คำ ผกา : ฝากผีฝากไข้ไว้กับ (ผู้มี) อำนาจ

คำ ผกา

นับวันยิ่งรู้สึกว่าทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะมันเต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเองเต็มไปหมด

เช่น กรณีเปรมชัยกับเสือดำ และกระแสทวงความยุติธรรมให้เสือดำ กราฟิตี้เสือดำ

แน่นอน ประเด็นที่เข้าใจง่ายที่สุดในที่นี้คือ เปรมชัยเป็นมหาเศรษฐี เจ้าของอิตาเลียน-ไทย ดังนั้น สิ่งที่สังคมไทยจับตาคือ “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย” หรือ “คนระดับนี้ก็รอดอีกตามเคย”

อีกประเด็นที่เข้าใจง่ายคือ เสือดำ สัตว์ป่าหายาก และอาจเหลือแค่ตัวเดียว เสือที่ไร้เดียงสา ต้องมาตายด้วยน้ำมือมนุษย์ที่ไร้คุณธรรม จริยธรรม เสือไม่ควรต้องตายแบบนี้ และคนฆ่าเสือควรได้รับโทษอย่างสาสม

ฉันอาจมองโลกในแง่ร้ายเกินไป นั่นคือ อยากรู้มากว่า นอกจาก “เสือดำ” และ “ชีวิตเสือดำ” แล้ว เราเห็นความบิดเบี้ยวอะไรในสังคมไทยจากกรณีนี้บ้าง?

ถ้าเราเดือดร้อนเรื่องเสือดำตาย เราควรเดือดร้อนกับปัญหาการจัดการป่าและทรัพยากรธรรมชาติในเมืองไทยทั้งหมดไหม?

เพราะความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แบบที่ “ประชาชน” แทบไม่มีส่วนร่วมเลยนั้น สร้างวิบากกรรมไว้กับคนจำนวนมาก

ทำให้คนไร้ที่ทำกิน ทำให้คนติดคุกข้อหารุกป่า

ทำให้คนถูกจับเพราะเก็บเห็ด หาของป่า

ที่แน่ๆ ทำให้คนกลายเป็นคน “ยากจน” เพราะความเหลื่อมล้ำในการใบ้ และการเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญมากๆ อย่างป่าและที่ดิน

วิบากกรรมของคน และชีวิตของเสือดำตัวหนึ่ง วัดในแง่ของมิติทางศีลธรรม ว่าด้วยความเมตตา

เรากลับไม่รู้สึกรู้สากับชะตาชีวิตของคนเท่ากับการตายของเสือ

ฉันไม่ได้บอกว่าเปรมชัยไม่ผิด การยิงการล่าการฆ่าสัตว์สงวนไม่ผิด – เขาผิดแน่ๆ อยู่แล้ว

แต่เราเอะใจกันบ้างหรือไม่ว่า เรามั่นใจได้อย่างไรว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้มีอิทธิพล คนใหญ่คนโต ได้เข้าไปในป่าสงวนฯ ไปในอุทยานฯ และได้รับการอำนวยความสะดวกให้ล่าสัตว์ตั้งแคมป์?

ป่าสงวนฯ อุทยานฯ ทั่วประเทศไทย สื่อมวลชน เอ็นจีโอด้านป่าด้านสัตว์ตามไปเฝ้าได้ทั้งหมดหรือว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ “ปล่อย” ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

ไม่มีใครรู้ว่ามีหรือไม่มี

แต่ก็ไม่มีอะไรให้เรารู้สึกว่า กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่มีอยู่ จะถูกนำไปบังคับใช้อย่างซื่อตรง

มากไปกว่านั้น คนที่ห่วงเสือดำ ห่วงเรื่องคนรวยจะไม่ติดคุก เคยตั้งคำถามบ้างหรือไม่ว่า ด้วยระบบการดูแลป่าอย่างที่เราเป็นอยู่ ทำไมป่าเราเหลือน้อยลงเรื่อยๆ และทำไมสัตว์ป่าเราเหลือน้อยลงเรื่อยๆ

