วิกฤติศตวรรษที่21 : ปูตินผู้พลิกอำนาจโลก

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (11)

ปูตินผู้พลิกอำนาจโลก

การผงาดขึ้นของรัสเซียบนเวทีโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ปรัชญายูโดทางการเมืองของปูติน ทำให้สามารถพลิกสถานการณ์จากเป็นรองกลับมาเป็นต่อหลายครั้ง

ความสามารถเด่นทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องนี้ดูได้ยาก

การที่ปูตินได้รับการเลือกจากนิตยสารการเงินฟอร์บส์ ให้เป็นบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 อยู่เหนือประธานาธิบดีโอบามาที่เป็นผู้นำอภิมหาอำนาจ ถึงสิ้นปี 2016 ปูตินก็ยังคงรักษาตำแหน่งบุคคลผู้ทรงอำนาจที่สุดในโลกไว้ได้

โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเป็นข่าวต่อเนื่องตลอดปี 2016 อยู่อันดับสอง

บุคคลอื่นในห้าอันดับแรกได้แก่ นางแองเจลา แมร์เคิล (อันดับสาม) สี จิ้น ผิง (4) และสันตะปาปาฟรานซิส (5)

มีนักวิเคราะห์การเมืองสหรัฐบางคน เห็นว่าที่ปูตินก้าวขึ้นมาเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกแซงหน้าผู้นำสหรัฐและจีนนั้น เพราะว่าอำนาจของผู้นำประเทศขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของประเทศและความสามารถของผู้นำนั้นๆ ในการใช้อำนาจได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีเสียงคัดค้านมาก

ในด้านความเข้มแข็งของประเทศ รัสเซียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าเยอรมนี 48 เท่า ทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

มีประชาชนที่มีความภูมิใจในชาติ ทางวัฒนธรรมที่คริสตจักรรัสเซียออร์ธอด็อกซ์ ที่เป็นรองแต่คริสตจักรแห่งกรุงโรม

Russian Prime Minister Vladimir Putin (C) attends a plenary session of the third “Russia Calling !” investment forum organized by VTB Capital bank at the Moscow World Trade Center on October 6, 2011. AFP PHOTO/ ALEXANDER NEMENOV / AFP PHOTO / ALEXANDER NEMENOV

ปูตินได้ฟื้นฟูประเทศจากการล่มสลาย และได้ฉันทามติจากประชาชนในการปกครองประเทศอย่างท่วมท้น

ในด้านความสามารถของปูติน

ปูตินเข้าใจรัสเซียอย่างลึกซึ้ง เห็นตระหนักถึงประชาชนที่ต้องการมีมาตรฐานการครองชีพสูง มีความมั่นคง

ประเทศรัสเซียที่เข้มแข็งน่าภูมิใจ รู้จักใช้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยังคงมีสูง และความระส่ำระสายของบ้านเมือง สร้าง “อำนาจแนวตั้ง” แบบที่เคยเกิดในสมัยสหภาพโซเวียตขึ้นอีกครั้งในรูปโฉมของประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์

เขายังมีความเข้าใจโลกอย่างดี รู้วิธีที่จะโจมตีสหรัฐหรือยุโรปเข้าที่แสกหน้า

รู้วิธีจะใช้อำนาจอย่างไม่ได้สมมาตร

รวมทั้งการใช้เครื่องมือทางไซเบอร์และข่าวลวงต่างๆ โดยอาศัยจุดอ่อนของสังคมเสรีนิยม

“กล่าวอีกอย่างหนึ่ง วลาดิมีร์ ปูติน เข้าใจเราอย่างดี… แต่ว่าเรา และ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าใจเขาดีเพียงใด”

(ดูบทความของ Fareed Zakaria ชื่อ Why Putin is world”s most powerful man ใน cnn.com 14.03.2017)

A visitor looks at a painting depicting Russian president Vladimir Putin at the “SUPERPUTIN” exhibition at UMAM museum in Moscow on December 6, 2017. / AFP PHOTO / Yuri KADOBNOV / RESTRICTED TO EDITORIAL USE – TO ILLUSTRATE THE EVENT AS SPECIFIED IN THE CAPTION

ปรัชญายูโดทางการเมืองของปูติน

การเข้าใจกระบวนท่าทางการเมืองของปูติน ควรจะได้เข้าใจปรัชญายูโดทางการเมืองของเขาเป็นเบื้องต้น

