ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์/THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์
นพมาส แววหงส์

THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI

‘โกรธ!’

กำกับการแสดง Martin McDonagh
นำแสดง Frances McDormand  Sam Rockwell  Woody Harrelson  Abbie Corning John Hawkes Peter Dinklage

หนังได้รับรางวัลใหญ่จากเวทีออสการ์ไปสำหรับนักแสดงนำหญิง ฟรานซิส แม็กดอร์มันด์ และนักแสดงสมทบชาย แซม ร็อกเวลล์ สำหรับบทที่ตรึงตราน่าประทับใจที่สุดของตัวละครสองตัว
ผู้เขียนชอบหนังของมาร์ติน แม็กดอนาห์ อยู่แล้วตั้งแต่เรื่อง In Bruges เมื่อหลายปีก่อน เขาเป็นคนทำหนังที่ชอบเขียนเรื่องเองกำกับฯ เอง แบบที่มักใช้คำศัพท์เรียกว่า auteur มากกว่า director
In Bruges เป็นหนังที่มีคอลิน ฟาร์เรลล์ เป็นนักฆ่าที่ทำงานพลาดจนถูกสั่งให้หลบไปซ่อนตัวเงียบๆ ในเมืองเล็กๆ ที่สวยงามของเบลเยียมตามชื่อเรื่อง พร้อมกับเพื่อนร่วมแก๊งวัยแก่กว่า ที่แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมในบทอาชญากรวัยกลางคนผู้ชื่นชมความงามของศิลปะและโบราณคดี ระหว่างที่คอลินเบื่อกับชีวิตเรียบง่ายไม่มีอะไรทำในเมืองเล็กๆ แห่งนี้
นอกจากดาราระดับพระเอกแนวหน้า เรฟ ไฟน์ ที่รับบทผู้ร้ายตัวสำคัญในเรื่องแล้ว หนังยังมี ปีเตอร์ ดิงค์เลจ นักแสดงร่างแคระที่โด่งดังจากบทบาทของทีเรียน แลนนิสเตอร์ ในหนังชุดที่มีแฟนติดตามอย่างใจจดใจจอมาตั้งเจ็ดปีเข้านี่แล้ว คือ Game of Thrones
นักแสดงทั้งสองคนนี้เป็นกุญแจสำคัญในตอนสุดท้ายของเรื่องที่จบเรื่องอย่างสวยงามจนดูเหมือนไม่มีทางจบลงได้ในแบบอื่น

เมื่อมาร์ติน แม็กดอนาห์ มาเขียนบทหนังเรื่อง Three Billboards ขึ้นจากความบันดาลใจที่ขับรถไปในชนบทแห่งหนึ่งและมองเห็นป้ายบิลบอร์ดใหญ่ที่ต่อว่าการทำงานของตำรวจในการคลี่คลายคดี
เขามีฟรานซิส แม็กดอร์มันด์ (เจ้าของออสการ์จากเรื่อง Fargo) อยู่ในหัวเมื่อเขียนบทของมิลเดร็ด เฮย์ส แม่ผู้ที่มีลูกสาวตกเป็นเหยื่อข่มขืนและฆาตกรรม โดยที่ตำรวจท้องถิ่นดูเหมือนไม่มีความก้าวหน้าในการสืบสวนเลย เวลาผ่านไปเจ็ดเดือนก็ยังหาตัวคนกระทำผิดไม่ได้
เมื่อเปิดเรื่อง มิลเดร็ดโกรธแค้นไปทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต นับตั้งแต่โดนสามี (จอห์น ฮอว์กส์) ทิ้งไปหาสาววัยสิบเก้าที่มีสติปัญญาเพียงหางอึ่ง
การทะเลาะกันครั้งสุดท้ายกับลูกสาวและต่อปากต่อคำกันด้วยเรื่องอัปมงคลที่ดูเหมือนส่อลางร้ายที่กำลังจะเกิด
ความตายชวนตระหนกของลูกสาว และเวลาที่ผ่านไปถึงเจ็ดเดือนโดยยังไม่มีความก้าวหน้าในคดีจากงานของตำรวจท้องที่เลย
ขณะเธอขับรถผ่านไปเห็นป้ายโฆษณาเรียงต่อกันสามป้ายบนถนนที่ออกจะร้างผู้คน เธอจึงเกิดไอเดียจะกระตุ้นการทำงานของตำรวจในเมืองนั้นด้วยการไปติดต่อบริษัทโฆษณาที่รับผิดชอบกับป้ายทั้งสามนั้น และขอให้ติดตั้งป้ายด้วยข้อความแสบสันต์แต่กลั่นกรองแล้วว่า ไม่หยาบคาย ไม่ผิดกฎหมาย และไม่เป็นการสบประมาทใคร
ป้ายทั้งสามนั้น เรียงต่อกันโดยทิ้งระยะห่างพออ่านทันในยามขับรถว่า
“โดนข่มขืนขณะกำลังจะตาย”
“ยังไม่มีการจับกุมใครเลย”
“ทำไมล่ะ สารวัตรวิลโลห์บี?”
เท่านั้นเอง สายตาทุกคู่ก็จับจ้องมาที่เรื่องของเธอและตัวเธอ มีสื่อมวลชนมาขอสัมภาษณ์ และส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองในแบบต่างๆ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้คนในเมือง

Frances McDormand and Peter Dinklage in the film THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI.
Photo by Merrick Morton. © 2017 Twentieth Century Fox Film Corporation All Rights Reserved

แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังนักสืบที่มุ่งหน้าจะคลี่คลายคดีตามแบบที่เห็นกันทั่วไป นี่เป็นเรื่องราวที่เผยให้เห็นความเป็นปุถุชนที่ซับซ้อนเกินกว่าจะแบ่งแยกเป็นขาวเป็นดำง่ายๆ ตัวละครแทบทุกตัวมีความลึกและน่าเห็นใจ ถ้าเรามองด้วยความเข้าใจในจิตวิทยามนุษย์
ดูแล้วชวนให้นึกถึงหนังของพี่น้องตระกูลโคเอน โดยเฉพาะเรื่อง Fargo ซึ่งฟราสซิส แม็กดอร์มันด์ เล่นในบทนำเหมือนกัน แต่ก็มีลักษณะเฉพาะของหนังของมาร์ติน แม็กดอนาห์ อยู่ด้วย บอกเสียเลยตรงนี้ว่า Fargo เป็นหนึ่งในหนังที่ตรึงตราอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนนะคะ จึงเป็นหนังคลาสสิคและเป็นมาตรฐานที่ใช้เทียบเคียงแบบหนึ่ง
ชาวเมืองหลายคนโกรธแค้นแทนสารวัตรวิลโลห์บี (วูดดี้ แฮร์เรลสัน) ผู้เป็นที่รักของชาวบ้าน และที่สำคัญคือเขากำลังจะตายด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนอยู่แล้ว
ตำรวจลูกน้องของวิลโลห์บี โดยเฉพาะดิกสัน (แซม ร็อกเวลล์) ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นคนเหยียดผิว ชอบแต่จะหาเรื่องกับคนผิวดำและคนกลุ่มน้อย ยัดข้อหาให้และทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ดิกสันเป็นคนไปพบป้ายทั้งสามเป็นคนแรก และโกรธแค้นแทนตัวสารวัตรวิลโลห์บีผู้ตกเป็นเป้าในข้อความกล่าวหาที่ปรากฏบนป้าย
แต่วิลโลห์บีก็กำลังอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตและเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับความตายที่กำลังจะมาถึง

หนังมีพัฒนาการของเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจและมีจุดหักเหที่ไม่คาดคิดหลายบทหลายตอน ตัวละครทุกตัวมีชีวิตโลดแล่นขึ้นมาเหมือนคนจริงๆ
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบริษัทโฆษณาเล็กๆ ในเมืองที่รับทำป้าย (เคเล็บ แลนดรี โจนส์)
ตัวสารวัตรวิลโลห์บีที่ตกเป็นเป้าของการโจมตีบนป้ายโฆษณานั้นเอง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต
ร็อบบี้ (ลูคัส เฮดจ์) ลูกชายวัยรุ่นของมิลเดร็ด ที่เป็นเด็กติดแม่ ซึ่งอาจจะโตขึ้นกลายเป็นคนที่สะสมความโกรธแค้นต่อโลกเช่นเดียวกับดิกสันได้
สามีของมิลเดร็ดกับเพเนโลปี เมียใหม่วัยสิบเก้าที่เป็นสาวสวยสมองกลวง
หรือหนุ่มใหญ่ร่างแคระแกร็น เจมส์ (ปีเตอร์ ดิงก์เลจ) ที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับมิลเดร็ด ในบทบาทที่นำเสนอได้แหลมคมและเสียดแทงใจ
แต่บทบาทที่โดนใจที่สุดคือแคแร็กเตอร์ของมิลเดร็ด และดิกสัน ซึ่งทั้งฟรานซิส แม็กดอร์มันด์ และแซม ร็อกเวลล์ จับไว้อยู่หมัดและกินขาดด้วยการพลิกผันที่น่าประทับใจ
วิลโลห์บีจะเป็นคนสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือในตัวดิกสัน
ฉากโดนใจที่สุดของมิลเดร็ดคือคำพูดยาวๆ ที่ตอบโต้และตอกหน้าพระที่มาเยี่ยมที่บ้านเพื่อขอให้เธอเห็นใจฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและเอาป้ายโฆษณาลงเพื่อเห็นแก่วิลโลห์บี
ได้ดูบทบาทของนักแสดงเก่งๆ แล้วชวนอิ่มอกอิ่มใจจริงๆ ค่ะ

ขอบอกเสียก่อนว่าหนังไม่มีตอนจบแบบสรุปนะคะ คนดูที่อยากให้เรื่องลงเอยถึงที่สุด อาจมีความรู้สึกค้างคา เหมือนอะไรที่ยังไม่เสร็จสิ้น แต่นี่คือสิ่งที่ผู้กำกับฯ ต้องการเสนอ สิ่งที่เกิดในชีวิต…การตัดสินใจต่างๆ ของเรา…ยังไม่เสร็จสิ้นหรอกค่ะ…จนกว่าชีวิตจะหาไม่
นี่เป็นหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความโกรธของคนเรา โกรธต่อโลกที่ไม่ยุติธรรม โกรธคนอื่น โกรธตัวเอง…แต่ผู้เขียนถูกใจที่หนังให้ข้อคิดที่จะยุติความขัดแย้งทั้งปวงให้ออกมาจากปากของสาวสมองกลวงผู้ไม่รู้ความแตกต่างระหว่างคำว่า “โปโล” กับ “โปลิโอ” ด้วยซ้ำ เธอบอกว่าเธอเพิ่งอ่านข้อความนี้มา
“ความโกรธมีแต่จะก่อให้เกิดความโกรธมากยิ่งขึ้นไปอีก”
คงไม่ต้องย้ำนะคะว่า เป็นหนังดีที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง