การศึกษา/เจาะลึกประเด็นร้อน ‘ขรก.ศธ.’ โกงเงินกองทุนฯ เด็กตกเขียว 10 ปี 88 ล้าน

การศึกษา

เจาะลึกประเด็นร้อน ‘ขรก.ศธ.’

โกงเงินกองทุนฯ เด็กตกเขียว

10 ปี 88 ล้าน

เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม เมื่อ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาแฉพฤติกรรมข้าราชการ ศธ. 5 ราย ยักยอกเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โอนเงินค่าเล่าเรียนเด็กเข้าบัญชีตัวเอง พรรคพวกและญาติพี่น้อง กินยาวตั้งแต่ปี 2551-2561 รวม 10 ปี กว่า 88 ล้านบาท
ย้อนกลับไป กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เริ่มต้นในปี 2538 ต่อมาปี 2543 ได้งบประมาณประเดิมจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 600 ล้านบาท
ต่อมามีการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลและเงินบริจาคสบทบเข้ามาหมุนเวียน
วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น กำพร้า ยากจน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเพื่อไม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร หรือถูกล่อลวงให้ไปค้าประเวณีหรือเด็กตกเขียว
สนับสนุนการศึกษาให้เด็กที่จบมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้เรียนต่อ
เริ่มต้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และขยายให้ทุนกับสถาบันการศึกษาที่สอนด้านพยาบาล โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และกลุ่มวิทยาลัยพยาบาล
เมื่อตรวจสอบพบการทุจริต ปลัด ศธ. ได้เรียกตัวผู้เกี่ยวข้องทั้ง 5 รายมาสอบเครียด จนข้าราชการซี 8 ซึ่งดูแลกองทุนดังกล่าว รับสารภาพว่าทำจริง ส่วนอีก 4 ราย อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
โดยทางปลัด ศธ. ได้ดำเนินการแจ้งความข้าราชการซี 8 ที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ในข้อกล่าวหารับรองเอกสารเป็นเท็จหลอกลวงสำนักงานปลัด ศธ. เพื่อให้โอนเงิน และนำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวโดยการทุจริต ส่วนอีก 4 ราย อยู่ระหว่างการตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
ขณะเดียวกับ นิติการ ศธ. ยังเตรียมเสนอลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งถึงขั้นไล่ออก-ปลดออก

เมื่อสาวลงลึกลงไปยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า มีการโอนเงินเข้าบัญชีพรรคพวก ญาติพี่น้องของข้าราชการซี 8 รวม 22 ราย!
ล่าสุดปลัด ศธ. พร้อมเจ้าหน้าที่ นิติกร สำนักนิติการ ได้นำเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลเจ้าของบัญชี 22 ราย กล่าวหาเป็นผู้สนับสนุนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ในฐานะเป็นผู้รับโอนเงินจากสำนักปลัด ศธ. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอายัดทรัพย์สินและบัญชีของบุคคลดังกล่าวต่อไป
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บัญชีดังกล่าวมีเงินเข้าออกบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จึงมั่นใจว่าเจ้าของบัญชีทั้ง 22 รายมีส่วนร่วมในการกระทำผิดแน่นอน
“หลังจากมีการตรวจสอบพบว่าข้าราชการคนดังกล่าวได้ทำการโอนเงินเข้าบัญชีญาติพี่น้องมานานหลายปีแล้ว โดยเงินจะถูกโอนไปเข้าบัญชีบุคคลเป็นประจำทุกปี และจะถูกโอนไปเข้าบัญชีเดิมๆ รวม 22 บัญชี ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาก็ได้สารภาพกับผมว่า หลังจากที่โอนเงินให้ญาติไปแล้ว ญาติก็โอนเงินกลับมาให้ผู้ถูกกล่าวหา จากนั้นก็นำเงินไปทำธุรกิจต่างๆ โดยแบ่งเงินขวัญถุงให้กับเจ้าของบัญชีไปบ้าง ซึ่งเจ้าของบัญชีก็ได้ประโยชน์ด้วยเนื่องจากเป็นญาติกับผู้ถูกกล่าวหา”
นายการุณกล่าว

