ประชา สุวีรานนท์ : คาร์ล บาร์กส์ กับ คาร์ล มาร์กซ์ (2)

(ซ้าย) Para leer al Pato Donald ภาษาสเปญ (ขวา) 01 Tralla La จาก Uncle Scrooge #6 (1954)

ในตอน The Secret of Atlantis การ์ตูนจะบอกว่าหลายพันปีที่ผ่านมา ชาวแอตแลนติส ซึ่งเดิมเป็นมนุษย์ธรรมดา เปลี่ยนเป็นคนสีเขียวและมีเกล็ดเหมือนปลา รวมทั้งเหงือกซึ่งทำให้หายใจในน้ำได้ ที่สำคัญ ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่สงบ เรียบง่าย และกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่นปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในน้ำ และมีความเป็นอยู่ที่ดีโดยไม่ต้องใช้เงินตราเลย

ปัญหาคือมนุษย์ปลาไม่ยอมให้สกรู๊จและโดนัลด์กลับไปสู่โลกเดิม เพราะกลัวว่าจะมีคนรู้เข้าแล้วลงมารังควานเมืองนี้

ในแง่นี้ Atlantis เป็นเมืองที่คล้าย แชงการี-ลา ในนิยายชื่อ Lost Horizon นิยายปี 1933 ของ เจมส์ ฮิลตัน ซึ่งสร้างเป็นหนังในปี 1937 และกำกับฯ โดย แฟรงก์ คาปรา

เมืองนี้เปรียบได้กับสวรรค์บนดิน เพราะมีทั้งอารยธรรมอันสูงส่งและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย คนไม่มีทั้งความกระหายในทรัพย์และอำนาจ ยังคงสภาพเป็นมนุษย์ที่มีแต่ความบริสุทธิ์ ปราศจากความขัดแย้ง ไม่ว่าจะในเรื่องของอำนาจและทรัพย์สิน

ว่ากันว่า เป็นแฟนตาซีของชาวตะวันตกที่เกิดขึ้นในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่ทั้งโลกกำลังปั่นป่วนวุ่นวายด้วยเหตุต่างๆ และเป็นต้นแบบของโลกพระศรีอารย์ในวรรณกรรมหลายเรื่อง

ตามปกติ บุคลิกต่างๆ ผสมกับความขี้เหนียวของสกรู๊จ มักจะทำให้เรื่องเดินไปอย่างสนุกสนานและจบอย่างคมคายอยู่แล้ว เช่น อาการจามในตอน The Great Steamboat Race และอาการขี้ลืมในตอน Back to Klondike

แต่ในตอนนี้ บาร์กส์หันมาการล้อเลียนความลุ่มหลงในทรัพย์สิน และที่สำคัญ เสียดสีเศรษฐกิจแบบเงินตราอย่างสนุกสนาน

ในตอนท้ายของ The Secret of Atlantis เป็ดทั้งห้าหนีออกมาได้ด้วยอุบาย นั่นคือใช้ตู้เพลงที่พบในซากเครื่องบินที่ตกในเมือง มาเล่นเพลง rock and roll และชวนให้ชาวแอตแลนติสเอาเหรียญที่เก็บได้มาหยอดตู้นี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เหรียญสลึงคืนมา สกรู๊จก็พบว่าเพราะระบบทุนนิยมนั้นมีข้อจำกัด การปั่นราคาเหรียญไม่ได้ให้ผลกำไรแก่เขาเลย

สําหรับบาร์กส์ ทุนนิยมต่างกับสังคมเก่าตรงที่ให้คุณค่าแก่เงินตรามากเกินไป แชงกรี-ลา จึงปรากฏอีกครั้งในตอน Tralla La ซึ่งเริ่มต้นขึ้นขณะลุงสกรู๊จกำลังป่วยเป็นโรคแพ้เงิน (หรือถ้าพูดให้ชัดคือแพ้การขอเงิน) ถึงขนาดออกอาการชักดิ้นชักงอ ถ้าได้ยินคนพูดเรื่องเงิน

เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปพักรักษาตัวในทรัลลา-ลา เมืองที่อยู่บนหิมาลัยในบริเวณทิเบต-จีน อันเป็นดินแดนที่ไม่รู้จักเงินตราและความร่ำรวย ทุกคนอยู่กันอย่างสงบเรียบง่าย แม้แต่แรงงานที่ใช้ในการเพาะปลูกก็ไม่มีการจ้างงานหรือใช้เงินแลกเปลี่ยนกัน

