ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์/PHANTOM THREAD ‘ตามหาความสมบูรณ์แบบ’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์
นพมาส แววหงส์

PHANTOM THREAD

‘ตามหาความสมบูรณ์แบบ’

กำกับการแสดง Paul Thomas Anderson
นำแสดง Daniel Day-Lewis Vicky Krieps Lesley Manville

ออกจะช็อกกับการประกาศอำลาวงการแสดงของแดเนียล เดย์-ลูวิส เมื่อปีที่แล้ว หลังจากจบหนังเรื่อง Phantom Thread โดยบอกว่านี่เป็นการแสดงเรื่องสุดท้ายในชีวิตเขา
เสียดายนักแสดงสุดยอดฝีมือคนนี้มาก เสียดายที่จะไม่ได้เห็นบทบาทเข้มข้นจากฝีมือของเขาอีก ตั้งแต่ My Left Foot, In the Name of the Father, The Last of the Mohicans, The Age of Innocence, Gang of New York, There Will Be Blood และ Lincoln
มีนักแสดงชายเพียงสามคนที่เคยได้รับออสการ์ถึงสามตัวทั้งในบทนำและบทสมทบ แต่แดเนียล เดย์-ลูวิส ก็เป็นนักแสดงชายคนเดียวที่ได้รับออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ใน ค.ศ.2012 นิตยสารไทม์เรียกเขาว่า “นักแสดงชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก”
อยู่ดีๆ ในวัยหกสิบที่ยังดูสุขภาพดี ทรงพลังและหนุ่มกว่าอายุนับสิบปี เขาก็ประกาศเลิกอาชีพที่เขาทำได้ดีเหลือเกินไปเสียดื้อๆ แบบไม่ให้รู้เหนือรู้ใต้ ด้วยเหตุผลที่ฟังออกจะเลื่อนลอยและจับต้องไม่ได้ว่า
“…ผมไม่รู้แน่ว่าเพราะอะไร…”
“…ตอนเริ่มเล่นหนังเรื่องนี้ ผมก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเลิกแสดงแล้ว…”
“…มันรู้สึกไม่พอเสียแล้ว…”
ด้วยหนังทุกเรื่องที่เขาเล่น เขาจะกลายเป็นตำนานในด้านการแสดงต่อไปอีกนาน เพราะเป็นที่รู้กันว่าเขาเลือกหนังที่จะแสดงอย่างที่สุด…ขี้เลือกมากกว่ามาร์ลอน แบรนโด ซึ่งเป็นตำนานของนักแสดงชายที่เล่าขานกันมาตั้งแต่สมัยก่อนหน้าด้วยซ้ำ

เดย์-ลูวิสทิ้งทวนด้วยบทบาทสุดท้ายที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอคาเดมีแบบสูสีกับแกรี โอลด์แมน ในบทวินสตัน เชอร์ชิลล์ ในหนัง The Darkest Hour และผลคือบทบาทชวนจับตาของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลกสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มีน้ำหนักเหนือตัวละครสมมติที่เป็นศิลปินในโลกแฟชั่น
เรย์โนลด์ วู้ดค็อก (แดเนียล เดย์-ลูวิส) เป็นนักออกแบบเสื้อผ้าชั้นนำในสังคมอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1950 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เฮ้าส์ออฟวู้ดค็อก ประกอบด้วยทีมช่างตัดเย็บจำนวนนับสิบ ช่วยกันตัดเย็บเสื้อผ้างดงามที่เขาออกแบบ โดยมีน้องสาวชื่อ ซีริล (เลสลีย์ แมนวิลล์) รับงานบริหารและงานธุรการจิปาถะอย่างรู้ใจ เพื่อไม่ให้อารมณ์ศิลปินของเรย์โนลด์ต้องสะดุดในการสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่น
ลูกค้าของวู้ดค็อกเป็นสมาชิกของราชวงศ์จากทั่วทั้งยุโรป ดารานักแสดง มหาเศรษฐีนีและสาวสังคม สรุปก็คือพวกไฮโซสุดๆ
เรย์โนลด์ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้จากแม่ที่สอนการตัดเย็บเสื้อผ้าให้เขา และเขาเคยตัดชุดแต่งงานให้แม่ผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังเป็นอิทธิพลที่ไม่เคยเลือนหายไปจากชีวิตของเขา
เรย์โนลด์เป็นหนุ่มโสดผู้ยึดมั่นในชีวิตโสดตัวคนเดียวอย่างเหนียวแน่น เขามีสาวที่ผลัดเปลี่ยนหน้ามาอยู่ร่วมบ้านอยู่ไม่ขาด เมื่อหนังเปิดเรื่อง เราเห็นเขาอยู่ที่โต๊ะอาหารเช้า กำลังสเก๊ตช์แบบเสื้อผ้าอย่างตั้งอกตั้งใจ และเมื่อถูกขัดจังหวะโดยสาวคนที่อยู่ร่วมบ้านกับเขา เขาก็พื้นเสียขึ้นมา แต่ก็ควบคุมตัวเอง และพูดเรียบๆ ในทำนองว่าไม่อยากทะเลาะกับใครแต่เช้า (สำนวนที่เขาใช้คือ “การเผชิญหน้ากัน” ซึ่งพูดเป็นไทยๆ ก็เรียกว่าทะเลาะนั่นแหละ) ซึ่งจะทำให้เขาอารมณ์เสียไปทั้งวันจนสร้างสรรค์งานดีๆ ไม่ได้
ผลก็คือ แม่สาวคนนี้หมดอายุการใช้งานในบ้านนี้แล้ว และหน้าที่ในการกำจัดออกไปให้พ้นหน้าเรย์โนลด์ตกเป็นของซีริลผู้รู้ใจพี่ชายทุกเรื่อง รวมทั้งเสนอให้เรย์โนลด์ขับรถออกไปพักสมองในชนบทนอกเมือง
ซึ่งเรย์โนลด์ก็ทำตามข้อเสนอนี้ด้วยความยินดี
เขาแวะเข้าร้านอาหารข้างทาง และสะดุดตากับสาวเสิร์ฟคนหนึ่ง ซึ่งดูไม่ใช่คนอังกฤษแท้ๆ อัลมา (วิกกี้ ครีปส์) แรกทีเดียว เขาก็สะดุดตากับความซุ่มซ่ามของเธอ และเมื่อสั่งอาหารหลากหลายรายการแบบคนจู้จี้พิถีพิถัน แล้วเธอไม่ยอมจดตามคำสั่ง แต่สามารถทวนคำสั่งของเขาได้ไม่มีผิดเพี้ยน จนสร้างความประทับใจให้เขา
เขาเริ่มติดเนื้อต้องใจเธอ ชวนไปกินอาหารค่ำ และเธอตอบรับ
เขาชวนเธอไปบ้าน และบอกจะตัดเย็บชุดให้เธอ โดยเรียกน้องสาวมาวัดตัวอย่างละเอียด
ไม่เท่าไรอัลมาก็ย้ายเข้าไปอยู่คฤหาสน์วู้ดค็อกในลอนดอน ในฐานะแฟนคนใหม่และนางแบบประจำเฮ้าส์ออฟวู้ดค็อก