ในขณะที่หลายประเทศที่มีอุตสาหกรรมป่าไม้ มีการตัดไม้ในป่ามาใช้งานได้อย่างถูกกฎหมาย มีการล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหารอย่างสามัญธรรมดา กลับมีพื้นที่ป่ามากกว่าเรา และมีปัญหาประชากรสัตว์ป่าอย่างกวาง หมูป่า มากเกินไป

ถ้าความสนใจต่อเรื่องเสือดำจบลงตรงที่ เปรมชัยติดคุก แล้วเราก็ฟินแล้ว เสือดำไม่ตายฟรีแล้ว แต่กลไกการจัดการป่าและทรัพยากรของเราเป็นเหมือนเดิม – สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คงมีเสือ มีสัตว์อะไรถูกล่าถูกฆ่าสูญพันธุ์ไป แต่ก็ไม่เป็นไรตราบเท่าที่เราไม่รู้

เพราะทุกวันนี้เราก็ใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่นึกไม่ออกเหมือนกันว่า จะมีเสือดำหนึ่งตัวหรือร้อยตัว มันจะทำให้ชีวิตเราเหมือนหรือไม่เหมือนเดิมอย่างไร?

นี่คือความฉาบฉวยของเรา

คนในเมืองที่ไม่รู้จักป่า ไม่รู้จักสัตว์ป่า มีแต่ความดราม่า สงสารชีวิตสัตว์ บาปกรรมกันไปวันๆ (คนที่ดราม่าสงสารสัตว์ อาจเป็นคนจำพวกเดียวกับคนที่ชอบปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า จนระบบนิเวศน์สัตว์น้ำพังพินาศอีกด้วยซ้ำ ถ้าคิดว่าการฆ่าสัตว์บาป การทำระบบนิเวศน์สัตว์น้ำพังก็น่าจะบาปมาก)

ความฉาบฉวยในที่นี้คืออะไร?

ฉันคิดว่า เรามักคิดว่าการอนุรักษ์รักษาป่ากับสัตว์ป่าคือการทำอะไรก็ได้ ป่าและสัตว์ป่าตรงนั้นคงสภาพไร้การรบกวนโดยสิ้นเชิง

และการปกปักรักษาป่านี้ทำได้ด้วยอำนาจรัฐแบบเข้มๆ บทลงโทษแรงๆ คือการมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเฝ้ายามไว้ไม่ให้ใครเข้าไปได้

พูดง่ายๆ คือ เราเชื่อว่าการรักษาป่า คือการเฝ้า คือความเข้มงวด คือบทลงโทษ

แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่สนใจจะรู้คือ ป่าในประเทศไทยมีกี่ประเภท เป็นป่าในระดับที่ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาดกี่ผืน ในบรรดาป่าทั้งหมดนี้ ควรออกแบบการดูแล ใช้สอย ให้แตกต่างออกไปอย่างไร?

เช่น ป่าบางชนิด ควรเป็นป่าที่ประชาชนเข้าไปใช้สอย ขุดหน่อไม้ ตัดต้นไม้ เก็บสมุนไพร หาเห็ด ตกปลา

หรือแม้กระทั่งล่าสัตว์บางชนิดมาเป็นอาหารได้

เราควรรู้ว่า ป่าเสื่อมโทรมทั้งหมด ที่หมดสภาพป่า เป็นไร่ข้าวโพด หรืออะไร ควรได้รับการออกแบบใหม่จากนักวิชาการป่าไม้ว่า

ทางเลือกของการฟื้นฟูป่าเหล่านี้ต้องทำอย่างไร เช่น ควรเปลี่ยนไปทำสวนป่า เพื่อตัดไม้ป้อนอุตสาหกรรม และตลาดในอนาคตได้หรือไม่

ปล่อยที่ดินให้เกษตรกรทำสวนป่า ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร

รัฐจะอุดหนุนให้ความช่วยเหลือเรื่องรายได้ของเกษตรกรที่ช่วยรื้อฟื้นป่าเหล่านี้ขึ้นมาอย่างไร?

