‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ มองพรรคอนาคตใหม่ ควรเปลี่ยนการเมืองไทยระยะยาว

“เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากๆ แม้แต่คนที่เขาเกี่ยวข้อง เขาก็คงไม่คิดว่าจะมีกระแสได้เร็วและแรงขนาดนี้ นี่แค่ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากมีการประกาศตัวเพียงแค่อาทิตย์กว่าๆ แต่กระแสแรงขนาดนี้ มันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างในการเมืองไทย ผมคิดว่าคนมีความรู้สึกว่าต้องการทางเลือกใหม่ๆ จริงๆ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จะมีนโยบายรูปธรรมอย่างไร แต่พอมีคนเปิดตัวออกมาแล้วดูมีศักยภาพ มีแนวคิดที่น่าสนใจ กระแสตอบรับมาอย่างรวดเร็วทั้งในทางบวกและทางลบ คือถ้าคนไม่ได้คิดว่าพรรคนี้มีศักยภาพ กระแสวิจารณ์ก็จะไม่แรงขนาดนี้ ไม่งั้นคนก็คงมองเป็นแค่พรรคไม้ประดับ ไม่มีคนสนใจ แบบที่ก่อนหน้านี้ที่มีการไปจดทะเบียนกัน 40 กว่าพรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นพรรคที่โลกลืมไปแล้ว คนจำไม่ได้ แต่ปรากฏการณ์นี้ ผมว่ากระแสทั้งในทางสนับสนุนและวิจารณ์ที่ออกมามันสะท้อนว่าสังคมไทยต้องการทางเลือกใหม่”

นี่คือมุมมองของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่มีต่อปรากฏการณ์ของการเตรียมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ภายใต้การนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล

รศ.ดร.ประจักษ์มองว่า ในแง่ตลาดการเมือง พรรคใหม่นี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง ด้วยกระแสตอบรับและมีคนรู้จัก ด้วยการโยนและนำเสนอทางเลือกสู่สังคม แล้วมันจะทำให้ฝ่ายต่างๆ ต้องปรับตัวเอง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องปรับตัว เมื่อมีพรรคการเมืองหนึ่งประกาศตัวออกมามีแนวทางการเมืองหลายอย่างซึ่งในสายตาของคนรุ่นใหม่ขณะนี้ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้ากว่าพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ

“ที่สำคัญคือไม่ได้มีชนักติดหลัง เป็นคนใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน ไม่เคยลงสู่สนามเลือกตั้งมาก่อน และมีฐานเสียงเดียวกัน”

“ขณะเดียวกัน ฝั่งของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ผมคิดว่าเขาก็ต้องจับตาดู และต้องปรับตัวเช่นกัน สมมุติถ้าเราดูจากแนวโน้มจะมีพรรคหลายพรรคที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุนผู้มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ได้กลับมาสืบทอดอำนาจต่อ เป็นพรรคนอมินีทหาร พรรคเหล่านี้ตอนนี้ก็เจอคู่แข่งใหม่ หรือพรรคกลางๆ ที่ตั้งขึ้นมาที่จะจับเสียงของพลังเงียบ พรรคใหม่ของคุณธนาธรก็ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ฐานเสียงตรงนี้เหมือนกัน คนที่เบื่อหน่ายการแบ่งขั้วการเมืองแบบเก่าๆ ซึ่งพลังเงียบทางสังคมไทยก็มีอยู่ไม่น้อยในแต่ละการเลือกตั้งมีอยู่ 3-5 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ ที่ไม่ได้ปักใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง ฉะนั้น ผมคิดว่าการลงสู่สนามการเมืองของพรรคใหม่อย่างนี้ มันทำให้ฝ่ายต่างๆ ต้องปรับตัว”

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวอีกว่า “แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวการณ์หลายๆ อย่างในขณะนี้ดูเหมือนไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยแก่การเล่นการเมืองเท่าไหร่ ยังมีความเสี่ยงสูง เล่นการเมืองตอนนี้มีโอกาสไม่ติดคุกก็ลี้ภัย มีหนทางที่ไม่สวยงามมากนัก มันเลยทำให้คนดีๆ จำนวนมาก คนเก่งๆ จำนวนมากไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง อันนั้นคือผลกระทบด้านลบที่มันเกิดขึ้น การที่การเมืองมีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงนอกกติกาเยอะและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความเข้มงวดมากไป อ่านกฎหมายพรรคการเมืองจะพบว่าการตั้งพรรคการเมืองในยุคปัจจุบันตั้งยากมาก ในขณะเดียวกันถูกยุบได้ง่าย ต้องยอมรับว่าใครที่ตัดสินใจมาเล่นการเมืองในยุคนี้มีความกล้ามากและต้องยกย่องไม่ว่าอุดมการณ์ใด”

