เทศมองไทย : แรงงานประมงไทย ในสายตา “ไอแอลโอ”

ในช่วงเวลาที่ทางการไทยส่งคณะทำงานชุดใหญ่ภายใต้การนำของกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปชี้แจงเรื่องการดำเนินการแก้ปัญหาแรงงานประมงต่อสหภาพยุโรป (อียู) หลังจากที่ได้รับ “ใบเหลือง” มาเมื่อปี 2015 อันหมายถึงการ “เตือน” ว่าไทยอาจตกเป็นเป้าถูก “ห้ามส่งออก” สินค้าประมงและอาหารทะเลแปรรูปไปยังอียูได้หากไม่แก้ไข

ในวันที่ 8 มีนาคม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ก็เผยแพร่รายงานว่าด้วยสภาวะของแรงงานประมงไทยออกมาเหมือนกัน

สำนักข่าวเอพีบอกว่า รายงานของไอแอลโอ ใช้ชื่อรวมๆ ว่า “สิทธิจากเรือถึงชายฝั่ง” ชิ้นดังกล่าว เป็นรายงานที่เขียนขึ้นจากการวิเคราะห์ผลที่ได้จากการสำรวจโดยการสัมภาษณ์แรงงานประมงที่ทำงานอยู่กับเรือประมงสัญชาติไทย 434 คน ใน 11 จังหวัดระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนปีที่แล้ว

แรงงานดังกล่าวเป็นชาวกัมพูชา 125 คน เป็นชาวพม่า 287 คน และเป็นคนไทยอีก 22 คน มีทั้งที่ทำงานในเรือประมง และเป็นแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

บทสรุปของสำนักข่าวเอพีเกี่ยวกับรายงานชิ้นนี้ก็คือ ในสายตาของไอแอลโอ อุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย “ได้ปรับปรุงสภาพการทำงานได้ดีขึ้น” ซึ่งรวมทั้ง “การกระทำรุนแรงทางร่างกายลดน้อยลง” ด้วย

แต่ในเวลาเดียวกัน การดำเนินการของไทยในทางปฏิบัติก็ยังมี “ข้อบกพร่อง” หลงเหลืออยู่ให้เห็น

อย่างเช่น “การจ่ายเงินให้กับแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม” และ “การล่อลวง หลอกให้แรงงานทำสัญญา” ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ต่อไป

 

แกรม บักลีย์ ผู้อำนวยการไอแอลโอ ประจำประเทศไทย, กัมพูชา และลาว บอกระหว่างการแถลงข่าวเรื่องรายงานชิ้นนี้ว่า ไอแอลโออยากให้คำว่า “ความสามารถในการแข่งขัน” ในแวดวงการค้าอาหารทะเลโลก มีความหมายมากเกินกว่าคำว่า “ราคาถูก” หรือ “คุณภาพสูง” อย่างที่หลายๆ ประเทศพยายามทำอยู่

“เราอยากให้หมายความรวมไปถึงสภาพการทำงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคนในอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่ในเรือประมงเรื่อยมาจนกระทั่งถึงผู้ค้าปลีก”

ซึ่งนั่นทำให้ไอแอลโอมองการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย และในแง่ของกรอบกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาของไทย “ส่งผลให้เกิดพัฒนาการในทางบวก” ขึ้นกับแรงงานประมงไทยเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งหลังสุดของไอแอลโอ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2013 หรือเมื่อราว 5 ปีที่ผ่านมา

ไอแอลโอชี้ว่า ในปี 2013 นั้น ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า มีแรงงานประมงในเรือประมงไทยเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับเจ้าของเรือที่เป็นนายจ้าง

แต่ในการสำรวจวิจัยใหม่เมื่อปี 2017 นี้พบว่าแรงงานมีสัญญาว่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 43 เปอร์เซ็นต์

“ที่เป็นสัญญาณแสดงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาก็คือ ชนิดของการกดขี่ที่มีการรายงานเข้ามา ถึงแม้จะมีแรงงานสูงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดระบุว่าถูกกดขี่ แต่เป็นไปในรูปแบบของการรังควานและด่าทอด้วยวาจา และอีก 7 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าถูกปฏิบัติต่อด้วยความรุนแรงระหว่างการทำงานก็ตาม แต่รายงานที่ระบุถึงการทำร้ายร่างกายกลับลดลงเหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 2 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดที่สำรวจ”

รายงานของไอแอลโอระบุ

 

แต่ความก้าวหน้าในทางที่ดีก็ถูกหักกลบลบหนี้ด้วยการกดขี่ในอีกบางรูปแบบตามที่ไอแอลโอตั้งข้อสังเกตเอาไว้ คือ ” 1 ใน 3 ของแรงงานรายงานว่า ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าระดับค่าแรงขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ก่อนที่จะมีการหักชำระส่วนอื่นๆ และมีมากถึง 53 เปอร์เซ็นต์ของผู้สำรวจระบุว่า มีการหักส่วนลดออกจากเงินเดือนของตน”

นอกจากนั้น ยังคงมีหลักฐานที่แสดงถึงการ “บังคับใช้แรงงาน” อาทิ การล่อลวงมาให้เข้าทำงาน หรือให้ทำสัญญา, การยึดค่าจ้างรายเดือนเอาไว้ และ “มีพฤติกรรมการยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานประมงเอาไว้แพร่หลายกว้างขวางมากในหมู่เรือประมง” เป็นต้น

รายงานชิ้นล่าสุดของไอแอลโอ เสนอแนะต่อทางการไทยเอาไว้ว่า รัฐบาลควรกำหนดกรอบของกฎหมายให้แน่นหนาขึ้น, ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจได้ว่ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ, กำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น ในเวลาเดียวกับที่ควรจะ “ขยายทักษะของแรงงานให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้และสวัสดิการต่างๆ”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ รายงานชิ้นนี้เตือนเอาไว้ว่า การสำรวจวิจัยครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนภาพของอุตสาหกรรมประมงและการแปรรูปอาหารทะเลทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสำรวจไม่ได้ครอบคลุมถึงเรือประมงที่ออกทำประมงในน่านน้ำสากล “ซึ่งการกดขี่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง” เนื่องจากเรือประมงประเภทนี้ไม่ค่อยกลับสู่ท่าบ่อยนัก ส่วนใหญ่แรงงานที่ถูกสำรวจเป็นแรงงานเรือประมงระยะสั้น ออกทะเลไม่เกิน 30 วัน

ไอแอลโอยังตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า เรือประมงในน่านน้ำสากลทุกวันนี้ หลงเหลือที่ขึ้นทะเบียนติดธงชาติไทยเพียงไม่กี่ลำเท่านั้น!