ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 มีนาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | มองไทยใหม่ |
ผู้เขียน | นิตยา กาญจนะวรรณ [email protected] |
เผยแพร่ |
รูปการเขียน VS การออกเสียง
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คำบางคำอย่างคำว่า ฉัน จะเขียนเป็น ชั้น ตามเสียงพูดได้หรือไม่ เพราะจะให้ความรู้สึกว่าเป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ทำบทบรรยายใต้ภาพ (subtitle)
บางคนก็ให้ข้อสังเกตว่า เคยได้ยินทั้ง [ฉัน] และ [ชั้น] ในชีวิตประจำวัน
บางคนเล่าว่า คุณทวด คุณตา คุณปู่ คุณย่า คุณยาย และคนสูงวัยบ้านยังพูดว่า [ฉัน] อยู่
บางคนเล่าว่า คนราชบุรี ออกเสียงคล้ายๆ [ฉ้าอั๋น]
บางคนเล่าว่า คนโคราช พูดว่า [ฉัน] ชัดมาก
บางคนวิจารณ์ว่า คนกรุงเทพฯ ออกเสียงคำที่มีตัวเขียนระบุเสียงจัตวาอย่าง ไหม ฉัน หรือ เป็นเสียงตรี กลายเป็น [มั้ย] [ชั้น] [รื้อ]
บางคนให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นผู้หญิงพูด แล้วเขียนว่า ชั้น ก็พอรับได้ แต่ถ้าเป็นผู้ชายพูด แล้วเขียนว่า ชั้น จะ “ดูเป็นเกย์” ไป
บางคนก็ว่า ผู้ใหญ่มักจะพูดกับคนที่เด็กกว่าว่า “ฉันอย่างนู้น ฉันอย่างนี้”
ความขัดแย้งระหว่าง “ภาษาเขียนกับภาษาพูด” หรือ “รูปการเขียนตามที่กำหนดไว้ในพจนานุกรม” กับ “การออกเสียงจริงของมนุษย์” นั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานในหมู่ผู้ใช้ภาษาทั่วไป แต่สำหรับนักภาษาศาสตร์แล้วเป็นเรื่องที่อธิบายได้
คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ก็เคยเขียนถึงเรื่องทำนองนี้ไว้แล้วหลายครั้ง ดังเช่น เรื่อง “คำบรรยาย กับ บทบรรยายใต้ภาพ” ซึ่งเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖ กับเรื่อง “ฉัน VS ชั้น” และ “เขา VS เค้า” ซึ่งเผยแพร่ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๗
โดยสรุปก็คือ คำอย่าง ฉัน และ เขา เป็นรูปการเขียนที่กำหนดไว้ในพจนานุกรม เพื่อให้เป็นตัวกลางในการสื่อสารด้วยตัวหนังสือในหมู่คนที่ออกเสียงต่างกันเป็น [ชั้น] หรือ [เค้า] โดยไม่มีการตัดสินว่าใครผิดใครถูก ทั้งนี้เพราะภาษาพูดมาก่อนภาษาเขียน คำคำเดียวกันในภาษาเดียวกันอาจจะออกเสียงต่างกันได้ ถ้าทุกคนเขียนตามที่ตนเองออกเสียง การสื่อสารด้วยตัวเขียนก็คงจะมีปัญหา
อันที่จริงรูปการเขียนก็ขึ้นอยู่กับการออกเสียงของผู้ใช้ภาษาในแต่ละยุคเช่นกัน ตัวอย่าง คำว่า เปน ในเอกสารโบราณ ไม่มีไม้ไต่คู้กำกับ ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าในช่วงนั้นเป็นเสียงยาวหรือเสียงสั้น แต่ผู้ใช้ภาษาในปัจจุบันพร้อมใจกันออกเสียงคำนี้เป็นเสียงสั้น คำที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมจึงมีไม้ไต่คู้กำกับเป็น เป็น
คำอย่าง ง่อกแง่ก ล่อกแล่ก ว่อกแว่ก ก็เปลี่ยนรูปการเขียนไปตามการออกเสียงของผู้ใช้ภาษาในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนรูปการเขียนไปตามการออกเสียงนี้มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าผู้ใช้ภาษาไทยทั้งหมดยังออกเสียงไม่เหมือนกัน รูปการเขียนที่เป็นกลางก็ยังคงอยู่ เช่น ได้ ไต้ ใต้ ไม้ ไห้ ไหว้ ซึ่งรูปเขียนระบุเสียงสั้น แต่บางครั้งก็ออกเสียงยาว
แม้แต่คำยืมที่รูปการเขียนติดอยู่ในภาษาแล้วก็เปลี่ยนได้ยาก เช่นคำอย่าง ก๋วยเตี๋ยว กวยจั้บ ก็ยังไม่เปลี่ยน เพราะยังมีคนพูดทั้ง [ก๊วยเตี๋ยว] [ก๊ะเตี๋ยว] [กุ๊ยเตี๋ยว] [ก้วยจั้บ] [ก๋วยจั๊บ]
ทั้งนี้ รวมทั้งคำที่เขียนด้วย ร เรือ แต่มีบางคนออกเสียงเป็น ล ลิง เช่น รัก รับ ราว ที่มีคนออกเสียงเป็น [ลัก] [ลับ] [ลาว] และคำที่เขียนรูปควบกล้ำ แต่บางคนออกเสียงแบบไม่มีเสียงควบกล้ำ เช่น ครับ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ที่มีคนออกเสียงเป็น [คับ] [ปับปุง] [เปี่ยนแปง]
ที่สำคัญก็คือ รูปการเขียนของคำบางคำปรากฏอยู่ในเอกสารอย่างกฎหมาย แบบเรียน ฯลฯ ถ้าไปเปลี่ยนเข้าอาจจะมีปัญหาตามมาอย่างมากมาย
ในกรณีของการเขียนบทบรรยายใต้ภาพ เพื่อแสดงความรู้สึก ก็คงต้องพิจารณากันเป็นกรณีๆ ไปว่าเหมาะสมหรือไม่
อย่าลืมว่า รูปการเขียนสื่อด้วยรูป มิได้สื่อด้วยเสียง ถ้าเขียนตามเสียง อาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจไม่ตรงกันก็ได้