องใช้ถึงสามผู้ช่วยถึงถูกต้องกว่า
put things in context หมายถึง ต้องให้ข้อมูลหรือตัวอย่างเพิ่มเพื่อที่จะได้เข้าใจตรงกัน เห็นภาพตรงกัน
คนขายก็ช่างรู้ ชื่นชมสรรเสริญ
I’m sorry, but you look too young
to be so important.
ผมขอโทษครับ
คุณดูหนุ่มเกินกว่าจะเป็นคนสำคัญมากๆ
แล้วคนขายก็กุลีกุจอหาของให้ลอง
I might be young,
but I’m already washed-up.
ผมอาจจะหนุ่ม
แต่ผมไม่มีอนาคต
washed up หมายถึง ไม่มีทางประสบความสำเร็จอีกต่อไปแล้ว แม้ในอนาคตก็ไม่มีหนทางหรือความหวังให้ประสบความสำเร็จได้
พี่นอร์แมนพยายามช่วยหาลูกฮึดให้ เห็นออกทีวีแล้ว ดูดีจะตาย มิสเตอร์อีเชลก็ว่าแกแค่ขึ้นกล้อง
No, no. It’s because you are one of
the few Israeli politicians who radiates optimism.
ไม่ๆ เพราะคุณเป็นหนึ่งในนักการเมืองไม่กี่คน
ที่เปล่งประกายว่ามองโลกแง่ดี

หะแรกก็หยิบเสื้อแจ๊กเก็ตสูทมาลอง แหมๆ ช่างเหมาะเหม็ง แต่พอเห็นป้ายราคาในกระเป๋าเสื้อ รีบถอดแทบไม่ทัน ราคาปาเข้าไปเกือบๆ หกพันเหรียญ ก็ร่วมสองแสนบาทไทย คุณอีเชลละล้าละลังอยากออกจากร้านเสียแต่ในวินาทีนั้น
แต่รองเท้าสิ ที่ยืนมองจ้องหน้าร้านอยู่นาน พอได้สวมใส่มันช่างถูกใจหนักขึ้น แต่จำต้องถอดออกเพราะพันกว่าเหรียญเชียวนะนั่น คู่เดียว
สุดท้าย พี่นอร์แมนเป็นฝ่ายซื้อรองเท้าแพงหูฉี่ให้มิสเตอร์อีเชลไป
มิสเตอร์อีเชลรับไว้ด้วยไมตรี ว่าแล้วพี่นอร์แมนก็ชวนไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้านมิสเตอร์ทาวบ์เศรษฐีใหญ่ในคืนนั้น มิสเตอร์อีเชลก็ตกปากรับคำ
พี่นอร์แมนไปถึงงานก่อน เจ้าบ้านจับได้ว่าไม่มีใครเชิญนอร์แมนมาสักหน่อย คือถ้ามีมิสเตอร์อีเชลมาด้วยจริง สถานการณ์ก็จะนำพาให้นอร์แมนพอจะรอดพ้นความผิดไปได้ แต่นี่ไม่มี ไม่มีแม้เงาของมิสเตอร์อีเชล
If he isn’t here,
the invitation is not up for grabs.
ถ้าเขาไม่มา
คำเชิญก็ไม่มีให้นะ
up for grabs หมายถึง มีให้ถ้าสนใจ
อายหน้าหงายเลยงานนี้ การนัดหมายไม่สัมฤทธิผล มิสเตอร์อีเชลโทรศัพท์มาขอโทษขอโพย
แต่พี่นอร์แมนก็ได้ connection แล้วเอาไปโอ้อวดกับใครๆ ได้
I’m helping him out a little bit,
showing him the ropes.
ผมก็ช่วยเขานิดหน่อย
สอนให้รู้งาน
show + someone + the ropes หมายถึง เราอธิบายและแสดงให้คนนั้นๆ รู้ว่าทำงานหนึ่งๆ นั้นต้องทำอย่างไรบ้าง สำนวนนี้มาจากลาสีที่รู้ดีว่าเชือกเป็นสิ่งสำคัญในการบังคับเรือ ด้วยว่าเชือกใช้ในการรั้งเสาต่างๆ และใบเรือ จึงพยายามเรียนรู้การใช้เชือกให้เป็นเร็วที่สุด
I’m the lucky man.
This guy’s the real thing.
ผมสิโชคดี
ผู้ชายคนนี้ของจริง

สมดังว่า สามปีต่อมา มิสเตอร์อีเชลได้เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งอิสราเอล
การเมืองมันมีการ favor กัน เอื้อเฟื้อว่างั้น เอื้อเฟื้อกันไปเอื้อเฟื้อกันมา เป็นชุมชนแห่งผลประโยชน์
เขาให้อะไรเรา เราก็ต้องให้กลับคืนเขาบ้างเป็นการตอบแทน ไม่มีให้กันฟรีๆ ไม่ได้ทำการกุศลนี่นะ
ในหนังเขาก็แสดงให้เห็นถึงกลไกในนั้น โดยมีคนอย่างนอร์แมนเป็นเฟือง
แต่มันก็ยากสำหรับฉัน การเมืองนี่นะ มันเข้าใจยากมาแต่ไหนแต่ไร
เรื่องแบบนี้ควรเอาไปทำหนังซีรี่ส์แบบ House of Cards ฉันจะได้ค่อยๆ เข้าใจประเด็นความเป็นมาเป็นไปทีละน้อยๆ สัปดาห์ละครั้ง มารวมกันเป็นหนังสองชั่วโมงเยี่ยงนี้ เหนื่อยสมองจริงเลย
ฉันเอง