คุยเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ กับ ‘อาจารย์ประวัติศาสตร์ศิลป์’ ผู้ถูก ‘จิ้น’ ว่าเป็นตัวจริงของ ‘เรืองฤทธิ์’!

จากกระแสของละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังฮิตติดลมบน ถูกกล่าวขานถึงทั่วบ้านทั่วเมืองขณะนี้ นำมาสู่การพูดคุยวิเคราะห์ละครในหลากหลายแง่มุม

นอกเหนือจากเรื่องของการแสดงและเนื้อหาที่มีความสนุกสนาน อีกมุมหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากเช่นกัน คือ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นพื้นหลังสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวของละครเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิจารณ์เกิดขึ้น
มีโอกาสได้สนทนากับ “รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง” อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งไม่เพียงติดตามชมละครเรื่องนี้ แต่ยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นคณะโบราณคดีของผู้เขียนนิยายต้นฉบับคือ “รอมแพง”

เราพูดคุยกันถึงมุมมองต่อละครดัง ในเชิงประวัติศาสตร์ ความสมจริงที่ควรจะเป็น จนถึงเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่าตัวละคร “เรืองฤทธิ์” นั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์รุ่งโรจน์นี่เอง!

: เนื้อหาละครที่ย้อนยุคมีประโยชน์อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ
ในแง่ของกระแสบุพเพสันนิวาสที่มีตอนนี้ ผมไม่เคยเห็นละครย้อนยุคไหนที่เป็นแบบนี้เลย ไม่ว่าอะไรก็ตามตรงนี้มันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือว่าประวัติศาสตร์ศิลปะ
เพราะว่าลำพังงานอย่างนักวิชาการในมหาวิทยาลัยทำ คงทราบกันดีว่าเผยแพร่ไปในวงจำกัดมาก ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของเนื้อหาที่ดูลึกไป สำหรับคนทั่วไป รวมถึงคนทั่วไปที่จะสนใจในเชิงลึกจริงๆ ก็มีอยู่น้อย
ฉะนั้น ในความคิดผม ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่เอาความรู้ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ มาใช้ มันทำให้เกิดการตื่นตัวในวงกว้าง อย่างน้อยที่สุด มันเห็นได้เลยว่าคนเริ่มฉุกคิดว่าในสมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น มันเหมือนกับเป็นการจุดประกาย
และตรงนี้เองที่ผมมองว่าถ้าคนที่เขาดูสนุกเฉยๆ เขาได้ประโยชน์ระดับหนึ่ง แต่มันอาจจะมีบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักเรียน นักศึกษาที่อาจจะไม่เคยสนใจมาก่อน เริ่มฉุกคิดว่า “โป๊ป” ในที่สุด ตัวจริงคือใครในประวัติศาสตร์ และตรงนี้ถ้าเขาไปตาม อาจจะทำให้เขาสนใจประวัติศาสตร์จริงๆ ขึ้นมา
แล้วในแง่หนึ่ง มีประโยชน์ต่อวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งจริงๆ แล้วก็คาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เพียงแต่ว่าประวัติศาสตร์ศิลปะ ศึกษาในเรื่องโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เข้าไปในเชิงลึกมากขึ้น มันก็ทำให้เห็นภาพ แบบภาพในจินตนาการของวัดไชยวัฒนาราม ที่มันขึ้นมาอย่างสวยงามเป็นกราฟิกอันนั้น นั่นคือประโยชน์ของประวัติศาสตร์ศิลปะที่ควบคู่กันไป และเห็นได้ในงานบุพเพสันนิวาสเรื่องนี้

