นงนุช สิงหเดชะ/ไทยแลนด์ใจดี (เกินไปไหม) ‘ชาติแรก’ นำเข้าลูกพีช-ปลา ‘ฟุคุชิมา’

บทความพิเศษ

นงนุช สิงหเดชะ

ไทยแลนด์ใจดี (เกินไปไหม)

‘ชาติแรก’ นำเข้าลูกพีช-ปลา ‘ฟุคุชิมา’

หากไม่คิดมากก็คงไม่สะดุดใจกับข่าวที่ประเทศไทยเป็นชาติแรกที่นำเข้าปลาจากจังหวัดฟุคุชิมา ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จนเกิดสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2554
หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ของญี่ปุ่น เป็นผู้เสนอข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยพาดหัวข่าวว่า “ไทยเป็นชาติแรกที่นำเข้าปลาจากฟุคุชิมานับจากเดือนมีนาคม 2554”
ซึ่งในทางกลับกันก็ทำให้เป็นครั้งแรกเช่นกันที่จังหวัดนี้สามารถส่งออกปลาไปจำหน่ายต่างประเทศได้
ตามข่าวบอกว่าปริมาณปลาล็อตแรกที่ไทยนำเข้ามีจำนวน 110 กิโลกรัม จากท่าเรือโซมะ (ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 50 กว่ากิโลเมตร) ซึ่งจะจัดส่งให้กับร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่งในกรุงเทพฯ
โดยผู้ส่งออกยืนยันว่าปลาดังกล่าวผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานมาอย่างดีและไม่พบการปนเปื้อนรังสี
หลังจากมีสื่อไทยตีพิมพ์ข่าวดังกล่าวออกไป ทางกรมประมงของไทยและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมายืนยันว่าขอให้ผู้บริโภควางใจว่ามีความปลอดภัย ปราศจากกัมมันตรังสีแน่นอนเพราะทางผู้ส่งออกมีใบรับรองมาแสดงว่าปลอดภัย

หากตรวจสอบย้อนกลับไป จะพบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยทำสถิติเป็น “ชาติแรก” ที่นำเข้าสินค้าจากฟุคุชิมา เพราะเดือนกันยายน 2555 หรือประมาณ 1 ปีครึ่งถัดมาหลังจากเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา สื่อญี่ปุ่นคือเจแปนเดลี่เพรส ลงข่าวว่า “ไทยกลายเป็นชาติแรกที่นำเข้าลูกพีชจากฟุคุชิมา”
ทำให้เจ้าหน้าที่ของจังหวัดฟุคุชิมาหวังว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคต่างประเทศหายหวาดกลัวรังสีและเข้าใจว่าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจากภูมิภาคโทโฮกุจะอันตรายไปเสียหมด
เจแปนเดลี่เพรส ยังระบุว่า ลูกพีชของฟุคุชิมา เคยเป็นสินค้าส่งออกยอดนิยม เพราะมีเนื้อสัมผัสนุ่มเหมือนกำมะหยี่ รสหวาน ได้รับความนิยมในหลายประเทศรวมทั้งเอเชีย เช่น ไทย จีนและไต้หวัน
แต่หลังจากเกิดภัยพิบัติจนทำให้สารกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหล ประเทศเหล่านั้นก็ระงับการนำเข้าสินค้าอาหารทั้งหมดจากภูมิภาคโทโฮกุ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 6 จังหวัดรวมทั้งฟุคุชิมา) โดยทันที
แต่ในเดือนสิงหาคม 2555 ผู้จัดจำหน่ายจากประเทศไทยได้รับเชิญจากทางการของฟุคุชิมา ให้เดินทางไปดูลูกพีชถึงที่เพื่อให้เห็นกับตาว่าผลไม้ดังกล่าวมีความปลอดภัยจากกัมมันตรังสี

