วิกฤติศตวรรษที่21 : การรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วของจีน สั่นไหวอำนาจไปทั้งโลก

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (12)

การรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วของจีน

สั่นไหวอำนาจไปทั้งโลก

ผู้นำจีนพยายามสร้างภาพและปลอบใจประเทศทั้งหลายถึง “การรุ่งเรืองอย่างสันติของจีน”

แต่มีประเทศจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อตามนั้น

ซึ่งเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะหากเป็นการรุ่งเรืองอย่างสันติ ก็ควรรุ่งเรืองอย่างช้าๆ คล้ายขุนเขาหิมาลัยที่สูงขึ้นเล็กน้อยในแต่ละปี เมื่อสูงถึงขีดหนึ่งแล้วก็สามารถเปลี่ยนภูมิอากาศในบริเวณนั้นทั้งหมด

แต่การรุ่งเรืองของจีนเป็นไปรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

คล้ายกับการเติบโตของต้นถั่วในนิยายเรื่อง “แจ๊กกับต้นถั่ววิเศษ” ในชั่วข้ามคืนก็โตไปจนถึงเมืองยักษ์ และทำท่าว่าจะแสดงบทบาทเป็น “แจ๊กผู้ฆ่ายักษ์” เสียอีก

ประเทศใหญ่ที่ไม่ยอมเชื่อเช่นนั้น ได้แก่สหรัฐที่วางตัวเป็นผู้จัดระเบียบโลกแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมได้มองจีนด้วยความหวาดระแวงตลอดเวลา

และพยายามขัดขวางการรุ่งเรืองนั้นตามโอกาส

ประเทศใหญ่อีกประเทศหนึ่งคืออินเดีย ที่มีกรณีพิพาทชายแดนกับจีนถึงขั้นทำสงครามชายแดน และรู้สึกว่าจีนกำลังรุกล้ำเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียที่ตนถือว่าเป็นมหาสมุทรของตน

พันธมิตรสหรัฐในภูมิภาคนี้ได้แก่ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เป็นต้น แม้ว่าจะทำการค้ากับจีนแน่นแฟ้น มีนโยบายต่างประเทศเอียงข้างสหรัฐ กำลังสร้างแกนญี่ปุ่น-อินเดีย-ออสเตรเลียเพื่อคานอิทธิพลของจีน

หลายประเทศกลุ่มอาเซียนก็ไม่ได้ไว้วางใจจีน ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากมีกรณีพิพาทชิงสิทธิเหนือเกาะปะการังในบริเวณทะเลจีนใต้

กลุ่มสหภาพยุโรปที่มีท่าทีเป็นมิตรกับจีนมากกว่าสหรัฐ เนื่องจากมีความเข้มแข็งน้อยกว่าสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้ไว้วางใจจีนเพราะว่ายุโรปก็เป็นศูนย์อำนาจโลกเสริมสหรัฐ ถูกกระทบจากการรุ่งเรืองขึ้นของจีนเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะอังกฤษที่เป็นศูนย์การเงินโลก ยุโรปพร้อมจะร่วมมือกับสหรัฐเพื่อคานอำนาจจีนในยามจำเป็นโดยใช้ข้ออ้าง เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การต่อต้านการก่อการร้าย และความเป็นธรรมทางการค้า

การสั่นไหวนี้กล่าวถึงที่สุดแล้ว เป็นการสั่นไหวต่อสหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจ ตั้งกองทหารฐานทัพของตนไว้ทั่วโลก

สถานการณ์ขณะนี้คู่ต่อสู้หลักเป็นระหว่างสหรัฐกับจีน

ประเทศอื่นแสดงบทบาทประกอบที่ขาดไม่ได้ เพราะทั้งสหรัฐและจีนไม่ได้มีอำนาจที่จะครอบงำโลก หรือแม้แต่การเสนอแผนสร้าง “กลุ่ม 2” คือแกนสหรัฐ-จีน เพื่อช่วยกันจัดระเบียบโลกก็ยากจะสำเร็จ