: เรื่องคอมพิวเตอร์กราฟิกภาพวัดต่างๆ ในมุมมองคนที่ศึกษาเรื่องนี้ ผู้ผลิตละครทำออกมาได้ดีแค่ไหน เมื่อเทียบกับหลักฐานที่มีอยู่
ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์หลักของเขาคือความเป็นละคร ความเป็นบันเทิง ไม่ใช่เรื่องของงานวิจัยเชิงลึกทางวิชาการ ดังนั้น วัตถุประสงค์มันต่างกัน เลยอยู่ที่ข้อแม้ว่าด้วยบริบทหรือวัตถุประสงค์ของเขา ตรงนี้เรายอมรับได้มากแค่ไหน ซึ่งผมคิดว่าโดยรวมทำออกมาได้ดี
อย่างเช่น วัดไชยวัฒนาราม ที่ทำพระปรางค์ประธานเป็นสีทองอร่ามขึ้นมา ผมคิดว่าค่อนข้างตรงตามสมัยที่ยุคนั้นเขารุ่งเรืองอยู่ หรือแม้แต่กราฟิกที่ทำออกมาเป็นรูปพระราชวังโบราณ ที่เอาจริงๆ อย่างเราก็ไม่รู้ว่าสภาพจริงๆ ของพระมหาปราสาท สิ่งก่อสร้างต่างๆ หน้าตาจริงๆ เป็นแบบไหน ก็ใส่จินตนาการทั้งนั้น
โดยรวม ผมคิดว่าในแง่ของการสร้างเสริมจินตนาการ ให้คนคิดต่อ ให้คนไปต่อยอด ไม่มีที่จะต้องให้ติ ก็ค่อนข้างที่จะสมจริง แม้ว่าบางฉากอาจจะดูลอยๆ แต่นั่นก็แล้วแต่มุมมอง

: เวลาทำละครย้อนยุคเรื่องข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องนี้ เช่นกรณีของฟอลคอนหรือท้าวทองกีบม้า ที่คนถกเถียงถึงข้อมูลในความเป็นจริง อาจารย์มองว่าจำเป็นหรือไม่ที่ข้อมูลในละครต้องตรงตามความเป็นจริงทั้งหมด

ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งใจทำละครอิงประวัติศาสตร์เพียวๆ เลยหรือเปล่า ที่เป็นแบบสารคดี ซีเรียสขนาดนั้น ถ้าเกิดแบบนั้น จะต้องอิงกับเนื้อหาทางวิชาการสูง ซึ่งบางอย่างจะมีความคลุมเครือ ต้องแจกแจงให้หมดว่า มันมีความคิดที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เป็นแบบนี้

แต่กรณีนี้ มันเป็นเชิงละคร ถ้าเกิดทำแบบนั้น เป้าหมายในความสนุกบันเทิงก็อาจจะลดลง ถ้าเราดูว่าเขาตั้งใจทำเป็นเชิงละคร แม้จะมีตัวตนคนจริงในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ แต่เอาเข้าจริง หลายเรื่องในประวัติศาสตร์ เราเองก็ไม่ทราบว่าในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น ในตรงจุดนี้เอง ผมคิดว่ามันก็เปิดโอกาสให้คนเขียนนิยายหรือคนแต่งละคร จินตนาการเสริมเข้าไป แต่ปัญหาคือว่า เวลาคนดูละคร อย่าไปเชื่อว่าละครคือข้อเท็จจริงทั้งหมด ให้ละครย้อนยุค ย้อนประวัติศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เราค้นคว้าประวัติศาสตร์ด้วยตัวเราเองให้เราฉุกคิดว่าข้อเท็จจริง เจ้าพระยาวิชเยนทร์ใจร้ายขนาดนั้นเลยจริงหรือเปล่า ออกมาฉากแรกนี่ใจร้ายเลย หรือการะเกด ไม่มีตัวตนจริง บ้านเขาอยู่ไหน

ตอนนี้มีคนถามแล้ว ในจินตนาการของคนแต่ง บ้านของคุณโป๊ป (หมื่นสุนทรเทวา) อยู่ตรงไหน ตรงจุดนี้ผมว่าเป็นจุดดี คือคนรู้ว่าบ้านนี้จินตนาการตำแหน่งขึ้นมา แต่ในที่สุด เขาพยายามค้นหาว่ามันควรจะอยู่ตรงไหน ที่เป็นไปได้ที่สุด อยู่ตรงริมคลองแล้วเห็นวัดไชยฯ ซึ่งผมว่าตรงนี้คือจุดที่มันดี
ส่วนมันจำเป็นที่จะต้องตรงกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไหม ถ้าตรงไหนที่เป็นข้อเท็จจริงไปแล้ว ก็ควรที่จะเป็นแบบนั้น แต่บางส่วนที่คลุมเครือ บางส่วนที่เปิดโอกาสให้แปลความหมายได้ คงต้องดูว่าคือการแปลความอีกแบบหนึ่ง

: สมัยเรียนมหาวิทยาลัย อาจารย์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับผู้เขียนคือคุณรอมแพง คิดว่าบุคลิกของตัวละคร โดยเฉพาะตัวเอกคือเกศสุรางค์ มีส่วนมาจากบุคลิกจริงของคุณรอมแพงหรือไม่

