ประจักษ์ ก้องกีรติ : ความหวัง-อุปสรรคของ’พรรคการเมืองใหม่’ สิ่งที่เพื่อไทย – ปชป. – นอมินีทหารต้องปรับตัว!

“เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากๆ แม้แต่คนที่เขาเกี่ยวข้อง เขาก็คงไม่คิดว่าจะมีกระแสได้เร็วและแรงขนาดนี้ นี่แค่ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากมีการประกาศตัวเพียงแค่อาทิตย์กว่าๆ แต่กระแสแรงขนาดนี้ มันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่างในการเมืองไทย ผมคิดว่าคนมีความรู้สึกว่าต้องการทางเลือกใหม่ๆ จริงๆ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จะมีนโยบายรูปธรรมอย่างไร แต่พอมีคนเปิดตัวออกมาแล้วดูมีศักยภาพ มีแนวคิดที่น่าสนใจ กระแสตอบรับมาอย่างรวดเร็วทั้งในทางบวกและทางลบ คือถ้าคนไม่ได้คิดว่าพรรคนี้มีศักยภาพ กระแสวิจารณ์ก็จะไม่แรงขนาดนี้ ไม่งั้นคนก็คงมองเป็นแค่พรรคไม้ประดับ ไม่มีคนสนใจ แบบที่ก่อนหน้านี้ที่มีการไปจดทะเบียนกัน 40 กว่าพรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นพรรคที่โลกลืมไปแล้ว คนจำไม่ได้ แต่ปรากฏการณ์นี้ ผมว่ากระแสทั้งในทางสนับสนุนและวิจารณ์ที่ออกมามันสะท้อนว่าสังคมไทยต้องการทางเลือกใหม่”

มุมมองของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่มีต่อปรากฏการณ์ของการเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ภายใต้การนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล

รศ.ดร.ประจักษ์มองว่า ในแง่ตลาดการเมือง พรรคใหม่นี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง ด้วยกระแสตอบรับและมีคนรู้จัก ด้วยการโยนและนำเสนอทางเลือกสู่สังคม แล้วมันจะทำให้ฝ่ายต่างๆ ต้องปรับตัวเอง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องปรับตัว เมื่อมีพรรคการเมืองหนึ่งประกาศตัวออกมามีแนวทางการเมืองหลายอย่างซึ่งในสายตาของคนรุ่นใหม่ขณะนี้ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้ากว่าพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ

“ที่สำคัญคือไม่ได้มีชนักติดหลัง เป็นคนใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน ไม่เคยลงสู่สนามเลือกตั้งมาก่อน และมีฐานเสียงเดียวกัน”

“ขณะเดียวกัน ฝั่งของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ผมคิดว่าเขาก็ต้องจับตาดู และต้องปรับตัวเช่นกัน สมมุติถ้าเราดูจากแนวโน้มจะมีพรรคหลายพรรคที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุนผู้มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ได้กลับมาสืบทอดอำนาจต่อ เป็นพรรคนอมินีทหาร พรรคเหล่านี้ตอนนี้ก็เจอคู่แข่งใหม่ หรือพรรคกลางๆ ที่ตั้งขึ้นมาที่จะจับเสียงของพลังเงียบ พรรคใหม่ของคุณธนาธรก็ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ฐานเสียงตรงนี้เหมือนกัน คนที่เบื่อหน่ายการแบ่งขั้วการเมืองแบบเก่าๆ ซึ่งพลังเงียบทางสังคมไทยก็มีอยู่ไม่น้อยในแต่ละการเลือกตั้งมีอยู่ 3-5 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ ที่ไม่ได้ปักใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง ฉะนั้น ผมคิดว่าการลงสู่สนามการเมืองของพรรคใหม่อย่างนี้ มันทำให้ฝ่ายต่างๆ ต้องปรับตัว”

ส่วนการกล่าวหาด้วยข้อหาต่างๆ ตามที่มีการนำมาโจมตีคุณธนาธร-อ.ปิยบุตร นั้น รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า “ผมมองว่าเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ การเมืองไทยถ้าย้อนไปดูจะมีการกล่าวหาด้วยข้อหาลักษณะนี้มาโดยตลอด ซึ่งไม่ต้องมาสู้กันด้วยนโยบาย ไม่ต้องสู้กันด้วยผลงาน คุณไม่ชอบใครคุณอยากตัดทางการเมืองใหม่ๆ ไม่ให้เกิดได้คุณก็โยนข้อหานี้ไปเลย”

“แต่ผมมองว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะ มาถึงปัจจุบันที่คนต้องการทางเลือกใหม่ๆ จริงๆ ผมมองว่าคนจำนวนมากในสังคมที่เป็นพลังเงียบที่มองว่าสังคมหยุดนิ่งมานานต้องการความเปลี่ยนแปลง คนต้องการออกไปจากสภาวะนี้ที่การเมืองก็ไม่ไปไหน เศรษฐกิจก็ไม่ไปไหน การศึกษาก็ถดถอย ตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยในโลก ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน คนมองอนาคตด้วยความกังวล ผมไม่คิดว่าการกล่าวหาโจมตีแบบเก่าๆ มันจะปลุกขึ้น จะจุดติดขึ้น”

“ผมว่าคนก็เบื่อหน่ายแล้วในการโจมตีแบบนั้นด้วยข้อหาที่เลื่อนลอยและมันไม่ได้มีการถกเถียงกันในเชิงนโยบายความคิดอะไรเลย”

หมายเหตุ นี่เป็นเพียงบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่ง ที่สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 7 มี.ค.61 ติดตามอ่านเต็มๆได้ในมติชสุดสัปดาห์ ฉบับ1961 วางแผง16มี.ค.นี้ และ เต็มๆที่ www.matichonweekly.com เร็วๆนี้