จะลงไปจัดการป่าให้ละเอียดลออ และไม่แยกป่าออกจากคน เช่น นอกจากป่าอนุรักษ์ชนิดเปราะบางที่สุดห้ามคนเข้า เราควรมีป่าที่คนเข้าไปอยู่ใกล้ๆ ได้

ป่าที่นอกจากเข้าไปหาอยู่หากิน ยังเป็นป่าที่เข้าไปเดินเล่น ไปศึกษาธรรมชาติ ไปพักผ่อน

ถามว่า เราสามารถคืนป่ากลับมาให้ประชาชนได้ใกล้ชิด ใช้สอยได้บ้างหรือไม่?

สําหรับคนไทย มักคิดว่า ป่าคือ ต้องอยู่ใน “ป่า” ทั้งๆ ที่ในหลายประเทศ เมืองกับป่าไม่ได้แยกจากกัน ป่าสามารถสถิตอยู่ใจกลางเมืองหลวงได้ หรืออยู่ใกล้เมืองในระยะที่นั่งรถเมล์ไปเที่ยวได้ หรือปั่นจักรยานไปเดินป่าได้

แต่สำหรับคนไทย ป่าในจินตนาการของเราคือสถานที่อันไกลโพ้น มีสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์อยู่ มีความลึกลับน่าค้นหา มีความอันตราย น่ากลัว และน่าค้นหาในเวลาเดียวกัน และมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยเฝ้า

การมองป่าเช่นนี้ คล้ายกับความเข้าใจของคนไทยต่อทุกๆ เรื่อง

นั่นคือ คนไทยไม่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของอะไรในประเทศนี้เลย แต่คือคนที่อาศัยอยู่ในที่แห่งหนึ่งภายใต้การดูแลของรัฐบาลและราชการ

บางทีฉันก็คิดว่า ชะรอยคนไทยจะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐนั้นเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูประจำชั้น เวลามีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เราจะฟ้องครู

และสิ่งที่เราอยากเห็นคือ อยากเห็นคนที่เราคิดว่าเขาทำผิด ถูกครูลงโทษให้หนักๆ ถูกไล่ออกยิ่งดี และเราก็มีความปราถนาแค่อยากได้ครูเฮี้ยบๆ เด็ดขาด พูดจริงทำจริง ลงโทษคนผิดได้จริง เท่านั้นเอง

เราไม่เคยคิดว่า เราจะเป็นอะไรนอกจากนักเรียนที่เจออะไรอันเราไม่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เราก็จะกระจองอแงไปเรื่อยๆ

แต่ไม่คิดว่า ความไม่ถูกต้องไม่อาจแก้ไขได้ด้วยไม้เรียว กับอำนาจของครู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้านี่ไม่ใช่โรงเรียน

ดังนั้น ในกรณีของเปรมชัย เราจึงเห็นอารมณ์คนแค่อยากเห็นเปรมชัยติดคุก หรือถูกลงโทษหนักๆ

แต่ไม่มีใครคิดว่า เออ…การจัดการป่าของเรามีปัญหา การรวมศูนย์อำนาจและการทุกอย่างไว้ในมือกรมป่าไม้และข้าราชการคือปัญหา

สุดท้าย ไม่มีใครคิดว่าที่มาของทุกปัญหาในสังคมไทยคือเรื่องการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองตนเอง ในการบริหารประเทศ ในการออกกฎหมาย ในการบังคับใช้กฎหมาย

เวลาที่เราบอกว่า เราไม่เชื่อกระบวนการทำงานของตำรวจ เราก็จะคิดว่า ถ้าแทนที่ตำรวจเลวด้วยตำรวจดี ทุกอย่างต้องดีขึ้นแน่ๆ

