เกษียร เตชะพีระ : ทรัมป์กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

“สหรัฐไม่ได้กำลังสูญเสียการนำโลกไปนะครับ ทว่า กำลังสละมันทิ้งต่างหาก ไม่ได้แม้แต่กำลังขายมันด้วยซ้ำ ดูเหมือน โดนัลด์ ทรัมป์ จะเห็นว่า ถ้าจีนตีตั๋วฟรีได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้มั่งล่ะ? แต่ปัญหาอยู่ตรงสหรัฐตัวใหญ่เกินไป ถ้าสหรัฐตีตั๋วฟรี รถเมล์ก็จะถึงแก่พังทลายลง บางทีทางออกดีที่สุดคือให้จีนช่วยสหรัฐขับรถเมล์ซะ ฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดคือปล่อยให้จีนขับรถขณะจีนเองยังไม่พร้อม ทำแบบนั้นมันต้นทุนสูงเกินไปและจีนเองก็ยังไม่มีประสบการณ์พอ บรรดามหาวิทยาลัยของจีนไม่มีเวลาพอที่จะฝึกฝนอบรมนักวิชาการในเรื่องต่างๆ ที่จีนถูกคาดหมายให้ช่วยเป็นต้นหนตอนนี้ ในอดีต โลกภายนอกอยู่ไกลมากๆ เลย ทว่า ตอนนี้มันอยู่ประชิดยิ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วเกินกว่าที่จะย่อยได้ทัน”

เจี่ยชิ่งกั๋ว คณบดีคณะการทูตแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

“จีนไม่ได้กำลังหาทางเข้าแทนที่เราในตำแหน่งเดียวกันทำนองประธานดาวเคราะห์โลกนะครับ พวกเขาไม่มีเจตนาจะเลียนแบบสหรัฐเพื่อเข้ามาเป็นผู้จัดสนองสิ่งดีมีประโยชน์ในระดับโลกหรืออนุญาโตตุลาการผู้สะสางหลักการสากลหรือกฎระเบียบทั่วไปให้”

แดเนียล รัสเซล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่ทั้งฝ่ายจีนและสหรัฐต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจีนคงไม่สามารถเข้าสวมบทเอกอัครอภิมหาอำนาจโลกแทนสหรัฐได้ในเร็ววัน เพราะจีนยังประสบปัญหาภายในต่างๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าอุปสรรคทางเศรษฐกิจ และระบบการเมืองที่จำกัดจำเขี่ยเสรีภาพทางการพูด ศาสนาและอินเตอร์เน็ตในประชาสังคมเกินไปจนส่งผลกดดันเบียดขับบรรดานักคิดชาวจีนที่กล้าหาญและหัวใสทางธุรกิจที่สุดให้ออกจากประเทศ

ระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบ “ควบคุมาธิปไตย” (control-cracy) ของลุงสีจิ้นผิง (www.matichonweekly.com/column/article_78296) อาจเป็นที่ริษยาหลงใหลได้ปลื้มอยากเอาอย่างของเผด็จการรุ่นอาตี๋บางประเทศ (www.matichon.co.th/news/103564) แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปในโลกแล้ว ก็หาได้พลอยเคลิบเคลิ้มไปด้วยไม่

และถึงแม้จีนจะชู “ทางออกแบบจีน” [การเมืองอำนาจนิยม + เศรษฐกิจเสรีนิยม] หรือนัยหนึ่ง [การเมืองปิด + ตลาดเปิด] เร่ขายชาวโลก แต่จีนก็ยังหาได้นำเสนอทางออกที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมสำหรับปัญหาใหญ่ๆ ของโลกไม่

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัย สงครามกลางเมืองในซีเรีย หรือภัยขีปนาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ

ส่วนหนึ่งเพราะการผงาดขึ้นเป็นผู้นำโลกนั้นต้องเสียค่าโสหุ้ยแพง คือต้องเรียกร้องให้ประชาชนชาติตนยอมเสียสละเพื่ออุทิศคุณูปการให้คนชาติอื่นได้อยู่ดีมีสุข หรือแม้แต่ส่งทหารหาญไปเสี่ยงตายไกลบ้านตน

ดังปรากฏว่าในปี ค.ศ.2015 เมื่อสีจิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะยกเลิกหนี้สินพร้อมทั้งเพิ่มความช่วยเหลือรวมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐแก่นานาชาติแอฟริกัน ก็มีเสียงบ่นว่าตัดพ้อในจีนเองว่าประเทศเรายังไม่รวยพอจะขี้ตามช้างอย่างนั้น

สภาพการณ์พิกลที่ “ทรัมป์กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง…แต่จีนเองยังไม่พร้อมจะยิ่งใหญ่เข้าแทนที่อเมริกา” ทำให้เกิดการประเมินสถานการณ์โลกที่ผิดแผกฉีกแนวกันออกไป กล่าวคือขณะที่เสียงกระแสหลักมองว่าโลกกำลังเข้าสู่สภาพ “สองขั้วอำนาจ” (bipolar ได้แก่ อเมริกากับจีน อาทิ Benjamin Zawacki, Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China, 2017, p.7)

แต่ ริชาร์ด ฮาสส์ ประธานสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ อันเป็นสถาบันคลังสมองด้านนโยบายต่างประเทศสำคัญของสหรัฐ กลับมองว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคไร้ขั้ว (an age of nonpolarity) ที่ปราศจากประเทศใดเป็นผู้นำโลกชัดเจน มีแต่มหาอำนาจชาตินิยมทั้งหลาย ไม่ว่าจีน สหรัฐ รัสเซีย ซึ่งต่างต้องเผชิญและประชันขันแข่งกับกลุ่มข้ามพรมแดนไร้รัฐทุกประเภทเฉดสี ไม่ว่าแพทย์ไร้พรมแดนเอย เฟซบุ๊กเอย กลุ่มรัฐอิสลามเอย หรือบรรษัทเอกซอนโมบิลเอย เป็นต้น

