คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / ภาษาเทพ รับขันธ์ และ สวดโซฮา : นวัตกรรมจากวัฒนธรรม “เจ้าทรง” ไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ทรงเจ้าเข้าผีเป็นของพื้นเมือง เดิมเข้าทรงผีบรรพชน ต่อมาความรู้แบบฮินดูของอินเดียมีมากขึ้น เจ้าทรงพื้นเมืองส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในเขตเมืองและชานเมือง จึงเปลี่ยนตัวเองมาเป็นเจ้าทรงเทพของฮินดู

การเข้าทรงเทพฮินดู ซึ่งมีมาไม่กี่สิบปีนี้เอง จึงเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่มาพร้อมกับความรู้ด้านเทวตำนาน และรูปแบบของเทพ เช่น เครื่องแต่งกาย ท่าทางสีสัน ฯลฯ โดยเฉพาะ

ซึ่งไม่ได้รวมเอาความรู้ทางศาสนา ปรัชญาของฮินดูซึ่งมีน้อยกระจุกอยู่แต่กับปราชญ์ นักวิชาการ และไม่น่าสนใจ เพราะมีแล้วก็เอามาทำอะไรไม่ได้

เจ้าทรงจึงค่อนข้างเป็น “ชายขอบ” ของความเชื่อที่มีลักษณะทางการไม่ว่าจากฝั่งพุทธศาสนา ซึ่งปฏิเสธผีและเทพต่างๆ รวมทั้งการเข้าทรง และจากฝั่งพราหมณ์-ฮินดูทางการ

การต้องไปอยู่ชายขอบที่ไม่ได้รับการยอมรับเช่นนี้ เจ้าทรงจึงพยายามปรับตัวให้อยู่รอด

เกิดมีลักษณะเป็น “เครือข่าย” เจ้าทรงที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

 

โดยไม่ได้วิจัยจริงจังอะไร เท่าที่ผมพอจะทราบจากมิตรสหาย รวมทั้งที่เคยได้เห็นและรับรู้มาเอง เครือข่ายที่ว่าประกอบด้วย “ตำหนัก” เจ้าทรงหลายตำหนัก โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และบางครั้งอาจมาจากที่ไกลๆ

เครือข่ายเจ้าทรงอาจเกิดจากการรู้จักกันในงานของเจ้าทรงด้วยกันเอง หรือเป็นเครือข่ายจากการ “รับขันธ์” (ภาษาแบบเจ้าทรง) คือเป็นศิษย์ร่วมสำนักของครูเจ้าทรงเดียวกัน เมื่อเกิดเครือข่ายขึ้นก็จะมีกิจกรรมในลักษณะของการสนับสนุนกันเองภายในเครือข่าย

นวัตกรรมของร่างทรงภายใต้เครือข่ายดังกล่าวมีหลายประการ เช่น รูปแบบของพิธีกรรม ระบบภาษา เครื่องบูชา ฯลฯ

ที่ผมอยากจะชวนคุยคือเรื่องระบบภาษาและเรื่องพิธีกรรมประยุกต์ในวัฒนธรรมนี้ครับ เผื่อจะได้เข้าใจว่า อันไหนคือสิ่งที่ศาสนาพราหมณ์ฮินดูมี-ไม่มี หรืออันไหนเราคิดประดิษฐ์เอง

 

เครือข่ายเจ้าทรงสร้างภาษาขึ้นมาเองในสองลักษณะ อย่างแรกคือภาษาในเชิงพิธีกรรม ซึ่งพวกเขามี “ภาษาเทพ” ของพวกเขาเอง

ภาษาเทพตามที่เขาเชื่อกัน เท่าที่ผมสังเกต ไม่มีไวยากรณ์อะไร แต่มีลักษณะการออกเสียงโดยไร้ความหมายตามอารมณ์ตอนนั้น บางคนก็คิดว่าสื่อสารกันได้ แต่ส่วนมากเป็นการเดาทั้งนั้นครับ คนภายนอกวัฒนธรรมนี้ก็ตลกกับการใช้ภาษาเทพของกลุ่มเจ้าทรงอยู่มาก

ที่น่าสนใจคือในวัฒนธรรมอินเดียก็มีภาษาเทพครับ แต่ภาษาเทพของวัฒนธรรมอินเดียคือภาษา “สันสกฤต” นั่นเอง ซึ่งมีรูปแบบทางไวยากรณ์ที่ซับซ้อน ขนาดในอินเดียเองยังมีคนที่ใช้สันสกฤตถึงขั้นพูดได้แค่ไม่กี่พันคน

