เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สุตตันตปิฎก (สังยุตตนิกาย – อังคุตตรนิกาย – ขุททกนิกาย)

คำบรรยายพระไตรปิฎก (4)

ย้อนอ่าน ตอน  2  1

7.สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย

– สังยุตตนิกาย คือ “สูตรรวมกลุ่ม” (มี 56 สังยุต) การจัดเนื้อหาพยายามให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเนื้อหาทำนองเดียวกันไว้ในสังยุตเดียวกัน

– พระสูตรส่วนมากสั้น ไม่มีนิทานนำเรื่องและสรุป แต่จะเน้นเนื้อหาเลยทีเดียวพฤติกรรมทางสังคม และสภาพจิตของปัจเจกบุคคล

– ข้อน่าประทับใจคือ การใช้สัญลักษณ์ หรือเปรียบเทียบได้ดี ทำให้จำได้ง่าย

– มีเรื่องเกี่ยวกับเทวดา (รวมถึง มาร พรหม) รวมอยู่ในสังยุตตนิกายเป็นส่วนมาก

– เรื่องพรหมอัญเชิญพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์โลก (ต้นเหตุการอาราธนาธรรม)

– เรื่องเทวดามากล่าวภาษิตถวายพระพุทธเจ้าต่างวาระ ต่างโอกาส น่าสังเกตคือ ทรรศนะของเทวดาส่วนมากเป็น “โลกียะ” คือไม่ต่างจากที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปมองกันส่วนพระพุทธองค์ทรงมองแบบ “อริยะ” คือ มองลึกลงไปถึงสภาพความเป็นจริง

– เรื่องมารและประเภทของมาร ที่มา “ผจญ” ผู้ทำความดี

– ได้ทราบเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้เป็นกำลังอุปถัมภ์พระพุทธองค์และพระพุทธศาสนา (นอกเหนือจากพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธรัฐ) และทราบถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของแคว้นทั้งสอง ตาม “บริบท” แห่งสังยุตตนิกายนี้

– พัฒนาการแห่งชีวิตมนุษย์ ตรัสไว้ในอินทกสูตร น่าสนใจและน่าทึ่งว่าที่ตรัสไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ตรงกับที่วิทยาการสมัยใหม่ค้นพบอย่าง น่าอัศจรรย์

– มีพระสูตรที่มีเนื้อหาน่าสนใจมาก เช่น ทำอย่างไรเมื่อถูกเขาด่า (อักโกสกสูตร), รู้ได้อย่างไรว่าพระภิกษุรูปใดเป็นพระอรหันต์ (ชฏิลสูตร), ธรรมะดุจใบไม้กำมือเดียว (สิงหปาสูตร), ภิกษุดุจหนอนรันขี้ (เอฬกสูตร), ภิกษุดุจหมาขี้เรื้อน (สิคาลกสูตร) ฯลฯ

– บางสูตรน่าจะนำมาผนวกภายหลัง เช่น แนวคิดเรื่องพระราหูอมพระอาทิตย์ และพระจันทร์ (จันทิมสูตร, สุริยสูตร)

8.สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย

– อังคุตรนิกาย ลำดับจำนวนหรือประมวลข้อธรรมจากน้อยไปมาก (มี 9,557 สูตรสั้นๆ) จัดลำดับตามจำนวนข้อธรรม เช่น ธรรมมีลักษณะเป็นหนึ่งรวมอยู่ในเอกนิบาต และดำเนินตามวิธีการของพระสารีบุตรที่จัดในสังคีติสูตร และทสุตตรสูตร

– เอตทัคคะ (ตำแหน่งความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ของพระสาวกทั้งหลายรวมอยู่ในเอกนิบาต

– มีพระสูตรสั้นๆ แทรกอยู่ด้วย เช่น เกสปุตติยสูตร (หรือกาลามสูตร ว่าด้วย “หลักแห่งความเชื่อ” ของชาวพุทธ), โรณสูตร (ว่าด้วย การร้องไห้ทางธรรมและความเป็นบ้าในทางธรรม), เกลีสูตร (ว่าด้วย การฆ่าในความหมายแห่งอริยะ), กสิสูตร (วิธีทำนาแบบพุทธะ) ฯลฯ

– จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ การอธิบายธรรมโดยอุปมาอุปไมย เช่น

– เปรียบการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ดุจชาวนาปรับพื้นนา หว่านกล้า และไขน้ำ

– เปรียบสามีภรรยา เหมือนศพอยู่กับเทพ, ศพอยู่กับศพ, เทพอยู่กับเทพ

– เปรียบคนล้มเหลวทั้งทางโลกและทางธรรม ดุจคนตาบอดสองข้าง, คนประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต แต่ไร้คุณธรรมดุจคนตาเดียว, คนประสบความสำเร็จทั้งสองทางดุจคนตาดี

– เปรียบคนไม่มีคุณธรรมเหมือนคนจน การทำชั่วเหมือนการกู้หนี้ ทำชั่วแล้วปกปิดไว้เหมือนการเสียดอก ทำชั่วถูกตำหนิเหมือนถูกทวงหนี้ ทำชั่วแล้วได้รับความร้อนใจ เหมือนลูกหนี้ถูกตามตัว ทำชั่วแล้วรับผลกรรม เหมือนคนเป็นหนี้ ถูกฟ้องร้องแล้วจำคุก

– ธรรมะที่น่าในใจพิเศษ เช่น

– ราคะ โทสะ โมหะ มีโทษมากน้อยและขจัดได้ช้าเร็วกว่ากัน

– คู่สร้างคู่สม, ความสุขของคฤหัสถ์

– บุคคล 4 ประเภท

– องค์แห่งพหูสูต

– กัลยาณมิตรธรรม

– หลักแห่งการเป็นนักการทูตที่ดี

– หลักแห่งการเป็นนักธุรกิจที่ดี

9.สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย

ขุททกนิกาย (กษุทราคม) แปลว่า หมวดเล็ก หมวดเบ็ดเตล็ด มีทั้งหมด 15 หมวดย่อยคือ

– ขุททกปาฐะ (บทสวดเล็กๆ)

– ธรรมบท (บทกวีสอนธรรม)

– อุทาน (คำเปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจ)

– อิติวุตตกะ (คำสอนประเภทอ้างอิง)

– สุตตนิบาต (ประมวลสูตรสั้นๆ)

– วิมานวัตถุ (เรื่องของเทวดา)

– เปตวัตถุ (เรื่องของเปรต)

– เถรคาถา (บทกวีของพระเถระ)

– เถรีคาถา (บทกวีของพระเถรี)

– ชาดก (เรื่องอดีตชาติของพระโพธิสัตว์)

– นิเทศ (อธิบายธรรมให้เข้าใจลึกซึ้ง)

– ปฏิสัมภิทามรรค (แนวการอธิบายธรรมเพื่อให้แตกฉาน)

– อปทาน (เรื่องอดีตพุทธ ปัจเจกพุทธ และสาวก)

– พุทธวังสะ (เรื่องอดีตพุทธ 24 องค์)

– จริยาปิฎก (พุทธจริยาของพระพุทธเจ้าในอดีต 35 เรื่อง)

เนื้อหาขุททกนิกาย

– ขุททกปาฐะ เนื้อหาซ้ำซ้อน มีอยู่ในคัมภีร์อื่นเป็นส่วนมาก เช่น มงคลสูตร รัตนสูตร กรณียสูตร มีอยู่ในสุตตนิบาตร เข้าใจว่า คัมภีร์นี้รวบรวมเข้าภายหลัง เพื่อใช้สวดพระปริตรโดยเฉพาะธรรมเนียมนำพระสูตรมาสวด เพื่อสวัสดิมงคลต่างๆ ที่ทำอยู่ในประเทศศรีลังกา

– ธรรมบท และอรรถกถาธรรมบท ในขุททกนิกาย มีเฉพาะคาถาสั้นๆ แต่มีการอธิบายและเล่านิทานประกอบในอรรถกถาธรรมบท จึงควรศึกษาควบคู่กัน และมีข้อแตกต่างที่สังเกตได้ดังนี้

– คาถา บรรยายธรรมเป็นกลางๆ เสนอพุทธปรัชญาบริสุทธิ์ แต่อรรถกถาแต่งเติมเสริมต่อ อาจเสริม หรือลดคุณค่าของพุทธปรัชญาเดิม (แล้วแต่จะมอง)

– ความเด่นของอรรถกถา อยู่ที่ให้เห็นภาพฉายเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าชัดเจนกว่าตัวคาถา

– ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของสาวก และทรงปกครองสงฆ์ฐานะ “บิดาและบุตร”