โลกในปัจจุบันซับซ้อนเกินไปกว่าจะทำเช่นนั้น

ศักยภาพในการปล่อยหมัดน็อกของจีน

สหรัฐยังมีเหตุผลในการระแวงและคิดปิดล้อมจีนเป็นพิเศษ

เพราะว่าขณะนี้มีจีนประเทศเดียวที่มีศักยภาพ ที่จะต่อกรกับสหรัฐโดยลำพังได้

ชาติอื่นล้วนแต่มีขนาดเศรษฐกิจและงบประมาณทางทหารต่ำกว่าของสหรัฐมาก แบบเทียบกันไม่ติด

ในปัจจุบันจีนมีขนาดเศรษฐกิจตีคู่คี่กับสหรัฐ

และถ้าคิดตามค่าเสมอภาคอำนาจการซื้อ จีนได้แซงหน้าสหรัฐไปแล้วด้วยซ้ำ ทั้งกำลังทิ้งห่างไปเรื่อยๆ เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสูงกว่าของสหรัฐหลายเท่าตัว

อนึ่ง หากคิดตามอำนาจการซื้อ รายได้ต่อหัวของชาวจีนได้สูงอยู่ในขั้นประเทศร่ำรวยแล้ว

ในด้านงบประมาณทางทหาร จีนขยับมาที่เกินแสนล้านดอลลาร์ต่อปี

ถ้าคิดตามอำนาจการซื้อก็ยิ่งเบียดใกล้ขึ้นไปอีก จีนสามารถทำลายดาวเทียมสื่อสารของสหรัฐได้

สร้างขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่สามารถโจมตีทุกที่ในโลกในเวลาอันสั้น ได้ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินออกมาประจำการเรื่อยๆ และนำเครื่องบินรบแบบล่องหนเข้าประจำการ

ในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญต่อทางเศรษฐกิจและการทหารคือปัญญาประดิษฐ์ จีนก็ไม่ได้น้อยหน้ากว่าสหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2017 รัฐบาลจีนประกาศ “แผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่” ตั้งเป้าว่าจีนจะเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้ของโลกในปี 2025

การเคลื่อนไหวนี้ก่อความกังวลแก่สหรัฐไม่น้อย

มีผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์กับความมั่นคงชาวสหรัฐบางคนชี้ว่า การท้าทายของจีนในด้านนี้เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือและเป็นไปได้

โดยในขณะนี้โปรแกรมเมอร์ของจีนได้ชนะการแข่งขันสร้างเครื่องจักรเรียนรู้ (Learning Machine) อยู่เป็นประจำ

จีนมีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ไป่ตู้ ที่ถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลก

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนซึ่งตระหนักถึงประโยชน์มหาศาลของปัญญาประดิษฐ์ที่จะใช้ได้ทั้งทางพาณิชย์และทางทหาร การสอดแนม ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ในจีนปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวาง

ที่เมืองเซินเจิ้นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน มีป้ายประกาศของตำรวจเตือนว่า “ผู้ที่ไม่ข้ามถนนบนทางข้ามจะถูกจับโดยใช้เทคโนโลยีจำใบหน้า” (ดูบทความของ Gregory C. Allen ชื่อ China”s Artificial Intelligence Strategy Poses a Credible Threat to U.S. Tech Leadership ใน cfr.org 04.12.2017)

ความจำเป็นที่จีนต้องรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไป

เมื่อจีนเริ่มปฏิรูปประเทศในสมัยเติ้งเสี่ยวผิง ได้มีแนวทางและหลักการพื้นฐานอยู่สองด้าน

ด้านหนึ่ง ได้แก่ การสร้าง “สี่ทันสมัย”

อีกด้านหนึ่ง คือการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สร้างระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนหรือระบบตลาดแบบสังคมนิยม แนวทางและหลักการนี้ได้สืบทอดต่อมาจนถึงสีจิ้นผิง ที่ (ในปี 2017) ประกาศแผนการสร้างประเทศจีนที่เป็นสังคมนิยมทันสมัยและยิ่งใหญ่ขึ้น

โดยเป็นสังคมนิยมทันสมัยระหว่างปี 2020 ถึง 2035 และเป็นสังคมนิยมทันสมัยและยิ่งใหญ่ภายในปี 2050