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นระบบเลือกตั้งที่จะไปเปิดโอกาสให้กับพรรคการเมืองใหม่ๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะว่าโดยดีไซน์และโดยเจตนาระบบเลือกตั้งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายพรรคการเมืองขนาดใหญ่ คือพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ เขาต้องการสกัดกั้นไม่ให้พรรคใหญ่ได้ที่นั่งมากเกินไปจนครองเสียงข้างมากในสภาหรือเกิน 50% ในระบบเลือกตั้งใหม่จะยากมากที่จะมีพรรคไหนชนะแบบถล่มทลายเหมือนแต่ก่อน ในระบบเดิมหากมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่แทบจะไม่มีโอกาสได้ที่นั่งเลยเพราะว่าในระบบเขตก็ต้องเจอขาใหญ่ประจำจังหวัด ส่วนปาร์ตี้ลิสต์เดิมคนไทยจะเน้นเลือกพรรคใหญ่ 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์”

“แต่ในระบบเลือกตั้งใหม่ผมเคยลองคำนวณคร่าวๆ ถ้าคุณส่ง ส.ส. ครบ 350 เขต ในแต่ละเขตต่อให้แพ้แต่คุณสามารถเก็บคะแนนเลือกตั้งได้อย่างน้อย 5,000 คะแนนในทุกเขตรวมกันทั้งประเทศ คุณมีสิทธิ์ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. 20 กว่าคน ขอแค่เขตละ 5 พันคะแนน ในแง่นี้พรรคทางเลือกใหม่ๆ มีโอกาสได้ ถ้าหาเสียงดีๆ มีแคมเปญดีๆ เป็นทางเลือกใหม่ๆ”

ส่วนการกล่าวหาด้วยข้อหาต่างๆ ตามที่มีการนำมาโจมตีคุณธนาธร-อ.ปิยบุตร นั้น รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า “ผมมองว่าเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ การเมืองไทยถ้าย้อนไปดูจะมีการกล่าวหาด้วยข้อหาลักษณะนี้มาโดยตลอด ซึ่งไม่ต้องมาสู้กันด้วยนโยบาย ไม่ต้องสู้กันด้วยผลงาน คุณไม่ชอบใครคุณอยากตัดทางการเมืองใหม่ๆ ไม่ให้เกิดได้คุณก็โยนข้อหานี้ไปเลย”

“แต่ผมมองว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะ มาถึงปัจจุบันที่คนต้องการทางเลือกใหม่ๆ จริงๆ ผมมองว่าคนจำนวนมากในสังคมที่เป็นพลังเงียบที่มองว่าสังคมหยุดนิ่งมานานต้องการความเปลี่ยนแปลง คนต้องการออกไปจากสภาวะนี้ที่การเมืองก็ไม่ไปไหน เศรษฐกิจก็ไม่ไปไหน การศึกษาก็ถดถอย ตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยในโลก ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน คนมองอนาคตด้วยความกังวล ผมไม่คิดว่าการกล่าวหาโจมตีแบบเก่าๆ มันจะปลุกขึ้น จะจุดติดขึ้น”

“ผมว่าคนก็เบื่อหน่ายแล้วในการโจมตีแบบนั้นด้วยข้อหาที่เลื่อนลอยและมันไม่ได้มีการถกเถียงกันในเชิงนโยบายความคิดอะไรเลย”

“แต่ผมกลับคิดว่าปัญหา-สิ่งที่ต้องคิดให้ดีสำหรับพรรคนี้ คือจะ Position ตัวเองอย่างไร ถ้าคุณวางตำแหน่งตัวเองว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ล้วนๆ คุณก็จะได้ใจคนรุ่นใหม่ไป แต่ในทางกลับกันคนรุ่นเก่าจะรู้สึกว่าเขาจะเลือกพรรคนี้ทำไม? เพราะว่าไม่ได้เป็นตัวแทนของเขา และมันอาจจะมีปัญหาในเรื่องของประสบการณ์บางอย่าง ความเชี่ยวชาญสนามการเมือง ถ้าคุณอยากจะชนะเลือกตั้ง ได้เสียงส่วนใหญ่เป็นกอบเป็นกำ คุณจะต้องเจาะคนทุกกลุ่ม แต่ถ้าทำอย่างนั้นมันก็จะเกิดปัญหาทางแพร่ง ว่าคุณจะ “สูญเสียอัตลักษณ์ในการเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่” ผมคิดว่าจุดนี้เองจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะวางตัวเองอย่างไร”

“แต่ว่า “การขายความเป็นคนรุ่นใหม่” มันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกด้วย มาดูยุคนี้การเลือกตั้งในหลายประเทศได้ผู้นำที่อายุน้อยทั้งสิ้น” รศ.ดร.ประจักษ์ให้ความเห็น

อีกหนึ่งประเด็นที่สังคมไทยพูดกันน้อยในสายตาของนักวิชาการรุ่นใหม่คนนี้ก็คือเรื่องของการจัดระดมเงินทุนทำพรรคการเมือง

“ที่ผ่านมาการเมืองถูกผูกขาดโดยคนไม่กี่คนเพราะเราไม่พยายามแสวงหาการสนับสนุนจากคนทั่วไป ตอนนี้เท่าที่อ่านนโยบายของเขาน่าจะใช้ระบบ Crowdsourcing ซึ่งถ้าหากคุณธนาธรไปเปิดตัวด้วยการที่มาบอกว่าจะตั้งพรรคการเมืองและใช้เงินทุนตัวเองเป็นหลัก ผมคิดว่าอันนี้คนจะไม่รู้สึกว่าคุณแตกต่างจากเดิม แบบนี้จะไม่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่”

“แต่ถ้าเขาจะใช้ระบบระดมทุนจากภาคประชาชน จะมีความน่าสนใจแต่ว่าจะทำอย่างไรต้องไปศึกษาในรายละเอียด มันมีโมเดลจำนวนมาก และกฎหมายใหม่ กลับมีการเอื้อให้เกิดภาวะของการระดมทุนแบบนี้เพราะว่ากฎหมายกลับไปบังคับให้คนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อไปนี้ต้องเป็นคนจ่ายค่าบำรุงสมาชิก คนละ 100 บาท ซึ่งตอนที่ออกมาใหม่ๆ ช่วงนั้นมีพรรคการเมืองโวยกันมาก ซึ่งการจะทำพรรคให้เป็นระบบและเป็นของทุกคน พรรคต้องมีโครงสร้างเชิงประชาธิปไตยภายในด้วย พูดง่ายๆ ถ้าจะทำพรรคทางเลือกใหม่ไม่ใช่แค่ตัวนโยบายหรือตัวผู้นำ แต่แนวทางการทำพรรคจะต้องใหม่แล้วทำให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ โดยที่พรรคไม่ได้ถูกผูกขาดครอบงำโดยคนไม่กี่สิบคน”

“ผมมองว่าทั้งหมดนี้เป็นความท้าทาย และความสำเร็จอาจจะไม่ได้อยู่ที่ผลของการเลือกตั้งในครั้งนี้สนามแรก แต่เขาต้องทำให้เห็นว่าสังคมยังมีทางเลือกใหม่ๆ ก็ลงอีกในการเลือกครั้งต่อๆ ไป มันต้องใช้เวลา ผมหวังว่าไม่ว่าเขาจะแพ้หรือชนะ ผมไม่อยากให้ถอดใจ คือท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายควรจะอยู่ที่ “การเปลี่ยนการเมืองไทยในระยะยาว” อันนั้นคือเป้าหมายที่สำคัญกว่า”

“แล้วพรรคอื่นๆ อยากจะเข้ามาแข่งกับฝั่งอนุรักษนิยมมีคนรุ่นใหม่ไหม? ถ้ามีก็ตั้งพรรคออกมา แล้วมันจะดีต่อประชาธิปไตยเพราะในที่สุดมันเป็นการกลับมาสู้กันในกติกา แล้วทำให้เห็นว่าระบบนี้สร้างผลเสียหายให้กับประเทศน้อยกว่า ในอนาคตจะเป็นประชาธิปไตยที่สวยงามมีทางเลือกเยอะ”

“เราไม่ต้องกลับไปสู่วงจรอุบาทว์แบบเดิมๆ อีก”