วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (12)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่ (ต่อ)

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือ คำว่า ซย์งหนู ฉานอี๋ว์ เม่าตุ้น หรือคำอื่นๆ ของชนชาติที่มิใช่ฮั่นนี้เป็นการออกเสียงของชาวจีน โดยมิอาจรู้ได้ว่าเสียงที่แท้จริงที่ชนชาตินั้นๆ ออกเป็นเช่นไร เนื่องจากไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้สืบค้นได้อย่างชัดเจน

และก็เป็นที่รู้กันว่า การออกเสียงของชาวจีนที่มาพร้อมกับอักษรตัวเขียนนั้น คำที่เป็นตัวเขียนมักจะมีความหมายในเชิงดูถูกเหยียดหยามชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ดังจะเห็นได้จากคำว่า ซย์งหนู ที่หมายถึง ทาสผู้ดุร้าย (fierce slave) เป็นต้น

ทั้งๆ ที่ซย์งหนูเป็นชนชาติที่มีตัวอักษรเป็นของตนเอง และมีวัฒนธรรมเฉพาะตนที่ต่างไปจากชนชาติฮั่น

ที่สำคัญ เป็นชนชาติที่มีอำนาจเกรียงไกรจนตั้งตนเป็นจักรวรรดิขึ้นมาได้ และเป็นภัยคุกคามของจีนมาอย่างยาวนาน

ส่วนคำว่า วิถีที่ยิ่งใหญ่ นี้ก็คือ เต้าที่ยิ่งใหญ่ (the great Way) อันเป็นหลักคิดสำนักเต้าที่ยุคเหวินจิ่งสมาทาน (ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า) โดยเฉพาะในยุคของฮั่นเหวินตี้ ครั้นถึงยุคของฮั่นจิ่งตี้แม้จะยังสมาทานหลักคิดนี้ แต่ก็มิได้ห้ามสมาทานหลักคิดอื่น

ดังนั้น ราชสำนักของพระองค์จึงมีขุนนางที่สมาทานหลักคิดสำนักหญู (ขงจื่อ) อยู่ด้วย

 

ส่วนการเมืองในยุคที่สามของฮั่นตะวันตกนั้น เป็นยุคที่ต่อเนื่องกันของจักรพรรดิสามรัชกาลด้วยกัน คือฮั่นอู่ตี้ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.141-87) ฮั่นเจาตี้ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.87-74) และฮั่นซวนตี้ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.74-49)

เริ่มจากฮั่นอู่ตี้ที่แม้จะสืบทอดราชอำนาจต่อจากยุคเหวินจิ่งก็ตาม แต่ก็หาได้สืบทอดสิ่งต่างๆ ของยุคเหวินตี้ไม่ ตลอดเวลา 54 ปีแห่งอำนาจ ฮั่นอู่ตี้ได้อุทิศเวลากว่า 40 ปีในการทำศึกกับซย์งหนู ตลอดห้วงดังกล่าวแม้จะมีบันทึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของขุนศึกฮั่นหลายคน บันทึกถึงชัยชนะที่มีต่อซย์งหนูหลายครั้งหลายครา แต่ก็มีบางศึกที่ทัพฮั่นเป็นฝ่ายแพ้

และจนถึงที่สุดแล้วฮั่นอู่ตี้ก็ทรงรามือกับการทำศึกกับซย์งหนูในช่วงปลายรัชกาล

อย่างไรก็ตาม ต่อชนชาติอื่นฮั่นอู่ตี้ก็ทรงทำศึกด้วยเช่นกัน คือชนชาติไป่เย่ว์ทางตอนใต้ รัฐเฉาเสี่ยนที่เป็นดินแดนเกาหลีในปัจจุบัน และชนชาติเชียงที่อยู่ในดินแดนซื่อชวนและทิเบตในปัจจุบัน

