หลังเลนส์ในดงลึก : “26 ปี ของ หนึ่งกันยายน”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

เดือนตุลาคม พ.ศ.2550

ผมมีงานรวมเล่ม โดยสำนักพิมพ์ open books เล่มหนึ่งเป็นงานซึ่งผมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ร่วมกัน

งานนี้ชื่อว่า “โลกของเราขาวไม่เท่ากัน”

ช่วงเวลานั้นผมร่วมอยู่กับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ป่าห้วยขาแข้ง

ผมเขียนคำนำสั้นๆ ไว้ว่า

“ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดๆ คงต้องบอกว่า วรพจน์กับผมอยู่คนละโลก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเราต่างรู้ว่า “โลก” มีเพียงหนึ่งเดียว

“โลก” ของวรพจน์ เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย

ส่วนโลกของผม พบเจอแต่สัตว์ป่า

คนเราเติบโต เรียนรู้ จากสิ่งที่เขาหรือเธอค้นพบ

ผมกับวรพจน์อยู่กันคนละโลก

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราแตกต่างกัน”

เรื่องแรกในหนังสือเล่มนี้

ชื่อ “หนึ่งกันยายน” เป็นงานที่ผมเขียนถึงเรื่องราวของผู้ชายที่ชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร

“รุ่งสางของวันที่ 1 กันยายน เมื่อ 16 ปีที่แล้ว”

ใน พ.ศ.2550 ผมเริ่มงานที่ชื่อ “หนึ่งกันยายน” ด้วยประโยคนี้

ในบริเวณบ้านพักเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พื้น ฤทธินาลา คนงานผู้ทำหน้าที่ยามไม่ได้สงสัยกับเสียงปืนที่ดังขึ้นนัดหนึ่ง เพราะเสียงปืนแถวๆ นั้นดังขึ้นเสมอๆ

จนกระทั่งสายๆ เขาจึงรู้ว่าเสียงปืนนัดนั้นได้พรากชีวิตหัวหน้าสืบ ของพวกเขาไปแล้ว

สืบ นาคะเสถียร ผู้ชายร่างสูง สวมแว่นสายตาหนาเตอะ เสื้อเชิ้ตยับๆ กางเกงสีมอๆ ข้าราชการกรมป่าไม้ ทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ผู้ไม่ว่าจะไปพูดหรือบรรยายที่ไหน เขาจะเริ่มต้นว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

เป็นผู้ที่ประกาศก้องว่า “ถ้าจะยิงลูกน้องกูก็ขอให้มายิงกูแทน”

และนี่คือข้าราชการผู้น้อยที่ตอบผู้ใหญ่ว่า งานที่ทำอยู่นั้นหนักพอแล้ว เมื่อได้รับคำสั่งให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ป่า และการคุกคามป่า

“ปัญหาเหล่านี้มันเป็นขบวนการใหญ่เกินกว่ากำลังข้าราชการเล็กๆ และคนงานค่าแรงวันละร้อยกว่าบาทซึ่งทำงานอยู่ในป่าจะรับมือไหว”

เขาตอบ “ผู้ใหญ่” เช่นนี้

ไม่ใช่เรื่องตลก หรือบทหนังที่เขียนมาเพื่อให้พระเอกดูดี

แต่คือความจริงว่า สืบต้องรับผิดชอบพื้นที่อนุรักษ์ราว 1 ล้านกว่าไร่ด้วยงบประมาณสำหรับทำงานประมาณ 83 สตางค์ต่อไร่ ต่อไป

สืบ ใช้กระสุนนัดหนึ่ง เป็นเครื่องมือ เพื่อแสดงความมุ่งมั่น และบอกให้โลกรับรู้ถึงปัญหาในป่าห้วยขาแข้ง รวมถึงแห่งอื่นๆ ซึ่งได้รับความสนใจจาก “ผู้ใหญ่” ระดับผู้นำประเทศไม่มากนัก

ภายหลังการจากไปของเขา ห้วยขาแข้งคือป่าที่คนรู้จัก ได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ มีหลายอย่างเปลี่ยนไป

แต่บางอย่างก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

เวลาผ่านไป

เสียงเลื่อยไม้ เสียงปืนยังเกิดขึ้นเสมอๆ ในผืนป่าอนุรักษ์ทั่วทุกป่า

คนทำงานในป่ายังทำงานตามปกติ แม้จะถืออาวุธอันเป็นปืนลูกซองห้านัด กระบอกเดิมเก่าๆ แต่ปืนก็ได้รับการดูแลอย่างดี อีกทั้งพวกเขาก็ได้รับการฝึกฝนอบรม

การลาดตระเวนในระบบ ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการดูแลป่า

มีองค์กรเอกชนหลายองค์กรเข้าร่วมช่วยเหลือ

คนทำงานในป่าหลายคนปะทะกับคนล่าสัตว์ คือ ตัดไม้ หลายคนสูญเสียอวัยวะ บางคนเสียพ่อ บางคนเสียชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นฝืนป่าแห่งใด

