คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “ศังกราจารย์” คือใคร? ตัวร้ายของพุทธศาสนาหรือยอดนักปรัชญาฮินดู?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา อินเดียมีข่าวใหญ่ เนื่องจากศังกราจารย์แห่งกามโกฏิปีฐัม ชเยนทรสวามี นักบวชคนสำคัญได้เสียชีวิตในวัย 82 ปี

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถ้าอธิบายอย่างเคร่งครัด พราหมณ์(ที่ไม่ใช่ในความหมายถึงวรรณะหนึ่งเท่านั้น) “ไม่ใช่นักบวช” ท่านเหล่านี้เป็น “คฤหัสถ์” คือผู้ครองเรือน มีลูกเมียได้ แต่มีกิจหน้าที่ทางศาสนา เช่นประกอบพิธีกรรม และดูแลเทวรูปในพระเทวสถาน

ส่วนนักบวชที่แท้จริงในศาสนาฮินดูเรียกว่า “สันยาสี” (แปลว่าผู้สละ) ท่านเหล่านี้สละบ้านเรือนครอบครัว ออกบวช เช่นเดียวกันกับนักบวชในศาสนาต่างๆ ของอินเดีย

แต่เมืองไทยตั้งแต่โบราณมาไม่มีสันยาสี (ในจารึกเขมรมีกล่าวถึงบ้าง) หรือมีแต่เราไม่ทราบ? เพราะฤษีต่างๆ ส่วนมากเป็นฤษีพุทธ พิธีกรรมของเราจึงใช้พราหมณ์ทำเป็นหลัก เราจึงเข้าใจว่าพราหมณ์เป็นนักบวชแบบหนึ่ง (ที่จริง “กึ่งนักบวช” น่าจะตรงที่สุด)

ส่วนคำนำหน้าสันยาสี เช่น “สวามี” “ชคัทคุรุ” “ปีฐาทีศวร” ฯลฯเป็น “สมณศักดิ์”ทางการปกครอง ที่ตั้งกันในหมู่คณะนิกายเหล่านั้น จะใหญ่เล็กแค่ไหนต้องไปลองศึกษาดู

สมณศักดิ์เหล่านี้รัฐไม่เกี่ยวนะครับ ตั้งกันเองในแต่ละนิกาย

 

นอกจากสมณะศักดิ์ทั้งหลายทางการปกครองในนิกายของตนแล้ว ยังมีสมณศักดิ์อีกประเภทหนึ่ง คือตั้งตามผู้ก่อตั้งลัทธินิกายคนแรก สมณศักดิ์เช่นนี้ จะยกให้เฉพาะผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักหรืออารามนั้น เช่น ศังกราจารย์องค์ที่ 60 มาธวาจารย์องค์ที่ 48 ฯลฯ คล้ายสมณศักดิ์ของพระสังฆปรินายกทางพุทธศาสนาฝ่ายทิเบต

การสืบทอดตำแหน่งนี้เรียกว่า “คุรุปรัมปรา” หรือตำนานการสืบสายธรรมของคุรุ ซึ่งศาสนาในอินเดียไม่ว่าจะศาสนาไหนก็ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในฮินดูและวัชรยานจึงต้องมีบทสวดเพื่อระลึกถึงการสืบสายธรรมนี้โดยเฉพาะ

การสืบคุรุปรัมปรา แบบ “สันตติ” คือไม่ขาดสายนี้ เชื่อว่าหลักธรรมคำสอนที่ส่งผ่านมาก็จะไม่ผิดเพี้ยนด้วย

บางสำนักตำแหน่งที่ว่าอาจไม่ได้มีเพียงรูปเดียว แต่มีหลายรูป เพราะเจ้าสำนักนิกายไปตั้งไว้หลายแห่งก็ได้

 

ท่านสวามีชเยนทระที่เพิ่งมรณภาพก็เป็น “ศังกราจารย์” องค์ที่ 69 แห่ง “มัฐ” หรือ อารามแห่งกามโกฏิปีฐะในเมืองกาญจีปุรัม

ครูของท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก คือท่านศังกราจารย์องค์ที่ 68 จันทรเศขรมหาสวามี ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “มหาเปริยาวาร์” แปลว่าผู้เป็นที่รักยิ่ง ท่านใช้ชีวิตเรียบง่าย ถือธุดงค์เกือบจะตลอดชีวิต และเชื่อกันว่าท่านเป็น “ชีวันมุกติ” หรือผู้หลุดพ้นในขณะที่มีชีวิตอยู่