เหล่านี้นับเป็นภาพสะท้อนความเป็นจักรวรรดิของฮั่นได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนโยบายภายนอกด้วยการทำศึกกับชนชาติต่างๆ แล้ว นโยบายภายในฮั่นอู่ตี้ก็ก่อปัญหาไม่น้อยเช่นกัน โดยพระองค์ทรงใช้จ่ายงบประมาณไปในการสร้างอุทยานเพื่อใช้ล่าสัตว์เป็นการส่วนพระองค์ขึ้น

อุทยานนี้มีกำแพงยาวราว 400 หลี่ (ลี้) หรือประมาณ 200 กิโลเมตรล้อมรอบ มีตำหนักที่ประทับ 70 องค์ หอสูงส่องสัตว์ 21 แห่ง ทะเลสาบจำลอง 10 แห่ง ภายในอุทยานถูกตกแต่งให้เป็นเสมือนป่าเขาธรรมชาติที่พรั่งพร้อมด้วยแมกไม้นานาพันธุ์

ซ้ำร้ายฮั่นอู่ตี้ยังต้องการมีชีวิตอมตะอีกด้วย พระองค์ทรงให้ตามหายาอายุวัฒนะไม่ต่างกับที่จักรพรรดิฉินสื่อเคยทำ ทั้งยังทำพิธีกรรมเพื่อขอพรนี้จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์บรรดามีอยู่หลายครั้ง

ครั้นทรัพย์สินในคลังเริ่มหมดลง แทนที่ฮั่นอู่ตี้จะทรงยับยั้งชั่งใจแรงปรารถนาให้เบาบางลง ก็กลับใช้วิธีหาเงินเข้าคลังผ่านนโยบายต่างๆ เช่น ผูกขาดการค้าเกลือและเหล็ก ขายตำแหน่งขุนนาง และควบคุมราคาสินค้าเพื่อมิให้พ่อค้าขึ้นราคาตามอำเภอใจ

อย่างหลังนี้พระองค์ให้ขุนนางที่ไร้ประสบการณ์ทำการกักตุนสินค้า จนทำให้บางครั้งสินค้าก็ขาดตลาด บางคราสินค้าก็ราคาสูงเกินเหตุ

นโยบายเหล่านี้นอกจากเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของฮั่นอู่ตี้แล้ว ก็ยังเพื่อเป็นกำลังบำรุงกองทัพที่กำลังทำศึกกับซย์งหนูอีกด้วย

ผลก็คือ เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยพ่อค้ากับขุนนางผ่านสินค้าราคาควบคุม ราษฎรเกิดความเดือดร้อนโดยทั่วจากราคาเกลือและเหล็กที่ถูกผูกขาดโดยรัฐ และจากข้าวหรือฝ้ายที่ถูกควบคุมราคา จนนำมาซึ่งความไม่พอใจของราษฎรในหลายพื้นที่กระทั่งเกิดการจลาจลในที่สุด

 

สถานการณ์นี้ดำรงอยู่นานกว่าที่ฮั่นอู่ตี้จะทรงตระหนักถึงความทุกข์ของราษฎร เวลาก็ล่วงไปจน ก.ค.ศ.90 พระองค์จึงสำนึกผิดด้วยการมีราชโองการวิจารณ์ตนเอง

พร้อมกันนั้นก็ให้ยกเลิกการเกณฑ์ราษฎรไปเป็นทหาร ยุติการขยายดินแดน หันมาพัฒนาการเกษตร และใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรมากขึ้น สถานการณ์เลวร้ายจึงค่อยๆ ผ่อนคลายลง

แต่สามปีต่อมาพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นประวัติศาสตร์ก็ยกย่องพระองค์เป็นจอมจักรพรรดิอู่แห่งราชวงศ์ฮั่น (ฮั่นอู่ต้าตี้) อันเป็นการยกย่องจากผลงานการขยายดินแดนของจักรวรรดิได้กว้างไกล

ผลงานนี้แม้ในด้านหนึ่งจะอ้างได้ว่าเพื่อขจัดศัตรูที่เป็นชนชาติอื่น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็กลับขจัดชนชาติอื่นที่มิใช่ศัตรูของตนด้วยเช่นกัน

