คนมองหนัง : “ท่องอดีต” 2 แบบ ไปกับ “ศรีอโยธยา” และ “บุพเพสันนิวาส”

คนมองหนัง

หากมองเผินๆ ซีรี่ส์โทรทัศน์ของ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) เรื่อง “ศรีอโยธยา” ซีซั่น/ภาคแรกที่เพิ่งอำลาจอไปไม่นาน กับ “บุพเพสันนิวาส” ละครทีวีจากค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ผลงานการกำกับฯ ของ ภวัต พนังคศิริ ซึ่งกำลังสร้างปรากฏการณ์ฮ็อตฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง จนส่งผลให้ช่อง 3 กลับมาแซงหน้าเอาชนะช่อง 7 บนสังเวียนละครหลังข่าวได้อีกหน

นั้นเหมือนจะมีเนื้อหาคล้ายคลึงในทำนองเดียวกัน คือ ต่างกล่าวถึงตัวละครยุคปัจจุบัน ผู้ย้อนอดีตกลับไปยังเหตุการณ์ (อิง) ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา

ทว่า หากดูละครอย่างละเอียดๆ แล้ว เราจะพบว่าทั้งสองเรื่องมีปฏิสัมพันธ์กับ “อดีต” ต่างกันอย่างสำคัญ

ขณะที่ “ศรีอโยธยา” ของหม่อมน้อย พยายามเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงสืบเนื่องทางอารยธรรม-ภูมิปัญญา-วัฒนธรรม ที่ตกทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน โดยไม่ขาดตอน

“บุพเพสันนิวาส” กลับพูดถึงการเดินทางย้อนไปยังอดีตอย่างฉับพลัน ทันที และตัดตอน จนนำไปสู่สายสัมพันธ์อันแปลกแยกระหว่างยุคสมัย (แต่แน่นอน อดีตกับปัจจุบันย่อมสามารถทำความเข้าใจและปรับประสานเข้าหากันได้ในท้ายสุด)

ท่ามกลางความยืดเยื้อ การสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์อดีตกับปัจจุบันที่มีความคืบหน้าเชิงเนื้อหาน้อยมาก รวมถึงการแสดงและองค์ประกอบอื่นๆ ที่แลดูแปลกๆ ตลกๆ (แต่ไม่ขัน) ตลอดจนความไม่สนุก-ไม่น่าติดตามนานัปการ

จุดน่าสนใจซึ่งถูกบอกเล่าซ้ำๆ และอาจเป็นประเด็นสำคัญสุดที่หม่อมน้อยต้องการนำเสนอใน “ศรีอโยธยา” ก็คือ “ความต่อเนื่องเชื่อมโยง” หรือการสืบทอดส่งมอบคุณค่า-อารยธรรม-วัฒนธรรม-ศิลปกรรมอัน “สูงส่ง” ฯลฯ (ลองฟังเพลงประกอบละครดู) โดยไม่ขาดสาย ไม่ขาดตอน จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน

แม้จะมีเรื่องราวของตัวละครผู้ย้อนระลึกอดีตชาติ ทว่าเนื้อหาของ “ศรีอโยธยา” กลับถูกขับเคลื่อนผ่านพล็อตหลักๆ ว่าด้วยการมีชีวิตยืนนานคงอยู่ข้ามกาลเวลา (ภายในพื้นที่เฉพาะอันศักดิ์สิทธิ์) ของลูกหลานเจ้าพระยาพิชัยชาญฤทธิ์ อย่าง “บุษบาบรรณ” “คุณทองหยิบ” และเหล่าบริวาร (จุดนี้ได้รับอิทธิพลจากนิยาย “เรือนมยุรา” ของ ว.วินิจฉัยกุล มาอย่างเด่นชัด)

และการกลับชาติมาเกิดของเจ้าฟ้า-เจ้านายทรงกรมหลายพระองค์ (รวมทั้งขุนนางใกล้ชิด) ในยุคปัจจุบัน

ฉากหนึ่งของช่วงปลายซีซั่นแรก ซึ่งช่วยอธิบายแนวคิดข้างต้นได้น่าสนใจมากๆ คือ ฉากที่เจ้าฟ้าสุทัศ/วายุ เจอดวงพระวิญญาณพระเจ้าเสือ แล้วพระเจ้าเสือก็พาเจ้าฟ้าสุทัศ (วายุ) ไปล่องเรือตามลำน้ำ เพื่อผ่านพบกับพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ต่างจาก “ศรีอโยธยา” ละครทีวีเรื่องดังแห่งปีอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ดำเนินเรื่องโดยการนำตัวละครจากยุคปัจจุบัน เดินทางย้อนเวลากลับไปยังอดีต เพื่อฉายภาพให้เห็นกระบวนการปะทะกันระหว่างความแปลกแยกแตกต่างของยุคสมัย

