อัพเดตข้อมูลผู้ใช้ “โซเชียลมีเดีย” ล่าสุด แพลตฟอร์มไหน “แรง” แพลตฟอร์มไหน “แผ่ว”? และพัฒนาการขั้นต่อไปของ “สื่อสังคมออนไลน์”

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ “โธธ โซเชียล โอบีว็อค” บริษัทผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย ได้จัดงาน “Thailand Zocial Awards 2018” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “18+ Data is Sexy”

นอกจากจะมีการมอบรางวัลสาขาต่างๆ แล้ว ไฮไลต์สำคัญยังอยู่ที่การเปิดเผยข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทย ที่น่าสนใจในหลากหลายประเด็น อาทิ

จำนวนผู้ใช้ “เฟซบุ๊ก” ในไทยมีอยู่ 49 ล้านคน (แน่นอนว่าเป็นคนกรุงเทพฯ มากที่สุด) นับเป็นอันดับ 8 ของโลก แต่ก็เติบโตขึ้นจากปีก่อนเพียงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์

เวลาที่คนไทยเข้าใช้เฟซบุ๊กสูงสุด คือ 18.00-23.00 น. ส่วนประเภทของคอนเทนต์ที่ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากสุดสามอันดับแรก ได้แก่ วิดีโอ, รูปภาพ และลิงก์ที่เชื่อมโยงกลับไปยังเว็บไซต์ต้นทาง

สำหรับรีแอ๊กชั่นที่คนไทยนิยมกดมากที่สุด ก็คือ “รักเลย” (love) “ฮ่าๆ” (haha) และ “ว้าว” (wow)

นอกจากนี้ นโยบายลดจำนวนการเข้าถึงโพสต์ (ยอดรีช) ของเฟซบุ๊กก็เป็นสิ่งที่น่าจับตาไม่น้อย เพราะจากการเก็บสถิติช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 จะพบว่ามีแบรนด์สินค้าโพสต์สิ่งต่างๆ ลงในเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้น 52 เปอร์เซ็นต์ แต่จำนวนการมีปฏิสัมพันธ์ต่อโพสต์เหล่านั้น กลับเพิ่มขึ้นแค่ 12 เปอร์เซ็นต์

โดยเฉลี่ยแล้ว ยอดการปฏิสัมพันธ์ต่อโพสต์ลดลงไป 27 เปอร์เซ็นต์

มาที่อีกหนึ่งโซเชียลมีเดียซึ่งอยู่ภายใต้ชายคาของเฟซบุ๊กเช่นกัน อย่าง “อินสตาแกรม”

ปัจจุบัน มีคนไทยใช้อินสตาแกรม 13.6 ล้านคน นับเป็นอันดับที่ 14 ของโลก โดยเติบโตขึ้นจากปีก่อน 24 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับกรณีเฟซบุ๊ก ผู้ใช้งานไอจีส่วนใหญ่นั้นเป็นคนกรุงเทพฯ

เวลาที่มีการใช้งานสูงสุด คือ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น. (โพสต์รูปกิจกรรมท่องเที่ยว-กินอาหารช่วงสุดสัปดาห์) ขณะเดียวกัน สำรวจพบว่า การโพสต์ภาพถ่ายหลายรูปต่อเนื่องกันเป็นซีรี่ส์ (carousel) นั้นเป็นที่นิยมของชาวไทย

แพลตฟอร์มอีกเจ้าที่ถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ทวิตเตอร์”

ตอนนี้ มีคนไทยเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์อยู่ 12 ล้านคน (แอ๊กทีฟจริงๆ 5.7 ล้านคน) ถือเป็นตัวเลขที่เติบโตขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์

น่าสนใจว่า กลุ่มคนที่นิยมใช้ทวิตเตอร์คือ “วัยรุ่น” โดยเวลาที่มีการใช้งานสูงสุดนั้นอยู่ระหว่าง 20.00-01.00 น. (ตามพฤติกรรมนอนดึกของวัยทีนทั้งหลาย)

พร้อมๆ กันนั้น แบรนด์สินค้าต่างๆ ก็เริ่มหันมาทำการตลาดในพื้นที่ออนไลน์แห่งนี้หนาแน่นขึ้น ปีที่ผ่านมา มีแบรนด์โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์มากขึ้น 124 เปอร์เซ็นต์ และมีการรีทวีตคอนเทนต์ของแบรนด์เหล่านั้นเพิ่มขึ้น 101 เปอร์เซ็นต์

สำหรับ “ไลน์” ก็เป็นอีกแพลตฟอร์มที่มีคนไทยเลือกใช้งานมากถึง 41 ล้านราย โดยกลุ่มผู้ใช้บริการหลัก คือ คนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์และเจนเอ็กซ์ (ตั้งแต่ช่วงอายุ 30 กลางๆ ไล่ไปถึง 70 ต้นๆ)

