จัตวา กลิ่นสุนทร : ปัญหาเดิมๆ ของสังคมเมือง(ใหญ่)อย่างกรุงเทพฯ

ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์สองพี่น้องเจ้าของบ้านหลังใหญ่ ระเบิดอารมณ์ออกมาคว้าขวานออกไปทุบรถยนต์ซึ่งจอดขวางประตูบ้าน แล้วยังใส่เบรกมือไว้ จนออกไปทำกิจธุระนอกบ้านไม่ได้

พยายามโทร.หาตำรวจ และอื่นๆ แต่ก็ไม่มีใครมาจัดการให้ ที่สำคัญที่สุดคือเจ้าของรถได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเกิดเหตุแล้วว่าได้ยินเสียงกดแตร แต่ยังซื้อของไม่เสร็จ

เรื่องคุณผู้หญิง ที่สื่อต่างๆ ไปเรียกเธอสองพี่น้องว่า “คุณป้า” นี่โด่งดังเป็นอย่างยิ่ง แต่บังเอิญถูกเบียดกระแทกด้วยเรื่องข่าวแย่งชิง “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ซึ่งถูก “รางวัลที่ 1” ถึง 5 ใบ เงินรางวัล 30 ล้านบาท ระหว่างครูและตำรวจแห่งเมืองกาญจน์ ซึ่งจนถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามยังดำเนินการกันอยู่ และคงต้องยืดยาวออกไปจนถึงศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

ต้องขอพูดตามประสาชาวบ้านว่ามันอะไรกันนักหนา

เสียงบประมาณแผ่นดินมากมายเพื่อทำการสืบสวนสอบสวนผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานจากฝ่ายของคุณครูที่บอกว่าซื้อแล้วทำตกหาย ในขณะฝ่ายตำรวจซึ่งเป็นผู้ครอบครองฉลากที่ถูกรางวัล และนำไปขึ้นเงิน กลับเป็นคนมีความจำไม่ดี เพราะซื้อสลากมาไม่กี่วันแต่จำไม่ได้ว่าซื้อมาจากไหน

ในขณะที่พยานฝ่ายคุณครูนั้นคล่องแคล่วแม่นยำจำได้หมดว่าซื้อมาจากไหน แล้วเอามาขายให้ครู บางคนบอกว่าได้พูดคุยกับแม่บ้านฝ่ายตำรวจ บอกว่าสามีเก็บสลากได้?

สังคมกำลังจับตารอดูว่าไอ้ที่มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับนายพลซึ่งเป็นเบอร์ 1 (ผู้บังคับการ) ระดับจังหวัด เข้ามามีส่วนเอี่ยวเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ซึ่งมีเงินรางวัลถึง 30 ล้านบาทกับเขาด้วย

เรื่องนี้อาจต้องรอดูอีกพอสมควร

 

ซึ่งไม่แตกต่างจากเรื่องของคุณป้ามือขวาน 2 พี่น้องซึ่งคงต้องรอ “กรุงเทพมหานคร” โดยท่านผู้ว่าฯ กทม. ส้มหล่น (เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับรัฐบาลซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง) ว่าจะดำเนินการล้วงควักได้ลึกไปถึงระดับไหน เพราะว่ากันว่าเฉพาะหัวหน้าเขตซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุญาตให้ก่อสร้างตลาดจำนวน 5 ตลาดรอบบ้านคุณป้ามือขวานนั้นมีจำนวนไม่น้อยคน

บางคนได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว หรือไม่ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ตำแหน่งอื่น รวมทั้งฝ่ายงานโยธาเขตก็ย่อมต้องเกี่ยวข้อง และอาจจะยังรับราชการอยู่บ้าง เอาเป็นว่าสืบสาวราวเรื่องกันให้ดี เอกสารมันต้องมีให้ตรวจสอบ

เอาจริงเอาจังกันสักครั้งก็น่าจะดี โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือ เพราะเรื่องผิดๆ ถูกๆ เรื่องผิดกฎหมายที่ช่วยกันหลบเลี่ยง ละเมิด โดยเฉพาะเทศบัญญัตินั้นมีอยู่ในทุกเขต เนื่องจากมันเป็นแหล่งผลประโยชน์ อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถทำมาหากินกันได้ง่ายๆ

