นงนุช สิงหเดชะ/เลือกตั้ง! แล้วไงต่อ

บทความพิเศษ

นงนุช สิงหเดชะ

เลือกตั้ง! แล้วไงต่อ

ถ้าไม่เจอโรคเลื่อนอีก (ซึ่งคงไม่เลื่อน) การเลือกตั้งก็จะเป็นไปตามตารางที่กำหนดไว้ คืออย่างช้าก็ไม่เกินต้นปีหน้า ซึ่งการยืนยันมั่นเหมาะเรื่องเลือกตั้ง ก็คงช่วยลดกระแสกดดันจากม็อบที่อยากเลือกตั้งไปได้บ้าง
แต่เหนืออื่นใด คสช. คงรู้ตัวดีว่าการอยู่มานานเทียบเท่ากับ 1 วาระของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็สมควรแก่เวลาที่จะเลือกตั้ง เนื่องจากแรงกดดันจากทุกฝ่ายสูงขึ้น โดยเฉพาะจากต่างประเทศ
แต่ที่ดีใจสุดๆ ก็คงเป็นนักการเมืองทั้งหลายที่รอคอยกันมานานที่จะได้เลือกตั้งเสียที
ขณะที่นักลงทุน นักวิเคราะห์บางคน พากันมั่นหมายว่าปีหน้าจะเป็นปีทองเศรษฐกิจไทยเพราะความมั่นใจทางการเมืองจะมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง จะทำให้ประชาชนเพิ่มการจับจ่ายและบริโภค
นี่เป็นแนวคิดตามสูตรและตามกรอบของนักวิเคราะห์ที่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ในทางปฏิบัติ การเลือกตั้งจะกระตุ้นได้เพียงระยะสั้น เช่น ช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ตลาดหุ้นมักจะวิ่งขึ้นแบบบ้าเลือด
แต่จะไปได้ต่ออีกหรือไม่ก็ขึ้นกับผลเลือกตั้งที่ออกมา
หากแนวโน้มเป็นลบ เช่น ไม่มีพรรคใดชนะขาด ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ตลาดหุ้นก็จะลงได้อย่างบ้าเลือดเช่นกัน หากเกิดสุญญากาศ ตั้งรัฐบาลไม่ได้เป็นเวลานาน
การเลือกตั้งจึงอาจไม่สำคัญเท่ากับผลการเลือกตั้งและทิศทางหลังจากนั้น

การได้เลือกตั้งยังไม่ใช่การสิ้นสุดของปัญหา อย่างที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลในยุโรปเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ เยอรมนี ซึ่งเลือกตั้งไปเมื่อ 24 กันยายนปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏว่าแม้พรรครัฐบาลเดิมของนางอังเกลา แมร์เคิล จะชนะเลือกตั้งได้คะแนนมากที่สุด แต่ไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาลได้เอง จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสม
แต่เนื่องจากจุดยืนทางการเมืองที่หลากหลายและขัดแย้งกัน โดยเฉพาะจุดยืนเรื่องการเปิดรับผู้อพยพ ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ปลุกให้ลัทธิประชานิยมและฝ่ายขวาจัดกลับมาผงาด ทำให้เกิดสุญญากาศ ไม่มีรัฐบาลนานกว่า 5 เดือน โดยเพิ่งเจรจาจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเมื่อสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง
ในขณะที่เยอรมนีเพิ่งจัดตั้งรัฐบาลได้ ประเทศอิตาลีซึ่งเพิ่งเลือกตั้งไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม ก็ประสบปัญหาเดียวกันคือไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก จึงยังตั้งรัฐบาลไม่ได้

กล่าวสำหรับการเลือกตั้งของไทยครั้งที่จะถึงนี้ คงเป็นอะไรที่น่าลุ้นและน่าดูชมมากกว่าครั้งไหนๆ เพราะถึงแม้จะมีการวิเคราะห์ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ถูกออกแบบมาให้ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันสืบทอดอำนาจได้ และตัดกำลังของพรรคใหญ่เดิม (พูดให้ชัดคือพรรคเพื่อไทย) ให้มีโอกาสน้อยที่จะชนะเลือกตั้งขาดลอยพรรคเดียว แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะแต่ละซีกก็มีพรรคนอมินีของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ก็ผุดขึ้นมากจนน่าเวียนหัว
วิเคราะห์กันว่าการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเกิน 200 เก้าอี้ ซึ่งก็แปลว่าหากพรรคเดิมไม่ต้องการให้ซีก คสช. ได้เป็นนายกฯ ก็ต้องจับมือกับพรรคอื่นเพื่อให้มีเสียง 376 ที่นั่งขึ้นไป
แต่เนื่องจาก 2 พรรคใหญ่ คือเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ เป็นน้ำกับน้ำมันไปแล้ว ไม่มีทางจะหันมาญาติดีจับมือกันเฉพาะกาลเพื่อต่อต้านนายกฯ คนนอกแน่ๆ แม้ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะออกมาแนะนำให้ประชาธิปัตย์จับมือกับเพื่อไทยเพื่อสกัดรัฐบาลทหาร แต่นั่นก็เป็นเพียงแนวคิดที่ยากจะเป็นจริงในโลกของความจริง
คำแนะนำของนายพิชัย อาจเกิดขึ้นจากการไม่ได้สัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนที่เป็นฐานเสียงประชาธิปัตย์ และเผลอๆ อาจสร้างความขัดเคืองใจได้ว่าแนะนำให้ไปร่วมสังฆกรรมกับพรรคนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าประชาธิปัตย์ไปร่วมจริงก็อาจจะถูกมวลชนถลกหนังแน่
ส่วนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็พูดชัดเจนแล้วว่า ไม่มีทางจะจับมือกับพรรคเพื่อไทย ตราบใดที่เพื่อไทยยังยึดโยงกับทักษิณ ชินวัตร