ปรัชญานี้มีพื้นฐานบนสามัญสำนึกธรรมดา ผสมกับการมีวิสัยทัศน์ ศิลปะทางบริหารเชิงรุกในกระบวนรับ

ปูตินกล่าวถึงยูโดว่า “เหนือสิ่งอื่นใด ผมเห็นว่ากีฬาอย่างเช่นยูโด สอนให้ผู้คนจัดความสัมพันธ์ระหว่างกัน สอนให้รู้จักเคารพหุ้นส่วนหรือคู่ต่อสู้ สอนเราว่าหุ้นส่วนคู่ต่อสู้ที่ดูภายนอกเหมือนอ่อนแอกว่า และคงไม่สามารถต้านทานได้ แต่ถ้าเราคลายความระมัดระวังและประมาทไป ก็อาจกลับมาชนะเราได้”

ปรัชญายูโดทางการเมืองของปูติน อาจสรุปได้ดังนี้คือ

ประการแรก หลักความเคารพคู่หูหรือคู่ต่อสู้ ก่อนอื่น เคารพผลประโยชน์ของผู้อื่น ต่อมาเคารพความคิดและการกระทำของเขา เพราะว่าความคิด และการกระทำเหล่านี้ย่อมเกิดจากเหตุผลและความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เราต้องเข้าใจ ไม่ใช่ดูหมิ่น

ประการที่สอง หลักคิดว่า นโยบายการครองความเป็นใหญ่ล้วนล้มเหลว

ปูตินเห็นเช่นนี้มานานแล้ว และเริ่มพูดต่อสาธารณะมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ที่เกิดกรณีขัดแย้งที่ยูเครน

เขาเห็นว่าความพยายามครองความเป็นใหญ่ในโลกอย่างเช่นเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ต้องการสร้างจักรวรรดิเยอรมนีที่ยั่งยืน ได้ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

สหภาพโซเวียตที่ต้องการขยายอิทธิพลอย่างน้อยในยุโรปตะวันออก เอเชียตะวันออก ก็ล้มเหลวจนถึงล่มสลาย

สหรัฐที่ต้องการขึ้นครอบงำโลก เป็นอภิมหาอำนาจแต่ประเทศเดียว หวังจะสร้าง “ศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” ซึ่งก็ประสบปัญหาหนักตั้งแต่เข้ารุกรานอิรัก และก็จะต้องล้มเหลวในเวลาอีกไม่นานนัก

ประการที่สาม สามัญสำนึกว่า รัสเซียเมื่อเทียบกับมหาอำนาจอื่น อย่างเช่น สหรัฐและจีน ยังมีอำนาจแห่งชาติไม่สูงเท่า ประชากรรัสเซียมีเพียงราว 140 ล้านคนเมื่อเทียบกับสหรัฐที่มีกว่า 300 ล้านคน และจีนกว่า 1,300 คน แม้มีอาณาเขตใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยากที่จะรักษาดินแดนของตนไว้ได้ เพราะว่าประชากรในสหรัฐก็มีระดับการพัฒนาไปสูง ส่วนจีนได้มีการยกระดับการศึกษาและความรู้ทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ในทางสภาพภูมิศาสตร์ ขาดท่าเรือน้ำลึกที่เดินเรือได้ตลอดปี ในด้านนี้สหรัฐมีความเข้มแข็งมากที่สุด มีท่าเรือน้ำลึกรอบประเทศ และยังมีแม่น้ำใหญ่ เช่น มิสซิสซิปปี ที่สามารถเดินเรือใหญ่ลึกเข้าไปถึงในประเทศ จีนมีท่าเรือตลอดฝั่งด้านตะวันออกที่สามารถค้าขายได้ตลอดปี มีแม่น้ำแยงซีที่เดินเรือใหญ่ได้จนถึงส่วนในของประเทศ

โลกที่ร้อนขึ้น ทำให้รัสเซียเกิดความหวังว่าจะเปิดเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งตอนเหนือของประเทศ เป็นการเชื่อมการเดินเรือระหว่างเอเชียและยุโรป ที่มีระยะทางสั้นกว่าเดิมผ่านทางคลองสุเอซเป็นอันมาก จีนเองก็สนใจเส้นทางนี้ และคิดจะทำ “ทางสายไหมขั้วโลกเหนือ” ของตนเองขึ้นมา