มีความเชื่อว่าเทพนั้นใช้ภาษาสันสกฤต ขนาดตัวหนังสือหนึ่งที่ใช้กับภาษาสันสกฤตยังมีชื่อว่า “เทวนาครี” ซึ่งแปลว่า (อักษร) ของชาวเทพ ดังนั้น ในบทสวดมนต์และพิธีกรรมจึงใช้สันสกฤตอยู่เสมอ

แต่ภาษาเทพของแขกและภาษาเทพของตำหนักไม่เหมือนกันแน่ๆ แม้ว่าเจ้าทรงจะพยายามพูดให้ดูเหมือนเสียงแขกหรือภาษาแขกก็ตาม

ภาษาเทพของเจ้าทรง ทำให้เกิดนวัตกรรมพิธีกรรมอันหนึ่งคือการ “เปิดปาก” นัยว่าคนที่ได้รับการเปิดปากแล้วจึงจะพูดภาษาเทพได้ ซึ่งใครไปเปิดปากกับใครก็คล้ายๆ ต้องยกร่างทรงนั้นเป็นครู เกิดเป็นเครือข่ายเพิ่มเติม

นอกจากภาษาเทพแล้ว ที่จริงเขายังมีระบบภาษาภายในวัฒนธรรมของตนเอง คือเข้าใจกันในวัฒนธรรมนั้น เช่น มีองค์ ตำหนัก ร่างสังขาร สายญาณบารมี ฯลฯ

 

คํา “สายญาณบารมี” นี่น่าสนใจครับ เพราะทั้งช่วยให้วัฒนธรรมเจ้าทรงหลายๆ แบบประสานกลมกลืนกันได้เอง เท่าที่ผมเข้าใจ สายญาณบารมี หมายถึง การแบ่งว่า เจ้าทรงนั้นๆ ลงทรงเทพ “ประเภท” ไหน เช่น สายญาณบารมีฤๅษี สายญาณบารมีภารตะ สายญาณบารมีจีน สายญาณบารมีนาค ฯลฯ

คือใช้ศัพท์ทางพุทธศาสนา เช่น ญาณ, บารมี มาช่วยอธิบายประเภทของเทพที่ทรงตามความเชื่อ ว่าได้ใช้ญาณของเทพนั้นๆ ลงมาเพื่อสร้าง “บารมี” ในการช่วยเหลือผู้คน

ด้วยเหตุนี้ ใครในสายญาณบารมีเดียวกัน ก็จะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ในขณะเดียวกัน งานบางอย่างของเจ้าทรง เช่น การไหว้ครูก็จะนิยมรับทุกสายญาณบารมี หรือแม้แต่เจ้าทรงคนหนึ่งๆ ก็อาจเข้าทรงสายญาณบารมีมากกว่าหนึ่งก็ได้

งานที่ใหญ่ที่สุดของเครือข่ายเหล่านี้คืองาน “ไหว้ครู” ซึ่งในปัจจุบันเจ้าทรงส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ใช้รูปแบบจากงานไหว้ครูดนตรีไทยหรือโขนละครมาปรับให้เป็นแบบของตนเอง หรือบางครั้งก็ผสมผสานสิ่งที่ชอบ เช่น วงดนตรี พิณแคน เซิ้ง ฯลฯ เพิ่มเติมความสนุกสนานที่ต้องการ

 

ที่จริงไหว้ครู โดยรากก็มาจากศาสนาผีนั่นแหละครับ เจ้าทรงซึ่งมีรากผีจะจัดไหว้ครูก็ไม่แปลก แต่ของทางฝ่ายโขนละครและดนตรี ใกล้ชิดกับราชสำนักจึงทำให้เกิดมีระบบระเบียบ ส่วนไหว้ครูในงานช่างอื่นๆ ก็มักจำกัดในวงแคบ

งานไหว้ครูของโขนละครจึงเป็นต้นแบบสำหรับงานไหว้ครูอะไรต่ออะไรในบ้านเราอีกมาก

ในงานไหว้ครู นอกจากการเซ่นสรวง ซึ่งมักมีผู้รับจ้างทำหน้าที่ที่เรียกกันในวงการว่า “โหร” หรือโหรา อ่านโองการเรียกหน้าพาทย์ต่างๆ แล้ว ก็ยังมีการ “รับขันธ์” สำหรับศิษย์ใหม่

ที่จริงการรับขันธ์ ก็ใช้ “ขันน้ำ” เหมือนกับการครอบครูในพิธีของฝ่ายนาฏดนตรีนั่นแหละครับ แต่ดูเหมือนว่าขันที่ใช้จะไม่ได้เป็นเพียงเครื่องบูชาอย่างในพิธีไหว้ครูดนตรีและโขน แต่เป็นที่สถิตผีหรือเทพองค์ที่ตนรับด้วย

