ต่างประเทศ : บททดสอบที่ยากที่สุดของทรัมป์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ปรากฏตัวในห้องแถลงข่าวของทำเนียบขาวโดยไม่ประกาศล่วงหน้าเมื่อค่ำวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่ด้วยเหตุผลที่ดี

ทรัมป์และเฮอร์เบิร์ต เรย์มอนด์ แม็กมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเขาเพิ่งจะพบปะกับผู้แทนระดับสูงของเกาหลีใต้ที่ถือจดหมายจากคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือมาส่งให้เมื่อช่วงบ่ายวันนั้น

จดหมายฉบับดังกล่าวเป็นคำเชิญของคิมที่จะพบปะกับทรัมป์โดยเร็วที่สุด และทรัมป์ตอบรับอย่างทันท่วงที เขาไม่มีทางเลือก หากเขาไม่ตอบรับ โลกจะต้องอยู่ในสภาพที่อาจจะดิ่งลงสู่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามความขัดแย้งทางด้านนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุด แต่ยังคงมีเส้นทางซับซ้อนก่อนหน้าที่จะได้เห็นจุดสิ้นสุดของภัยคุกคามนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีและที่อื่นๆ

การตอบรับคำเชิญของทรัมป์หมายถึงการพลิกกลับของคำขู่และการกล่าวร้ายที่ทรัมป์ได้สาดเข้าใส่ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งดูเหมือนเขาจะเชื่ออย่างสุดหัวใจมาตลอดจนกระทั่งบัดนี้

และนั่นจำเป็นต้องใช้ความอดกลั้นที่ไม่ใช่ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของเขาอย่างถึงที่สุด

 

จดหมายจากคิม จอง อึน ระบุข้อเสนอธรรมดาๆ นั่นคือจะยับยั้งโครงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และมิสไซล์ชั่วคราวก่อนหน้าการพบปะหารือกันระหว่าง 2 ผู้นำ ซึ่งอาจมีขึ้นโดยเร็วที่สุดในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ยังอยู่ห่างไกลย่างก้าวไปสู่การล้มเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ หรือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ออกจากคาบสมุทรเกาหลี

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือแรงจูงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของทางฝั่งเกาหลีเหนือ และเงื่อนไข ข้อจำกัดที่อาจยังหลงเหลืออยู่ในทำเนียบขาว ว่าจดหมายฉบับนี้อาจเป็นความพยายามที่จะบรรเทาความหนักหน่วงของการคว่ำบาตรที่จ่อคอหอยของเกาหลีเหนืออยู่

ชัดเจนว่าข้อเสนอของเกาหลีเหนือที่จะพบกับทรัมป์ “เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ชี้ให้เห็นถึงความเร่งด่วน และบอกใบ้ถึงแรงจูงใจอื่นๆ ของคิมที่ก่อนหน้านี้เพิ่งจะคุยโวโอ้อวดถึงการโจมตีเป้าหมายทุกแห่งบนแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐด้วยมิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์

หรือข้อเสนอดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่หลักแหลมของเกาหลีเหนือในการแยกสหรัฐออกจากเกาหลีใต้และพันธมิตรของสหรัฐชาติอื่นๆ ซึ่งหลายๆ ประเทศแสดงความกังขาต่อย่างก้าวของทรัมป์

 

หากกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ล้มเหลว คำตำหนิติติงจะถูกโยนมาที่วอชิงตันมากกว่าเปียงยาง และเป็นไปได้ว่าจะมีการผ่อนคลายการคว่ำบาตรเกิดขึ้น

บางทีคิม จอง อึน อาจมั่นใจแล้วว่าเขาได้รับความรู้ด้านอาวุธนิวเคลียร์ตามที่ต้องการเพียงพอแล้ว โดยเชื่อว่าสามารถประกอบหัวรบนิวเคลียร์เข้ากับจรวดที่สามารถใช้งานได้ และนี่เป็นช่วงเวลาที่ต้องซื้อเวลาเพื่อให้อาวุธดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการผลิต ทำให้เขามีอำนาจด้านอาวุธนิวคลียร์ในการต่อรองมากกว่าในปัจจุบันนี้

แต่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว คิมอาจเชื่อว่านี่เป็นเวลาที่เขาจะพิสูจน์ตนเองในฐานะผู้นำโลกในระดับเดียวกันกับทรัมป์ การประชุมสุดยอดที่เท่าเทียมกันซึ่งอาจไปไกลกว่านั้น และทั้งหมดนี้เป็นไปในทิศทางที่ทรัมป์อ้าแขนรับทั้งหมด

ถึงอย่างนั้นก็ตาม นี่เป็นโอกาสที่เป็นประวัติศาสตร์ และทรัมป์รักที่จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นคนแรก ไม่มีการประชุมหารือระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐและผู้นำตระกูลคิมที่ปกครองเกาหลีเหนือนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเกาหลีเมื่อ 6 ทศวรรษที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นมาก่อน

และนี่เป็นช่วงเวลาที่พิเศษ

 

อย่างแรกคือ รัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้เป็นเสรีนิยมสายพิราบที่ใฝ่หาวิธีการคลี่คลายสถานการณ์น่ากังวลที่เป็นภัยคุกคาม ซึ่งอาจทำให้ประเทศของพวกเขาหายไปจากแผนที่บนคาบสมุทรเกาหลีในสงครามความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ใดๆ ก็ตามโดยสันติ

อย่างที่สองคือ มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ด้านระหว่างสหรัฐและจีน แน่นอนว่าผู้นำจีนต้องการที่จะเห็นรัฐบาลกรุงเปียงยางหาวิธีการที่จะผ่อนคลายแรงกดดันจากรัฐบาลวอชิงตันมากกว่าที่จะให้มีการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นต่อเกาหลีเหนือที่เป็นชาติพันธมิตรของตน

อย่างไรก็ตาม ในยุคทศวรรษที่ 1980 ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการเจรจาระหว่างนักการทูตระดับสูงของสหรัฐกับสหภาพโซเวียตก่อนที่จะมีความเป็นไปได้ในการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐ และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต และการเจรจาครั้งนั้นออกแบบมาเพื่อพิจารณาสนธิสัญญาควบคุมอาวุธ ไม่ใช่เพื่อการทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดของทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งเป็นข้อเสนอที่กอร์บาชอฟเสนอและเรแกนปฏิเสธโดยทันที

ท่าทีที่เป็นประวัติศาสตร์เช่นนี้ต้องการการเตรียมพร้อมอย่างมากและความมีไมตรีอย่างลึกซึ้ง รวมถึงความอดกลั้นของทุกฝ่ายอันเป็นคุณสมบัติที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่มีใครแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

บางทีนี่อาจเป็นบททดสอบสำคัญที่สุด ซึ่งทรัมป์จำเป็นต้องผ่านให้ได้ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม