สมหมาย ปาริจฉัตต์ : บทเรียนจากเวียดนาม คำถาม 5 ข้อ (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

งานเลี้ยงมีวันเลิกรา การเดินทางมีวันสิ้นสุด นอกจากเรื่องราวการต่อสู้ฉากชีวิตจริงกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านในฮานอย โรงแรมใหญ่สูงเสียดฟ้า ศูนย์การค้าทัยสมัย รถไฟฟ้า 2 สายกำลังจะเปิดบริการ สะท้อนถึงพัฒนาการทางเศรษกิจ ความเจริญเติบโต การอยู่ดีกินดี มีฐานะมั่งคั่งขึ้น ค่านิยม พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ก้าวสู่สังคมทุนนิยมบริโภคมากขึ้นทุกวันเช่นกัน

แต่เวียดนามยังคงรักษาความมั่นคง ดำรงเสถียรภาพภายใต้ระบบการเมืองพรรคเดียว เป็นเครื่องมือในการสร้างดุลยภาพระหว่างเก่ากับใหม่ อนุรักษ์กับเสรี

ถามว่า ได้อะไรจากการเดินทางเยือนเวียดนามเที่ยวนี้ น่าเทียบเคียงกับความเป็นไปของเมืองไทยทำให้เห็นภาพชัดขึ้น

ทางการเมือง การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ครั้งที่ 12 เพิ่งผ่านไปเมื่อเดือนมกราคม 2559 เปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรี ขณะที่ในพรรค กลุ่มอนุรักษ์ยังมีบทบาทสูง ส่วนไทยกำลังก้าวไปตามโรดแม็ป การเลือกตั้งในปลายปี 2560 ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ โมเดลแม่น้ำ 5 สาย จะทอดยาวต่อไปอย่างไร ต้องติดตาม

ในทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจไทยรุกคืบเข้าไปลงทุนในเวียดนามร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจเจ้าถิ่นที่เติบใหญ่ขยายตัวมาตามลำดับ หลายสาขา การขยายตัวทางเศรษฐกิจเวียดนามปีที่ผ่านมา 6.7% ผู้นำคนใหม่ประกาศว่าจะทำให้สูงกว่านั้น ของไทยเราประมาณการปี 2559 3-3.5%

แนวทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เวียดนามให้ความสำคัญไปที่การลงนามข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) เพื่อมุ่งลดภาษีน้ำเข้าระหว่างกันที่ประธานาธิบดีโอบามา สหรัฐพยายามผลักดัน ไทยยังรีรอดูว่าผลประโยชน์ที่ได้จะเป็นอย่างไร ยังคงเน้นความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน

ในแง่อัตราการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศไปเวียดนามกับเข้ามาเมืองไทย ใครสูงกว่ากัน คงต้องดูลงไปในรายละเอียดถึงจำนวนโครงการ เม็ดเงิน ขนาดและประเภทการลงทุน เป็นไปเพื่อการบริโภคภายในหรือการส่งออก ส่งผลต่อการสร้างงาน แค่ไหน

ที่น่าสนใจการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เกาหลีเข้าไปสร้างโรงานในเวียดนามเป็นฐานผลิต ส่งออกไปตามประเทศต่างๆ รวมทั้งเมืองไทย เป็นแหล่งระบายสินค้า แหล่งบริโภค

ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไทยไปได้ดีกว่าก็ตาม เวียดนามกำลังเร่งขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านการบิน สนามบิน ถนนหนทางในประเทศเป็นการใหญ่ แต่อุปสรรคคือ วัฒนธรรมการอำนวยความสดวกแก่นักท่องเที่ยว

ตัวอย่าง การใช้บริการห้องสุขาตามร้านรวงริมทางและสถานีบริการน้ำมันมีน้อย เจ้าของไม่ค่อยยอมเพราะคิดว่าเอาของเน่า ของเสีย สิ่งไม่ดีมาทิ้งบ้านเขา

ย้อนมาถึงด้านการศึกษา น่าจะเป็นความสำเร็จของการเดินทางที่ชัดเจน หลังจากกลับมาแล้ว ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ไทย เวียดนาม 40 ปี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมฮานอยนำโดยอธิการบดีเดินทางมาลงนามข้อตกลงความร่วมมือ แลกเปลี่ยนอาจารย์ นักศึกษา เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม ดูงาน

ภาพการศึกษาไทยในสายตาของนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองโดยเฉพาะคนชั้นกลางเวียดนาม คิดว่ามหาวิทยาลัยไทยมีมาตรฐานและมีโอกาสมากกว่า ความสนใจทั้งด้านการเรียนภาษาและมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยสูงกว่านักศึกษาไทยไปเรียนเวียดนาม

สะท้อนจากที่คุณสมเกียรติ เจ้าหน้าที่เวียดนามประจำศูนย์ข้อมูลธุรกิจ สถานทูตไทยประจำกรุงฮานอย เล่า เด็กเวียดนามที่พ่อแม่รวย นิยมไปเรียนประเทศใหญ่ อเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อีกส่วนหนึ่งไปเมืองไทยโดยเฉพาะสาขาท่องเที่ยว การโรงแรม

จุดโดดเด่นของนักศึกษาเวียดนามคือ ขยัน อดทน บางสาขาเข้มแข็ง เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ล่าสุดสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า หลังจบการศึกษาระดับปริญญา ชาวเวียดนามส่วนใหญ่จะมองหาครูภาษาอังกฤษเพราะต้องการเพิ่มศักยภาพและโอกาสให้กับตัวเอง

การศึกษาพื้นฐานเดิมนักเรียนเรียนครึ่งวัน ตอนนี้มีเรียนคาบเช้า บ่ายด้วย เช้า 3 ชั่วโมง บ่าย 2 ชั่วโมงครึ่ง ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ห้องเรียนเพียงพอ

ฟังคุณสมเกียรติเล่า ทำให้ผมคิดถึง ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก ผู้บรรยายเรื่อง การใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพและการบริหารสถานศึกษา ประสบการณ์ในระดับนานาชาติ ในหลายเวที

ขอนำมาฉายซ้ำ ประกอบฉากการศึกษาไทย-เวียดนามอีกครั้ง

“การจัดอันดับทดสอบความสามารถในเวทีระดับโลก Pisa เวียดนามอยู่ในระดับ 17 ของโลก ไทยอยู่ในระดับที่ 50 กว่า และในปีหน้ากัมพูชาจะเริ่มเข้าสู่เวทีทดสอบ”

“เวียดนามขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ปี 2529 เกิดการสร้างโรงเรียนจำนวนมาก อัตราการเข้าเรียนในระดับประถมเพิ่มจาก 84% เป็น 94% ภายใน 10 ปี แต่ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากจนและห่างไกล เพราะเกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรสูง”

จนถึงปี 2544 รัฐบาลได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำด้านการศึกษาที่ทุกโรงเรียนพึงมี ขณะเดียวกันมีการพัฒนาระบบข้อมูล กำหนดเป้าหมายระยะยาว สร้างตัวชี้วัด โดยหน่วยงานกลางทุกปีและมีการสรุปผลและเปิดเผยข้อมูลให้กับสาธารณะ

ผลปรากฏว่าภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี เวียดนามสามารถลดความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรทรัพยากรและทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ปี 2552 เขตพื้นที่ที่มีเด็กเสียเปรียบ พัฒนาได้ใกล้กับมาตรฐานระดับชาติ โดยงบประมาณที่ใช้ต่อหัวน้อยกว่าของไทยเราอีก

ย้อนมาถึงประเทศไทย “เกณฑ์การจัดสรรครูของโรงเรียนของ สพฐ. ปัจจุบันมีปัญหามากโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ได้ดูว่ามีกี่ชั้นเรียน จึงพบว่าบางโรงเรียน ครู 2 คน สอน 6 ชั้นเรียน เป็นไปได้อย่างไร” ดร.ดิลกะ ทิ้งคำถาม

ครับ ไปเวียดนามเที่ยวนี้ได้แต่เยี่ยมมหาวิทยาลัย ไม่มีโอกาสไปดูการศึกษาพื้นฐานระดับโรงเรียน เลยไม่ได้ถามถึงการบ้าน 5 ข้อที่ครูเวียดนามให้กับเด็ก

1. วันนี้เธอช่วยพ่อแม่ทำงานอะไรบ้าง

2. วันนี้เธอทำความดีกับคนอื่นอย่างไรบ้าง

3. ที่บ้านเธอมีข่าวท้องถิ่นอะไรบ้างที่น่าสนใจ

4. มีข่าวการเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศเธอบ้าง

5. ในโลกของเรามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

วันนี้ครูมีการบ้านข้อใหม่ให้เด็กคิด หาคำตอบ เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่

ก๋าเอิน ฮานอย