ถ้าถามต่อไปว่า พรรคเพื่อไทยจะเลิกยึดโยงกับทักษิณหรือไม่ให้ทักษิณเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือไม่ เชื่อว่ายากมากที่พรรคนี้จะเลิกฟังคำสั่งจากคุณทักษิณ เพราะคุณทักษิณกลายเป็นแบรนด์ที่ขายได้ และที่สำคัญในแง่ทุนทรัพย์ คงไม่มีใครสู้คุณทักษิณได้
หากดูจากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยภายใต้คุณยิ่งลักษณ์ ชนะเลือกตั้ง ได้ 265 ที่นั่ง ตามมาด้วยประชาธิปัตย์ 159 ที่นั่ง รวมกันก็เป็น 424 เสียง
สมมุติว่าการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ทั้งสองพรรคได้คะแนนเท่าเดิม หากจับมือกันก็จะตั้งรัฐบาลได้เลย
แต่ในความเป็นจริง โอกาสที่แต่ละพรรคจะถูกพรรคใหม่ที่มีฐานคะแนนเสียงเดียวกันแย่งที่นั่งไป กลายเป็นเบี้ยหัวแตกก็สูงมาก เช่นกรณีของประชาธิปัตย์ ก็จะถูกพรรคที่ตั้งโดยกลุ่ม กปปส.เดิมแย่งคะแนนไป ส่วนเพื่อไทยก็จะถูกพรรคใหม่สายเสื้อแดง (พรรคที่ตั้งโดยกลุ่มนิติราษฎร์และกลุ่มนักธุรกิจหนุ่ม) แบ่งคะแนนออกไปเช่นกัน
กลุ่ม กปปส. นั้นแสดงจุดยืนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไป แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กลับยืนยันว่าพรรคจะไม่สนับสนุนคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น จึงน่าดูชมว่า ประชาธิปัตย์จะวางตัวเองไว้ตรงไหนหากไม่ชนะเลือกตั้ง เพราะว่าโอกาสจะชนะเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลนั้นน้อยมาก เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่อาจไม่ได้คะแนนมากพอและต้องเป็นฝ่ายค้าน
ในเมื่อรัฐบาลก็ไม่ได้เป็น และจะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยอีก สถานการณ์จึงน่าจะอึดอัดมึนงงพอสมควรสำหรับประชาธิปัตย์ เพราะความน่าจะเป็นก็คือประชาธิปัตย์อาจเป็นฝ่ายค้านร่วมกับเพื่อไทยนั่นเอง

ส่วนพรรคใหม่สายเสื้อแดง มีแนวโน้มจะร่วมสังฆกรรมกับเพื่อไทยมากกว่า ไม่ว่าจะได้เป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เพราะอาจมีจุดยืนบางอย่างร่วมกัน เช่น การแก้ไขหรือเลิกมาตรา 112
หันมาดูจุดยืนของพรรคระดับกลางๆ อย่างภูมิใจไทย ซึ่งเลือกตั้งคราวที่แล้วได้ไป 34 ที่นั่งหรืออันดับ 3 ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็ประกาศไปแล้วว่า ถ้าเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันตั้งรัฐบาล พรรคของเขาจะไปเป็นฝ่ายค้านทันที
ถ้าพรรคที่หนุน คสช. เป็นฝ่ายชนะ และทหารได้สืบทอดอำนาจต่อ แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นคือการเกิดม็อบต่อต้านด้วยข้ออ้างว่าสืบทอดอำนาจเผด็จการ ฯลฯ
แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรชนะ แล้วทำแบบเดิม คือนิรโทษกรรมทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สองพี่น้องได้กลับเมืองไทยแบบไร้ความผิด ก็จะเกิดม็อบต่อต้านเช่นกัน
การเลือกตั้งครั้งหน้า จึงอาจไม่ใช่การสิ้นสุดของปัญหา