– สะท้อนภาพ “อุปัฏฐากศาลา” (โรงฉันธรรมสภา) เป็นที่ถกเถียงปัญหาธรรมต่างๆ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ช่วยชี้แนะ

– สะท้อนความแตกแยกในวงการสงฆ์และบทบาทของพระพุทธองค์และพระอัครสาวกในการประสานสามัคคีในหมู่สงฆ์

– แสดงถึงกลวิธีและเทคนิควิธีในการสอนของพระพุทธเจ้า ที่ควรศึกษา และน่าเอาไปเป็นแบบอย่าง

– ในตัวคาถาธรรมบท มีอุปมาอุปไมยชัดเจนมาก แทบไม่ต้องอธิบายก็เข้าใจได้ทันที เช่น เปรียบคนทำชั่วทุกข์ตามสนอง ดุจล้อตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียน เปรียบคนโง่ไม่รู้รสธรรม ดุจทัพพีไม่รู้รสแกง

– นิทานคนตาบอดคลำช้าง มีอยู่ในขุททกนิกาย (อปทาน) ให้แง่คิดว่าคนที่มองเห็นอะไรในแง่มุมเดียวแล้วยึดมั่นอยู่กับความเห็นนั้น ไม่ต่างอะไรกันคนตาบอด และไม่วายต้องถกเถียงและทะเลาะกับคนอื่น

– ทรงเน้นคุณธรรมสองข้อคือ หิริโอตตัปปะ ว่าเป็นธรรมะคุ้มครองโลก หากขาดธรรมะสองข้อนี้ มนุษย์จะไม่ต่างจากสัตว์ “สัตว์โลกจะไม่มีป้า น้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู จักสำส่อนไม่ต่างจากแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข จิ้งจอก” (ธัมมสูตร)

– นิยามความหมายของ “นิพพาน” ไว้ 2 ประการคือ

– สอุปทิเสสนิพพาน หมายถึง (1) ดับกิเลสได้เป็นส่วนๆ ไม่ดับหมด อันหมายถึงการดับกิเลสของพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี (2) การดับกิเลสหมดแล้ว แต่ขันธ์ยังเหลือ คือการดับกิเลสของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่

– อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง (1) การดับกิเลสโดยสิ้นเชิงของพระอรหันต์ (2) การดับขันธ์ของพระอรหันต์

– เรื่องนรกสวรรค์ พูดบ่อยมากในพระไตรปิฎก มิใช่เพียงพูดผ่านๆ จึงเชื่อว่าพระพุทธศาสนายอมรับความมีอยู่จริงแห่งนรกสวรรค์ ที่น่าสังเกตคือ

– ในแง่กายภาพ บรรยายไม่ชัดเจนว่า นรกสวรรค์มีรูปร่างลักษณะสัณฐานอย่างไร อยู่ “ที่ไหน” อย่างไร

– ในแง่นามธรรม หรือสภาวะจิต มีพระสูตรตรัสว่า นรกสวรรค์สัมผัสได้ทางอายตนะ (“ฉผัสสายตนิกนรก” และ “ฉผัสสายตนิกสวรรค์”)

– สรุปได้ว่า นรกสวรรค์ มีความหมาย 2 มิติ คือ นรกสวรรค์ทางกายภาพ และนรกสวรรค์ทางจิต

– วิมานวัตถุ กับเปตวัตถุ เป็นรายงานของพระโมคคัลลานะเกี่ยวกับบุพกรรมของเทวดาและเปรต ส่งผลให้ได้รับผลต่างๆ กัน เป็นผลงานที่เพิ่มภายหลัง เพื่อให้คนอายชั่วกลัวบาป

มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของชาวพุทธเถรวาทมาก ต้นกำเนิดวรรณคดีทำนองนี้มากมาย เช่น ไตรภูมิพระร่วงมาลัยเทวสูตร (เรื่องพระมาลัย)

– เถร – เถรีคาถา นอกจากแสดงถึงหลักธรรมที่พระเถระเถรีนั้นๆ กล่าวแล้ว ยังบอกถึงภูมิหลังของท่านเหล่านั้นด้วย มีความไพเราะกินใจมาก

(เนื้อหาบางบทได้นำมาแปลและพิมพ์เป็นเล่มแล้ว โปรดดู “บทเพลงแห่งพระอรหันต์” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก)