คุยกับทูต ‘พันเอกราซา อุล ฮัซเนน’ : ผลกระทบสงครามอัฟกานิสถาน และความสำเร็จของปากีสถานในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ปากีสถานกับการดำเนินงานการทูตโดยฝ่ายทหาร (3)

ปากีสถานเป็นดินแดนมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ แต่ละประเทศที่ขนาบติดกับปากีสถานมีพื้นที่ขนาดใหญ่ทั้งนั้น พรมแดนแต่ละด้านจึงมีระยะทางยาวไกลมาก โดยเฉพาะด้านที่ติดกับอัฟกานิสถานมีความยาวที่สุดถึง 2,611 กิโลเมตร

ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานไม่ว่ายุคใดสมัยใด จึงล้วนมีความสำคัญต่อปากีสถานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ตกเป็นเหยื่อการรุกรานของประเทศมหาอำนาจ ทำให้อัฟกานิสถานต้องตกอยู่ในภาวะสงคราม ไร้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงมาโดยตลอด ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงบริเวณแนวชายแดนรวมทั้งเศรษฐกิจของปากีสถานด้วย

ปากีสถานจึงเป็นประเทศที่เจ็บปวดจากการตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายไม่น้อยกว่าประเทศใดและยังมีภัยคุกคามที่มาจากการวางแผนนอกประเทศด้วย

วันนี้ พันเอกไซยิด มูฮัมหมัด ราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Syed Muhammad Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย มาเล่าเรื่องสงครามอัฟกานิสถานและผลกระทบ รวมถึงความสำเร็จของปากีสถานในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

“สงครามในอัฟกานิสถานที่ดำเนินมานานกว่า 40 ปีแล้วนั้น สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคเป็นอย่างมาก สหรัฐอเมริกาจับมือกับปากีสถานในช่วงที่สหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถาน ในขณะนั้นสหรัฐยังมีไมตรีอันดีกับนักรบท้องถิ่นของอัฟกานิสถานคือ มูจาฮีดีน (Mujahideen) ซึ่งประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เปรียบเทียบนักรบเหล่านั้นว่า เป็นเสมือนดั่งบรรพบุรุษที่เป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชของสหรัฐอเมริกา”

สงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น เกิดขึ้นเป็นเวลาเก้าปีตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.1979 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1989 เพราะสภาพที่ยืดเยื้อของสงครามจึงมีผู้เรียกสงครามครั้งนี้ว่า “สงครามเวียดนามของสหภาพโซเวียต” (Soviet Union”s Vietnam War) และ “กับดักหมี” (Bear Trap)

“หลังจากสหรัฐอเมริกา ปากีสถานและ ขบวนการมูจาฮีดีน ได้รับชัยชนะในสงครามต่อต้านสหภาพโซเวียต สหรัฐก็ไม่ได้เหลียวแลหรือช่วยฟื้นฟูอัฟกานิสถานหลังสงครามแต่อย่างใด จึงทำให้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายเกิดขึ้นมาก เช่น ทาลิบัน (Taliban) และอัลกออิดะฮ์ หรืออัลเคดา (Al-Qaeda) ทิ้งให้ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถานต้องเผชิญกับปัญหาผู้ก่อการร้ายแต่เพียงลำพัง”

“หลังเหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถานและขอความช่วยเหลือจากปากีสถานอีกครั้ง ทั้งปากีสถานและสหรัฐได้เข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ เมื่อเกิดเหตุวางระเบิดที่อัฟกานิสถาน ซึ่งได้บานปลายจนกลายเป็นปัญหาของภูมิภาค จึงทำให้มีผู้ลี้ภัยกว่า 1 ล้านคนหลั่งไหลเข้าสู่ปากีสถานหลังจากเหตุการณ์นั้น”

“ปัจจุบัน ปากีสถานได้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันกว่า 2.7 ล้านคน และได้ต่อสู้เพื่อขับไล่กลุ่มผู้ก่อการร้ายมากว่า 16 ปี จนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ย้ายไปอยู่ทางด้านตะวันออกของอัฟกานิสถานก็พยายามที่จะก่อเหตุจลาจลในปากีสถานเมื่อมีโอกาส”

โลกยุคหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 หรือโลกยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สหรัฐได้เรียกร้องให้ประชาคมโลก ตลอดจนปากีสถานเข้าร่วมในสงครามนี้ ปากีสถานจึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่นำโดยสหรัฐ

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ปากีสถานทำการขับไล่กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้สำเร็จ

“เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในปากีสถาน ทหารปากีสถานสามารถจับเครือข่ายกลุ่มอัลกออิดะฮ์ และผู้ก่อการร้ายกลุ่มอื่น รวมทั้งได้สังหารผู้ก่อการร้ายกว่า 1,000 คน จับเข้าคุกอีก 1,100 คน และส่งตัวสมาชิกเครือข่ายอัลกออิดะฮ์ กลับประเทศอีกกว่า 600 คน ปากีสถานสูญเสียทั้งพลเมืองและกำลังทหารกว่า 72,000 คน อีกทั้งกว่า 4 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัยชั่วคราว (temporary homeless) ความเสียหายด้านสาธารณูปโภคอีกประมาณ 250 พันล้านเหรียญสหรัฐ”

“ในอดีต มีผู้ลี้ภัยและผู้ก่อการร้ายจำนวนมากเดินทางเข้ามายังปากีสถานผ่านเขตพรมแดนปากีสถานและอัฟกานิสถาน ปัจจุบัน ปากีสถานได้เข้ามาควบคุมเพื่อป้องกันชายแดนซึ่งมีความยาว 2,611 กิโลเมตรอย่างเข้มงวด และกำหนดเขตตั้งเต็นท์ให้เป็นที่พักชั่วคราวของผู้ลี้ภัย”

“ซึ่งปัจจุบันทหารปากีสถานได้เร่งสร้างรั้ว พร้อมกับป้อม ค่าย ด่านและการป้องกันอื่นๆ ตามแนวชายแดนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งนำโดรนส์ (drones) หรืออากาศยานไร้คนขับ และอุปกรณ์นำสมัยอื่นๆ เข้ามาใช้ เฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจตราความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้าย อันเป็นความพยายามที่จะลดการถูกโจมตีตามแนวพรมแดน”

 AFP PHOTO / AAMIR QURESHI

“นอกจากนี้ ยังนำเครื่องสแกนและข้อมูลทางชีวภาพ (biometrics) มาติดตั้งที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองระหว่างพรมแดนนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า ชาวอัฟกานิสถานทั่วไปจะได้รับการอำนวยความสะดวก และเป็นการป้องกันคนร้ายหรือผู้ก่อการร้ายหลบหนีเข้าเมือง สำหรับด่านตรวจคนเข้าเมืองในปากีสถานนั้นมีมากกว่า 975 ด่าน ส่วนอัฟกานิสถานมีเพียง 218 ด่าน”

“นอกจากงานทางด้านการทหารแล้ว ปากีสถานยังเน้นการพัฒนาด้านอื่นๆ ในบริเวณที่ปราศจากผู้ก่อการร้าย ได้แก่ ถนน สะพาน โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชน เช่น การสร้างงาน สร้างโอกาสให้เด็กในชุมชนได้เล่าเรียนสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การส่งเสริมให้มีนักวิชาการด้านศาสนากว่า 1,854 คนในการเขียนฟัตวา (fatwa) เพื่อต่อต้านความรุนแรง กลุ่มคนหัวรุนแรงและกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ใช้นามของศาสนาในการก่อเหตุ”

AFP PHOTO / AAMIR QURESHI

ฟัตวา หมายถึงการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นทางศาสนา หรือการทำให้สาระที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติมีความกระจ่าง

ปากีสถานกับประเด็นการส่งกลับผู้ลี้ภัยคืนถิ่น

ปากีสถานมีภาระผูกพันกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และรัฐบาลอัฟกานิสถาน เรื่องการส่งกลับผู้ลี้ภัยคืนถิ่นโดยสมัครใจไม่ใช่การบังคับ ซึ่ง UNHCR ในอัฟกานิสถานได้เน้นถึงความสำคัญของผู้ลี้ภัยที่ควรกลับประเทศด้วยความสมัครใจและอย่างสง่างาม แต่สำหรับชาวอัฟกันที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในปากีสถานมานาน เกิดความรู้สึกว่า ประเทศอัฟกานิสถานบ้านเกิดเมืองนอนได้กลายเป็นดินแดนที่พวกเขาไม่คุ้นเคยเสียแล้วและยากลำบากที่จะกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีความขัดสนแล้ว ยังไม่ปลอดภัยอีกด้วย

UNHCR ในปากีสถาน ได้อำนวยความสะดวกในการส่งผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันคืนถิ่นโดยสมัครใจและจ่ายเงิน 200 เหรียญสหรัฐแก่ผู้ลี้ภัยทุกรายเมื่อเดินทางกลับอัฟกานิสถาน โครงการผลตอบแทนโดยสมัครใจนี้ ได้ถูกระงับไปเนื่องจากเป็นฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ.2017 และกำลังเริ่มต้นอีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้

 AFP PHOTO / AAMIR QURESHI

นายฟีลิปโป กรันดี (Filippo Grandi) ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และประธานคณะกรรมการบริหาร UNHCR กล่าวในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.2017 เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปีว่า

“อย่าได้ไปขัดขวางผู้ลี้ภัย แต่ให้ไปยุติสงครามที่เป็นต้นเหตุของการลี้ภัย” (Don”t stop the refugees; stop the wars that produce them.)

 AAMIR QURESHI

ความสำคัญของสำนักงาน UNHCR ในปากีสถาน

เป็นความร่วมมือที่บรรลุถึงแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ปากีสถานยังคงเป็นเจ้าภาพให้กับผู้ลี้ภัยประมาณ 2.7 ล้านคนโดยแบ่งเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว 1.4 ล้านคน และที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีก 1.3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอัฟกานิสถานโดยอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยและตามเขตเมืองต่างๆ

อย่างไรก็ตาม พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทยกล่าวว่า

“เพื่อเป็นการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน ปากีสถานจึงมีความต้องการให้ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันในปัจจุบันกว่า 2.7 ล้านคนกลับคืนสู่อัฟกานิสถานบ้านเกิดเมืองนอนของตน เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีผู้ใดใช้ประโยชน์จากไมตรีจิตของเราไปสร้างความเสียหายในอัฟกานิสถาน”

AFP PHOTO / AAMIR QURESHI