ก่อนออกเดินทาง หมอคนหนึ่งให้ยาระงับประสาทแก่ลุงสกรู๊จมาหลายขวด ยาบรรจุขวดที่คล้ายขวดน้ำอัดลมแบบฝาจีบ

ขณะอยู่บนเครื่องบินเกิดเหตุบังเอิญ เขาเปิดขวดและโยนฝาทิ้งไปทางหน้าต่าง ฝานี้ตกลงมาบนท้องนา ความที่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่เคยพบเห็นมาก่อน มันจึงแลดูมีคุณค่ามากถึงขนาดเข้าไปเริ่มเศรษฐกิจเงินตราในทรัลลาลา

เริ่มจากการที่ชาวนาคนหนึ่งเอาไป “แลก” แกะได้หนึ่งตัว และต่อมา เมื่อขายกันต่อๆ ไป ก็มีราคาเท่ากับแกะถึงยี่สิบตัว

จากนั้น ฝาจีบก็กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนแย่งชิงและนำมาซึ่งความวุ่นวายขนาดใหญ่ เช่น พอรู้ว่าสกรู๊จพกขวดยาระงับประสาทมาอีกห้าขวดก็ขอซื้อ คนหนึ่งถึงกับขอยอมเป็นทาส และเมื่อเขาไม่ยอมขาย ชาวบ้านแปรรูปเป็นฝูงชน บุกเข้ามาจะทำร้าย

ในช่วงนี้ มุขอันหนึ่งคือให้คนหนึ่งเสนอให้เก็บภาษีฝาจีบให้หนักๆ ดังนั้น ทั้งๆ ที่พยายามทิ้งสภาพของเศรษฐีรวมทั้งปัญหาทั้งหลายแล้ว สกรู๊จก็หนีไม่พ้น คนที่มาเมืองนี้เพราะจะหนีความเครียดก็เลยเครียดขึ้นไปใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยไอเดียว่าจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างภาวะ inflation ของฝาจีบ หรือทำให้มีมากเสียจนหมดราคาไปเอง สกรู๊จจึงสั่งให้ขนขึ้นเครื่องบินและเอามาโปรยลงในเมือง แต่มากไปหน่อย ฝาจีบนับล้านๆ ทำให้เรือกสวนไร่นาพังพินาศ

นอกจากนั้น ยังทำให้ชาวบ้านเลิกทำงาน รอแต่ทรัพย์ที่ร่วงลงมาจากท้องฟ้า

How to Read Donald Duck ฉบับภาษาอังกฤษ
How to Read Donald Duck ฉบับภาษาอังกฤษ

บาร์กส์เอาแชงกรี-ลา มากลับหัวเป็นหาง ในนิยาย ชาวตะวันตกทุกคนยอมเป็นพลเมืองแชงกรี-ลา และเลิกนิสัยละโมบโลภมาก

แต่ในการ์ตูนของบาร์กส์ กลับตรงกันข้าม ชาวตะวันตกเป็นฝ่ายทำให้ชาวบ้านเกิดความโลภ และทำให้เมืองหรือสวนแห่งอีเดนสิ้นความบริสุทธิ์

ในนิยาย คนหนีจากความปั่นป่วนของสงครามและโลกทุนนิยม แต่ในการ์ตูน สงครามเกิดขึ้นเพราะคนหรือวัตถุจากโลกทุนนิยมนั่นเอง

มุขฝาจีบที่หล่นมาจากท้องฟ้ามีส่วนคล้ายกับหนัง เทวดาท่าจะบ๊องส์ (The Gods Must Be Crazy) ซึ่งออกฉายเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วและโด่งดังไปทั่วโลก

ในตอนต้น ขวดโค้กขวดหนึ่งหล่นจากเครื่องบิน ตกลงไปในหมู่บ้านของคนป่าในแอฟริกา และเพราะคิดว่าเป็นสิ่งวิเศษที่พระเจ้าประทานมาให้

คนป่าเหล่านี้จึงอยากได้เป็นของตนเอง จากนั้น หมู่บ้านที่เคยเงียบสงบและไม่สนใจในการสะสมทรัพย์สิน ก็มีแต่การแย่งชิงและทะเลาะเบาะแว้ง