ในระยะแรกของการปฏิรูปนี้ จีนได้แบบจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของตนอย่างรวดเร็วหลังจากความย่อยยับจากสงคราม โดยใช้แผนรับการลงทุน เทคโนโลยีจากต่างประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมของตนที่เน้นการส่งออก

โดยจีนได้ก้าวไปอีกขั้นในการเปิดเขตเศรษฐกิจขึ้นหลายแห่ง ซึ่งทำได้สะดวก เนื่องจากความใหญ่ของประเทศและความหนาแน่นของประชากร

มี “กองทัพสำรองแรงงาน” ขนาดใหญ่ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

โดยเฉพาะทรัพยากรพลังงานและแร่ธาตุหายาก

จนกระทั่งจีนได้สมญาว่าเป็น “โรงงานโลก”

จากการพัฒนาคล้ายเป็นธรรมชาติ ฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีนได้ก่อรูปมั่นคง กลายเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จำต้องดำเนินต่อไปด้วยตนเอง

มีนักรัฐศาสตร์สหรัฐบางคนเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้ทำให้จีนจำต้องเป็น “จักรวรรดิแบบไม่เป็นทางการ” ดังที่เคยเกิดขึ้นกับอังกฤษและอเมริกันก่อนหน้านั้น (ช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19) ได้แก่ การต้องแสวงหาตลาดใหม่และโอกาสในการลงทุน

จีนกำลังประสบปัญหาใหญ่ที่ความต้องการผลผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนมีน้อยเกินไป (นั่นคือการผลิตล้นเกิน)

และมีโอกาสอย่างจำกัดในการลงทุนแบบมีกำไรงาม ภายในประเทศ จำต้องออกไปแสวงหาตลาดภายนอก ซึ่งเป็นเหตุผลักดันอย่างหนึ่งที่จีนต้องสร้างอภิโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งทางขึ้น

(ดูบทความของ Christopher Layne ชื่อ Is the United States in Decline? theamericanconservative.com 08.08.2017)

การหย่าจากดอลลาร์สหรัฐ

จีนเดินนโยบายหย่าจากดอลลาร์สหรัฐด้วยความจำเป็นสองประการ

ได้แก่ ประการแรก เกิดติดเชื้อจากวิกฤติเศรษฐกิจและความผันผวนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจหลายครั้ง

ที่เป็นครั้งใหญ่ได้แก่ วิกฤติต้มยำกุ้ง (1997) ที่เกิดจากการที่สหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดึงเงินดอลลาร์เข้าประเทศ

และที่ใหญ่กว่าในอีกสิบปีต่อมาคือวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ในปี 2008 ที่จีนต้องอัดฉีดเงินมหาศาล เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของตนและป้องกันไม่ให้คนงาน 20 ล้านคนตกงาน

จีนไม่สามารถปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะว่าหนี้สินของประเทศก็สูงขึ้นมาก ไม่สามารถทำแบบเก่าได้อีก

ความจำเป็นอีกประการหนึ่งคือ จีนมีฐานทางอุตสาหกรรมมั่นคงแล้ว ต้องการฐานการเงินที่มั่นคงด้วย ไม่เช่นนั้นจะเหมือนหายใจด้วยรูจมูกเดียว ไม่สามารถเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว

การสร้างฐานทางการเงิน มีที่สำคัญคือ การผลักดันให้เงินหยวนของจีนกลายเป็นระหว่างประเทศโดยลำดับ

ทำสัญญาโอนเงินกับหลายสิบประเทศ โดยไม่ต้องผ่านเงินดอลลาร์สหรัฐ

เงินหยวนของจีนได้แข็งแกร่งและมีบทบาททางเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นทุกที

จนในที่สุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศยอมรับฐานะเงินหยวนเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ

ประการต่อมาได้แก่ การก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังตั้งแต่กลางปี 2014

สหรัฐได้ขัดขวางไม่ให้พันธมิตรของตนเข้าร่วมโครงการนี้อย่างเต็มที่

แต่ไม่สำเร็จ

ในต้นปี 2015 อังกฤษที่เป็นพันธมิตรพิเศษของสหรัฐได้ประกาศเข้าร่วมงานในโครงการ เกิดปรากฏการณ์ “เขื่อนแตก” บรรดาพันธมิตรอเมริกาเฮโลกันเข้ามาร่วม

