ศัลยา ประชาชาติ : อ่านปรากฏการณ์ ระเบิดเวลา “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” “ทีวีดิจิตอล” แห่คืนช่อง

พลันที่สิ้นเสียงอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ปรากฏรอยยิ้มแห่งชัยชนะของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” หรือนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ผู้รับใบอนุญาต 2 ช่องทีวีดิจิตอล ไทยทีวี และช่อง MVTV Family (Loca เดิม) ที่เคยยื่นฟ้อง “กสทช.” หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

เมื่อศาลชี้ว่า เจ๊ติ๋มมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาคืนช่องทีวีดิจิตอล โดยที่ กสทช. คืนแบงก์การันตีที่วางค้ำประกันการชำระเงิน ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไป รวมๆ แล้วราว 1,500 ล้านบาท

ถือเป็นการพลิกล็อกกันแบบสุดๆ เพราะย้อนหลังกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ในวันที่ “เจ๊ติ๋ม” ประกาศปิดช่องให้จอดำ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 และระบุว่าจะไม่จ่ายเงินประมูลงวดที่เหลือ “กสทช.” เป็นฝ่ายสำทับทันควันว่า ยังไงๆ เจ๊ติ๋มก็ต้องจ่ายให้ครบ

 

ในคำพิพากษาศาลปกครองกลางระบุถึงเหตุผลที่การบอกเลิกสัญญาของไทยทีวีชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กสทช. ไม่สามารถทำตามประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิตอลในหลายๆ ประเด็น

ทั้งการแจกคูปองส่วนลด สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลให้ประชาชนที่ล่าช้ากว่ากำหนดไปถึง 6 เดือน ขณะที่การแจกคูปองก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจวิธีการ เกิดความสับสน ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนสู่ระบบทีวีดิจิตอลเท่าที่ควร

รวมถึงการขยายโครงข่ายทีวีดิจิตอลไม่ครอบคลุมตามแผน ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนจำนวนผู้ชม ค่าเช่าช่วงเวลา และอัตราค่าโฆษณา

คำพิพากษาระบุว่า กสทช. ต้องคืนหนังสือค้ำประกันที่บริษัทวางไว้สำหรับเงินประมูลงวดที่ 3 เป็นต้นไป เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีสิทธิ์ยึดหน่วงไว้ โดยให้คืนแก่บริษัทภายใน 60 วันนับจากคดีถึงที่สุด

สำหรับงวดที่ 1 ซึ่งบริษัทจ่ายเงินค่าใช้คลื่นความถี่ที่ใช้ให้กับ กสทช. ไปแล้ว 365.51 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และงวดที่ 2 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ชำระแทนตามหนังสือค้ำประกัน หลังถูก กสทช. ทวงถามพร้อมเบี้ยปรับ เป็นเงิน 288.472 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทยังประกอบกิจการอยู่ บริษัทไทยทีวีจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าไลเซนส์

ส่วนค่าเสียหายที่บริษัทเรียกร้องมากว่า 713 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ กสทช. จะทำให้การเปลี่ยนผ่านล่าช้า แต่ไม่ใช่เหตุหลักที่ทำให้บริษัทขาดทุน แต่เป็นธรรมดาของการประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันของจำนวนสถานีโทรทัศน์ที่มากขึ้นและผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจาก กสทช. ได้

สำหรับคำขออื่นๆ ที่บริษัทขอให้ อาทิ ให้ศาลสั่งให้การประมูลทีวีดิจิตอลเป็นโมฆะทั้งหมด ศาลพิเคราะห์แล้วให้ยกคำขอทั้งหมด

 

ฝั่งของ “กสทช.” แม้เลขาธิการอย่าง “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” จะน้อมรับในคำตัดสิน แต่ยังติดใจเรื่องประเด็นที่ศาลระบุว่า กสทช. ขยายโครงข่ายแพร่ภาพทีวีดิจิตอล (MUX) ล่าช้า โดยย้ำหลายครั้งในการแถลงข่าวด่วนหลังศาลพิพากษาว่า “การขยาย MUX ไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. แต่เป็นหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต MUX” ซึ่งหากบอร์ด กสทช. ตัดสินใจจะยื่นอุทธรณ์ ก็ยังไม่ต้องส่งคืนแบงก์การันตี

ทว่า คำพิพากษานี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการทีวีดิจิตอลอีกครั้ง จากการชี้ขาดว่าเจ้าของช่องทีวี “มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา” ได้ แถมไม่ต้องจ่ายเงินประมูลส่วนที่เหลือ

แม้แต่เลขาธิการ กสทช. ยังระบุว่า “นี่คือการผ่าทางตัน” เพราะที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายช่องอยากคืนใบอนุญาต คืนช่อง เลิกกิจการ แต่ไม่อยากจ่ายเงินประมูลส่วนที่เหลือ แต่ กสทช. ไม่กล้าตัดสินใจ

“เชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับผู้ประกอบการ ที่จะนำไปอ้างอิงในการแจ้งขอคืนช่องกับ กสทช.”

ส่วนการผลักดันให้ “คสช.” ใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะยังเดินหน้าต่อไป เพราะยังมีอีกหลายส่วนที่ผู้ประกอบการต้องการให้ช่วยเหลือ อาทิ การขอพักการจ่ายเงินประมูล การขอสนับสนุนเงินค่าเช่าโครงข่าย ซึ่งเป็นประเด็นที่ คสช. ต้องประเมินความเหมาะสมอีกครั้ง

 

ในส่วนแวดวงผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล มีหลายช่องระบุว่าคำพิพากษานี้เป็นสัญญาณที่ดีให้กับวงการ

“เขมทัตต์ พลเดช” ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท กล่าวว่า ถือเป็นกรณีศึกษาของธุรกิจทีวีดิจิตอล ซึ่งก่อนนี้ก็มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 10 ช่องยื่นฟ้อง กสทช. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลไปแล้ว แต่จะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถคืนช่องได้หรือไม่ คงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย

ทั้ง MCOT และ MCOT Family ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะคืนช่องใดหรือไม่

ขณะที่ MONO 29 ซึ่งเรตติ้งคนดูอยู่หัวแถวมาตลอด “นวมินทร์ ประสพเนตร” ผู้ช่วยประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.โมโน เทคโนโลยี ระบุว่า ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ ที่จะช่วยปลดล็อกให้กับช่องที่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไป ซึ่งจะทำให้ภาพรวมธุรกิจทีวีดิจิตอลกลับเข้าสู่กลไกตลาดที่ดีมานด์กับซัพพลายสมดุลกัน

แต่กับผู้ที่เคยเข้าประมูลช่องทีวีดิจิตอลและพ่ายแพ้ไปก่อนหน้านี้ ประชดประชัน … ถ้ารู้ว่าผลจะออกมาแบบนี้ ตอนนั้นคงเคาะเสนอราคาสูงๆ เพื่อเอาให้ชนะไว้ก่อน

พอทำแล้วขาดทุน ค่อยบอกเลิกสัญญาทีหลัง!!!

ต้องดูกันต่อไปว่า ชัยชนะหนนี้ของ “เจ๊ติ๋ม” จะเป็นแรงกระเพื่อมให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในแง่มุมใดบ้าง แม้ว่ากรณีของ “เจ๊ติ๋ม” จะยังไม่สิ้นสุด จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาออกมา เพราะที่ผ่านมา มีบ่อยๆ ที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นกับศาลสูงจะพลิกกลับไปคนละทาง