โล่เงิน : คลอดหมายจับ “ทักษิณ” ฉบับที่ 7 ศาลฎีกาฯ ฟื้นคดีแปลงสัมปทาน ลุ้นพิจารณาคดีลับหลัง-จ่ออีก 4 คดี

ในวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา องค์คณะทั้ง 9 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกบัลลังก์นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก

ในคดีหมายเลขดำ อม. 9/2551 ที่นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด โจทก์ มอบอำนาจให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ขอให้ศาลพิจารณานำคดีที่ได้ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2551

ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

กรณีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

เมื่อปี 2551 คดีนี้เคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราวเพราะตัวจำเลยหลบหนีคดี โดยนายทักษิณจำเลยนั้นเคยถูกออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้ว กลับขึ้นมาพิจารณาต่อไป ตามกระบวนพิจารณามาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ.2560

ในวันดังกล่าวที่เป็นขั้นตอนของการจะเข้าสู่การพิจารณาคดีใหม่ นายทักษิณยัง “ไม่เดินทางมา” และ “ไม่ได้ส่งทนายความมา” แจ้งเหตุติดขัด

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงได้ออกหมายจับนายทักษิณเพิ่มอีก 1 ฉบับเพื่อจับกุมมาเข้าสู่กระบวนการ

โดยหลักเกณฑ์ก่อนเริ่มพิจารณาคดีที่ตามกฎหมายใหม่ระบุไว้ว่า หากจำเลยไม่มาในนัดพิจารณาคดีจะต้องให้ออกหมายจับจำเลยภายใน 3 เดือนแล้วไม่ได้ตัวมาถึงให้เริ่มการพิจารณาคดีต่อได้ โดยเป็นการพิจารณาคดีลับหลัง

หมายจับที่ออกล่าสุดดังกล่าวจึงถือเป็นหมายจับใหม่ ฉบับที่ 2 ในคดีเดียวกัน และฉบับที่ 7 ของนายทักษิณ พร้อมกันนี้ศาลยังได้สั่งให้อัยการโจทก์รายงานผลการติดตามตัวตามหมายทุก 1 เดือน

สำหรับหมายจับอีก 5 ใบของนายทักษิณ ประกอบด้วย

1. คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ จากการที่นายทักษิณอนุมัติสินเชื่อปล่อยกู้พม่าเอื้อประโยชน์ตนเอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับวันที่ 16 กันยายน 2551 เนื่องจากหลบหนีการพิจารณาคดีครั้งแรก

2. คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี และออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 เพื่อนำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา

3. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) โดยคดีนี้นายทักษิณหลบหนีไม่มาในนัดพิจารณาครั้งแรก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงให้จำหน่ายคดีให้ออกหมายจับวันที่ 26 กันยายน 2551

4. คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กว่า 9,000 ล้านบาทให้กับกฤษดามหานคร คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับนายทักษิณเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 เนื่องจากไม่มาศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรก

และ 5. คดีกองทัพบก ยื่นฟ้องนายทักษิณ ฐานหมิ่นประมาท กรณีเมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2558 ที่นายทักษิณได้ให้สัมภาษณ์จากประเทศเกาหลีใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศาลอาญาออกหมายจับเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558

รวมเป็นหมายจับนายทักษิณทั้งสิ้น 7 ฉบับ

แต่สำหรับไฮไลต์คดีของนายทักษิณที่น่าสนใจในตอนนี้คือ คดีที่ค้างอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะถูกอัยการสูงสุดหยิบยกขึ้นมาดำเนินคดีต่อมีด้วยกัน 4 คดี

โดย 2 คดีแรกเป็นคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

1. คดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยในความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิด เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ให้แก่รัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัทชิน แซทเทลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร

คดีที่ 2 เป็นคดีที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายทักษิณกับพวก รวม 47 คน เป็นจำเลย ฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกตรวจสอบภาษีอากรโดยทุจริตฯ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ ฯลฯ ที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้อง

ส่วนอีก 2 คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คือ

1.คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ, ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย, กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และบริษัทในเครือกฤษดามหานครกับพวก เป็นจำเลยที่ 1-27 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ จากกรณีที่ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 จำคุกนายวิโรจน์ กับพวกบางส่วนมีอัตราโทษตั้งแต่ 12-18 ปี และร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย

และ 2. คดีแปลงภาษีสรรพสามิตที่เพิ่งมีการนัดพิจารณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561ที่ผ่านมา ตามที่กล่าวข้างต้น ที่ปัจจุบันมีการออกหมายจับในคดีถึง 2 ฉบับ

จึงเป็นไปได้ว่า ต่อไป 4 คดีที่จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณา ขั้นตอนดังกล่าวจะเหมือนกันหมด

และเป็นที่ติดตามต่อไปว่า หากสุดท้ายแล้วนายทักษิณยังนิ่งเฉยไม่ยืนยัน ไม่เข้ากระบวนการส่งทนายความมาสู้คดี กระบวนการไต่สวนที่มีแต่อัยการโจทก์นำพยานเข้าให้ 9 องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวน

ผลจะออกมาเช่นใดกันแน่?!!