เทือกเขาถนนธงชัย ตะนาวศรี เทือกเขาบรรทัด สันกาลาคีรี ฯลฯ

ซากสัตว์ป่า อย่างเสือโคร่ง รวมทั้งไม้พะยูง มีมูลค่าสูงราวกับทอง

การคุกคามสัตว์ป่าและแหล่งอาศัยพวกมันจึงไม่เคยยุติ

สืบ นาคะเสถียร ทำความตั้งใจของเขาสำเร็จ

ผู้คนจำนวนมากร่วมรับรู้ และร่วมมือปกป้องสัตว์ป่าและแหล่งอาศัย

ในงานชิ้นนั้น ผมจบไว้ว่า

“เสียงปืนนัดนั้น เงียบไปนานแล้ว ทว่า สำหรับคนจำนวนหนึ่ง เสียงปืนนัดนั้นไม่เคยจางหาย

แต่กลุ่มคนที่สืบต้องการบอก ไม่เพียงจะไม่ได้ยิน ดูเหมือนพวกเขาไม่เคยรู้ว่ามันเคยเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ”

ทุกปี จะมีงานรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร

ทั้งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง และในกรุงเทพมหานคร

ในงานรำลึก 26 ปี สืบ นาคะเสถียร ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปีนี้ได้นำเรื่องราวการอพยพสัตว์ป่าออกจากบริเวณซึ่งถูกน้ำท่วมแหล่งอาศัย อันเป็นผลจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากสารคดีชุด “ส่องโลก” ของ โจ๋ย บางจาก

ทุกคนได้เห็นความมุ่งมั่นเอาจริงของผู้ชายคนหนึ่ง

มีผู้คนล้นหลามในห้อง

กว่า 80% เป็นคนหนุ่มคนสาวที่ “ไม่ทัน” และเกิดภายหลังการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร

แต่พวกเขารับรู้ และเข้าใจกับสิ่งที่สืบพยายามบอก “งานช่วยเหลือสัตว์ป่า เป็นงานที่ล้มเหลวไม่เพียงเพราะจะช่วยสัตว์ป่าให้รอดพ้นจากการจมน้ำตายไม่ได้ทั้งหมด แต่ความล้มเหลวจริงๆ คือการทำลายแหล่งอาศัยของพวกมัน”

10 กันยายน พ.ศ.2559

งานรำลึก 26 ปี สืบ นาคะเสถียร

เสือยืดคอกลมสีขาวเนื้อผ้าธรรมดาๆ ด้านหน้ามีรูปวาดเป็นรูปนกเงือกหัวแรด

ขายได้ในราคาหนึ่งหมื่นบาท

ผู้ซื้อไป คือ สุภาพสตรีท่านหนึ่ง สุภาพสตรีท่านนี้ไม่ได้ต้องการเสื้อยืดเพื่อสวมใส่

แต่เธอ “ซื้อ” เพื่อต้องการส่งเงินให้ “มืออาชีพ” โดยผ่านกลุ่มคนที่ทำงานให้มืออาชีพเหล่านี้

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก นำโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ศึกษางานวิจัยนกเงือกในเมืองไทยมายาวนาน ไม่เพียงงานวิจัย งานสำคัญที่มูลนิธิทำบริเวณเทือกเขาบูโด ที่ปรับเปลี่ยนวิถีคนผู้ล้วงลูกนกเงือกในโพรงไปขาย เปลี่ยนมาเป็นคนดูแลนก ให้มีโอกาสได้เติบโตก็ดำเนินมายาวนานเช่นกัน

จากการศึกษาพบว่า เหล่านกเงือกคือผู้ทำหน้าที่ปลูกป่าอย่างได้ผล

พวกมันคือมืออาชีพ

และนี่คือวิธีการที่ง่ายที่สุด สำหรับคนผู้ใช้วิถีชีวิตปกติธรรมดา อยู่ในเมืองอันวุ่นวาย

คือ สนับสนุนให้มืออาชีพได้ทำงาน

โดยผ่านทางคนผู้ทำงานเพื่อดูแลให้พวกมันได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

นับตั้งแต่เสียงปืน 11 ม.ม. ดังขึ้นในบ้านพักหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ.2533

ถึงวันนี้ หนึ่งกันยายน ผ่านมาแล้ว 26 ปี

โลกเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยี

คนจำนวนมากรู้ดีว่า ป่าและสัตว์ป่ามีความสำคัญและเกี่ยวข้องกันเช่นไร

มีทางเลือกมากมายในการจัดการกับน้ำ หรือพลังงาน

การปรับเปลี่ยนพื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของชีวิตในป่า คือสิ่งอันไม่สมควรกระทำ

คนจำนวนมากรับรู้

กระนั้นก็เถอะ ความคิด หรือนโยบาย ก่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่เคยยุติ

ผ่านมาแล้ว 26 ปี

ข้อความที่ สืบ นาคะเสถียร พยายามส่งให้กลุ่มคนที่เขาอยากบอก

ยังเดินทางไปไม่ถึง