เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พระวินัยปิฎก

คำบรรยายพระไตรปิฎก (3)

4.พระวินัยปิฎก

การจัดหมวดหมู่ ค่อนข้างเป็นระบบคือ

1) จัดตามลำดับความหนักเบาของอาบัติ (จากปาราชิก – ทุกกฎ ทุพภาสิต)

2) ตามเนื้อหา คือ ศีลในพระปาติโมกข์ของภิกษุและภิกษุณี ศีลนอกพระปาติโมกข์ ตลอดจนเรื่องปกิณกะเกี่ยวกับข้อบัญญัติต่างๆ ที่น่ารู้น่าศึกษา

3) การจัดลำดับข้างต้น ยังคำนึงถึงเงื่อนไขของเวลาด้วย เช่น จัดสิกขาบทที่บัญญัติก่อนไว้ต้น และที่บัญญัติต่อๆ มาไว้ถัดไป เป็นต้น

ภาษาพระไตรปิฎก

1) เป็นความเรียงที่ไพเราะโดยเฉพาะสิกขาบทแต่ละข้อ ภาษาก็ไม่ยากไม่ซับซ้อน เหมือนภาษาในพระอภิธรรมปิฎก

2) ภาษาพระวินัยปิฎก คล้ายภาษาพระอภิธรรมปิฎก ในแง่ที่เป็นความเรียง ต่างจากพระสุตตันตปิฎกตรงที่ ภาษาพระสุตตันตปิฎก ส่วนมากเป็นบทสนทนา และพูดซ้ำๆ

เนื้อหาที่น่าสนใจ

1) สถาบันสงฆ์เกิดจากแรงผลักดันทางสังคม

– มิได้กำหนดรูปแบบตายตัว วางไว้หลวมๆ ว่าผู้บวชต้องประพฤติพรหมจรรย์

– ผู้บวชส่วนมาก เบื่อโลกแล้ว จึงไม่จำต้องมีสิกขาบท

– พิธีบวชทำง่ายๆ เพียงตรัสว่า เอหิ ภิกขุ = จงมาเป็นภิกษุเถิด ก็เสร็จพิธี

– คุณสมบัติของผู้บวชก็มิได้วางไว้ชัดเจน ดังมีผู้มีอายุน้อยมาบวช จึงกำหนดอายุ และมีผู้ไม่เหมาะสม เช่น โจรมาบวช คนมีพันธะมาบวช จึงกำหนดคุณสมบัติขึ้นมาภายหลัง

2) สิกขาบทมิได้ตราขึ้นสำเร็จรูปเหมือนกฎหมายบ้านเมือง หากตราขึ้นหลังจากมีการกระทำผิด มีขั้นตอนดังนี้

– มีผู้ประพฤติไม่สมควรแก่สมณะ ชาวบ้านติเตียน

– เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ ทรงเรียกมาสอบสวน เมื่อยอมรับ ทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบทห้ามทำเช่นนั้นอีก ไม่เอาผิดผู้กระทำผิดครั้งแรก เรียกว่า “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ)

– เมื่อมีการล่วงละเมิดอีก ทรงบัญญัติเพิ่ม ปิดช่องโหว่ เรียก “อนุบัญญัติ”

– หลายกรณีทรงวินิจฉัยเป็นเรื่องๆ ให้เป็นแบบอย่างการตัดสินใจในอนาคต เรียก “วินีตวัตถุ”

– มี “สิกขาบทวิภังค์” และ “ปัทภาชนีย์” ให้นิยามศัพท์ยาก ตลอดจนตั้งสมมติฐานว่า ถ้าทำอย่างนั้นๆ จะผิดหรือไม่ ผิดมากน้อยเพียงใด

3) กำเนิดภิกษุณีสงฆ์

– ข้อน่าพิจารณาคือ เหตุผลที่ทรงปฏิเสธในเบื้องต้น และทรงอนุญาตในเวลาต่อมา

– มองในแง่บวกและแง่ลบ การอนุญาตให้สตรีบวชเป็นผลดีและผลเสียอย่างไร

4) พระวินัยปิฎกพูดถึงการทำสังคายนาครั้งที่ 1-2 เท่านั้น บอกนัยอะไร

5) พุทธประวัติ ตอนตรัสรู้จนถึงประกาศพระพุทธศาสนา

– เหตุใด ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงพระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้ในปริมณฑลเพียง 4 สัปดาห์ แต่อรรถกถาเพิ่มมาอีก 3 รวมเป็น 7 สัปดาห์

– เหตุใด พระพุทธองค์ทรงมุ่งมั่นจะโปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้ ไม่สนใจคนอื่นเช่นอุปกาชีวก ที่พบระหว่างทาง

– เหตุใด จึงทรงตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวก ทั้งๆ ที่ทั้ง 2 ท่านอายุยังน้อยกว่าพระเถระรูปอื่นๆ ฯลฯ

5.สุตตันตปิฎกทีฆนิกาย

การจัดหมวดหมู่

การจัดหมวดหมู่ ยึดขนาดของพระสูตรเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงเนื้อหา

– เนื้อหาซับซ้อน เช่น ฌาน 4 ศีล 3 ระดับมีซ้ำในหลายสูตร

– ชื่อ วรรค ตั้งโดยไม่มีกฎเกณฑ์ บางทีตั้งตามเนื้อหา บางทีก็ตั้งตามชื่อพระสูตรแรก

สำนวนภาษา

– ภาษาในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย (และในนิกายอื่นด้วย) กะทัดรัด ตรงไปตรงมา เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เหมือนภาษาพระอภิธรรมปิฎกเป็นภาษาสนทนาโต้ตอบส่วนมากมักจะพูดข้อความเดียวซ้ำๆ

เนื้อหาพระสูตร

– ส่อเค้าว่าเก่าแก่กว่านิกายอื่น เพราะ

1) ความไม่สอดคล้องและไม่เป็นระบบของการจัดเนื้อหา (เทียบกับมัชฌิมนิกาย ซึ่งเป็นระบบมากกว่า)

2) ประเด็นที่ยกมาอภิปราย ล้วนเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าต้องเผชิญครั้งแรกที่ออกประกาศพระศาสนา อาทิ

1. เรื่องวรรณะ และค่านิยมเกี่ยวกับวรรณะ

– สังคมถือวรรณะสูงต่ำ เป็นเครื่องวัดความดี-ชั่ว

– พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า คนดี คนชั่ว มิได้ขึ้นอยู่กับวรรณะ หากอยู่ที่วิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ)

2. เรื่องค่านิยมการบูชายัญ ตลอดจนถึงการแก้ปัญหาสังคม

– ทรงปฏิเสธการเข้าถึง “พรหมัน” (พระพรหม) โดยการคาดเดา เสนอความรู้ที่ได้จากประสบการณ์

3. เนื้อหาที่น่าสนใจอย่างอื่น

– ศีล 3 ระดับ (จุลศีล, มัชฌิมนิกาย, มหาศีล)

– ทิฐิ (ทฤษฎีอภิปรัชญา) 62 สรุปลงเป็น 7 ทรรศนะ และสิ้นสุดที่ 2 ทรรศนะ

– วิธีการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า 2 วิธี (เอกังสิกธรรม-อเนกังสิกธรรม) ขยายออกเป็น 4 วิธี

– วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์

– พุทธปณิธาน 4 ประการ

– ภาพความเป็นพระบรมครู (ครูชั้นยอด)

– ภาพความเป็นพระบรมศาสดา (พระศาสดาชั้นยอด)

6.สุตตันตปิฎกมัชฌิมนิกาย

การจัดหมวดหมู่เป็นระบบขึ้น

– พยายามคำนึงถึงเนื้อหา เรื่องทำนองเดียวกันเอามารวมกัน เช่น เรื่องอุปมาอุปไมยรวมไว้โอปัมวรรค เรื่องเกี่ยวกับผู้ครองเรือน รวมไว้ในคหปติวรรค

การตั้งชื่อวรรค มี 2 ลักษณะคือ

– ตั้งตามเนื้อหาที่เด่นของวรรค

– ตั้งตามชื่อพระสูตรแรกของวรรค

เนื้อหาในมัชฌิมนิกาย

– มุ่งเน้น “หลักธรรม” โดยตรง (การรับรู้ของจิตแตกต่างกันระหว่างปุถุชนกับอริยะ, วิธีการกำจัดอาสวะ 7 วิธี) มีพระสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง เช่น มหาสติปัฏฐานสูตรอานาปานสติสูตร

– ไม่ค่อยเสียเวลาอภิปรายปัญหาอภิปรัชญาดังที่ปรากฏในทีฆนิกาย

– มีพระสูตรของพระสาวกผนวกเข้ามาด้วยส่อให้เห็นอบายมุขของการรวบรวมว่าใหม่กว่าทีฆนิกาย

– จุดเด่นของมัชฌิมนิกายคือ การแสดงธรรมโดยอุปมาอุปไมย มีหลายสูตร เช่น

– เปรียบร่างกายเหมือนจอมปลวกประหลาด และแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะพึงได้ เหมือนการขุดจอมปลวก (วัมมิกสูตร)

– เปรียบการแสวงหาแก่นแห่งชีวิต ดุจการถือขวานเข้าป่าหาแก่นไม้ ถ้าไม่รู้จักแก่นไม้ก็ย่อมได้กิ่ง ใบ เปลือก กระพี้แทน (จูฬสาโรปมสูตร)

– เปรียบนักปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลดุจนายโคบาลที่โง่ และฉลาด (มหาโคปาลสูตร)

– เปรียบการเล่าเรียนพุทธวจนะไม่ดี ดุจจับงูพิษ อาจถูกงูพิษแว้งกัดเอาได้ เปรียบธรรมะสำหรับฝึกปฏิบัติดุจแพข้ามน้ำ ไม่ควรยึดมั่นแม้ในกุศลธรรมในอกุศลธรรมยิ่งไม่ต้องพูดถึง (อลคัททูปมสูตร)

– เปรียบธรรมะที่ฝึกปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ส่งทอดกันตามลำดับดุจนั่งรถ 7 ผลัด (รถวินีตสูตร)

– เปรียบความสนใจปัญหาไกลตัว ดุจคนถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ (จูฬมาลุงกโยวาทสูตร)

– เทคนิคการสอนธรรมโดยใช้ “สื่อ” เช่น ทรงใช้ขันตักน้ำล้างพระบาทเป็นสื่อสอนโทษการพูดเท็จ ทรงใช้แว่นส่องหน้าเป็นสื่อสอนการพิจารณาตน (จุฬราหุโลวาทสูตร)

– ท่าทีที่พระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรสังเกต (อุปาลิวาทสูตร)

– ปัญหาเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกฉันเนื้อสัตว์หรือไม่ (ชีวกสูตร) และไม่ทราบประวัติและบทบาทของหมอชีวกโกมารภัจจ์ด้วย

– อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะประการหลังเน้นในทีฆนิกายนี้ (ปุณโณวาทสูตร)

– เรื่องพระองคุลิมาล และองคุลิมาลปริตต์ ที่สืบเนื่องมาจากพระองคุลิมาล (อังคุลิมาลสูตร)