ส่วนที่เรียกขันธ์ ก็เพื่อให้มีนัยยะทางศาสนามากขึ้นอีก เหมือนรับเทพเข้ามาในขันธ์สังขารของตน

ส่วนสุดท้ายของงานมักจะเป็นภาคบันเทิง คือการร้องรำระบำฟ้อนของร่างทรงทั้งหลาย ซึ่งใช้ทั้งปี่พาทย์ พิณแคน ดนตรีลูกทุ่ง หรือดนตรีที่เลียนแบบอินเดีย

อ่อ..ผมลืมบอกไปว่า งานไหว้ครูในเครือข่ายของตำหนักทรงนี่ เขาแจกการ์ดกันนะครับ แจกการ์ดเหมือนงานแต่งงานบวช แจกไปในเครือข่ายของตนเอง และถือเป็นมารยาทว่า คนที่ได้การ์ดก็ต้องมาร่วมงานและใส่ซองพอสมควร หากไม่มาก็ถือว่าเสียมารยาท พอถึงคราวตำหนักตัวเองจัด คนอื่นก็อาจไม่ไปร่วมงาน

ภาษาในการ์ดเหล่านี้มักพยายามให้ครอบคลุมทุกสายญาณ และมักใช้ราชาศัพท์เพื่อให้เกียรติแขก เช่น ทูลเชิญ อัญเชิญ อาราธนาทุกสายญาณมาร่วมงาน เป็นต้น

การจัดงานบางครั้งจึงใช้สนามกีฬาใหญ่ๆ เพื่อจะรองรับคนในเครือข่ายของตนเองได้มากพอ ยิ่งเป็นการอวดบารมีว่าตำหนักของตนมีความยิ่งใหญ่หรือมีศิษย์หามากแค่ไหน

 

สิ่งสำคัญอีกสิ่งคือดนตรีในพิธีกรรม นอกจากวงปี่พาทย์ตามประเพณีแล้ว (ซึ่งมักถูกเรียกเพลงแปลกๆ เช่น เพลงสำเนียงแขกต่างๆ) ก็มีกิจกรรมทางดนตรีชนิดใหม่ที่เรียกว่า “โซฮา”

การสวด (หรือที่จริงขับร้อง) โซฮานี้ มักอ้างกันว่าเป็นของ “อินเดีย” การสวดโซฮา คือ วงดนตรีขนาดเล็ก ใช้เครื่องดนตรีสังเคราะห์อย่างอิเล็กโทน และมีกลอง ฉิ่งฉาบ หรือเสริมเครื่องดนตรีเช่นขลุ่ยเข้าไปด้วย โดยมีนักร้องนำ ร้องเพลง ที่มีทั้งคำสวดต่างๆ จากอินเดีย หรือปนกับภาษาไทย (บางครั้งแถมจีนและไทยไปด้วย) และมักจบด้วยพิธีอารตี หรือการเวียนประทีปไฟ

ผมไปค้นเท่าไหร่ก็ไม่เจอคำ “โซฮา” หรือพิธีขับร้องที่เรียกว่าโซฮา แต่คิดว่าเป็นการเลียนเสียงของคำว่า “สวาหา” ในประเพณีอินเดีย ซึ่งเป็นคำที่ใช้ขณะบูชาไฟ (โหมะ)

ในประเพณีอินเดีย การขับร้องในศาสนานั้น เรียกกันว่าภชัน หรือสังกีรตัน คือการขับสวดบทเพลงสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่เป็นระบบระเบียบอย่างในปัจจุบัน (เช่นที่ปรากฏในอินเดียภาคเหนือ) โดยการผสมผสานกับวัฒนธรรมมุสลิม เช่น การขับพระนามสั้นๆ วนไปมาจนเกิดภวังค์ของนิกายซูฟี

โซฮาจึงเป็นนวัตกรรมของเจ้าทรงไทย ที่พยายามจะเป็นแขกให้มากเท่าที่จะทำได้ และในปัจจุบันดูจะเป็นกิจกรรมที่แพร่หลายมากที่สุดอันหนึ่งในวัฒนธรรมเจ้าทรง ถึงขนาดมี “วงโซฮา” รับงานอยู่จำนวนมาก

นวัตกรรมเหล่านี้น่าศึกษาบทบาทและความเปลี่ยนแปลงของมันนะครับ ซึ่งคงช่วยให้เราเข้าใจพลวัตของศาสนาในสังคมไทยได้มากขึ้นอีก ก่อนที่เราจะตัดสินว่าดีไม่ดีอย่างไร

ที่จริงไปเห็นยอดรับงานของวงโซฮาแล้วก็ได้แต่รำพึงในใจว่า แหม่..น่าจะรายได้ดีกว่าเป็นนักวิชาการอีก

หรือผมจะออกไปตั้งวงโซฮาสักวงดีไหม