อาจกล่าวได้ว่าไทยเป็นชาติแรกที่นำเข้าปลาและอาหารทะเลจากจังหวัดฟุคุชิมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสีโดยตรง ขณะที่หลายประเทศ เช่น ไต้หวันห้ามนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากจังหวัดฟุคุชิมา ส่วนเกาหลีใต้นั้นสั่งแบนอาหารทะเลจากภูมิภาคโทโฮกุทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดฟุคุชิมาเท่านั้น
ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า จะมีอะไรรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าสินค้าจากฟุคุชิมาปลอดภัย เพราะถึงแม้ญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่ามีความซื่อสัตย์มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าแม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังกังวลและระแวงที่จะบริโภคสินค้าจากฟุคุชิมา แม้ว่าทางการจะออกมายืนยันว่าได้สุ่มตรวจผลผลิตตัวอย่างก่อนนำส่งขายตลาดก็ตาม
ส่วนระบบการตรวจสอบของภาคราชการไทย ก็ไม่อาจจะวางใจได้มากเช่นกัน
แค่อาหารในประเทศก็ยังไม่สามารถจัดการควบคุมให้มีระดับความปลอดภัยเพียงพอ คนไทยยังต้องกินอาหารเสี่ยงตายผ่อนส่งในระดับสูงอยู่ทุกวัน
เช่นเดียวกับสินค้าส่งออกของเราที่ถูกตีกลับมาบ่อยครั้งเพราะปนเปื้อนสารอันตรายเกินมาตรฐาน ก็สะท้อนว่าระบบการตรวจสอบของเรายังไม่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นสินค้านำเข้าหรือส่งออก
อุบัติเหตุสารกัมมันตรังสีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมารั่วไหล นับว่ามีความร้ายแรงมากเหตุการณ์หนึ่ง และแม้จะผ่านไป 7 ปี ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด
โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว หรือเทปโก ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ได้รายงานว่าพบระดับกัมมันตรังสีในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สูงขึ้นเป็น 650 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง อันเป็นระดับสูงสุดอย่างที่บริษัทก็ไม่คาดคิด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สัมผัสเสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่วินาที
เทปโกอ้างว่าระดับกัมมันตรังสีที่สูงขึ้นภายในเตาปฏิกรณ์ไม่ได้ส่งผลให้ระดับรังสีบริเวณภายนอกรอบๆ โรงไฟฟ้าสูงขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้นชาวจังหวัดฟุคุชิมาก็ยังไม่ไว้ใจข้อมูลของบริษัทดังกล่าว เนื่องจากเคยปกปิดความจริงหรือเปิดเผยข้อมูลสำคัญล่าช้ามาแล้วหลายครั้ง

สําหรับการควบคุมไม่ให้กัมมันตรังสีภายในเตาปฏิกรณ์รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาตินั้น เทปโกได้สร้างกำแพงน้ำแข็งขนาดยักษ์ไว้ใต้ดินโรงไฟฟ้า ป้องกันไม่ให้น้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีไหลสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยปัจจุบันน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีเกือบ 8 แสนตันถูกเก็บไว้ในแท็งก์ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้
แต่ว่าน้ำปนเปื้อนดังกล่าวก็ยังคงรั่วซึมผ่านรอยแตกใต้ดินไปยังแหล่งน้ำบาดาลทำให้การปนเปื้อนขยายวงกว้าง ซึ่งทางเทปโกคาดหมายว่าจะสามารถสร้างกำแพงน้ำแข็งเสร็จสมบูรณ์และหยุดการรั่วไหลสู่ชั้นใต้ดินได้ภายในปี 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังไม่เชื่อว่าวิธีดังกล่าวจะหยุดการรั่วไหลได้ผล
ผลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ได้สร้างหายนะใหญ่หลวงต่อทั้งชีวิตคน พืชผัก อาหารทะเล ผู้เชี่ยวชาญมีการคาดหมายว่าจะมีผู้เสียชีวิตในอนาคตเนื่องจากการสัมผัสรังสีนับร้อยราย และจะเป็นมะเร็งอีกจำนวนมากเช่นกัน
สำหรับพืชผลเกษตรและสัตว์น้ำนั้น เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ก็มีรายงานพบพืชผักในฟุคุชิมามีรูปร่างแปลกประหลาด สัตว์น้ำ เช่น ปลา มีอวัยวะผิดปกติพิสดาร เช่น ปลาไม่มีตา หรือมีปาก 2 ปากซ้อนกัน