โดยมีศูนย์กลางแห่งการปะทะสังสรรค์อยู่ที่ตัวละคร “การะเกด/เกศสุรางค์” (ตัวอย่างของการปะทะชนมีให้เห็นเต็มไปหมด ผ่านคลิปสั้นๆ หรือมีมุมต่างๆ ที่แชร์กันทั่วโซเชียลมีเดีย)

นอกจากนี้ การย้อนเวลากลับไปยังอดีตของตัวละครนำ ยังปรากฏในรูปของการ “แทนที่โดยฉับพลัน” ระหว่างตัวละครต่างยุคต่างอุปนิสัยสองราย (นางเอกกับนางร้าย) คือ ตัวละครคนหนึ่งตายลงในโลกปัจจุบัน แล้ววิญญาณก็ล่องลอยเข้าไปสิงร่างตัวละครอีกคนที่เสียชีวิตลงในอดีต

ดังที่บอกไปแล้ว (และดังที่ได้รับชมกันอยู่) “การแทนที่โดยฉับพลัน” เช่นนี้ ย่อมนำไปสู่การปะทะ/เทียบเคียง/วางชน (ในลักษณะ “ตัดตอน” ช่วงเวลา) ระหว่างคุณค่า-รสนิยม-วัฒนธรรมต่างชุดต่างประเภท จนก่อให้เกิดอาการประหลาดใจแก่ตัวละครในจอและคนดูหน้าจอซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มิใช่ความสืบเนื่องเชื่อมโยงที่ส่งต่อกันมาอย่างราบรื่นเรื่อยเรียงเป็นวิถีปกติ ซึ่งปรากฏใน “ศรีอโยธยา”

ผมตีความเอาเองว่า “การย้อนอดีตแบบแทนที่โดยฉับพลัน” ใน “บุพเพสันนิวาส” นั้นแสดงให้เห็นถึง “ความไม่ต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์” เมื่อไม่ต่อเนื่อง ก็นำไปสู่ “ช่องว่าง” ของความไม่รู้และความผิดแผกแตกต่าง ระหว่างตัวละครกับตัวละคร และระหว่างละครกับผู้ชม

ก่อนจะลงเอยด้วยการที่ต่างฝ่ายต่าง “เล่นสนุก” กับ “ช่องว่าง” แห่งความไม่รู้ หรือ “ช่องว่าง” ของค่านิยมที่ต่างกันดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนจะมีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาหนุนส่ง “การเล่นสนุก” ข้างต้นด้วยเช่นกัน

จะว่าไปแล้ว การนำเสนอภาพของการปะทะกันระหว่างยุคสมัย ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในนิยาย/ละคร “บุพเพสันนิวาส” เป็นเรื่องแรก (“ทวิภพ” ของทมยันตี ก็มีประเด็นหลักคล้ายกัน)

แต่การที่ผู้เขียน/ผู้สร้างละครเรื่องนี้ เลือกจะแนะนำตัวหรือทำความรู้จักมักคุ้นกับผู้ชม ด้วยเหตุการณ์ปะทะสังสรรค์/ความแปลกแยกที่ดำรงอยู่ทั่วไปในวิถีชีวิตประจำวัน (ตั้งแต่เรื่องส้วม อาหารการกิน ไปจนถึงเรื่องผายปอดและการมีประจำเดือน ฯลฯ) ต่างหาก ซึ่งส่งผลให้ “บุพเพสันนิวาส” มีความแตกต่างจากรุ่นพี่ๆ เรื่องก่อนหน้า

การปะทะ/เทียบเคียงใน “บุพเพสันนิวาส” ไม่ได้เวียนวนอยู่กับคำถามข้อใหญ่ๆ เรื่องยุคสมัยไหนเจริญรุ่งเรืองกว่ากัน? รู้หรือไม่ว่าเหล่าบรรพชนต้องเสียสละเลือดเนื้อไปมากมายเท่าไรเพื่อปกป้องชาติ/แผ่นดินเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง? หรือเราจะสามารถย้อนกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตได้หรือไม่ อย่างไร? ฯลฯ

