การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/Coco

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Coco

แผ่นหนังที่ได้มาเป็นภาษาจีน ขึ้นต้นด้วยโลโก้บริษัทหนังจีน แล้วจึงเข้าสู่เนื้อเรื่องหลัก
ตลอดทั้งเรื่องพูดภาษาอังกฤษ เหตุเกิดในเม็กซิโก เมืองผีก็เป็นเมืองผีตามขนบของเม็กซิโก ยกเว้นคำว่า Rievera บนกำแพงบ้านแล้ว ที่เหลือเป็นอักษรจีนปรากฏตามสถานที่ต่างๆ ตลอดทั้งเรื่อง รวมทั้งป้ายต่างๆ ในเมืองผีเป็นภาษาจีนด้วย
รู้ว่าเป็นหนังพิกซาร์และดิสนีย์ นั่งดูไปให้บรรยากาศคนจีนยึดบ้าน
จะว่าไป เนื้อเรื่องที่เห็นชวนให้คิดถึงเมืองจีนอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความตาย การตั้งป้ายวิญญาณ การเซ่นไหว้ด้วยวัตถุสิ่งของไปให้คนตาย ความผูกพันในครอบครัว การให้ความสำคัญสูงสุดแก่ผีบรรพบุรุษ และที่ชอบมากคือ “สะพาน”
เรื่องสะพานดอกไม้ที่คนตายใช้เดินกลับมาหาลูกหลานในวันไหว้บรรพบุรุษของเม็กซิโก ชวนให้นึกถึงพิธีกงเต็กคืนสุดท้ายตามธรรมเนียมจีน ที่นักบวชต้องสวดนำวิญญาณคนตายข้ามสะพานไปสู่ภพอื่น
เปลี่ยนตัวอักษรเป็นอักษรจีน เนื้อเรื่องมิได้เสียหาย หากจะเปลี่ยนตัวละครให้เหตุเกิดที่ประเทศจีนทั้งเรื่อง เนื้อหาคงจะยังเหมือนเดิม

เรื่องราวในการ์ตูนเกิดในวันที่เรียกว่า D?a de los Muertos ซึ่งลูกหลานจะเตรียมของเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ตายไป สำหรับบ้านริวีราก็ไม่ต่างจากบ้านอื่นๆ คือมีการตั้งรูปบรรพบุรุษที่ตายแล้วทุกๆ คนไล่ขึ้นไปตามลำดับรุ่น
ที่ชั้นบนสุดคือรูปคุณแม่ของคุณย่าทวดกำลังอุ้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งก็คือคุณย่าทวดเมื่ออายุ 3 ขวบ แต่รูปของชายที่ยืนข้างคุณแม่ของคุณย่าทวดถูกฉีกส่วนศีรษะขาดหายไป!
คุณย่าทวดวันนี้เป็นหญิงชรานั่งรถเข็นนิ่งๆ ไม่พูดจา ถัดจากคุณย่าทวดลงมายังมีย่า มีพ่อ แล้วก็มิเกล เด็กชายผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่เหมือนเออร์เนสโต้ เดอลาครูซ
ปัญหาคือตระกูลนี้เกลียดดนตรี ห้ามร้องเพลง ห้ามเล่นดนตรี และห้ามพูดถึง เหตุเพราะพ่อของคุณย่าทวดทิ้งแม่ของคุณย่าทวดไปเล่นดนตรี คนอะไรแทนที่จะรับผิดชอบภรรยาและลูกน้อยที่เพิ่งเกิด กลับทิ้งครอบครัวของตัวไปเล่นดนตรีนี่คือเหตุผลที่ อีเมลดา คุณแม่ของคุณย่าทวดฉีกใบหน้าของสามีทิ้งและสั่งห้ามลูกหลานทุกๆ รุ่นร้องเพลงหรือเล่นดนตรีอีก
หลังจากถูกสามีนักดนตรีทอดทิ้งไป อีเมลดา คุณแม่ของคุณย่าทวดหันไปเอาดีด้านการทำรองเท้าจนขึ้นชื่อ กลายเป็นอาชีพของตระกูลสืบมา มาเรื่อยๆ จนถึงมิเกล ซึ่งแม้จะอยากเล่นดนตรี แต่งานของเขาคือไปขัดรองเท้าที่จัตุรัสเดอลาครูซ ที่ซึ่งมีอนุสาวรีย์ของเออร์เนสโต้ เดอลาครูซ นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ตั้งตระหง่านเป็นสง่า


คืนนี้เป็นคืนไหว้ผี แต่จะมีงานประกวดดนตรีที่จัตุรัสเดอลาครูซด้วย มิเกลพยายามหนีออกจากบ้านไปเล่นกีตาร์ประกวด แต่ถูกคุณย่าจับได้ ทำลายกีตาร์ทิ้ง ด้วยความมุ่งมั่นมิเกลจึงบุกเข้าไปในสุสานของเออร์เนสโต้ เดอลาครูซ เพื่อขอยืมกีตาร์ของเขา นั่นทำให้เขาพบว่าที่แท้รูปภาพพ่อของคุณย่าทวดที่ฉีกขาดคือเออร์เนสโต้ เดอลาครูซนั่นเอง พวกเขาเป็นญาติกัน พรสวรรค์ด้านดนตรีของเขามาจากบรรพบุรุษนั่นเอง
แต่ด้วยอุบัติเหตุไม่คาดคิด มิเกลหลุดเข้าไปในโลกหลังความตายในคืนพบญาติ วิญญาณคนตายมากมายเดินทางออกจากเมืองผี ตรวจลงตราพาสปอร์ต ข้ามสะพานกลับมาพบลูกหลานที่สุสาน มิเกลจะได้พบผีอีเมลดา และคนอื่นๆ ทุกๆ คน อีเมลดาสั่งห้ามเขาเล่นดนตรี และพยายามที่จะส่งเขากลับโลกไปทำรองเท้า นั่นทำให้เขาต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปจนพบเออร์เนสโต้ เดอลาครูซ และนับญาติกัน
นอกจากนี้ มิเกลยังได้พบผีจรจัดนักดนตรี เฮกเตอร์ ที่กำลังจะ “ตายครั้งสุดท้าย” สลายไป เพราะไม่มีลูกหลานบนโลกจดจำเขาได้อีกแล้ว
เรื่องสนุกสนานเกิดขึ้นในช่วงหลังพร้อมๆ กับการคลี่คลายความลับแต่หนหลังของเดอลาครูซและเฮกเตอร์ รวมทั้งอดีตของอีเมลดา สนุกมาก ไปดูกัน บอกมิได้
ประเด็นที่อยากชวนคุยคือเรื่องทัศนะต่อชีวิตหลังความตาย

คนอย่างเออร์เนสโต้ทำอะไรไปจึงมีชีวิตหลังความตายแสนสมบูรณ์พูนสุขแบบที่เห็น ในขณะเดียวกันเฮกเตอร์ทำอะไรลงไปจึงมีชีวิตหลังความตายลำบากลำบน คนที่ทิ้งครอบครัวคือเมียที่ไม่มีกินและลูกสาวที่ยังเล็กไปหาความใฝ่ฝันส่วนตัวจนประสบความสำเร็จ เช่นนี้ดีหรือไม่ดี
ฆ่าคนตายแล้วไปได้ดีในเมืองผี ยอมได้อย่างไร
นอกจากนี้ เราได้เห็นแล้วว่าความตายมิใช่ที่สิ้นสุดจริง หลายความเชื่อหรือศาสนายังมีการตายครั้งสุดท้าย เฉพาะหนังเรื่องนี้กำหนดให้การตายครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อไม่มีคนบนโลกจดจำเขาได้อีกแล้ว
ในหนังยังได้พูดถึงผีที่ไม่มีคนเซ่นไหว้ พวกผีเหล่านี้ต้องไปอยู่ในสลัม กินเหล้าราคาถูก มีความเป็นอยู่ย่ำแย่เพื่อรอการตายครั้งสุดท้ายเท่านั้น เห็นเช่นนี้ชวนให้แปลกใจว่าชีวิตหลังความตายของเม็กซิโกช่างคล้ายคลึงกับชีวิตหลังความตายของจีน ดูหนังจบอยากเซ่นไหว้อากงอาม่าทุกๆ วันเลย
ทัศนะต่อชีวิตหลังความตายเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดวิธีใช้ชีวิตของคนเรา
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือเปล่า
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น จริงหรือไม่
เป็นคำถามท้าทายยุคสมัยของบ้านเราจริงๆ