ผมคิดว่ามีส่วน เพราะผมมีโอกาสได้คุยกับเขาบ้าง ตั้งแต่สมัยเริ่มเขียนนิยายใหม่ๆ เขาก็หยิบยืมเหตุการณ์จริงของเพื่อนๆ เข้าไปใส่ในละคร
หรือแม้แต่เรื่องบุพเพสันนิวาส ที่นางเอกชื่อ เกศสุรางค์ กับ การะเกด ผมว่าอาจจะมาจากชื่อเขาเอง คือชื่อ เกศินี (ปัจจุบัน-จันทร์ยวีร์ สมปรีดา) ตรงนี้ผมว่าอาจจะเป็นไปได้
และเรื่องที่สดใสร่าเริง ส่วนหนึ่งผมว่าคือบุคลิกของเขา เขาบอกว่าเวลาจะเขียนนิยาย ถ้าผู้หญิงที่เป็นนางเอก มันไม่ได้สะท้อนบุคลิกเขา คงจะเขียนไม่ค่อยได้ มันก็เลยต้องสะท้อนความเป็นของเขาออกไป

: บุคลิกของคุณรอมแพงเป็นอย่างนางเอกในละครเลย
ใช่ สนุกแบบนั้นเลย และตอนเรียน เขาก็เป็นคนอ่านหนังสือนิยายพวกนี้เยอะ

: สังคมออนไลน์ตั้งข้อสงสัยว่าตัวละครเรืองฤทธิ์ มีที่มาจากตัวจริงของอาจารย์ เนื่องจากมีความสนิทสนมและเรียนร่วมรุ่นกับผู้เขียน คงไม่ใช่ เรืองฤทธิ์คงเป็นผู้ชายในอุดมคติของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผม เพียงแต่ว่าบางคนอาจจะเห็นว่านามสกุลผม คือ ธรรมรุ่งเรือง แล้วไปจิ้นว่าเป็นเรืองฤทธิ์
แถมผมเป็นเพื่อนกันกับผู้เขียน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่คณะโบราณคดี เลยคิดว่าอาจจะเป็นเรืองฤทธิ์ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ อีกทั้งบุคลิกของเรืองฤทธิ์ในละครไม่มีส่วนคล้ายกับผม ถ้าผู้เขียนบอกว่าเรืองฤทธิ์เป็นผม คงอกแตกตายไปแล้ว

: จากกระแสของละคร ทำให้เกิดการท่องเที่ยวตามรอยไปยังโบราณสถานต่างๆ อาจารย์จะให้คำแนะนำอย่างไรให้ผู้ท่องเที่ยวได้ประโยชน์จากการตามรอยมากที่สุด
ผมคิดว่าก่อนที่คนจะไปเที่ยวตามรอย จะต้องค้นคว้าข้อมูลในอินเตอร์เน็ตแล้ว ว่ามีสถานที่ไหนบ้าง ตรงนี้เขาจะทราบประวัติอย่างคร่าวๆ แล้ว อย่างแรกสุด ก่อนที่จะไปสถานที่ใด เราสามารถค้นคว้าประวัติอย่างคร่าวๆ ความสำคัญของสถานที่นั้นเอาไว้ น่าจะเป็นหนทางที่ดี และสมัยนี้ค้นคว้าได้ง่าย ในอินเตอร์เน็ตอะไรก็มีเยอะแยะ

ประเด็นที่ 2 เมื่อไปถึง ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งเลยที่สำคัญคือเรื่องของข้อห้ามและกฎระเบียบในการเข้าชม อันนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าจะต้องให้ความสนใจเหมือนกัน เพราะตามปกติแล้วคนจะไม่ค่อยเยอะมาก แต่พอคนเยอะมาก พวกนี้มันเป็นโบราณสถาน ดังนั้น การเหยียบก็ดี การปีนป่ายก็ดี อาจจะเกิดการชำรุดสูญเสียได้
เหมือนกับเมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งมีข่าวคนปีนตัวโบราณสถาน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง

อีกประการหนึ่ง เมื่อไปมาแล้ว เกิดความประทับใจ ผมคิดว่าถ้าสนใจเพิ่มเติม ก็น่าจะศึกษาต่อยอดไปได้