ในปัจจุบัน ตำแหน่งศังกราจารย์ มีในสี่สำนักใหญ่ทั้งสี่ทิศของอินเดีย ซึ่งเชื่อกันว่าศังกราจารย์คนแรกไปตั้งไว้ ได้แก่ ชโยติมัฐ อยู่ ณ พัทรินาถ ทางตอนเหนือของอินเดีย ศฤงเคริมัฐ ในแคว้น กรรณาฏกะ ทางตอนใต้ กาลิกามัฐ ที่เมือง ทวารกาทางตะวันตก และ โควรธนะมัฐ ที่เมืองปุรี ทางตะวันออก

เรียกทั้งสี่อารามนี้ว่า “อามนยะ” ถือกันว่าเป็นอารามเดิมของแท้แน่นอน ส่วนสำนักอื่นๆยังคงเป็นที่ถกเถียง

ที่จริงเรื่องตำแหน่ง “ศังกราจารย์” ออกจะมีประเด็นทางการเมืองไม่เบา แต่คงยังไม่กล่าวถึงในครานี้

 

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ทางอินเดียจึงเรียกเจ้าสำนักท่านแรกว่า “อาทิศังกราจารย์” อาทิแปลว่าแรกหรือเริ่มต้น

อาทิศังกราจารย์ น่าจะมีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 7 (ยังถกเถียง)

หลักปรัชญาของศังกราจารย์เรียกว่า “อไทฺวตะ” แปลว่า “ไม่เป็นสอง” สรุปโดยย่อคือ พรหมันเป็นสิ่งจริงแท้หนึ่งเดียว โลกเป็นมายา ชีวะมิได้แตกต่างจากพรหมัน (พฺรหฺมสตฺยํ ชคนฺมิถฺยา ชีโวพฺรหฺไมวนาประ)

พรหมันที่ว่านี่มิใช่พระพรหมสี่หน้าตามเทวาลัย แต่หมายถึงตัวสัจธรรมสูงสุด ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปภาวะบุคคล เป็นภาวะนามธรรมและเป็นเนื้อแท้ของสรรพสิ่งทั้งหมด และไม่ได้หมายถึงปรมาตมันตามคติที่ได้รับอิทธิพลจากไวษณวนิกาย เพราะปรมาตมันยังมีลักษณะเป็นพระเจ้าแบบบุคคล (personal God)

ความแตกต่างหลากหลายที่ปรากฏในโลกจึงเป็นเพียงความลวง และแม้โลกนี้ก็ไม่ใช่สิ่งจริงแท้ มันเป็น “มายา” คือ ดุจภาพของงูที่ปรากฏบนขดเชือกในขณะที่มืดสลัว และหายไปเมื่อแสงสว่างปรากฏขึ้น

ชีวะ หรือชีวิตแต่ละดวงก็ไม่ได้มี “อาตมัน” (self) ที่แยกออกมาจากพรหมันหรือตัวสัจธรรมเอง การคิดว่ามีสองสิ่งแยกกันนี้ เป็นความเข้าใจผิดอันเกิดจาก “อวิทยา” (บาลี – อวิชชา) หรือความหลงผิด เพราะที่จริง ตัวตนหรือภาวะแท้มีหนึ่งเดียวเท่านั้น

ด้วยอวิทยา จึงทำให้เกิด “กามะ” หรือความปรารถนา นำไปสู่ “กรรมะ” หรือการกระทำ และนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดอันมีทุกข์ในที่สุด

งานเขียนทางปรัชญาของอาทิศังกราจารย์มีเป็นจำนวนมาก และได้รับการยอมรับในปัจจุบันว่า “แน่น” ทั้งทางตรรกะ ภาษาที่เขียน ระบบความคิดที่ซับซ้อน ชนิดที่จะหาทางโต้แย้งได้ยาก

ดังนั้นที่เราท่องๆตามตำราเรียนว่า ศาสนาฮินดูสอนว่า เราต่างมีตัวตน (อาตมัน) เล็กๆ เมื่อหลุดพ้นอาตมันที่ว่าจึงเข้าไปรวมกับ ปรมาตมันหรือตัวตนอันใหญ่ (personal God) ดุจสะเก็ดไฟเข้าไปรวมกับกองไฟ จึงเป็นเพียงทัศนะหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทัศนะทั้งหมดของฮินดู

พระเจ้าที่เรียกว่า “อีศวร” (คำนี้แปลว่า พระเจ้าเฉยๆ) นั้น ก็ปรากฏด้วยอำนาจของมายา ที่จริงแล้วมีเพียงพรหมันอันเป็นบรมคติจริงแท้หนึ่งเดียวเท่านั้น เป็นสภาวะแท้ดั้งเดิมของเรา

 

ลักษณะคำสอนเช่นนี้คล้ายคลึงพุทธศาสนามากโดยเฉพาะฝ่ายมหายาน เช่น คำสอนของนาคารชุน ทำให้โดนโจมตีทั้งจากฝ่ายพุทธศาสนาว่าทำสัทธรรมปฏิรูป หรือจากฝ่ายฮินดูเองว่าเป็นพุทธอีแอบ

ยิ่งไปกว่านั้น ศังกราจารย์ยังได้จัดระเบียบของนักบวชฮินดูเสียใหม่ เช่น การให้มีชีวิตในอาราม(มัฐ) ซึ่งแต่เดิมพระของฮินดูจะเร่ร่อนไปเรื่อยๆ การลำดับสมณฉายา ที่เรียกว่าระบบ “ทศนามี”(ระบบสิบนาม) เพื่อจะได้ทราบว่า สันยานี้องค์นั้นๆ สังกัดอารามไหน

อันนี้ชาวพุทธชอบโจมตีว่า เป็นการ “เลียนแบบ” พระภิกษุในพุทธศาสนา และทำให้ชาวพุทธสับสน ซึ่งผมเห็นต่าง เพราะแม้จะมีการห่มผ้าจีวรและปลงผมคล้ายกัน แต่สัญลักษณ์ของความเป็นฮินดูมีอยู่ทนโท่ เช่น การเจิมบนหน้าผาก หรือการมีบริขารแบบสันยาสี อย่างไม้เท้า หม้อน้ำ เขียงเท้า(ปาทุกา) เกาปินหรือ “ผ้าเตี่ยว” ที่พระภิกษุไม่ใส่กัน ชาวบ้านจะแยกไม่ได้เจียวหรือ

ผมไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่า ศังกราจารย์ไม่ได้ “ทำวิวาทะ” กับพุทธศาสนา หรือพยายามโต้แย้งกับพุทธศาสนา แต่ด้วยบริบททางสังคมในสมัยนั้น ศาสนาต่างๆพากันทำวิวาทะกันไปมาอยู่แล้ว และแม้ในศาสนาเดียวกันก็มีวิวาทะกันอยู่เสมอ เช่นพุทธฝ่ายมหายานทำวิวาทะกับฝ่ายอื่น ฮินดูก็ทำกันระหว่างนิกาย อีรุงตุงนังไปหมด

 

ที่จริงคนที่โจมตีพุทธศาสนาอย่างเปิดเผย คือ กุมาริลภัฏฏาจารย์ เจ้าสำนักมีมางสา คนร่วมสมัยกับศังกราจารย์ ซึ่งพยายามจะทำลายสำนักของอาจารย์ชาวพุทธของตัวเอง(ว่ากันว่า กุมาริลถึงขนาดแอบเข้าไปบวชเป็นภิกษุ) แต่กลับไม่ได้รับการเอ่ยถึงนัก

นักคิดฝ่ายอินเดียมักมีมุมมองต่อเรื่องนี้อีกแบบ คือคิดว่า ศังกราจารย์ พยายามที่จะ โต้แย้งและในขณะเดียวกัน ก็พยายามรวมศาสนาในอินเดียให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเราคงโต้เถียงได้ว่า ความพยายามเช่นนั้นจะมีผลอย่างไร แต่ที่แน่คือไม่ได้คิดจ้องจะทำลายพุทธศาสนาแต่ถ่ายเดียว อย่างที่ชอบสอนกัน

เสียดายที่นักปราชญ์พุทธหลายท่าน ยกให้ศังกราจารย์เป็นตัวร้ายอันดับหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาปลาสนาการไปจากอินเดีย โดยไม่สนใจการพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีหรือปัจจัยอื่นๆ ทั้งภายนอกและ “ภายใน”เอง

ขนาดบางท่านยังอ้างว่า อาทิศังกราจารย์แต่ง “ปุราณะ” บิดเบือนให้พระพุทธเจ้าเป็นองค์อวตารบ้างอะไรบ้าง โอ้ยปุราณะนี่เขียนสมัยคุปตะเกือบทั้งนั้น นั่นมันก่อนสมัยศังกราจารย์เกิดเป็นร้อยๆ ปี ศังกราจารย์คงนั่งไทม์แมชชีนไปเขียนกระมัง

ผมว่าความเกลียดกลัวศังกราจารย์ที่ผูกโยงอยู่กับการสิ้นไปของพุทธศาสนาในอินเดีย สะท้อนความกลัวภัย “ภายนอก” ของพุทธศาสนาในปัจจุบันมากกว่าอะไรอื่น ภาพของตัวร้ายหรือภัยคุกคามจากภายนอกจึงต้องเน้นให้เด่นชัด มากกว่าการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน แถมยังเป็นความเข้าใจแบบมือสอง คือฮินดูที่ผ่านมุมมองและอคติแบบพุทธศาสนามาแล้ว

เราจึงไม่เคยได้ศึกษาศาสนาของเพื่อนร่วมโลกอย่างเคารพและเปิดใจเลยซักครั้ง ต้องลากเอาอคตินำหน้าตลอด แล้วศาสนศึกษาไทยจะก้าวหน้าไปได้ยังไง

พับผ่าสิ