ในทางเศรษฐกิจรัสเซียยังล้าหลัง เศรษฐกิจเป็นเชิงเดี่ยว อาศัยการส่งออกทรัพยากรแร่ธาตุพลังงานเป็นสำคัญ

A woman looks at a painting depicting Russian president Vladimir Putin at the “SUPERPUTIN” exhibition at UMAM museum in Moscow on December 6, 2017. / AFP PHOTO / Yuri KADOBNOV / RESTRICTED TO EDITORIAL USE – MANDATORY MENTION OF THE ARTIST UPON PUBLICATION – TO ILLUSTRATE THE EVENT AS SPECIFIED IN THE CAPTION

ประการที่สี่ รัสเซียต้องรู้จักใช้อำนาจอย่างไม่สมมาตร เช่น การทหาร ใช้งบประมาณน้อย แต่สามารถสกัดกั้นสหรัฐได้ หรืออาศัยการสร้างหุ้นส่วนเพื่อการถ่วงดุลและใช้จุดอ่อนของคู่ต่อสู้กดดันต่างๆ รวมทั้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์

ประการที่ห้า ความไม่ประมาท ประมาทคู่ต่อสู้ มึนเมาต่อชัยชนะ คิดวางตัวเป็นมหาอำนาจโลก ปูตินได้เตือนแก่ชาวรัสเซียหลายครั้งว่าจะไม่วางตัวเป็นอภิมหาอำนาจเป็นเด็ดขาด หรือแม้แต่มหาอำนาจในภูมิภาค ต้องระวังไม่ให้เข้าไปติดหล่มสงคราม ดังที่สหภาพโซเวียตประสบมาแล้วที่อัฟกานิสถาน

ความไม่ประมาทอีกอย่างหนึ่งได้แก่ การคิดถึงรัสเซียหลังปูติน ว่าจะต้องสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความเข้มแข็ง

ยุทธศาสตร์การทุ่มทางยูโดครั้งใหญ่ของปูติน

ปูตินได้ใช้ปรัชญายูโดทางการเมืองทุ่มคู่ต่อสู้คือสหรัฐและตะวันตกมาหลายครั้งแล้ว

Russian President Vladimir Putin looks on during a press conference with his Egyptian counterpart (unseen) following their talks at the presidential palace in the capital Cairo on December 11, 2017.
Egypt and Russia signed a final contract for the building of Egypt’s first nuclear power plant, during a visit to Cairo by Putin. / AFP PHOTO / KHALED DESOUKI

เริ่มเห็นได้ชัดจากปี 2007 ถึง 2015 มีลำดับเหตุการณ์สำคัญได้แก่

ก) การปราศรัยในการประชุมความมั่นคงที่เมืองมิวนิก ปี 2007 เปิดตัวว่ารัสเซียจะไม่อดทนต่อการรุกคืบของนาโต้-สหภาพยุโรปอีกต่อไป และจะรื้อระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นใหญ่แต่ผู้เดียวลง สร้างระเบียบโลกที่มีหลายขั้วอำนาจขึ้น ปลายปีเดียวกันสั่งยุติการทำงานของบริติช เคาน์ซิล เป็นต้น

ข) สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย (ปี 2008) รัสเซียส่งกองทัพตีตะลุยลึกเข้าไปจนใกล้กรุงทบิลิซิ เมืองหลวงของจอร์เจีย สามารถทำให้ความเป็นอิสระของสองดินแดนคือเซาธ์ออซซีเซียและอับคาเซียเป็นจริง ทำให้จอร์เจียกลับไปเป็นกลางมากขึ้น

ค) การผนวกดินแดนแหลมไครเมีย และการส่งกองกำลังไปสนับสนุนการแยกดินแดนในด้านตะวันออกของยูเครน ที่ติดกับรัสเซีย (ปี 2014) ทำลายแผนสร้างรัฐบาลที่เป็นอริกับรัสเซียของสหรัฐ-ตะวันตก

ง) การเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองที่ซีเรีย มีเป้าประสงค์หลักในการต่อต้านลัทธิก่อการร้ายระหว่างประเทศ (ปี 2015) พลิกสถานการณ์ทั้งหมดที่นั่น และทำให้รัสเซียมีที่ยืนที่มั่นคงในตะวันออกกลาง