แต่เราไม่คิดว่า ความอุ้ยอ้ายของหน่วยงานราชการทั้งหมดในประเทศไทยคือปัญหา และด้วยโครงสร้างแบบนี้ต่อให้มีคนดีเข้าไปเป็นตำรวจอีกสักแสนคน คนดีเหล่านั้นก็คงดีต่อไปไม่ได้ เพราะระบบมันเป็นเช่นนี้ มันเป็นระบบที่ทำให้การธำรงไว้ซึ่งความถูกต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปแทบไม่ได้

ตลกกว่านั้น เมื่อการปรากฏตัวของภาพกราฟิตี้เสือดำโผล่ที่ตรงนั้นตรงนี้เท่าๆ กับที่มันถูกลบตรงนั้นตรงนี้เหมือนเกมแมวไล่จับหนู ฉันก็อยากรู้ว่า เรื่องราวแบบนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ป่านนี้คงกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก ขี้ข้านายทุน มีการออกมาเดินเพื่อเสือเหนือจรดใต้ เรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลด้วยการลาออกของหัวหน้ารัฐบาลไปแล้ว แต่ภายใต้รัฐบาลพิเศษเช่นนี้ เหล่านี้ไม่ใช่การทุจริตจากนักการเมือง และถึงเวลาหรือยังที่เราจะตระหนักว่า มากไปกว่าการเรียกร้อง ให้คนผิดถูกลงโทษ เราที่เป็นประชาชนต้องเลิกทำตัวเป็นเด็กนักเรียนขี้ฟ้องงอแง และเฝ้าแต่คิดว่าจะหาคนดีที่ไหนมาเป็นครูใหญ่

แต่เราต้องยอมรับความจริงกันได้แล้วว่า สารพัดปัญหาการคอร์รัปชั่น ฉ้อฉล การบริหารประเทศที่เหมือนประชาชนเป็นสิ่งมีชีวิตกินหญ้าแทนข้าวนั้นจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มได้รับการแก้ไขก็ต่อเมื่อประชาชนได้เป็นผู้บริหารจัดการประเทศนี้ด้วยตนเอง

สิ่งที่ประเทศไทยต้องการโดยเร็วคือ ประชาธิปไตย – คนไทยต้องตระหนักว่าตนเองเป็นเจ้าของและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นมนุษย์ที่โตเต็มวัยเต็มคน ดูแลตนเองได้ วางแผนชีวิตให้ตนเองได้

ถัดจากนั้นเมื่อมีประชาธิปไตยแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยต้องการคือการปฏิรูประบบราชการ และการกระจายอำนาจ เปลี่ยนระบบราชการอันเทอะทะใหญ่โต อุ้ยอ้าย จนทำให้เกิดช่องทางของการคอร์รัปชั่นเต็มไปหมด จากการมีอำนาจดุลพินิจ และแม้กระทั่งการออกแบบโครงการต่างๆ เพื่อให้มีโอกาสในการคอร์รัปชั่น

และอย่าลืมว่าการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองยังไงก็ต้องให้ผลประโยชน์ตกหล่นสู่ฐานเสียงของตนเองบ้าง

แต่การคอร์รัปชั่นในระบบราชการนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาวบ้านฐานเสียงที่ไหน แถมยังอยู่ยาวจนเกษียณ ในขณะที่นักการเมืองอยู่แค่ 4 ปี หากไม่สามารถกระจายผลประโยชน์ลงสู่ฐานเสียงหรือพื้นที่ของตนได้

ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมระบบราชการแบบที่เป็นอยู่ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะระบบอุปถัมภ์แบบลูกขุนพลอยพยัก ประจบสอพลอ น้องใคร นายใคร ปกป้องกันไปมา ผิดไม่เป็นตามผิด ถูกไม่เป็นตามถูก เกิดระบบเส้นสาย อภิสิทธิ์ งานในความรับผิดชอบไม่ทำ วันๆ เดินตามรับใช้นาย ท้ายที่สุดมันก็คือการคอร์รัปชั่น

ซึ่งทางออกของปัญหานี้คงไม่สามารถแก้ได้ด้วยการสอบวิชาคุณธรรมก่อนเข้ารับราชการหรือเอาไปฟังธรรมะแปดโมงเช้าทุกวันก่อนทำงาน ทางออกของปัญหานี้มีแค่ต้องกระจายอำนาจ ย่อยทุกอย่างลงไป ให้ท้องถิ่นจัดการ และลดขนาดของระบบราชการให้เล็กลง

อย่าบอกว่า ท้องถิ่นนั่นแหละตัวดี ตัวโกง ตัวคอร์รัปชั่น ชาวบ้านยิ่งเป็นเหยื่อเจ้าพ่อ นักเลง นักการเมืองท้องถิ่นได้ง่ายๆ

คำตอบของฉันคือ ก็ให้ชาวบ้านเขารับผิดชอบตัวเอง เขาจะอยู่กับคนโกงๆ ก็ท้องถิ่นเขา ถ้าเขาทนได้ มันก็เฉพาะพื้นที่นั้น แต่อย่างน้อย ในความเล็กของมัน การตรวจสอบจะรู้เช่นเห็นชาติกันง่าย ไม่ซับซ้อน ชนิดที่ลองดูกันไปสิว่า การทุจริตเงินคนจนจะไปจบที่ไหนในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ของระบบราชการที่สามารถถ่วงเรื่องไว้ตรงนั้น พักเรื่องไว้ตรงนี้ รอการสอบปากคำ สอบเอกสารกันเรื่อยไป จนท้ายที่สุด เราประชาชนนั่นแหละจะลืมกันไปเอง

อย่างเรื่องป่า เรื่องเสือ นอกจากอยากเห็นเจ้าสัวติดคุก กล้าไหมว่า ผืนป่า ผืนดิน ท้องน้ำ อากาศ แร่ธาตุ ควรใจกล้าๆ ให้ท้องถิ่นดูแลจัดการ ออกกฎหมายกันเองได้แล้ว โดยกระทรวงดูแลแค่แนวนโยบายหลัก แต่ในรายละเอียดต้องให้ท้องถิ่นออกแบบเอง

เพราะนี่คือการแก้ปัญหาในระยะยาวจริงๆ

เมื่อไหร่เราจะโตพอที่จะคิดได้ว่าเราไม่ใช่นักเรียน ประเทศไม่ใช่โรงเรียน รัฐและราชการไม่ใช่ครูประจำชั้น รัฐไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเราแบบครูดูแลนักเรียน คอยกวดจับนักเรียนเกเรมาลงโทษ

แต่ประเทศชาติมันจะขับเคลื่อนอย่างเป็นธรรม ความยุติธรรมจะบังเกิดได้ด้วยเงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือ เราตระหนักว่า เราคือผู้ขับเคลื่อนประเทศและสังคม

รัฐบาลคือตัวแทนของเรา

ข้าราชการคือคนที่กินเงินเดือนจากภาษีเรา

เรามีสิทธิที่จะออกแบบให้เขาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

การเรียกร้องการทำงานจากพวกเขาไม่ใช่การไปเพิ่มอำนาจให้เขาจนล้นพ้น แล้วบอกว่า ช่วยใช้อำนาจล้นพ้นนั้นปกปักรักษาคุ้มครองประชาชนตาดำๆ อย่างเราด้วย

เปรมชัย ลูกกระทิงแดง เสือดำ ชัยภูมิ ป่าแส สามัญชนที่ล้มตาย สูญหายไปโดยอำนาจมืด

เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน

ไม่ใช่เรื่องตำรวจห่วย คนรวยไม่ติดคุก แต่เป็นเรื่องการหายไปของอำนาจประชาชนในการปกครองตนเอง

แต่ที่มันยอกย้อนน่าเวียนหัวที่สุดคือ คนไทยอย่างเราๆ กลัวที่สุดคือกลัวประชาชนได้ดูแลตัวเอง