อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (25)

ฉันไม่เคยลืมการแก้แค้นให้ผู้เป็นพ่อแม้เพียงนาที

มันปวดร้าวที่เห็นไรผมของแม่เปลี่ยนเป็นสีขาว

ฉันไม่อยากเห็นแม่ทนทุกข์อีกแล้ว

โอกาสในการแก้แค้นของฉันต้องไม่สูญสิ้นไป

ฉันไม่กล้ามองย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่ผ่านมา

ทุกสิ่งเหมือนเดิม เพียงแต่ฉากนั้นเปลี่ยนแปลง

ฉันมาถึงอารามแห่งนี้ ไม่ใช่เพื่อกราบสักการะพระพุทธองค์

หากแต่เพื่อหยิบยื่นความตาย ไม่ใช่หยิบยื่นความเป็น

หลังจากสังหาร ซุน ชุง ฟาง ได้สำเร็จ ซิ เฉียน เฉียว มือสังหารได้แจกจ่ายบทกวีบทนี้ให้กับฝูงชนที่ห้อมล้อมรอบๆ ที่เกิดเหตุ

บทกวีบทนี้เธอแต่งมันด้วยน้ำมือของตัวเอง มันเป็นบทกวีแบบเจ็ดคำที่ถือว่าเป็นบทกวีที่ใช้แสดงความในใจของผู้แต่งได้ดีที่สุด

อีกทั้งยังถือว่าเป็นบทกวีที่ปลุกเร้าผู้อ่านได้อย่างดีเยี่ยมด้วย

สำหรับคนที่เคยชินกับทกวีแบบนี้ย่อมรู้สึกได้ว่าบทกวีของ ซิ เฉียน เฉียว มีความจริงใจอย่างยิ่ง

ท่อนแรกของบทกวีนั้นเล่าถึงความต้องการจะแก้แค้นให้กับผู้เป็นพ่อ

ส่วนท่อนที่สองแสดงถึงความชราภาพของผู้เป็นแม่

ท่อนที่เหลือเล่าถึงความแค้นที่ฝังอยู่ในตัวของผู้แต่งนานนับสิบปี

คำว่าสิบปีนั้นเป็นดังการเน้นย้ำภาษิตที่แพร่หลายในสังคมที่ว่า “วิญญูชนล้างแค้นสิบปีไม่นับว่าสาย”

ส่วนท่อนที่กล่าวถึงพระพุทธองค์นั้นน่าสนใจที่สุด ซิ เฉียน เฉียว ได้สร้างความขัดแย้งขึ้นด้วยการเปลี่ยนสถานที่ของความสงบให้เป็นดินแดนแห่งการล้างแค้น

ซึ่งบ่งชี้ว่าความแค้นของเธอนั้นลึกล้ำยิ่ง

ในยุคสมัยที่สื่อสารมวลชนกระหายข่าวสารยุคสาธารณรัฐ การกระทำของ ซิ เฉียน เฉียว เป็นดังละครเรื่องสำคัญ

การเตรียมพร้อมอย่างดีของผู้สังหารที่ติดตามเหยื่อมานานนับปีก็ตาม

การสังหารที่กระทำต่อหน้าบุคคลจำนวนมากในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม การที่มือสังหารเป็นเพศหญิงก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ชวนให้น่าสนใจและเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าตื่นเต้น ผนวกรวมกับเหตุการณ์ภายหลังที่มือสังหารเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างองอาจโดยไม่คิดหลบหนี

ในวันที่ถูกจับกุม นอกจากบทกวีแล้ว ซิ เฉียน เฉียว ยังแสดงพินัยกรรมที่เธอเตรียมไว้สำหรับแม่ในกรณีที่เธอต้องรับโทษให้สื่อทั้งหลายได้เห็นด้วย

สองวันถัดมา ซิ เฉียน เฉียว ขยับไปแถลงข่าวที่สถานีตำรวจถึงแรงจูงใจในการสังหาร

เธอเริ่มต้นการแถลงข่าวนั้นด้วยคำพูดที่ว่า “เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนอยู่เสมอในข่าวสารสำคัญตามหน้าหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน ดังนั้น ขอให้ถือว่ามีความจริงเพียงหนึ่งเดียวตามที่เธอจะแถลงเท่านั้น”