การยกย่องดังกล่าวจึงสะท้อนทัศนะจักรวรรดิของจีนไปในตัว ถึงแม้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งของผลงานที่ฮั่นอู่ตี้ทรงสร้างขึ้นจะล้มเหลวก็ตาม เช่นนี้แล้วทัศนะจักรวรรดิที่ว่าจึงขัดแย้งกันในตัว

ด้วยเหตุนี้ การยกย่องดังกล่าวจึงทำให้เห็นว่า การได้มาซึ่งดินแดนอื่นที่มิใช่ของตัวถือเป็นผลงานที่ดีกว่าจนกลบผลงานที่ล้มเหลวไปได้

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังฮั่นอู่ตี้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ฮั่นตะวันตกก็กลับไปสู่ความต่อเนื่องคล้ายกับยุคเหวินจิ่งอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ยุคของฮั่นเจาตี้และฮั่นซวนตี้ เพียงแต่มิได้ถูกเรียกขานพระนามเคียงคู่กันดังเช่นเหวินจิ่งเท่านั้น

เริ่มจากฮั่นเจาตี้ที่เมื่อขึ้นครองราชย์นั้น มีพระชนมายุเพียงแปดพรรษาก็ทรงสืบทอดสิ่งที่ฮั่นอู่ตี้ได้ทำไว้ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ นั่นคือ ยังคงลดความเข้มงวดในการเกณฑ์แรงงานและการเก็บภาษีกับราษฎร และพัฒนาการผลิตในภาคเกษตรต่อไป

ที่สำคัญ พอถึง ก.ค.ศ.81 ก็ให้มีการสำรวจสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร และคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ คุณธรรม และแตกฉานในตำราจำนวน 60 คนจากทั่วจักรวรรดิให้เข้าร่วมประชุมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ จากนั้นก็นำผลจากการประชุมมาปรับนโยบายเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องๆ ไป

แต่การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปได้ไม่นาน ฮั่นเจาตี้ก็สิ้นพระชนม์ในวัย 22 พรรษา โดยจักรพรรดิองค์ต่อมาก็คือ ฮั่นซวนตี้

 

ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดินั้น ฮั่นซวนตี้ทรงมีภูมิหลังที่น่าสนใจไม่น้อย กล่าวคือ ฮั่นซวนตี้ทรงเป็นนัดดาของรัชทายาทองค์หนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งเมื่อ ก.ค.ศ.91 รัชทายาทพระองค์นี้ถูกปลงพระชนม์ และได้เป็นเหตุให้พระญาติในสายของฮั่นซวนตี้ต้องโทษ โดยโทษนี้ได้มีมาถึงฮั่นซวนตี้ในขณะที่พระองค์ยังอยู่ในวัยกุมารด้วย

แต่โชคดีที่มีพระญาติที่คอยให้ความช่วยเหลือจนรอดพ้นภัยการเมืองมาได้ แต่การรอดพ้นภัยนี้ก็ทำให้พระองค์ต้องใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน ช่วงนี้เองที่ทำให้ฮั่นซวนตี้ในวัยกุมารได้สัมผัสกับราษฎรอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น เมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้วฮั่นซวนตี้จึงเข้าพระทัยปัญหาของราษฎรเป็นอย่างดี ในรัชสมัยของพระองค์ทรงใช้แนวทางที่ว่า “เสนามาตย์มากความสามารถแล้วราษฎรจักประกอบสัมมาชีพอย่างสันติสุข”

ในรัชสมัยนี้จึงมีนโยบายปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง ยกเลิกระบบภาษีและอัตราค่าเช่านาหลวงในสมัยฮั่นอู่ตี้ และให้มีการตราและบังคับใช้กฎหมายที่โปร่งใสและยุติธรรมจนได้รับการยอมรับไปทั่ว

และยุคสมัยของพระองค์จึงได้รับการยกย่องด้วยเหตุนี้