สุจิตต์ วงษ์เทศ/จีนค้าสำเภา เข้าทะเลอ่าวไทย ในวรรณกรรมเรื่องเจ้าลาย เมืองเพชรบุรี

เขาเจ้าลาย มีลายมือภาษาอังกฤษกำกับว่า Cholai Peak (ไม่เรียกเขานางพันธุรัต ซึ่งเป็นชื่อสมัยหลัง) ลายเส้นวาดในเรือจากทะเลชะอำ เมืองเพชรบุรี ฝีมือ H. Warington Smyth ผู้เขียนหนังสือ Five Years in Siam from 1891 to 1896 พิมพ์ครั้งแรกในนิวยอร์ก สหรัฐ 1898 (ลายเส้นฉบับพิมพ์ซ้ำ โดย White Lotus Bangkok 1994)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

จีนค้าสำเภา

เข้าทะเลอ่าวไทย

ในวรรณกรรมเรื่องเจ้าลาย เมืองเพชรบุรี

การค้าสำเภาระหว่างจีนกับรัฐน้อยใหญ่ในอุษาคเนย์ รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา บรรดานักวิชาการบอกตรงกันว่ามีหลัง พ.ศ.1500 แล้วมีมากขึ้นอย่างหนาแน่นราวหลัง พ.ศ.1700
จีนต้องการควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร ระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน จึงสนับสนุนเป็นพิเศษต่อเจ้านายสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ครอบครองกรุงศรีอยุธยา ราวหลัง พ.ศ.1900
นับแต่นั้นการค้าสำเภากับจีนมีกว้างขวาง และสร้างความมั่งคั่งกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเติบโตเป็น “ราชอาณาจักรสยาม” แห่งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
มีนิทานเกี่ยวข้องกับจีนสะท้อนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการค้าทางทะเลสมุทรรอบอ่าวไทย อย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่ มหาเภตรา, ตาม่องไล่, เจ้าอู่ถูกเนรเทศจากเมืองจีนไปสร้างอยุธยา
จะคัดตัวอย่างนิทานบอกภูมิประเทศชื่อบ้านนามเมืองในเพชรบุรีเรื่องมหาเภตรา มาเป็นตัวอย่างเรื่องเดียว ดังนี้