หนังเรื่องนี้ได้รับออสการ์สาขาเครื่องแต่งกายของปีนี้ด้วย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะการออกแบบเครื่องแต่งกายเป็นอาชีพของตัวละครนำของเรื่องอยู่แล้ว เราจึงเห็นเสื้อผ้างามๆ รวมทั้งขั้นตอนการสร้างสรรค์อย่างพิถีพิถันของวงการแฟชั่นระดับสูง
เรย์โนลด์เป็นศิลปินที่มีนิสัยประหลาดไม่เหมือนใครอื่น เขาออกจะถือโชคลาง และชอบเขียนข้อความเล็กๆ เย็บติดไว้ในตะเข็บเสื้อเพื่อแก้เคล็ดให้ลูกค้าด้วย
เขาใช้ชีวิตประจำวันตามกำหนดกฎเกณฑ์และวางแผนไว้ทุกขั้นตอน เขาเกลียดสิ่งที่เข้ามาขัดจังหวะชีวิตที่จัดสรรไว้แล้วอย่างลงตัว เขาเกลียด “เซอร์ไพรส์”
และเมื่ออัลมาไม่ฟังคำแนะนำของซีริลที่คัดค้านต่อการทำเรื่องโรแมนติก “เซอร์ไพรส์” เขา ทั้งสองก็เป็นปากเป็นเสียงกัน…แบบไม่อยากเผชิญหน้า ตามนิสัยของเรย์โนลด์…แต่ก็มีความรุนแรงซ่อนเร้นอยู่ภายใต้พื้นผิวที่ดูเหมือนสงบราบเรียบ
นี่คือเรื่องราวของความขัดแย้งของคนที่มีบุคลิกเป็นของตัวเองและไม่ยอมลงให้แก่กันและกัน เวลาเดียวที่คนคู่นี้มีความสุขอยู่ด้วยกันคือในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งฝ่ายหนึ่งอ่อนแอจนต้องพึ่งพาอีกฝ่าย
และนั่นกลายเป็นความต้องการแบบวิปริตและวิปลาสของคนคู่นี้

หนังทำให้นึกไปถึงหนังและนิยายที่เคยดูหลายเรื่อง อย่างเช่น Mystery (1990 หนังทริลเลอร์สยองขวัญที่มีแคธี เบตส์ กับเจมส์ คาน เป็นตัวนำ) และ The Beguiled (นิโคล คิดแมน และคอลิน ฟาร์เรลล์)
เลสลีย์ แมนวิลล์ เล่นเป็นตัวละครที่มีอิทธิพลทอดเงาอยู่ในชีวิตของพี่ชาย และดูเหมือนจะชักใยอยู่เบื้องหลังในเรื่องชีวิตรักของเขากับสาวทุกคน ช่วงท้ายๆ ที่เรย์โนลด์ “เผชิญหน้า” อย่างกราดเกรี้ยวเป็นครั้งแรกกับเธอเป็นตอนที่มีรสมีชาติเหลือเกิน
จากปากของเจ้าตัวเอง การสร้างสรรค์บทบาทของเรย์โนลด์ วู้ดค็อก มีผลต่อการตัดสินใจเลิกอาชีพการแสดงของแดเนียล เดย์-ลูวิส ซึ่งน่าเสียดายเหลือเกิน เพราะเขากับผู้กำกับฯ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน เคยร่วมงานกันมาแล้วในหนังดีเยี่ยมเรื่องหนึ่ง คือ There Will Be Blood ซึ่งทำให้ตัวละครชื่อ แดเนียล เพลนวิว ประทับตรึงตราอยู่ในความทรงจำอย่างยากจะลบเลือน
นี่ไม่ใช่หนังที่สนุกแบบหวือหวา แต่ค่อยๆ เดินเรื่องอย่างละเมียดละไมด้วยจังหวะเนิบๆ และองค์ประกอบอันประณีตบรรจงในการสร้างสรรค์ จนต้องจับตาดูและตามเรื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่ใจร้อนอยากให้เรื่องเดินไปเร็วๆ
แม้แต่ตอนจบแบบชวนพิศวงก็ยังเป็นปริศนาให้ต้องตีความกันต่อไปอีกนาน