ไม่เชื่อก็ลองสำรวจตรวจสอบกันดูอย่างเอาจริงเอาจังสักครั้งว่ามีการก่อสร้างที่มันถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองตามเทศบัญญัติสักเท่าไรกัน

 

ในพื้นที่ของคอลัมน์นี้ก็เคยเก็บเรื่องราวที่เป็นจริงเขียนบอกเล่าไปหลายครั้ง แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น การก่อสร้างผิดๆ ต่อเติมเอาตามอำเภอใจทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดให้พื้นที่นี้ก่อสร้างได้ไม่เกิน 4-5 ชั้น

เชื่อไหมว่าบางอาคารซัดเข้าไป 8-9 ชั้น ทำไปได้อย่างไร ผู้อำนวยการเขต งานโยธาเขต ไม่เคยรู้เรื่อง ไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยินเสียงที่ประชาชนร้องเรียนบอกกล่าวไปบ้างหรือ?

รู้เห็นแน่นอน ได้ยินแน่นอน แต่ทำหูทวนลม รู้เสียยิ่งกว่ารู้ แต่ท่านไม่ทำอะไร? ไม่แก้ไขอะไร?

เพียงเท่านี้ประชาชนซึ่งมีปัญญาก็พอจะรู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลทหารชุดนี้เข้ามาก็บอกว่า “จะมาขจัดคอร์รัปชั่น” แต่พอมีชาวบ้านร้องเรียนชี้เป้าให้ชัดเจนก็ไม่เห็นท่านทำอะไร ก็เพราะมันกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

ว่ากันว่าอีกนั่นแหละว่าตอนนี้ไม่มี “นักการเมือง” ซึ่งถูกสาดโคลนว่าคอร์รัปชั่น โกงกินบ้านเมือง บริหารบ้านเมือง มีแต่รัฐบาลที่เหาะเหินเดินอากาศแย่งชิงอำนาจประชาชนมาจากไหนก็ไม่รู้ และข้าราชการ

แต่เมื่อสถาบันหนึ่งทำการสำรวจ วิจัยกลับพบว่ามีการคอร์รัปชั่นเป็นตัวเลขที่สูงยิ่ง?

 

ปัญหาสังคมที่เกิดการกระทบกระทั่ง ประชาชนต้องปะทะกันด้วยอารมณ์ และต้องหาวิธีมาแสดงออกเพื่อฟ้องสังคมอย่างที่คุณป้า 2 ท่านนั้นอดรนทนไม่ไหว เนื่องจากได้ดำเนินการในทุกๆ ทางตามสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แม้กระทั่งการฟ้องศาลปกครอง ล้วนเกิดขึ้นจากความเห็นแก่ผลประโยชน์ของข้าราชการ เจ้าหน้าที่บ้านเมือง

การก่อสร้างอาคารตามตรอกซอกซอยซึ่งเล็กแคบสักแค่ไหนก็ยังสามารถทำได้โดยได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ผู้ลงทุนซึ่งส่วนมากเป็นคนไทยเชื้อสายจีนมักจะเที่ยวไปหาซื้อที่ดินในย่านผู้คนแออัด เล็กแคบแค่ไหนก็ไม่เคยสนใจ

ซอยเล็กๆ อัดกันเข้าไป คนแห่กันเข้ามาอยู่อาศัย มันก็เท่ากับสร้างปัญหาทุกสิ่งอย่างตั้งแต่เรื่องของสาธารณูปโภค การจราจร พื้นที่สำหรับจอดรถจนถึงคดีฉกชิงวิ่งราว สารพัดมิจฉาชีพ เมื่อปัญหาต่างๆ มากขึ้นๆ หาทางออกไม่ได้ก็ไปลงที่ยาเสพติด

เมื่อซื้อที่ดินซึ่งค่อนข้างจำกัด ทั้งๆ ที่รู้ว่าติดกับโรงเรียนเด็กๆ ติดบ้านอยู่อาศัยของผู้อื่นซึ่งเจ้าของบ้านพยายามต่อต้านกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานโยธาของเขต เพราะเขาเป็นผู้ออกแบบอาคารให้นายทุน แค่บอกว่าต้องการอาคารเท่านั้นเท่านี้ห้อง เขาจึงไม่ช่วยเหลือราษฎร?

ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยว ยอมรับว่าเหนื่อย เพราะไม่เคยเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา นอกจากความเกลียดชังจากคนทำผิด ซึ่งคิดว่ามีเงินเสียอย่าง ถึงยังไงก็ต้องขออนุญาตก่อสร้างได้อยู่แล้ว เอาแต่เพียงว่าอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ห่างไกลจากสถานีรถไฟฟ้า “บีทีเอส” สถานีแรกของฝั่งธนบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งราคาที่ดินราคาสูงขึ้นมากจนเกินจริง

แต่สงสัยว่าเราตกหล่นหลงลืมอะไรไปบ้างหรือเปล่า? ทำไมในซอยซึ่งไม่น่าจะกว้างเกิน 6 เมตร จึงสร้างอาคารสูง 8-9 ชั้นได้หรือ?

 

เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วจากธุรกิจเล็กๆ ของสองสาวน้อยที่บ้านซึ่งเริ่มต้นเป็นผู้ออกแบบแล้วจ้างผู้ผลิตที่เรียกกันว่า ซัพพลายเออร์ (Supplier) ก่อนส่งสินค้าสู่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่างๆ

ห้างสรรพสินค้าใหญ่จัดพื้นที่วางขายให้น้อยนิด แต่มีการหักอะไรๆ มากเป็นเปอร์เซ็นต์สูง ค่าแรงในบ้านเราสูงขึ้น ซัพพลายเออร์รับผลิตราคาสูงจึงต้องตั้งราคาขายสูงมาก การทำมาค้าขายเหมือนทำนาเลี้ยงนก

ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ซึ่งแต่เดิมมีนโยบายส่งเสริมผลิตภัณฑ์แบรนด์ของคนไทย คนไทยออกแบบ ได้เริ่มเปลี่ยนเป็นแบรนด์อะไรก็ได้ ที่มันขายได้ การพลิกตัวเพื่อความอยู่รอดจึงต้องส่งแบบเพื่อให้แรงงานของประเทศถูกกว่าผลิตจึงจะสามารถเดินไปบนถนนธุรกิจสายนี้ได้

ไม่แปลกใจเท่าไรนักกับการวิเคราะห์จากสื่อมวลชนระดับแนวหน้าว่าในอีกไม่นานปี คนไทยจะกลายเป็นลูกจ้าง แรงงานของประเทศในกลุ่มอาเซียน ถ้าบ้านเรายังวนเวียนแย่งชิง “ยึดอำนาจ” กันอยู่อย่างนี้ไม่มีการแก้ไขปรับปรุงนโยบายการศึกษา ซึ่งปัจจุบันการศึกษาอยู่รั้งท้ายกลุ่มประเทศที่กล่าวแล้ว

 

ไม่มีสติปัญญาลึกซึ้งมากพอจะมองเห็นไปไกลขนาดนั้น รู้แต่เพียงว่าเท่าที่ได้สัมผัสแรงงานต่างชาติทุกวันนี้ พวกเขาแทบไม่ต้องวิ่งหางาน เขาเรียกร้องต่อรองกับนายจ้างได้แล้ว แม้กระทั่งรายละเอียดเรื่องกฎหมายที่ค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยาก นายจ้างต้องเป็นฝ่ายดำเนินการให้ แรงงานไม่สามารถทำเองได้ ต้องพึ่งพาพวกนายหน้า

ต้องยอมรับว่าเฉียดใกล้ 4 ปีกับรัฐบาล “เผด็จการทหาร” ซึ่งไม่มี “ฝ่ายค้าน” เพื่อตรวจสอบการบริหารงาน ประชาชนทั่วไปเริ่มอึดอัด และกำลังนำไปสู่ความเบื่อหน่ายมากขึ้นๆ ขณะที่รัฐบาลกลับไม่เคยผ่อนปรนกับผู้ไม่เห็นด้วย และทำท่าว่าไม่อยากจะ “คืนอำนาจ” สู่การตัดสินใจของประชาชน

ปัญหามากมายกำลังพุ่งสู่รัฐบาล อย่ามองข้ามปัญหาเล็กๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นจากช่องว่างระหว่าง “ความยากจนกับมั่งคั่งร่ำรวย”

เพราะมันย่อมหนีไม่พ้นปัญหาของ “ความเป็นธรรม” ในสังคม