ในตอนท้าย หลานทั้งสามคือ ฮิวอี้ ดิวอี้ และลูอี้ ต้องหาทางแก้ปัญหา เช่น ช่วยให้สกรู๊จและโดนัลด์พ้นโทษ หนีออกมา รวมทั้งช่วยเมืองให้พ้นจากการถูกถล่มด้วยฝาจีบ

แต่จะเรียกว่าจบลงด้วยดีก็ไม่ได้ เพราะทันทีที่ออกจากทรัลลา-ลา เมื่อหลานทั้งสามขอเบิกเงินค่าจ้าง ซึ่งแม้จะน้อยนิด กลับมีผลทำให้ สกรู๊จออกอาการชักดิ้นชักงออีก

คติของเรื่องก็คือคนย่อมทิ้งนิสัยเดิมไม่ได้ และแม้จะแสวงหาความสงบ แต่ด้วยสันดานเดิม แทนที่จะพบทางหลุดพ้น กลับตกอยู่ในวังวนของปัญหา

ซึ่งนับว่าแปลกสำหรับการ์ตูนเด็ก ในนิยาย Lost Horizon คติคือสังคมที่ดีนั้นเป็นไปได้ แต่การ์ตูน Tralla La บอกว่ามนุษย์ไม่มีทางสมบูรณ์แบบ ความเห็นแก่ตัวแก้ไม่ได้ และโลกพระศรีอารย์ไม่มีจริง ลุงสกรู๊จตอนนี้ จึงเป็นเรื่องเล่าที่เปิดโปงความจริงด้านที่มืดยิ่งกว่านิยาย

เรื่องของทรัลลา-ลา ยังเป็นตัวอย่างของป๊อปคัลเจอร์หรือหนังสือการ์ตูนที่มาจากสหรัฐในยุคนั้น ซึ่งชี้ให้เห็นผลร้ายของทุนนิยมเสรี เช่น การที่เข้าไปทำงานสังคมดั้งเดิมและคุกคามวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก

การพูดถึงเรื่องนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนึกถึง How to Read Donald Duck : Imperialist Ideology in the Disney Comic หรือ Para leer al Pato Donald อันเป็นผลงานของ แอเรียล ดอร์ฟแมน และ อาร์มานด์ แมตเทลาร์ต นักเขียนชิลี และพิมพ์ราวปี 1971 สมัยที่ ซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ ผู้นำพรรคสังคมนิยมของชิลี ได้รับการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดี

หนังสือชี้ถึงความสำคัญของหนังสือการ์ตูนในทางวัฒนธรรม โดยเสนอว่าบุคลิกต่างๆ ในการ์ตูนเป็ดของดิสนีย์ โดยเฉพาะสกรู๊จ แม็กดั๊ก เป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในความคิดของฝ่ายซ้ายสมัยนั้น เป็นผู้นำระบบทุนนิยมและกำลังเผยแพร่อุดมการณ์ที่คุกคาม “โลกที่สาม”

หลังการแปลเป็นภาษาอังกฤษ โด่งดังไปทั่วโลก แต่ก็ถูกวิจารณ์ในเชิงลบอยู่ไม่น้อย เช่น หาว่าเป็นมาร์กซิสม์มากเกินไป และเขียนขึ้นในภาวะที่ชิลีกำลังต้องการ “ล้าง” วัฒนธรรมเก่า จึงมีทัศนะที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกามากเกินไป

ในเชิงประวัติศาสตร์ เรื่องนี้ถูกพิสูจน์ว่าความกลัวสหรัฐนั้นไม่ได้เกินจริง ไม่กี่ปีหลังขึ้นสู่ตำแหน่ง อัลเยนเด้และระบบสังคมนิยมถูกโค่นโดยฝ่ายคณะทหารซึ่งนำโดยนายพลปิโนเชต์และหนุนหลังอย่างเต็มที่โดยรัฐบาลอเมริกา

การรัฐประหารครั้งนั้น นอกจากจะเป็นการยึดอำนาจที่ดุเดือดรุนแรง (มีการใช้ทั้งปืนใหญ่และเครื่องบินทิ้งระเบิดถล่มทำเนียบประธานาธิบดี) แล้ว ยังตามมาด้วยการจับกุม ทรมาน และสังหารประชาชนจำนวนมาก

การปกครองอย่างป่าเถื่อนของเผด็จการทหารในชิลี กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สุดในช่วงทศวรรษนั้น และต้องใช้เวลาอีกสิบกว่าปี รัฐบาลปิโนเชต์จึงล้มลงไป