ขณะที่ ชีฟชันการ์ เมนอน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย มองว่า เอาเข้าจริงโลกกำลังย้อนกลับจากยุคโลกาภิวัตน์ที่ดูเหมือนมีเอกภพ (universe) แบบเดียวกันหมดครอบโลก ไปสู่ภาวะเอนกภพหรือพหุภพ (multiverses) แยกต่างหากจากกันซึ่งเอาเข้าจริงเป็นแบบแผนบรรทัดฐานที่ดำรงอยู่มาในประวัติศาสตร์มากกว่า

อย่างเช่นยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า ผู้คนต่างอยู่ในโลกแตกต่างกันทางการเมืองและวัฒนธรรมหลายใบโดยพื้นฐาน และมาปฏิสัมพันธ์กันแบบจำกัดจำเขี่ยใต้การควบคุมมากด้วย

ดังนั้น ภาวะเอกภพใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ผ่านมาซึ่งผู้คนสามารถฟังเพลงเดิมๆ แบบเดียวกันของตัวผ่าน iTunes ที่ไหนก็ได้ในโลก แทนที่จะลองฟังเพลงแปลกใหม่ในแต่ละที่ๆ เดินทางไป อันที่จริงจึงเหมือนฟองสบู่ส่วนตัวที่เป่าป่องขึ้นด้วยเทคโนโลยีซึ่งแต่ละคนสร้างขึ้นล้อมรอบตัวเองแล้วเรียกมันว่า “โลกาภิวัตน์”

ทั้งที่ถ้ามองในทางประวัติศาสตร์แล้ว เอกภพทางการเมืองและวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นภาวะหายากและผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนมากกว่า

เมนอนเชื่อว่าสหรัฐจะคงความน่าเชื่อถือและการนำระดับโลกไว้สืบต่อไป สหรัฐเป็นมหาอำนาจเดียวที่เขารู้จักซึ่งสามารถหักเลี้ยวหันหัวเรือเปลี่ยนทิศทางในภาวะคับขันได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบวิจารณ์ตัวเอง

ตอนสหรัฐบุกอิรัก ผ่านไปแค่สองปี ก็มีผู้คนในระบบการเมืองสหรัฐเองออกมาไต่ถามแล้วว่า “เฮ้ย นี่เรากำลังทำถูกหรือเปล่าวะ?”

ในชั่วชีวิตของเมนอน เขาได้เห็นสหรัฐพลิกตัวเปลี่ยนทิศมา 3 ครั้งแล้ว คือในช่วงสงครามเวียดนามปี ค.ศ.1968, ช่วงปลายสงครามเย็นคริสต์ทศวรรษที่ 1980, และหลังวิกฤตซับไพรม์ปี ค.ศ.2008

ดังนั้น ปัญหาที่อเมริกาเผชิญพบนั้น มันมาแล้วก็จะจากไป อเมริกาน่าจะพอรับมือไหว

ขณะที่เมนอนไม่เชื่อว่าเอาเข้าจริงจีนจะเข้าไปแบกภาระรับผิดชอบต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางหรืออเมริกาใต้ได้

อย่างไรก็ตาม ข้อประเมินที่น่าสะดุดใจชวนคิดที่สุดมาจากศาสตราจารย์ชาวจีนในปักกิ่งผู้ติดตามศึกษาอเมริกามานานปีคนหนึ่ง เขาเคยปลาบปลื้มชื่นชมลัทธิพหุนิยมทางวัฒนธรรม (multiculturalism) ของอเมริกาและหวังว่ามันจะใช้ได้ในจีนบ้าง

แต่พอการเมืองแบบประชานิยมรุ่งเรืองขึ้นในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ เขาก็รู้สึกใจฝ่อห่อเหี่ยว เพราะมันสะท้อนว่าสายสัมพันธ์ดั้งเดิมแบบอเมริกันที่ผูกรัดเชื่อมโยงผู้คนหลากวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน อันได้แก่ ค่านิยมร่วมเรื่อง “เสรีภาพ” นั้นเสื่อมคลายลง และเปิดทางให้แก่การเมืองแบบได้หมดเสียหมด ไม่มีใครจริงจังจริงใจกับความเชื่อใด ผู้คนหวนกลับไปยึดติดเรื่องสีผิวเชื้อชาติ ถือผลประโยชน์ตนสำคัญเหนือแรงบันดาลใจร่วมกัน

เขาฟันธงว่าในโลกปัจจุบัน ข้อที่น่าตื่นใจไม่ใช่ความผิดแผกแตกต่าง แต่คือความละม้ายเหมือนกันระหว่างมหาอำนาจใหญ่ๆ อย่างจีน อเมริกา และรัสเซียต่างหาก กล่าวคือ ในประเทศเหล่านี้ ผู้คนพากันโกรธเกรี้ยวที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินและโอกาสอย่างมหาศาล จึงพากันหันไปฝากความหวังไว้กับผู้นำชาตินิยมที่ย้อนยุคเหลียวหลังสู่อดีต (ได้แก่ ทรัมป์, สีจิ้นผิง, ปูติน) ซึ่งปลุกระดมประชาชนของตนให้มองเห็นแต่ภัยคุกคามจากโลกภายนอก เขาสรุปว่า

“จีน รัสเซีย และสหรัฐกำลังเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งหมดต่างกำลังพยายามที่จะยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง” (www.newyorker.com/magazine/2018/01/08/making-china-great-again)

นั่นต่างหากที่น่าวิตกยิ่งในโลกปัจจุบัน