แต่นั่นยังเป็นเพียงการทุ่มเบาะๆ เป็นการหยั่งเชิงชิงไหวชิงพริบ การทุ่มจริงเป็นการทุ่มทางเศรษฐกิจการเมือง ได้แก่ การทำลายความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ-การค้าของสหรัฐและตะวันตก เป็นการปิดฉากการใช้อาวุธแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจอย่างถาวร

ก่อนการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ ในเดือนกันยายน 2017 ปูตินได้เขียนบทความสำคัญ แสดงเป้าประสงค์ของรัสเซียอย่างชัดเจนว่า รัสเซียสนับสนุน “การปฏิรูประเบียบการเงินโลก” และพิชิต “การครอบงำที่มากเกินไปของเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงไม่กี่สกุล” (ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐและยูโรของกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น) ควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อ “สร้างการกระจายโควต้าและสิทธิการลงคะแนนในองค์การการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกที่ได้สมดุลกว่านี้”

นอกจากนี้ รัสเซียต้องการสร้าง “รากฐานของระบบการค้าข้ามชาติที่เสรี เท่าเทียมและเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และส่งเสริมบทบาทขององค์การการค้าโลก”

สรุปคือ รัสเซีย “ต้องการสร้างชุดมาตรการความร่วมมือ เพื่อต่อต้านการขีดวงทางการธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ การละเมิดกฎการแข่งขันการค้าข้ามแดน” เป้าหมายนี้ปูตินได้กล่าวในทำนองเดียวกันมาหลายครั้ง นับแต่ปี 2007 แต่ครั้งนี้เป็นการสรุปย้ำถึงระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมสองด้านคือด้านการเงินและการค้าที่ดำรงอยู่

แต่ในการล้มคว่ำนี้รัสเซียทำเพียงลำพังไม่สำเร็จ เพราะขนาดเศรษฐกิจเล็กเกินไป จำต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มบริกส์และประเทศตลาดเกิดใหม่มีจีน อินเดียและบราซิล เป็นต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะทำสำเร็จสูง

ดังนั้น ปูตินจึงเปิดเผยยุทธศาสตร์นี้เพื่อให้ประเทศหุ้นส่วนได้รับรู้ ช่วยกันสร้าง “ชุดมาตรการความร่วมมือ” ที่จำเป็นและใช้ได้ขึ้น โดยไม่ได้เกรงว่าสหรัฐและตะวันตกจะล่วงรู้ เพราะว่ากลุ่มมหาอำนาจเดิมโดยทั่วไปมักดูเบาและมองข้ามสิ่งที่ปูตินแถลงมาอยู่แล้ว

Russian President Vladimir Putin gives a speech during a meeting with members of the country’s Olympic team at the Kremlin in Moscow on July 27, 2016.
President Vladimir Putin on July 27 said the absence of some Russian stars at the Rio Games would hit the quality of the competition. / AFP PHOTO / POOL / Alexander Zemlianichenko

หากเราได้พิจารณาสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจกลุ่มประเทศร่ำรวยเก่ากับประเทศตลาดเกิดใหม่ ในรอบเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มหลังได้แซงหน้ากลุ่มแรกไปอย่างรวดเร็ว

โดยปี 1990 ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มร่ำรวยเก่าหรือกลุ่ม 7 ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี แคนาดา สูงถึง 14.4 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์และตลาดเกิดใหม่บางประเทศรวม 7 ประเทศได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล อินโดนีเซีย เม็กซิโก เกาหลีใต้ สูงเพียง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ถึงเมื่อปี 2017 กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ 7 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 47.5 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่กลุ่ม 7 เศรษฐีเก่ามีขนาดเศรษฐกิจเพียง 37.8 ล้านล้านดอลลาร์ นี่ยังไม่นับประเทศตลาดเกิดใหม่อีกหลายประเทศ เช่น อิหร่านและตุรกี ที่เป็นเพื่อนบ้านของรัสเซีย (ดูบทความของ Jon Hellevig ชื่อ Putin Hits Back : Vow to Destroy Western Financial and Trade Hegemony ใน russia-insider.com 03.09.2017)

ความขัดแย้งแตกแยกในกระบวนโลกาภิวัตน์ ถึงขณะนี้แล้วจึงประนีประนอมได้ยาก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเคลื่อนย้ายอำนาจโลกของจีนผู้ปล่อยหมัดน็อก