มหาเภตรา

แต่เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์โพ้น เวิ้งทะเลเพชรบุรีปรากฏว่ามีแต่น้ำกับฟ้านั้น ยังมีมหาเภตราสำเภาใหญ่มหึมาลำหนึ่ง ว่าเป็นเทพนิมิตด้วยฝาหอยกาบซีกหนึ่งอันลอยอยู่ตรงที่ทุกวันนี้เรียกว่าบ้านพอหอย ทางตะวันออกนั้น ได้ท่องเที่ยวอยู่กลางทะเล กว้างยาวใหญ่แต่ละด้านนับด้วยโยชน์ๆ เป็นประมาณ
ในลำเภตรานั้นมีบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาแบ่งไว้เป็นแผนกๆ มีสิงสาราสัตว์เนื้อนกต่างๆ เล่ากันว่าลำเภตรานั้นลอยอยู่ในทะเลปรากฏราวกับว่าบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนพื้นดินฉะนั้น
สินค้าในลำสำเภานั้นมีสารพัดทุกอย่าง เป็นที่จำหน่ายขายซื้อกันแต่พวกชาวเขาชาวดอน
ครั้งหนึ่งสำเภาเภตรานั้นได้แล่นผ่านมาทางน่านน้ำเหนือภูเขาลูกหนึ่ง ท้องสำเภาได้กระทบเอายอดเขาหักกระดอน น้ำพัดไปตกอยู่ที่ตำบลหนึ่งซึ่งเรียกว่าเขาพนมขวด ยังปรากฏอยู่ ณ ระหว่างเขามหาสวรรค์กับเขาหลวงทุกวันนี้ และตัวเขาเดิมนั้นเมื่อยอดหลุดไปเสียแล้วตรงกลางก็คอดลาดยาวไป เลยเรียกกันว่าเขากิ่ว กลายเป็นเขตแยกเขาพืดเดียวกันนั้นออกเป็นสองลูก เรียกว่าเขาบันไดอิฐลูกหนึ่ง จึงได้พูดกันในภายหลังว่าเขากิ่วนั้นเป็นทางเรือหรือทำสำเภาแต่นั้นมา
ฝ่ายว่ามหาเภตรานั้น ตั้งแต่วันที่ได้กระทบยอดเขามาวันนั้นก็ชำรุดแล่นไปย่านทะเลตำบลหนึ่ง ได้เอาสมอตั้งบัตรพลีบวงสรวงกัน ตำบลนั้นภายหลังจึงเรียกว่าสมอพลี นัยหนึ่งเขาเล่าว่าเมื่อบัตรพลีสมอนั้นสมอได้กระดอนปรื๋อเลื่อนลงน้ำไป ไขอรรถว่าสมอปรื๋อ คือสมอพลีนั่นเอง ชักอุทาหรณ์เทียบกับคำว่า ราชบุรี กับ ราชพฤๅ เพชรบุรี กับ เพชรพฤๅ สมอปรื๋อ เป็น สมอพลี อย่างนั้นก็ว่า
เมื่อสมอลงน้ำไปแล้ว สายสมอจดถึงพื้นทะเล เรือได้ลากสมอจนถึงย่านทะเลตำบลหนึ่ง เกาะอยู่จนเพรียงกินเรือจวนผุ สายสมอก็เก่าเสาใบทะลุปรุไปน้ำไหลเข้าลำสำเภาแล่นไป สมอหลุดจากเรือ จึงเรียกที่ตำบลนั้นในภายหลังว่าสมอหลุด คือที่บ้านหมอหลก หรือลกในทุกวันนี้ แล้วสมอนั้นน้ำพัดไปกบดานอยู่ที่พื้นอันเกือบจะเป็นหาดทะเลนั้น ครั้นจะถอนก็ไม่ขึ้น จึงเรียกที่นั้นในภายหลังว่า สมอดาน คือสมอกบดานอยู่นั้น
ฝ่ายสำเภาใหญ่นั้น เมื่อลอยไปได้สักหน่อยก็ถูกลมตะเภาเป็นพายุพัดคลื่นกระแทกเอาสำเภาทะลุ เพราะเป็นที่ตำบลร้าย น้ำเข้าท้องเรือได้ พวกลูกเรือได้ช่วยกันอุดและวิดน้ำ แล้วใช้ใบทวนกลับมาที่เรือทะลุนั้น จึงเรียกว่าบางทะลุต่อมา
สำเภาลอยมาถึงย่านทะเลตำบลหนึ่ง ถูกลมบ้าหมูพัดเอาหมุนเคว้งดังจักรหัน จะลงสมอรอเรือก็ไม่ได้ ไม่มีสมอจะลง สำเภาก็หันเหหมุนไปตามลมดูด ที่ตรงนั้นจึงเรียกภายหลังว่าตำบลหันตะเภาต่อมา
สำเภามหึมานั้นได้หมุนเคว้งไปถึงย่านทะเลแห่งหนึ่งก็จมลง ฝูงคนและสัตว์พลัดพรายพากันจมน้ำตายมากที่สำเภาจมนั้น เมื่อน้ำเริ่มลดแล้วเล่าว่ายังแลเห็นเสากระโดงโผล่อยู่ในมหาบึง เรียกกันว่าอู่ตะเภา แต่กาลนั้นมา บ้างก็เรียกว่าอุดตะเภา เพราะอุดไม่ไหวเรือจึงจม
ฝ่ายฝูงคนที่เหลือตายได้พากันว่ายและเกาะกระดานเครื่องเรือต่างๆ ไปขึ้นได้ที่เขาตำบลหนึ่ง ตั้งชุมชนบ้านเรือนอยู่ที่เขานั้น ภายหลังนิยมว่าเป็นต้นสกุลแห่งเจ้าลาย ณ เขาเจ้าลายนั้น
[นิทานอีก 2 เรื่อง อ่านได้ใน https://www.matichonweekly.com/home]