หันมารับฟังแนวโน้มความน่าจะเป็นจากมุมมองของผู้ประกอบการกันบ้าง

ตัวแทนจาก “เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม” ระบุว่า ผู้บริโภคสนใจคอนเทนต์ที่มีขนาดสั้นลงเรื่อยๆ ดังนั้น ผู้ผลิตเนื้อหา/เจ้าของแบรนด์ จึงต้องสร้างชิ้นงานที่มีความคิดสร้างสรรค์มากพอ ที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ใช้งานภายในชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กยังพยายามปรับปรุงแพลตฟอร์มให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ยิ่งขึ้น (โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี) เห็นได้จากการเปิดตัวหน้า “Marketplace” ขณะที่การเติบโตของ “Instagram Stories” ก็ถูกมองว่าน่าจะเปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาทำโฆษณาได้มากขึ้น

ด้านตัวแทน “ทวิตเตอร์” ระบุว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มของตนเองมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดในโลก ได้แก่ ประเทศไทย!

กลุ่มผู้ใช้บริการหลักของทวิตเตอร์ในไทย คือ คนรุ่นอายุ 16-24 ปี ด้วยเหตุผลสองข้อ หนึ่ง คนเหล่านี้หนีผู้ใหญ่/พ่อแม่ มาจากแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ และสอง ปัจจุบัน มีบรรดา “Influencer” โดยเฉพาะผู้ทรงอิทธิพลในวงการบันเทิง ที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับแฟนๆ ส่งผลให้เกิดพลังดึงดูดวัยรุ่นจำนวนมากเข้ามายังแพลตฟอร์มแห่งนี้

ที่ผ่านมา หนึ่งในลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นของทวิตเตอร์ คือ “เทรนด์ฮิต” ที่เป็นเครื่องชี้วัดกระแสหรือประเด็นทางสังคมยอดนิยมในแต่ละวัน

ล่าสุด ทวิตเตอร์ได้ริเริ่มบริการ “Promoted Trend” ซึ่งเปิดให้มีการ “ซื้อ” ตำแหน่งอันดับหนึ่งของเทรนด์ได้ ในอัตราราคา 1.8 แสนบาทต่อวัน นับเป็นการขยับตัวที่น่าสนใจไม่แพ้ความเคลื่อนไหวของทางฝั่งเฟซบุ๊ก

ข้ามมาที่ฝั่ง “ไลน์” ซึ่งก็มั่นใจว่าการมีกลุ่มผู้ใช้บริการเฉพาะในวัย 30 อัพนั้น จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์สามารถเลือกทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ไลน์ยังมีจุดขายเรื่อง “Business Connect” ที่เป็นเครื่องมือช่วยให้แบรนด์ต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค จนสามารถจัดส่งโปรโมชั่นแบบ Personalized ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะคน ไปยังลูกค้าแต่ละรายได้

ปิดท้ายด้วยแพลตฟอร์มวิดีโออย่าง “ยูทูบ” ซึ่งสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยแล้ว ปรากฏการณ์น่าจับตา คือ การเผยแพร่คอนเทนต์ในทีวีและบนยูทูบพร้อมๆ กัน ซึ่งนำไปสู่ “แรงบวก” มากกว่าจะเป็น “ผลกระทบด้านลบ” ต่อแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง

ตัวอย่างของกรณีเช่นนี้ คือ การประสบความสำเร็จของรายการ “The Mask Singer” โดยเวิร์กพอยท์

อีกหนึ่งปรากฏการณ์น่าสนใจ คือ มีคนต่างจังหวัดใช้บริการยูทูบมากขึ้น ขณะเดียวกัน ช่องยูทูบที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง ก็คือ ผู้ผลิตเนื้อหาในกลุ่มเกม, ครอบครัว และความสวยความงาม

ในภาพรวมแล้ว ดูเหมือนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำคัญๆ จะค่อยๆ ขยับขยายบทบาทจากการเป็น “สื่อสังคม” ไปสู่การเป็นพื้นที่เชิง “พาณิชย์และการตลาด” มากขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมกันนั้น แต่ละแพลตฟอร์มก็เริ่มมีข้อมูลแน่ชัดว่ากลุ่มผู้ใช้บริการหลักของตนเองคือใคร อายุเท่าไหร่ ฯลฯ

ภาระจึงย้อนมาตกอยู่กับแบรนด์และผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ที่จะต้องประเมินว่ากลุ่มลูกค้า/กลุ่มผู้ชม/กลุ่มผู้อ่านของตนคือใคร? และพวกเขาคือกลุ่มผู้ใช้บริการของแพลตฟอร์มประเภทไหน?