นี่เป็นกิจกรรมแรกที่เธอทำต่อสื่อในช่วงเวลาที่เธอต้องคดี หลังจากนั้น เธอก็ใช้สื่อเป็นเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งบทกวีผ่านออกมาจากคุก ทั้งการให้สัมภาษณ์ระหว่างรอขึ้นศาล

ผลของการกระทำเหล่านี้ก่อให้เกิดความเห็นใจเธอทั้งจากสื่อและจากสาธารณชน

การเกาะติดของสื่อต่อเหตุการณ์นี้เริ่มตั้งแต่บ่ายวันเกิดเหตุคือ 13 พฤศจิกายน 1935 หนังสือพิมพ์ ซิน เทียน จิน เป่า-Xin Tianjinbao อันเป็นหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่นของเทียนสิน ได้ตีพิมพ์สกู๊ปพิเศษสำหรับข่าวนี้

นับแต่รายละเอียดของการสังหาร ที่ ซิ เฉียน เฉียว ออกมาเฝ้ารอ ซุน จุง ฟาง หากแต่จากสภาพฝนที่ตกหนักทำให้เขามาถึงสมาคมชาวพุทธช้ากว่ากำหนด

ซิ เฉียน เฉียว ซึ่งไม่พกปืนติดตัว ต้องรีบร้อนเรียกรถจับจ้างกลับไปยังที่พักของเธอที่เขตเช่าของอังกฤษ เธอหยิบปืนบราวนิ่งที่เตรียมไว้อย่างดีแล้วกลับมาที่สมาคมก่อนจะลงมือสังหาร ซุน จุง ฟาง ในที่สุด

พอถึงเช้าวันที่ 14 พฤศจิกายน 1935 หนังสือพิมพ์ ต้า กง เป่า-Dagongbao ของเทียนสิน อันเป็นหนังสือพิมพ์ที่ หลิน ยู่ ถัง (นักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของจีนยอมรับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เชื่อถือได้มากที่สุดในยุคนั้น) ได้บรรยายความต่อเหตุการณ์สังหารให้ละเอียดลออเพิ่มขึ้นอีกภายใต้หัวข้อข่าวว่า “เมื่อเลือดนองท่วมอารามพุทธ” ดังนี้

“…เวลาบ่ายสามโมงสิบห้านาที ในขญะที่ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนากำลังทำพิธีที่อารามของสมาคมพุทธฯ บนถนนหนานหม่านั้น หญิงสาวผู้เป็นมือสังหารได้ปรากฏตัวขึ้นเบื้องหลัง ซุน จุง ฟาง เธอค่อยๆ เอาปืนออกจากแขนเสื้อ และยิง ซุน จุง ฟาง จากด้านหลัง กระสุนนัดแรกทะลุท้ายทอยของเขาไปออกยังหน้าผาก เศษสมองของ ซุน จุง ฟาง กระจายไปทั่ว หากแต่ ซุน จุง ฟาง ยังรู้สึกตัวอยู่ กระสุนนัดที่สองเจาะเข้าที่ขมับขวาของเขา ทะลุออกทางหน้าผากด้านซ้าย ส่วนกระสุนนัดที่สามนั้นยิงเข้าที่แผ่นหลังและทะลุออกที่หน้าอก หลังจากนั้น ซุง จุง ฟาง ได้สิ้นใจโดยทันที…”

กระแสข่าวไม่ได้จบลงตรงการสังหาร วันต่อมาผู้อ่านได้รับรู้ประวัติของผู้สังหาร ได้รับรู้ความขัดแย้งในช่วงที่เหล่าขุนศึกมีอิทธิพล สื่อเจาะลึกไปถึงแนวทางการพิจารณาคดี ทั้งช่วงศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก่อนจะไปถึงศาลฎีกาที่นานกิง และสิ้นสุดที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกโทษให้กับ ซิ เฉียน เฉียว

ระยะเวลาที่สื่อต่างๆ เกาะติดเหตุการณ์นี้กินเวลาทั้งหมดหนึ่งปีเต็ม

เช่นเดียวกันกับคดี ของ ฮวง ฮุย หลู ที่หนีตาม ลู่ เจน หรง เด็กรับใช้ในบ้าน คดีของ ซิ เฉียน เฉียว ถูกนำไปทำเป็นนวนิยาย ละครวิทยุ งิ้ว และมหรสพแบบอื่นโดยทั่วไป

หากคดีของ ฮวง ฮุย หลู แสดงถึงความรักที่ไม่มีชนชั้น คดีของ ซิ เฉียน เฉียว ก็แสดงออกถึงคุณธรรมด้านความกตัญญูที่รับการถ่ายทอดทางปรัชญามาจากความคิดของขงจื๊อผนวกรวมกับความคิดเรื่องวีรบุรุษ หรือ เจี๋ย-Xia วีรบุรุษหรือวีรสตรีในทำนองนี้หมายถึงผู้ที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ของสังคมและกระทำ

ความคิดเรื่องเจี๋ยที่ว่านี้ปรากฏในตำนานทั้งวีรบุรุษเขาเหลียงซานหรือบู๊สง ที่เป็นผู้มีวิชาฝีมือและใช้วิชาฝีมือเพื่อผดุงคุณธรรมและแก้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหาสังคมที่กฎหมายของรัฐไม่สนใจ

การประกาศตนที่จะแก้ปัญหาของตนเองเพื่อผดุงคุณธรรมนี้ไว้ของ ซิ เฉียน เฉียว เห็นได้สองประการ

ประการแรก จากการที่เธอเปลี่ยนชื่อจาก ซิ กู่ หลัน เป็น ซิ เฉียน เฉียว

คำว่าเฉียนแปลว่าดาบหรือกระบี่ ส่วนเฉียวนั่นหมายความถึงการยกอาวุธขึ้นสู้ ซิ ได้รวบรวมสองคำนี้และใช้มันเป็นดังการประกาศตัวว่าพร้อมสำหรับการแก้แค้น

ประการที่สอง มาจากการเขียนบทกวีท่อนแรกของเธอที่มาจากเรื่องเล่าที่โด่งดังของตัวเอก ชาง ซาง กวน-Shan Sanguan ในนวนิยายเรื่อง เหลี่ยวไจ๋ ของ พู่ ซง หลิง

การปลอมตัวเป็นชายเพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญนั้นปรากฏแม้ในตำนานวีรสตรีที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ เรื่องของ ฮัว มู่ หลัน หลังรับรู้ว่าบิดาของเธอที่มีร่างกายอ่อนแอต้องถูกเกณฑ์เข้าสู่สงครามทำให้เธอตัดสินใจปลอมตัวไปรับหน้าที่แทนพ่อ

ในช่วงของสงครามนั้นเองที่วีรกรรมของเธอลือลั่นโดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ความจริงว่าภายใต้เสื้อเกราะอันหนาหนักนั้นเป็นสตีผู้หนึ่ง ฮัว มู่ หลัน อยู่กับการรบและละทิ้งชีวิตครอบครัวหรือชีวิตสมรสไป

สภาวะเช่นนี้นำเสนอการก้าวข้ามเพศสภาวะ ก้าวข้ามหน้าที่ และก้าวข้ามแม้สิ่งที่เรียกว่าจารีตโดยทั่วไป

ส่วน ชาง ซาง กวน ในนวนิยาย เหลี่ยวไจ๋ นั้น เป็นสาวน้อยอายุสิบหกปีที่ปฏิเสธชีวิตครอบครัวและออกตามหาฆาตกรที่สังหารบิดาของเธอซึ่งพี่ชายของเธอไม่อาจกระทำหน้าที่นั้นได้

เธอวางแผนสังหารเป็นเวลาหกเดือนก่อนจะเข้าสู่งานเลี้ยงของฆาตกรในฐานะของนักแสดงอุปรากรชายคนหนึ่ง หลังจากที่งานเลี้ยงเลิกราและแขกเหรื่อทั้งหมดพากันทยอยเดินทางกลับ เธอก็บุกเข้าไปสังหารฆาตกรที่สังหารบิดาของเธอได้สำเร็จ

ก่อนที่จะผูกคอตนเองตายตามเพื่อแสดงถึงภาระที่กระทำจนสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วและไม่มีอะไรให้ห่วงอาลัยอีก

การฆ่าตัวตายเช่นนี้ทำให้เรือนร่างของเธอที่เป็นเพศหญิงถูกอวดแสดงในที่สุด

ทั้งตำนานของ ฮัว มู่ หลัน และ ชาง ซาง กวน ได้นำเสนอการก้าวข้ามเพศสภาวะ ก้าวข้ามหน้าที่ และก้าวข้ามแม้สิ่งที่เรียกว่าจารีตโดยทั่วไป

และตำนานที่ว่านี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ ซิ เฉียน เฉียว ในการตามหา ซุง ชุง ฟาง เป็นเวลาถึงสิบปี