โครงการนี้จึงเป็นการปล่อยหมัดหนักหน่วงอีกหมัดหนึ่งของจีนต่อการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐ

การออกหมัดที่ควรกล่าวถึงได้แก่ การสร้างระบบธุรกรรมทางการเงินของตนขึ้นมา (CIPS ตุลาคม 2015) และการเปิดตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าที่ใช้เงินหยวน (2018) ที่วิเคราะห์กันว่าเป็นการโยกคลอนระบบดอลลาร์น้ำมันครั้งใหญ่

ในด้านการสู้รบทางด้านจิตวิทยาและความน่าเชื่อถือ จีนตั้งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้ากง โกลบอล เครดิต เรตติ้งขึ้นในปี 1994

ถึงปี 2012 เปิดฉากการรุกใหญ่

บริษัทต้ากงได้ร่วมทุนกับบริษัทจัดเครดิตขนาดเล็กของสหรัฐ และของรัสเซีย ตั้งเป็นกลุ่มจัดอันดับสากล สำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกงเพื่อแข่งขันกับบริษัทจัดอันดับเครดิตใหญ่ 3 แห่งของสหรัฐ ได้แก่ พิตซ์ เรตติ้งส์ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส และมูดี้ส์ ที่ครอบงำโลกอยู่

ทั้งยังชักชวนให้ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม

ในปี 2013 บริษัทนี้ได้รับการยอมรับจากตลาดหลักทรัพย์ของสหภาพยุโรป

ในเดือนมกราคม 2018 บริษัทต้ากงของจีนได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน จาก A- เป็น BBB+ ทั้งระบุด้วยว่ามีอนาคตไม่แจ่มใส อยู่ในอันดับเดียวกับประเทศเปรู โคลอมเบีย และเติร์กเมนิสถาน โดยให้เหตุผลห้าประการ ได้แก่

ก) ความบกพร่องของความสัมพันธ์และสภาพแวดล้อมทางการเมืองในสหรัฐ ก่อให้เกิดความยากลำบากอย่างยิ่งต่อการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเหมือนรถไฟตกราง

ข) สภาพแวดล้อมทางหนี้สินของสหรัฐมีลักษณะบิดเบี้ยว ละเมิดกฎแห่งมูลค่าของภาคการผลิตที่แท้จริง นำมาสู่ความสามารถในการชำระหนี้ที่ผิดปกติของสหรัฐ ทำให้ภาคการเงินของสหรัฐ ต้องขยายธุรกรรมทางสินเชื่อออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้การละเมิดกฎมูลค่ายิ่งเลวร้ายขึ้นอีก

ค) (ที่สำคัญมากคือ) การลดภาษีขนาดใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้จะลดทอนแหล่งรายได้ของรัฐบาลในการชำระหนี้ ทำให้ฐานความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลอ่อนแอลงอีก

ง) การใช้วิธีก่อหนี้เพิ่มเพื่อแก้ช่องว่างทางการคลังโดยการลดอัตราภาษี ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงทางเครดิตของรัฐบาลสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และบีบให้รัฐบาลต้องเพิ่มเพดานหนี้ให้สูงขึ้นอยู่เนืองๆ

จ) ความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นจริงของรัฐบาลสหรัฐ น่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤติการเงินครั้งต่อไป

สรุปว่า หากตลาดเงินโลกเกิดไม่ยอมรับมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลกับทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็จะเป็นพลังมหาศาลในการทำลายสายโซ่หนี้สินที่เปราะบางของรัฐบาลสหรัฐ

ประธานบริษัทต้ากงได้เคยกล่าวว่า วิกฤติการเงินโลกที่รุนแรงมากปี 2008 เกิดจากเหตุหนึ่งคือการให้เครดิตแก่เศรษฐกิจสหรัฐสูงเกินไป

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงอภิโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางที่เป็นการออกหมัดชุดใหญ่ของจีน