แว่วว่า การตรวจสอบครั้งนี้ ค้นพบโดยข้าราชการชั้นผู้น้อย จากกลุ่มตรวจสอบภายในของสำนักปลัด ศธ. ซึ่งทำการตรวจสอบบัญชีงบประมาณ 2560 ตามปกติ
แต่เกิดไปพบพิรุธจากเอกสารการจัดทำบัญชีกองทุนและรายงานการเงินประจำปีงบประมาณ 2560 พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบกองทุน คือ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัด ศธ. ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พ.ศ.2550 คือ ระบบกำหนดให้ผู้รับทุนเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคาร โดยใช้คำว่า “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของ…(ชื่อผู้รับทุน)”
แต่พบว่ามีการเปิดบัญชีในนามสถานศึกษา มีการอนุมัติจ่ายเงินให้วิทยาลัยบรมราชชนนีต่างๆ แต่ใช้หมายเลขบัญชีเดียวกัน และหลักฐานการเบิกจ่ายเงินของทุนการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่ชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่ตรงกับชื่อผู้รับทุน เฉพาะปี 2560 เป็นเงินกว่า 12,800,000 บาท
นำมาสู่การตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้พบว่ามีการยักยอกเงินทุนการศึกษาเด็กเกิดขึ้น นานถึง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2561
เป็นการโอนเข้าบัญชีส่วนตัว พรรคพวก ญาติพี่น้องถึง 88,816,640 บาท จากงบฯ 166,347,721 บาท ซึ่งโอนเข้ากองทุนนี้ ข้อมูลตั้งแต่ปี 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2561
หากพิจารณาตามขั้นตอนการจ่ายเงินกองทุน เริ่มจาก สถานศึกษาส่งรายชื่อเด็กเพื่อเสนอขอรับทุนมายังสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ข้าราชการทำรายชื่อ ระบุบัญชีส่งให้ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบ ส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนที่มีปลัด ศธ. เป็นประธาน พิจารณาว่าจะอนุมัติกี่ราย ใครบ้าง ก่อนเสนอผู้บริหารอนุมัติเห็นชอบ จากนั้นฝ่ายปฏิบัติ ได้แก่ กองคลัง สำนักอำนวยการ ของ สป.ศธ. ก็จะดำเนินการเบิกจ่ายตามขั้นตอน
ซึ่งหากขั้นตอนเป็นไปตามนี้ วิธียักยอกเงินที่น่าเป็นไปได้คือ จะต้องมีการเปลี่ยนเอกสารแนบท้ายใบขออนุมัติจ่ายเงิน ทำให้คนเซ็นอนุมัติไม่รู้ว่ามีการเปลี่ยนเอกสารก่อนถึงธนาคาร ธนาคารเองก็ไม่รู้ โอนเงินเข้าบัญชีตามเอกสาร (ปลอม)
เสร็จโจรในเครื่องแบบ!

งานนี้ทำเอา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เจ้ากระทรวงถึงกับนั่งไม่ติด
ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมตรวจสอบ
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะทำคนเดียว และให้สอบเพิ่มไปถึงคนที่เกี่ยวข้องแวดล้อม รวมถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อาจมีเป็นขบวนการ
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบปัญหาทุจริต และจะส่งทีมของนายกฯ ลงมาร่วมตรวจสอบด้วย
เหตุจากความโลภครั้งนี้ อาจถึงขั้นไปทำลายอนาคตเด็กบางคน เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ผู้ใหญ่เป็นข้าราชการ โกงได้แม้กระทั่งเงินค่าเรียนของเด็กตาดำๆ
ดีที่ผู้ใหญ่เจ้ากระทรวง และนายกฯ ให้ความสำคัญ จี้หน่วยงานให้เร่งตรวจสอบ
ต้องจับตาว่า ศธ. จะนำตัวคนผิดมาลงโทษได้เร็ว และครบทุกคนหรือไม่!