ไฉนแสงสว่าง ส่องไม่ทั่ว ฤๅ ป.ป.ช. เลือกปฏิบัติ? ไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่าคนดี

สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ถือกำเนิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้มีองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐธรรมนูญ 2540 สร้าง ป.ป.ช. ขึ้นด้วยแนวคิดรวบอำนาจไว้กับองค์กรเดียว ด้วยความหวังว่าจะชำระล้างการเมืองให้สะอาดขึ้นได้ ผลคือเรามี ป.ป.ช. ที่อำนาจล้น แต่ประเด็นก็คือ ประชาชนไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นกลาง

ไม่ต้องย้อนไปไหนไกล เอาเฉพาะช่วงรัฐบาล คสช. กรณี “อุทยานราชภักดิ์” เป็นกรณีที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 9 : 0 ให้ยุติการไต่สวนโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติทุกประการ ในขั้นตอนการทำงาน ป.ป.ช. ขอหลักฐานใดๆ ไปยังคณะกรรมการตรวจสอบของกองทัพบกหรือคณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงกลาโหม ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และเมื่อนำเอกสารหลักฐาน และเชิญพยานมาสอบปากคำทุกอย่างมาพิจารณาแล้วไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ

แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีใครเคยเห็นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและวิธีคิดราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ หลังมีคำถามเกี่ยวกับการเรียกรับ “ค่าหัวคิว” กว่า 20 ล้านบาท นี่ย่อมไม่ใช่ความโปร่งใสที่สังคมเพรียกหา !!!

ส่วนอีกกรณีที่เคยพูดถึงกันมาก คือกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม แถมสวมหมวกอีกใบเป็นสมาชิก สนช. ซึ่งพบว่ามีการนำเงินของกองทัพภาคที่ 3 มาใส่ไว้ในบัญชีตัวเอง โดยมีชื่อของ นางผ่องพรรณ จันทร์โอชา คู่สมรส เป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจเบิกจ่าย ซึ่งถึงที่สุด ป.ป.ช.ระบุว่า กรณีนี้มิได้เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับคดีนี้

 

กรณี “อุทยานราชภักดิ์” กับ “การยื่นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ปรีชา” เป็นสองเรื่องใหญ่ที่ ป.ป.ช. ตอบสังคมได้ไม่สิ้นกระแสความ

ยิ่งเมื่อสำนักข่าวไทยพับลิก้า และสำนักข่าวอิศรา ร้องขอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลการสอบสวนก็กลับได้รับการปฏิเสธ ทั้งที่เรื่องแบบนี้ ป.ป.ช. ควรจะรู้หน้าที่ของตัวเองว่าต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ ให้คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินหนึ่งพันกว่าล้านบาท ในการปรับปรุงเว็บไซต์ ป.ป.ช. ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล

นอกเหนือจากกรณียื่นบัญชีทัพย์สินของ พล.อ.ปรีชา ก่อนหน้านี้ก็มีหลายคดีสำคัญที่สังคมค้างคาใจ แต่ ป.ป.ช. มีมติตีตกไป และเมื่อสื่อมวลชนขอให้เปิดเผยรายงานการไต่สวนคดี ป.ป.ช. กลับปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลนี้

อาทิ กรณี ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยมิชอบ

กรณี ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งซื้อเรือเหาะในราคาสูงกว่าความเป็นจริง เรื่องนี้ ป.ป.ช. ก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นความลับกระทบความมั่นคง

นอกจากนี้ยังมี คดีระบายข้าวสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่ง ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหาของ นางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ อนุมัติจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552 ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และความผิดปกติการระบายข้าวในสต็อก

ทั้งหมดนี้สะท้อนความล้มเหลวของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ โดยเฉพาะ ป.ป.ช. องค์กรซึ่งมีอำนาจหน้าที่ไปตรวจสอบความโปร่งใสของคนอื่น

 

ทั้งนี้ ล่าสุด กับข้อเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีบริษัทรับเหมาก่อสร้างของบุตรชาย พล.อ.ปรีชา น้องชายนายกฯ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ของกองทัพภาคที่ 3 จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ค่ายพ่อขุนผาเมือง และก่อสร้างตึกแถวนายทหารประทวน 10 ครอบครัว ของโรงพยาบาลค่ายวชิรปราการ ต.น้ำริม อ.เมืองตาก จ.ตาก รวมวงเงิน 2 โครงการ 26,960,000 บาท ในช่วงปี 2558-2559 ว่าเป็นการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กันเองหรือไม่นั้น ดูเหมือนผู้มีอำนาจจะเชื่อมั่นโยนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ท่ามกลางคำถามคาใจถึงความโปร่งใสกับหลายคดีที่ผ่านมา

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยพูดถึงการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไว้อย่างน่าสนใจว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ผ่านมา เราพยายามแก้คอร์รัปชั่นด้วยการสร้างองค์กรขึ้นมาแก้ รัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งองค์กรอิสระมากมายมาแก้ปัญหา

แต่ปัญหาสำคัญคือ เราไม่วางระบบในการถ่วงดุลอำนาจ

กล่าวคือ เวลาเราตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเราก็มองแค่ว่าให้มันเป็นพี่ใหญ่คอยดูแลตรวจสอบ

แต่องค์กรอิสระของเราไม่เคยมีความรับผิดชอบ กฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระเขียนไว้แต่ว่าจะให้ไปลงโทษใคร แต่ไม่มีเขียนว่าถ้าหน่วยงานนั้นมันไม่ทำหน้าที่ของตัวเองจะถูกลงโทษอย่างไร

การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นไปไม่ได้ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะมาแก้ปัญหาได้ แต่มันต้องเป็นคนไทยทุกคนทั้ง 65 ล้านคน

ดร.เดือนเด่น กล่าวต่อว่า “แสงสว่าง เป็นยาที่ฆ่าเชื้อโรคได้ดีที่สุด” ไม่ต้องไปใช้สารเคมีน้ำยาฆ่าเชื้อราคาแพงที่ไหน เพียงแค่คุณเปิดห้องที่มืดทึบให้แสงแดดมันสาดเข้ามาห้องที่เคยเหม็นอับเต็มไปด้วยเชื้อโรคมันก็จะดีขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเผื่อเราเปิดเผยข้อมูลให้สายตาคนทั้ง 65 ล้านคนได้ตรวจสอบ ไม่ใช่เฉพาะองค์กรอิสระที่มีอำนาจ การแก้ไขปัญหาทุจริตก็จะดีขึ้นมาก แต่ที่ผ่านมาเราเดินมาแนวทางเดิมคือ มีองค์กรอิสระมาตรวจสอบ แต่ขั้นตอน และข้อมูลการตรวจสอบถูกปิดหมด

สังคมไทยควรเลิกความคิดใช้องค์กรผู้วิเศษ แล้วหันมาคิดเรื่องกระจายอำนาจ ถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะนั่นคือหนทางปราบทุจริตที่ได้ผลจริง

ไม่ต้องไปหาไฟฉายมาเปิดไฟส่องไล่โกงที่ไหน เพียงแค่เปิดประตูหน้าต่างให้แสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาให้ทุกสายตาได้เห็นข้อมูล เพียงเท่านี้เชื้อโรคที่เคยซ่อนอยู่ในมุมมืดก็จะตายหายไป