ตรงกันข้าม ละครเรื่องนี้กำลัง “เล่นสนุก” กับการดำเนินชีวิตของผู้คน โดยไม่มีมาตรฐานกำหนดวัดความดีงามสูงส่งที่ตายตัวนัก บางประเด็น ตัวละครจากยุคปัจจุบัน ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับวัฒนธรรมของคนในอดีต แต่อีกหลายประเด็น ตัวละครในอดีตก็ปลื้มปีติกับนวัตกรรมจากปัจจุบัน/อนาคต

ปฏิสัมพันธ์เช่นนี้นี่แหละที่เอื้อให้ “การเล่นสนุก” กับ “ช่องว่าง” ระหว่างอดีตและปัจจุบัน สามารถโลดโผนโจนทะยานไปได้อย่างสนุกสนานจริงๆ

ตรงข้ามกับกรณีของ “ศรีอโยธยา”

การขับเน้นไปที่สภาวะสืบเนื่องเชื่อมโยงเป็นเนื้อมวลเดียวกันในทางประวัติศาสตร์ และการสืบสานคุณค่า-อารยธรรม-วัฒนธรรมที่ขยายใหญ่โตยืดยาวขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่อาจแยกขาดตัดตอน

กลับยิ่งส่งผลให้ “ประวัติศาสตร์” กลายสภาพเป็นภูมิปัญญา-ความศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ ไพศาล ตระการตา ซับซ้อน ยากเข้าถึง หรือ “เล่นสนุก” ด้วยไม่ง่ายนัก

ขณะเดียวกัน ผู้สร้างก็ดูเหมือนจะตั้งสมมติฐานเอาไว้ล่วงหน้าว่าภูมิปัญญาหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานนั้นไม่มีความแปลกแยกใดๆ เลยกับปัจจุบัน

เห็นได้จากการที่ “พิมาน/พระพิมานสถานมงคล” ไม่มีอาการแปลกประหลาดใจหรือทำตัวผิดที่ผิดทางสักเท่าไหร่ เมื่อระลึกอดีตชาติของตนเองได้ เช่นเดียวกับตัวละครที่กลับชาติมาเกิดรายอื่นๆ (แต่พวกเขาอาจมีอาการซาบซึ้ง ปีติใจ ปรากฏให้เห็น)

(ฉากที่อาจารย์พวงแก้ว คุณน้าของพิมาน -ชาติที่แล้วคือ กรมขุนวิมลภักดี- พูดแซววายุ -เจ้าฟ้าสุทัศ ในชาติภพก่อน- ณ พ.ศ.2561 ว่า “โถ่! น่าสงสาร องค์เจ้าฟ้าสุทัศ” นั้นแสดงให้เห็นถึงภาวะหลอมรวมกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงเจรจากับเพื่อนรุ่นน้องของหลานชาย ประหนึ่งพระมารดากำลังสนทนากับพระโอรสในอดีตชาติ)

ด้วยเหตุนี้ ตัวละครนำในยุคปัจจุบันของ “ศรีอโยธยา” จึงล้วนเผชิญหน้ากับ “อดีต” โดยตระหนักรู้ถึงภาวะเหลื่อมซ้อนของมิติเวลา พวกเขาตระหนักรู้ถึงพันธะ-ความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ และต่างใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับภาวะดังกล่าวในฐานะ “สัจจะ” ประการหนึ่ง อย่างมิผิดแผกแปลกแยก

ปัญหาคือ พอเรายิ่งรู้สึกว่าตัวเองรู้อะไรมากเท่าไหร่ พร้อมทั้งรู้สึกว่าสิ่งที่เราหยั่งรู้นั้นยิ่งใหญ่เที่ยงแท้เพียงไร เราก็ยิ่งไม่มีแนวโน้มที่จะเปิด “ช่องว่าง” เพื่อผ่อนคลายตนเองและ “เล่นสนุก” กับองค์ความรู้ที่เราเชื่อว่าเราได้เข้าถึงโดยสมบูรณ์แล้ว

อาจเป็นปัญหาข้อนี้ก็ได้ที่ผลักดันให้ “ศรีอโยธยา” ภาคแรก ต้องอำลาจอไปอย่างเงียบๆ โดยปราศจากการเฝ้าติดตามใส่ใจจากคนดูกลุ่มใหญ่และประเด็นดราม่าน่าตื่นเต้นในสังคมวงกว้าง